ห้องเรียนนอกตำรา ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อไทบ้าน

ห้องเรียนนอกตำรา ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อไทบ้าน

“เจอกันหน่อยไหม มีแถวไหนที่น้ำไม่ท่วมบ้าง ?”
“ร้านกาแฟฝั่งหน้า ม. ได้ครับ ช่วงนี้ อาจารย์ปิดคอร์ส รอสอบช่วงสัปดาห์หน้า”
“โอเคจ้า พ้อกันเด้อ”
สิ้นเสียงสนทนา ทีมข่าวพลเมืองก็ประสานนัดหมาย จองสถานที่เพื่อหารือร่วมกับอาสาสมัครน้อง ๆ นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม พร้อมด้วยอาจารย์อังคณา พรมรักษา ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายพัฒนานิสิต และ ผศ. ดร. ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อออกแบบการทำงานร่วมกันในการติดตามสถานการณ์น้ำท่วมชุมชนบ้านท่าขอนยาง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ซึ่งอยู่ห่างจากมหาวิทยาลัยในรัศมี 2 กิโลเมตร หลังได้รับผลกระทบน้ำชีเอ่อเข้าท่วมชุมชน ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ 28 ตุลาคม 2565 บางจุดของชุมชนยังต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับน้ำท่วมขังนานนับเดือน

เครือข่ายนิสิต มมส ปันน้ำใจช่วยภัยน้ำท่วม คือ หนึ่งในทีมอาสาสมัครที่ร่วมทำหน้าที่ประสานส่งต่อความช่วยเหลือ ขนย้ายสิ่งของ และ ประสานรับ-ส่งนิสิตที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในการเดินทางรวมถึงอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วมในชุมชนใกล้เคียงรอบ ๆ มหาวิทยาลัยมหาสารคามร่วมกับเครือข่ายองค์กร และหน่วยงานในท้องถิ่น


บ้านท่าขอนยาง เผชิญน้ำท่วมหนักในรอบ 44 ปี

เส้นสีฟ้าตามภาพแผนที่ คือลำน้ำชีที่ไหลผ่าน บริเวณบ้านท่าขอนยาง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัย นั่นทำให้ ม.น้ำชี เป็นอีกชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพราะมีที่ตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำชี ซึ่งปีนี้พื้นที่ชุมชนโดยรอบและถนนบ้านท่าขอนยาง – ขามเรียง เส้นทางหลักที่มุ่งหน้าสู่มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้รับผลกระทบจากน้ำชีเอ่อเข้าท่วมเร็ว ท่วมสูง และขังนาน ในรอบ 44 ปี นับจากปี 2521

ข้อมูลจากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดมหาสารคาม เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2565  ระบุภาพรวมผลกระทบน้ำท่วมของ จ.มหาสารคาม ระหว่างวันที่ 27 กันยายน – 24 ตุลาคม 2565 ว่า  มีความเสียหาย ในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ โกสุมพิสัย กันทรวิชัย  เมืองมหาสารคาม และ เชียงยืน รวม 46 ตำบล  557 หมู่บ้าน  5 ชุมชน  13,565 ครัวเรือน

ซึ่งในจำนวนนี้ เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน 20,625 ราย กระทบพื้นที่การเกษตร ด้านพืช 222,786 ไร่ แบ่งออกเป็น ที่ อ.โกสุมพิสัย 112,841 ไร่  อ.กันทรวิชัย 78,907 ไร่  อ.เมืองมหาสารคาม 18,759 ไร่  และ อ.เชียงยืน 12,278 ไร่

ลัดเลาะชุมชนสำรวจผลกระทบปักหมุด C-site

หลังจากระดับน้ำเริ่มลดลงในบางจุด นิสิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ต่างคณะต่างวิชาชีพ ทั้ง จากสาขาวิชานิเทศศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง รัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ ร่วมกับผู้นำชุมชน และทีมข่าวพลเมือง C-site special ลงพื้นที่ชุมชนเพื่อสำรวจผลกระทบจากน้ำท่วมที่บ้านท่าขอนยาง หมู่ 2 หมู่ 4  และหมู่ 3 ระหว่างวันที่ 23 – 25 ตุลาคม 2565 ซึ่งพบว่า บางครัวเรือนซึ่งอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำยังเผชิญกับน้ำท่วมสูง 30 – 50 เซนติเมตร การสัญจรยากลำบากและมีกลุ่มคนเปราะบางอาศัยอยู่ด้วย รวมถึงคุณตาอมร พวงศรี หลาน ๆ และสมาชิกรวม 7 คน ชาวบ้านท่าขอนยาง หมู่ 2 ที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับน้ำนานนับเดือน

“สภาพพื้นที่บ้านต่ำกว่าบ้านหลังอื่น ๆ น้ำที่หมู่ 2 สูงระดับเพียงเอว ตอนนี้เหลือเพียงหัวเข่า ซึ่งแตกต่างกว่าปีที่ผ่านมา ปีนี้น้ำเยอะ เราใช้เรือเข้าออก ไปไหนก็ลำบาก อยู่ได้เพราะถุงยังชีพ ปลากระป๋อง ข้าวสาร หรือมีผักกาดกระป๋องก็ต้มกิน ก็อยู่แบบนี้เราดูแลกันไปตามสภาพ มันลำบาก”

มากกว่าได้ยินคำบอกเล่าจากปากคนในชุมชน การเดินลัดเลาะลุยน้ำท่วม ตั้งแต่ระดับหน้าแข้ง หัวเข่า และเท่าเอวในตามจุดต่าง ๆ เพื่อไถ่ถามข่าวคราวพร้อมเก็บข้อมูลสำรวจชุมชน ถามไถ่ถึงความเป็นอยู่ ความทุกข์ร้อน ความลำบากของชาวบ้าน เพื่อที่จะนำข้อมูลไปออกแบบประสานความช่วยเหลือให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน ซึ่งทำให้ทีมอาสาสมัคร รับรู้ เข้าใจ และสัมผัสได้ถึงสภาวะที่คนในชุมชนต้องเผชิญจากน้ำท่วมขัง ที่เริ่มมีสีขุ่นเข้ม และส่งกลิ่นเนื่องจากท่วมขังมานาน

“ชุมชนหมู่ 2 น้ำไม่ลดจนกว่าวันที่ 12 พฤศจิกายน พอน้ำไม่ลด น้ำเน่า ประชาชนเดือดร้อนเป็นน้ำกัดเท้า” จินดา เนื่องวรรณะ ผู้ใหญ่บ้านท่าขอนยาง หมู่ 2  เล่าถึงผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งนี้ “คนแถวนี้ห้องน้ำใช้ไม่ได้เลย ต้องอาศัยที่บ้านผู้ใหญ่ เราลำบากมาก  เพราะหมู่ 2 อยู่พื้นที่ต่ำ เวลาฝนตกน้ำจะไหลจาก หมู่ 1 หมู่ 3 มาลงจุดนี้ ซึ่งติดแม่น้ำชี น้ำเข้าตามท่อระบายน้ำ ซึ่งถึงแม้ระดับน้ำชุมชนอื่นจะลดลง แต่ที่หมู่ 2 ยังไม่ลดเพราะระดับน้ำชียังหนุนกันอยู่ ชาวบ้านเดือดร้อน เราก็พยายามช่วยเหลือ”

สารคาม น้ำบ่ต้อง

แม้ชุมชนบ้านท่าขอนยางจะอยู่ติดแม่น้ำชี ซึ่งก่อนหน้านี้อาจจะมีน้ำชีเอ่อเข้าท่วมชุมชนอยู่บ้าง แต่จะเป็นลักษณะน้ำท่วมจากปริมาณฝนตกสะสม และน้ำเอ่อจากแม่น้ำชี จึงทำให้ท่วมขังในช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ปีนี้ 2565 แม่น้ำชีที่เอ่อเข้าท่วมชุมชนเป็นผลมาจากฝนอิทธิพลพายุโนรู และการระบายน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ ใน จ.ขอนแก่น ซึ่งประกาศแจ้งเตือนการระบายน้ำ วันละ 50 ล้านลูกบาศก์เมตร ตั้งแต่วันวันที่ 8 ตุลาคม 2565 ภายหลังจากมีน้ำไหลเข้าเขื่อนมากกว่าวันละ 150 ล้านลูกบาศก์เมตร สูงสุดในรอบ 10 ปี  พร้อมขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณรอบอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ และพื้นที่ริมฝั่งลำน้ำพอง น้ำชี เตรียมพร้อมอพยพ ขนย้ายสิ่งของและทรัพย์สินขึ้นที่สูง พร้อมเฝ้าระวังระดับน้ำที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างใกล้ชิด

“สารคาม น้ำบ่ต้อง บ่ต้องปล่อยมาอีกเด้อ” หนึ่งเสียงจากสมาชิกในชุมชนที่ร่วมให้ข้อมูลพูดทีเล่นทีจริง หลังจากที่น้ำท่วมในชุมชนเริ่มทยอยลดระดับลง

ข้อมูลจากการสำรวจพูดคุยกับคนในชุมชน จำนวน 50 ครัวเรือน ตัวอย่าง ซึ่งมีประชากร 196 คน ของทีมอาสาสมัครนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับผู้นำชุมชน และทีมข่าวพลเมือง C-site special พบว่ามีจำนวน ผู้สูงอายุ 45 คน  บุตรหลานอายุต่ำว่า 15 ปี จำนวน 26 คน และผู้ป่วยติดเตียง 3 คน  ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมชุมชนท่าขอนยาง มีความหลากหลายของช่วงวัย และเป็นกลุ่มเปราะบาง เด็ก ผู้ป่วย และผู้สูงอายุร่วมอยู่ด้วย ซึ่งอาจจะต้องการดูแลและได้รับผลกระทบความเดือดร้อนแตกต่างกัน

นอกจากนี้ ยังพบข้อมูลความเสียหายมากที่สุด คือ บ้านเรือนและอาคารที่พัก รองลงมาคือพืชผลทางเกษตร และการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะพื้นที่ทางเกษตรได้รับความเสียหายกว่า 256.5 ไร่ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลสิ่งที่ชาวบ้านต้องการเยียวยาหลังจากน้ำลด คือ ผลผลิตทางเกษตร ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ข้าว ไร่นา ปุ๋ย และพันธุ์ปลา

อาสาสมัคร ม.น้ำชี  ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อไทบ้าน

แม้จะเป็นการลงสำรวจผลกระทบชุมชนในระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อนำข้อมูลจากแบบสำรวจ วิธีการทำงาน และประสบการณ์การลงพื้นที่ชุมชนมาออกแบบการดูแลฟื้นฟูชุมชนร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ รวมถึงมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งมีบทบาทสำคัญในฐานะสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นที่มีปรัชญาของมหาวิทยาลัย “พหูนํ ปณฺฑิโต ชีเว” หมายความว่า ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน

“มหาชน” ในครั้งนี้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมก็หมายความถึง “ไทบ้าน” คนในชุมชนและนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่เป็นประชากรแฝง เป็นบุคคลต่างถิ่นที่มาเช่าอาศัยในชุมชนบ้านท่าขอนยางเพื่อศึกษาเล่าเรียนในมหาวิทยาลัย

การลงพื้นสำรวจชุมชนในสถานการณ์พิเศษที่เผชิญภาวะยากลำบากในสถานการณ์น้ำท่วม นอกจากข้อมูลข้อเท็จจริงผลกระทบความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นข้อมูลประสานส่งต่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบที่หลังจากนี้จะนำไปสู่การฟื้นฟูชุมชน พื้นที่เกษตร และเยียวยาจิตใจให้สามารถกลับมามีวิถีปกติได้โดยเร็วจากที่อยู่กับน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน  ยังนับเป็นโอกาสในการเรียนรู้ของ อาสาสมัครนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่อยู่ในพื้นที่ได้ร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่และคืนความรู้ ทำหน้าที่บริการชุมชนในภาวะยากลำบากเช่นนี้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

Prev

January 2025

Next

Mon

Tue

Wed

Thu

Fri

Sat

Sun

30
31
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
1
2

7 January 2025

Nothing to show.

เข้าสู่ระบบ