ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมากระแสการเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งด้วยมาตรการเติมทรายชายฝั่งนั้นมีมากขึ้น และหลังจากกรณีการเติมทรายชายฝั่งหาดพัทยาโดยกรมเจ้าท่าแล้วเสร็จ ทำให้ประชาชนเห็นว่ามาตรการเติมทรายนั้น อาจเป็นทางเลือกในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้ และทำให้ได้ชายหาดกลับมา
เมื่อ 10 ปีที่เเล้ว การเติมทราย เป็นมาตรการที่ไม่ถูกนำมาใช้ในการเเก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทย ด้วยการอ้างเหตุผลต่างๆของรัฐในการนำมาตรการนี้มาใช้ ทั้งๆที่ต่างประเทศนิยมใช้มาตรการเติมทรายอย่างเเพร่หลาย
อย่างที่ได้เคยอธิบายแล้วว่า มาตรการเติมทรายชายฝั่งนั้น เป็นมาตรการป้องกันชายฝั่งแบบอ่อน ซึ่งการเติมทรายถือเป็นมาตรการเดียวในบรรดามาตรการป้องกันชายฝั่งทั้งหมดที่เพิ่มมวลทรายให้กับชายหาด ทำให้ชายหาดถูกฟื้นฟูกลับมา และมาตรการเติมทรายนั้นมักใช้กับชายหาดที่มีการใช้ประโยชน์สูงหรือมีมูลค่าของชายหาดสูง เพราะเป็นมาตรการที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลได้อย่างดี ในต่างประเทศหาดไวกิกิ ในฮาวาย หาดไมอามี่ ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น ก็ใช้การเติมทรายชายฝั่งเป็นมาตรการในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เพราะส่งผลกระทบในด้านลบน้อยกว่าการสร้างโครงสร้างป้องกันชายฝั่ง เช่น กำแพงกันคลื่น เขื่อนกันคลื่นนอกฝั่ง หรือรอดักทราย เป็นต้น
ในประเทศไทยเรามีการนำการเติมทรายมาใช้กับการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง และฟื้นฟูชายหาด โดยมีพื้นที่ที่ดำเนินการเติมทรายดังนี้
- ชายหาดพัทยา จังหวัดชลบุรี ดำเนินการโดยกรมเจ้าท่า ดำเนินการเสร็จ ปี กุมภาพันธ์ 2562 โดยกรมเจ้าท่าได้มีการดำเนินการเสริมทรายชายฝั่ง ความยาว 2.8 กิโลเมตรตลอดแนวชายหาดพัทยาเหนือ ถึง หาดพัทยาใต้ ด้วยงบประมาณ 420,000,000 บาท มีการเสริมทรายหน้าหาดกว้าง 35 เมตร(ไม่รวมความลาดชัน) และวางถุงกระสอบทรายใต้การเติมทราย ใช้ทรายนอกฝั่งห่างจากฝั่ง 20 กิโลเมตร โดยการลำเลียงทางเรือ การเติมทรายชายหาดพัทยาถือได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างมากในการฟื้นฟูชายหาดพัทยาจากการกัดเซาะชายฝั่งให้กลับมาสวยงามดังเดิม
- ชายหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ จังหวัดสงขลา ดำเนินการโดยกรมเจ้าท่า ปัจจุบันโครงการไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จสิ้นตามสัญญา โดยกรเมจ้าท่าได้ใช้งบประมาณปี 2559 จำนวน 269,000,000 บาท ดำเนินการเติมทรายตลอดแนวชายหาดชลาทัศน์ ความยาว 4.8 กิโลเมตร แต่ไม่สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จ เติมทรายได้เพียง 1 กิโลเมตร จากระยะทางทั้งหมด ใช้ทรายจากเเหลมสนอ่อน ซึ่งอยู่ด้านเหนือของพื้นที่โครงการ
- หาดจอมเทียน จังหวัดชลบุรี ดำเนินการโดยกรมเจ้าท่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการกำลังดำเนินการในระยะที่ 1 การเติมทรายชายหาดจอมเทียนนั้นกรมเจ้าท่า ได้แบ่งระยะโครงการออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ความยาว 3.575 กิโลเมตร ตั้งแต่ร้านปูเป็นถึงซอยบุญย์กัญจนา งบประมาณก่อสร้าง 586,047,000 บาท ระยะที่ 2 ความยาว 2.855 กิโลเมตร งบประมาณ 400,000,000 บาท ระยะทางรวมทั้งสิ้น 6.4 กิโลเมตร งบประมาณรวม 2 ระยะโครงการ 990,000,000 บาท ใช้ทรายในการเติมทรายระยะที่ 1 ทั้งสิ้น 634,817 ลูกบากศ์เมตร จากพื้นที่ทิศตะวันตกเกาะรางเกรียน ห่างจากฝั่ง 15 กิโลเมตร โดยดำเนินการเติมทรายเมื่อแล้วเสร็จจะมีหน้าหาดกว้าง 50 เมตร(ไม่รวมความลาดชัน)
- หาดหัวหิน จังหวัดตรัง โดยกรมเจ้าท่า ในปี 2562 กรมเจ้าท่าได้ศึกษา สำรวจ ออกแบบ และจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงสร้างป้องกันชายฝั่งบริเวณหาดคลองสนและหาดหัวหิน จังหวัดตรัง โดยหลังจากการศึกษาทำให้ได้แนวทางการเติมทรายชายฝั่งหาดหัวหิน ความยาว 500 เมตร ต่อมาในปีงบประมาณในปี 2566 กรมเจ้าท่า ได้ดำเนินการของบประมาณเพื่อการเติมทรายชายฝั่งหาดหัวหิน ความยาว 500 เมตร งบประมาณ 50,000,000 บาท โดยใช้ทรายที่ทับถมบริเวณปากน้ำคลองสน มาเติมบริเวณหาดหัวหิน โดยจะมีการคำนวณออกแบบความกว้างของชายหาดไว้ที่ 10 ปี ทำการเติมทรายชายฝั่ง 50 เมตร (ไม่รวมความลาดชัน)
กรณีการดำเนินการเสริมทรายหาดหัวหินนั้นมีข้อสังเกตและข้อห่วงกังวล 2 ประการสำคัญ คือ (1)สภาพพื้นที่ชายฝั่งหาดหัวหินนั้นมีหาดหินปนทราย และมีการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งไม่สูงนัก เมื่อเทียบกับชายหาดอื่นๆในพื้นที่จังหวัดตรัง ดังนั้นการเติมทรายนั้นจะมีประสิทธิภาพและตอบโจทย์การฟื้นฟูชายฝั่งหาดหัวหินได้หรือไม่ ? และ (2) พื้นที่ชายฝั่งทะเลในจังหวัดตรังนั้นมีพื้นที่แหล่งหญ้าทะเลและพื้นที่อาศัยของพะยูนและสัตว์ทะเลหายากหลายชนิด การเติมทรายบริเวณนี้ได้ศึกษาผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตเหล่านี้อย่างรอบด้านหรือไม่ ? นี่คือข้อห่วงกังวลและข้อสังเกตสองประการที่เกิดขึ้นกับโครงการเสริมทรายชายหาดหัวหิน
ทั้ง 4 โครงการที่กล่าวมา คือ เป็นโครงการเติมทรายที่มีการของบประมาณและดำเนินการไปแล้วในพื้นที่ชายฝั่งของประเทศไทย และยังมีโครงการศึกษา ออกแบบการเติมทรายในพื้นที่ชายฝั่งต่างๆของประเทศไทยอีกอย่างน้อย 4 โครงการที่น่าจับตามองอย่างใกล้ชิด
- โครงการศึกษาวางแผนแม่บทและสํารวจออกแบบเพื่อเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะ สนับสนุนการท่องเที่ยวชายหาดชะอํา อําเภอชะอํา จังหวัดเพชรบุรี ระยะทาง 16 กิโลเมตร ใช้งบประมาณรวม 16,000,000 บาท
- โครงการศึกษาวางแผนแม่บทและสำรวจออกแบบเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะ สนับสนุนการท่องเที่ยวบริเวณเขาหลักถึงแหลมปะการัง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ระยะทาง 12 กิโลเมตร ใช้งบประมาณรวม 17,700,000บาท
- โครงการออกแบบและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ระยะที่ 3 พื้นที่ชายหาดป่าทรายแลหาดแหลมไทร ตำบลเกาะยาวน้อย จ.พังงา โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ผลการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 ประชาชนเลือกแนวทางการเสริมทรายชายหาดและเขื่อนถุงหิน มากที่สุด
- โครงการ ศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง หาดกระทิงลาย อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี โดยกรมโยธาธิการแลผังเมือง ประชาชนเสนอในเวทีรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 3 หาดกระทิงลายต้องเติมทรายเท่านั้น
ทั้งหมดเป็นการเติมทรายชายฝั่งที่เกิดขึ้นแล้ว และกำลังดำเนินการ รวมถึงมีการศึกษาไว้เพื่อดำเนินการในอนาคต จะเห็นได้ว่าเมื่อเทียบกับ 10 ปีที่ผ่านมา การเติมทรายนับเป็นมาตรการที่ถูกหยิบยกมาใช้เพื่อการป้องกันชายฝั่งมากขึ้น และด้วยมาตรการเติมทรายเป็นมาตรการที่มีผลกระทบต่อชายฝั่งน้อยกว่าโครงสร้างป้องกันชายฝั่งอื่นๆ หากดำเนินการถูกต้องตามหลักวิชาการ และยังสามารถฟื้นฟูชายหาดให้กลับมาเป็นหาดทรายได้ แต่อย่างไรก็ตามการเติมทรายในพื้นที่ต่างๆก็ต้องติดตามและเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง