เรียบเรียง : พุฒิสรรค์ กันยาพันธ์
28 ตุลาคม 2565 ศูนย์เรียนรู้ทามมูล สมาคมคนทาม มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษ สำนักงานส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และภาคีเครือข่าย จัดประชุมหารือคณะทำงานผ้าป่าเมล็ดพันธุ์เพื่อระดมความร่วมมือช่วยหลือเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำมูลตอนกลางและตอนล่าง โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ และอุบลราชธานี หลังผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะนาข้าวถูกน้ำท่วมเสียหายเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์
สถานการณ์ผลกระทบภาคการเกษตรจากน้ำท่วม ปี 2565
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานข้อมูลผลกระทบภาคการเกษตรจากสถานการณ์น้ำท่วม ปี 2565 เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ที่ผ่านมา ซึ่งมีข้อมูลความเสียหายที่น่าสนใจและจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูเยียวยาเร่งด่วน ดังนี้
ด้านพืช ระบุว่าพื้นที่น้ำท่วมกระทบ 56 จังหวัด และมีเกษตรกรเดือดร้อนกว่า 531,703 ราย ครอบคลุมพื้นที่กว่า 4,505,862 ไร่ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ปลูกข้าวกว่า 2,991,705 ไร่ และเป็นพืชไร่ พืชผักประมาณ 1,473,553 ไร่ นอกจากนั้นเป็น ไม้ผล ไม้ยืนต้น และอื่น ๆ กว่า 40,604 ไร่
ด้านประมง กระทบใน 42 จังหวัด เกษตรกรได้รับผลกระทบ 22,854 ราย เป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 26,116 ไร่
ด้านปศุสัตว์ กระทบ 16 จังหวัด เกษตรกรได้รับผลกระทบ 21,625 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 1,337,182 ตัว แบ่งเป็น โค 52,412 ตัว กระบือ 15,378 ตัว สุกร 13,040 ตัว แพะ/แกะ 2,856 ตัว และ สัตว์ปีก 1,253,496 ตัว
ผ้าป่าเมล็ดพันธุ์ ความหวังฟื้นชีวิตเกษตรกรลุ่มน้ำมูล
จากข้อมูลความเสียหายเบื้องต้น ซึ่งคาดว่าหลังจากน้ำลดอาจะมีตัวเลขเพิ่มสูงขึ้น และไม่เพียงแต่เกษตรกรทั่วประเทศจะได้รับความเดือดร้อนอย่างมากเท่านั้น ผู้บริโภคก็อาจจะได้รับผลกระทบตามมาเป็นโดมิโนเช่นกัน เพราะพืชพันธุ์ อาหาร ได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง และนั่นทำให้เครือข่ายเกษตรกรในหลายพื้นที่ รวมถึงภาคอีสานที่ลุ่มน้ำมูลตอนกลาง อย่างที่ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ซึ่งถูกน้ำท่วมนานกว่า 1 เดือน จำเป็นต้องระดมเมล็ดพันธุ์จากเครือข่ายเกษตรกรทั่วประเทศอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ทันการเพาะปลูกช่วงสุดท้ายของฤดูกาล หลังน้ำลดในปลายปีนี้ ผ่านกิจกรรม “ผ้าป่าเมล็ดพันธุ์”
“เราต้องทำผ้าป่าเมล็ดพันธุ์ เพราะปีนี้น้ำท่วมถือว่าท่วมมากที่สุดในรอบ 44 ปี ของคนลุ่มน้ำมูลตอนกลาง” ปราณี มรรคนันท์ เครือข่ายสมาคมทามมูล เกริ่นถึงความเสียหายจากน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ “พืชพันธ์ที่ชาวบบ้านปลูกโดยเฉพาะนาข้าว ได้รับผลกระทบเสียหายทั้งหมด และหากในฤดูกาลเพาะปลูกปีหน้าจากเมล็ดพันธุ์ที่เคยมีอยู่ในมือของเกษตรกร ตอนนี้ก็ไม่มีเลย เราจึงกำหนดว่า 7 ธันวาคม 2565 เราจะทำผ้าป่าเมล็ดพันธุ์ เพื่อส่งมอบเมล็ดพันธุ์ให้กับพี่น้องเกษตรกรใน 260 หมู่บ้าน รวมกว่า 2,000 คน เพื่อมอบความยั่งยืนทางด้านอาหาร และความมั่นคงทางอาหารให้กับพี่น้องในลุ่มน้ำมูลตอนกลาง เติมพื้นที่สีเขียวคืนฝั่งแม่มูน” ซึ่งดำเนินการโดยโครงการทามมูล สมาคมคนทาม และเครือข่ายองค์กรต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือกันในยามทุกข์ยากหวังฟื้นฟูหลังน้ำลด คืนความมั่นคงทางอาหารให้ชุมชน และร่วมฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำ
“ผ้าป่าเมล็ดพันธุ์มันคือผ้าป่าชีวิต ผ้าป่าชีวิตของอาหาร ผ้าป่าชีวิตของพื้นพันธุ์ต่าง ๆ ความสำคัญมันคือวัฒนธรรมของการแบ่งปัน” สุเมธ ปานจำลอง เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน ให้ความหมายของผ้าป่าเมล็ดพันธุ์ “เพราะเมล็ดพันธุ์คือความมั่นคง คือความหวังฟื้นชีวิตหลังน้ำท่วมของเกษตรกร การแบ่งปันชีวิต แบ่งปันพันธุกรรม เป็นวัฒนธรรมที่คนอีสาน ถือว่า เป็นบุญ เป็นการให้ที่สำคัญที่สุด ซึ่งนัยความหมายของการทำผ้าป่าก็คือการให้ คือการเอาไปให้ การไปต่อชีวิต หรือการนำสิ่งที่เคยมีในพื้นที่นั้น กลับไปคืนยังถิ่นเดิมของเขา หรือเป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของหน่วยการผลิตที่มีอยู่ในแต่ละแห่ง ฉะนั้นการทำผ้าป่าเมล็ดพันธุ์ มันอาจจะเป็นวัฒนธรรมประดิษฐ์ที่เกิดขึ้นใหม่ แต่มันก็เป็นวัฒนธรรมที่ใช้ในชุมชนที่มีรากฐานการผลิตที่ใกล้เคียงกัน แล้วเอามาแลกเปลี่ยนแบ่งปันกัน”
นอกจากความพยายามหาทางช่วยเหลือเยียวยากันเองเบื้องต้นของเครือข่ายเกษตรกรแล้ว การหาแนวทาง นโยบายการป้องกัน ฟื้นฟู และเตรียมรับมือผลกระทบจากภัยพิบัติในด้านเกษตร ทั้ง การแจ้งเตือน การซักซ้อมแผนรับมือ ตลอดจนการฟื้นฟูหลังน้ำลด คือโจทย์ที่หลายฝ่ายต้องร่วมกันออกแบบ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
จัดหาเมล็ดพันธุ์ให้เกษตรกร โจทย์เร่งด่วนของรัฐบาล
“ถ้าหากว่าจำเป็นจะต้องใช้งบกลางจากรัฐบาลเพื่อจัดซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวจากเอกชนนั้น ผมว่าก็จำเป็นต้องทำ”ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ย้ำถึงความสำคัญในการจัดหาเมล็ดพันธุ์ให้เกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม
“เรื่องของเมล็ดพันธุ์ที่จริงรัฐมีความร่วมมือกับชาวนาในการเตรียมเมล็ดพันธุ์ในศูนย์ข้าวชุมชนทั้งประเทศเยอะแยะ ซึ่งก็เห็นท่านรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการเตรียมความพร้อมแล้ว ก็ต้องขอบคุณท่าน ซึ่งอันดับแรกก็ต้องสำรวจเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีอยู่ในคลังของศูนย์ข้าวชุมชนทั้งประเทศว่ามีเหลือเท่าไหร่ และมีพันธุ์ข้าวอะไรบ้าง เป็นข้าวไวแสง หรือไม่ไวแสง ต้องสำรวจด่วนเลย แล้วก็จัดเตรียมลงในพื้นที่ที่จำเป็นจะต้องใช้ภายในเดือนพฤศจิกายน เพราะหลังจากน้ำลดแล้วยังเพาะปลูกทันอยู่ เพื่อให้พี่น้องชาวนาไม่เสียปีการผลิตไป อย่างน้อยที่สุดเขาจะยังพอมีเงินมาจับจ่ายใช้สอยถึงแม้จะน้อยมาก แต่ก็อาจจะทำให้เขาไม่เดือดร้อนมาก
แต่ถ้าหากว่าจำเป็นจะต้องใช้งบกลางจากรัฐบาลเพื่อจัดซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวจากเอกชน ผมว่าก็จำเป็นต้องทำครับ ซึ่งคิดว่าคราวนี้ท่านนายกอาจจะต้องลงมาจัดการเอง เพราะว่ามีความจำเป็นจะต้องใช้งบประมาณของท่านเพื่อจัดเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าวหรือพืชผักต่าง ๆ เพื่อให้พี่น้องชาวนา ชาวไร่ ที่กำลังจะล้มละลายให้ได้มีอาชีพต่อเนื่อง จะได้ไม่ต้องเสียปีการผลิตไป”
ซักซ้อมแผนรับมือภัยพิบัติ โอกาสลดความเสียหายด้านการเกษตร
“ความเสียหายจากน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลาง ต้องบอกว่าปีนี้รัฐบาลตั้งรับไว้ได้ดีกว่าปี 2554 ซึ่งลุ่มน้ำในภาคกลางปกติก็จะเป็นแก้มลิงคอยเก็บน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าไปท่วมในตัวเมือง ซึ่งปี 2554 ไม่ได้เตรียมตั้งรับไว้เลย ทำให้ข้าวเสียหาหมดเลย แต่ปีนี้ทราบว่าภาครัฐมีการเตรียมการ มีข้อมูล ส่งข่าวไปถึงพี่น้องชาวนาให้เตรียมกับเกี่ยวก่อน ซึ่งต้องขอบคุณรัฐบาลในส่วนนี้ครับ เพราะถึงแม้จะเสียหาย แต่พี่น้องชาวนาภาคกลางหลายส่วนใหญ่ก็พอบรรเทาได้
ซึ่งลุ่มน้ำภาคกลางก็ถือว่าตั้งรับได้ดีอยู่ ส่วนของภาคเหนือ ก็มีความเสียหายแต่ไม่มากนักเพราะท่วมขังไม่นานแต่ในภาคอีสานนี่เสียหายหนักที่สุด เพราะน้ำท่วมแช่ขังนานมาก ข้าว กล้าไม้ พืชผลอื่น ๆ ก็เน่าเสียหายหมด และส่วนปศุสัตว์เองก็เสียหายจำนวนมากเลย ซึ่งคิดว่าขณะนี้ก็น่าจะยังสำรวจไม่ครอบคลุมพื้นที่เสียหาย อาจจะใช้เวลามากกว่านี้อีก เพราะว่าบางทีฟาร์ม สุกร ไก่ วัว ควาย ทั้งหลายก็น่าจะยังไม่รู้ว่ามีสัตว์ตายไปเท่าไรแต่คิดว่าน่าจะมากอยู่ ก็ถือว่าภาคอีสานเสียหายหนักมาก” ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เน้นย้ำความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตรที่เสียหายหนักในภาคอีสาน ซึ่งนอกจากมีแผนข้อมูล แจ้งเตือนรับมือแล้ว จำเป็นต้องมีการซักซ้อมเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องรู้บทบาทหน้าที่ในการเผชิญภัยพิบัติเพื่อลดความเสียหายด้านการเกษตร
“ที่จริงแล้วปรากฏการณ์ ลานีญา หรือ เอลนีโญ มีข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาที่สามารถรับรู้ได้ล่วงหน้าอยู่แล้ว ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี่ก็น่าจะนำมาประเมินได้ก็จะเตือนให้ทราบได้ ซึ่งน่าเสียดายในภาคอีสานเรื่องการตั้งรับอาจจะไม่ดีพอ ซึ่งไม่ได้โทษใครนะครับ
แต่บทเรียนครั้งนี้น่าจะต้องมีการพูดคุยกันเพื่อปรับระบบการแจ้งเตือนภัยให้เร็วกว่านี้ และที่สำคัญต้องมีการซักซ้อมล่วงหน้า เช่น ถ้าเรารู้ล่วงหน้าว่าปีนี้จะมีน้ำเยอะ แล้วน้ำจะท่วมจุดไหนบ้าง ซึ่งพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก แล้งซ้ำซาก มีแผนที่ชัดเจนอยู่แล้ว ทั้งของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือแม้กระทั่งกรมบรรเทาและป้องกันสาธารณภัย ซึ่งมีข้อมูลกันอยู่แล้ว สามารถเอาข้อมูลมาวิเคราะห์ แจ้งเตือนภัยและซักซ้อม ซึ่งอันดับแรกเลยชีวิตต้องปลอดภัย อันที่สองควรจะลดการเสียหายได้ 2 ส่วนนี้เป็นสิ่งที่ป้องกันได้อย่างรวดเร็วเลย พืชผลทางการเกษตรก็จะลดความเสียหายได้เยอะพอสมควร”
ข้อมูลสถิติการเกษตรของประเทศไทย ระบุพื้นที่เพาะปลูกข้าว ปี 2564 รวมทั้งประเทศ รวมทั้งประเทศ 62,599,700 ไร่ สูงสุดอยู่ในภาคอีสาน 38,567,240 ไร่ รองลงมือคือภาคเหนือ 14,725,230 ไร่ ภาคกลาง 8,492,330 ไร่ และภาคใต้ 814,900 ไร่ ตามลำดับ
7 ธันวาคม 2565 กำหนดการทอดผ้าป่าเมล็ดพันธุ์ลุ่มน้ำมูล
เมล็ดพันธุ์ที่เสียหายในช่วงน้ำท่วมยังเป็นโจทย์สำคัญที่เครือข่ายเกษตรกรลุ่มน้ำมูล ระดมความร่วมมือเพื่อให้มีการฟื้นฟูเยียวยาในอันดับต้น ๆ โดยเฉพาะเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน ซึ่งนับเป็นสิ่งยืนยันความมั่นคงทางอาหารของเครือข่ายเกษตรกรที่ความพยายามเก็บรักษา ส่งต่อ และแบ่งปัน เพื่อคงความหลากหลายทางพันธุกรรม และสร้างคามมั่นคงให้กับเกษตรกร แม้ในยามที่ต้องเผชิญวิกฤติเช่นนี้
“ผ้าป่าเมล็ดพันธุ์ ฟื้นชีวิตคนลุ่มน้ำมูล”
โครงการทามมูล สมาคมคนทาม และองค์กรร่วมจัดทุกองค์กร กำหนดจัดผ้าป่าเมล็ดพันธุ์เติมพื้นที่สีเขียวคืนฝั่งแม่มูน ในวันที่ 7 ธันวาคม 2565 ภายใต้แนวคิด “ซอยกันยามทุกข์ยาก ฟื้นฟูหลังน้ำลด คืนความมั่งคงทางอาหารให้ชุมชน ร่วมฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำ” เพื่อระดมทุนจัดหาเมล็ดพันธุ์ทั้งพันธุ์ข้าว พันธุ์ผัก พันธุ์ หญ้าสำหรับสัตว์เลี้ยง และส่งต่อเมล็ดพันธุ์ให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วมในเครือข่ายประมาณ 1,000 ครอบครัวในพื้นที่ 39 ตำบล 12 อำเภอ 3 จังหวัด ลุ่มน้ำมูล คือ สุรินทร์ ร้อยเอ็ดและศรีสะเกษ เพื่อสานต่อ “กองทุนเติมพื้นที่สีเขียวคืนฝั่งแม่มูล” ซึ่งคุณสนั่น ชูสกุล ริเริ่มไว้ก่อนเสียชีวิตเพื่อทำหน้าที่ในการเยียวยาฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชนและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมหลังนำท่วมตามเจตนารมณ์ ผู้สนใจสามารถร่วมสนับสนุนได้ที่ หมายเลขบัญชี ธนาคารกรุงไทย 986-1-53790-2