5 หน่วยงานรัฐ กับความท้าทายของ SEA มุมมองผู้ปฏิบัติงานเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

5 หน่วยงานรัฐ กับความท้าทายของ SEA มุมมองผู้ปฏิบัติงานเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

เวทีสัมมนา SEA บนเส้นทางความท้าทายใหม่ จากแนวทางสู่การปฏิบัติ

20 ส.ค. 65 – การสัมมนาเชิงวิชาการ “SEA บนเส้นทางความท้าทายใหม่ จากแนวทางสู่การปฏิบัติ” เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ร่วมกันในการจัดทำแผนพัฒนาด้วยกระบวนการ การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA (Strategic Environmental Assessment) ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์จริงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกับ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 ส.ค. 2565 ณ ห้องประชุมราชา โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร

วิทยากรร่วมแลกเปลี่ยนจาก 5 หน่วยงานรัฐ ประกอบด้วย 

  • สมภพ พัฒนอริยางกูล ผู้ช่วยปลัดกระทรวงพลังงาน
  • ศุภกร ภัทรวิเชียร ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายด้านยุทธศาสตร์ และรักษาการ ผอ. กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงคมนาคม
  • นคร ศรีมงคล ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
  • สราวุธ ชีวะประเสริฐ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
  • ดร.รุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ดำเนินรายการโดย ดร.วิเทศ ศรีเนตร ผู้อำนวยการบริหารอาวุโส บริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด และ ดร.อรันย์ ศรีรัตนา ทาบูกานอน ผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์

การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) เป็นการศึกษาพื้นที่เป้าหมายที่จะมีการพัฒนาโครงการในภาพใหญ่ แบบครบถ้วน “ทุกมิติ” ไม่ว่าจะเป็นมิติด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงสุขภาพความเป็นอยู่ เพื่อให้มองเห็นถึงทางเลือกในการตัดสินใจที่จะเดินหน้าพัฒนาโครงการที่เหมาะสมตามลำดับ 

ต่างจาก EIA (Environmental Impact Assessment) การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และ EHIA (Environmental and Health Impact Assessment) หรือ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการ กิจการหรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต ของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ พิจารณาผลกระทบในระดับโครงการเท่านั้น

ปัจจุบันการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐและส่วนราชการ มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs 17 Goals ซึ่ง SEA ก็มีความสำคัญกับแนวทางดังกล่าว

000

SEA กับแผนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

สมภพ พัฒนอริยางกูล ผู้ช่วยปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ตาม SDG 7 เรื่องการเข้าถึงพลังงานที่สะอาดและยังยืน กระทรวงฯ ก็มีแผนในการขยายเขตให้มีการเข้าถึงพลังงานสะอาดที่ทันสมัย ทั้งเรื่องไฟฟ้าและเรื่องเชื้อเพลิง อีกส่วนคือเรื่องของการใช้พลังงานทดแทน และการอนุรักษ์พลังงาน แต่หากมองในแผนล่าสุดและทิศทางการพัฒนาของประเทศ ซึ่งประเทศไทยได้ไปให้คำมั่นในเวทีโลกเรื่องการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และก๊าซเรือนกระจก 

สมภพ พัฒนอริยางกูล ผู้ช่วยปลัดกระทรวงพลังงาน

จึงมีการกำหนดเป้าหมายว่า เราจะเป็นกลางทางคาร์บอน (การปล่อย CO2 เข้าสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณที่ถูกดูดซับกลับคืนผ่านป่าหรือวิธีการอื่น) ภายในปี 2050 และเป็น Net Zero Emissions  หรือปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2060 ซึ่งเป้าหมายนี้อยู่ระหว่างการทำกรอบแผนพลังงานชาติ ที่จะพัฒนามุ่งสู่เชื้อเพลิงที่สะอาด คาร์บอนต่ำ และอนุรักษ์พลังงาน โดยพยายามจะให้สอดรับกับแผนระยะยาว 20 ปี ข้างหน้า

ศุภกร ภัทรวิเชียร ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายด้านยุทธศาสตร์ และรักษาการ ผอ. กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กรอบการทำงานของคมนาคมที่สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนประกอบด้วย 4 ด้าน คือ 1. การขนส่งที่มีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนผู้ใช้บริการขนส่งประเภทต่าง ๆ ได้รับความสะดวก มีความปลอดภัย ตรงเวลา และราคาสมเหตุสมผล 2.การขนส่งที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น มีการเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้ามากขึ้น 3. การขนส่งที่เข้าถึงได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม โดยออกแบบการเดินทางรถโดยสารสาธารณะที่สร้างความสะดวกต่อกลุ่มคนผู้สูงอายุและผู้พิการมากขึ้น ทั้งการเดินทาง ทางเรือ รถ รถไฟ เป็นต้น 4. Innovation and Management โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาของ ข้อ 1-3 ให้เป็นไปได้ ด้วยการใช้  Big Data 

ศุภกร ภัทรวิเชียร ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายด้านยุทธศาสตร์ และรักษาการ
ผอ. กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงคมนาคม

นคร ศรีมงคล ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ระบุว่า เรื่องของเหมืองแร่เป็นพื้นฐานของหลายเรื่อง และเชื่อมโยงกับ SDGs ทั้ง 17 ข้อ แต่มี 3 ข้อ ที่มองว่าชัดเจน คือ ข้อที่ 1.เรื่องความยากจน ข้อที่ 8. การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ข้อที่ 9.อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน  

ด้าน สราวุธ ชีวะประเสริฐ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ระบุว่า การประเมินว่าอะไรคือความมั่งคงของน้ำ ในมิติน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค ทำงานยึดตามกรอบ SDG ข้อ 6 คือเข้าถึงน้ำสะอาดที่ได้มาตรฐาน น้ำดื่มมีมาตรฐานและมีราคาที่เหมาะสม แต่ถึงปี 2572 เราก็อาจยังไม่บรรลุ ยังมี 2 มาตรฐาน ประปาหมู่บ้านอาจอยู่ในระดับมาตรฐานการประปาครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งเป็นมาตรฐานในระดับที่ท้องถิ่นใช้ได้ ใช้ในครัวเรือนปกติ สำหรับน้ำเพื่อการผลิต จะยั่งยืนได้ ก็ต่อเมื่อสร้างความสมดุลระหว่าง “น้ำที่สามารถพัฒนาและบริหารได้” กับ “ความต้องการใช้” หากตรงนี้ไม่สมดุลกัน เราก็จะเจอกับคำว่าภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำตลอดเวลา ซึ่งจะไม่ยั่งยืน อาจไปต่อได้แต่ก็จะมีปัญหา 

ส่วนเรื่องน้ำท่วม ต้องกลับไปหาการ prevention (ป้องกัน) มากกว่า protection (ปกป้อง) เพราะสู้ไม่ไหวในระดับขนาดใหญ่ และการสู้นี้กระทบไปหลายเรื่อง ต้องกลับมาดูว่า prevention จะทำอย่างไร ให้เกิดเป็นตัวนำขึ้นมา และอีกเรื่องที่สำคัญ คือ ต้องอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติ และแม่น้ำคูคลอง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็กำลังขยับเรื่องนี้อยู่ จากเดิมที่การอนุรักษ์พูดเรื่องการขุดลอกเพื่อนำมาเก็บกัก แต่ตอนนี้จะดูใน 4 มิติ คือ คุณภาพ ความหลากหลายทางชีวภาพ และการใช้ประโยชน์ของประชาชนที่อยู่ข้างเคียงแหล่งน้ำด้วย นี่เป็นเรื่องใหม่ที่จะต้องขยับต่อไป

สราวุธ ชีวะประเสริฐ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

ส่วน ดร.รุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช อธิบายว่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ ทำงานดูแลพันธุ์พืชอนุรักษ์ ครอบคลุมประมาณ 21.46% ของป่าไม้ทั้งหมด  หรือคิดเป็นพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 68 ล้านไร่ โดยมีฐานทรัพยากรไปสู่การพัฒนาหลายรูปแบบ เช่น ภาคป่าไม้ ที่ต้องทำงานสนับสนุน เพื่อดูดกลับคาร์บอนที่เกิดจากการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ และทำงานให้สอดคล้องเกี่ยวกับอนุสัญญาด้านสิ่งแวดล้อมอีกหลายฉบับ โดยเฉพาะประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งส่งเสริม SDG ข้อ 1 ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่ และข้อ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตร กรรมที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ในส่วนของงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ยังกรมยังมีทำงานเพื่อตอบสนองต่อ SDG ข้อ 17 เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่เน้นทำงานร่วมกันระหว่างภาคีเครือข่ายทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ

ดร.รุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

000

ประชาชนมีบทบาทอย่างไรใน SEA

จะทำอย่างไรให้การพัฒนา การบริหารงานต่าง ๆ ของแต่ละหน่วยงาน นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ โดยคำนึงถึงการสร้างกระบวนการที่ประชาชนเข้ามามีส่วนการจัดทำแผนพัฒนายุทธศาสตร์ต่าง ๆ

สราวุธ ชีวะประเสริฐ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ระบุว่า ช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมาเรื่องงานทรัพยากรน้ำ ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในระดับการรับรู้ ต่อมาจึงขยับมาสู่การมีส่วนร่วมในระดับการวางแผน แต่สุดท้ายก็ยังกำหนดโดยหน่วยราชการอยู่ดี ส่วนปัจจุบัน กลุ่มใช้น้ำมีสิทธิและอำนาจในการจัดการด้วยตัวเองในระดับโครงการ โดยมีข้าราชการเป็นพี่เลี้ยง แต่หากให้ประชาชนเข้ามามีส่วนในภาพใหญ่ขึ้นยอมรับว่าองค์กรเพิ่งเริ่มทำ โดยเป็นไปตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำที่ให้อำนาจภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาแชร์ข้อมูลหรือให้ความเห็นต่อการจัดการน้ำในภาพรวม

หากมองการมีส่วนร่วมจัดการน้ำในระดับโครงการหรือระดับเล็ก ๆ สิ่งที่เราอยากพัฒนาต่อไปจากนี้ ต้องไม่ใช่แค่การมีส่วนร่วม แต่ต้องเป็นภาคีทำงานร่วมกัน มีการจัดการแบบร่วมกันลงมือ เพราะการมีส่วนร่วมในลักษณะภาคี พัฒนาด้วยองค์กรจัดการน้ำอย่างเดียวไม่ได้ มันต้องไปกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กับกลุ่มในพื้นที่นั้น ๆ” สราวุธ กล่าว 

ด้าน ศุภกร ภัทรวิเชียร จากกระทรวงคมนาคม ชี้ให้เห็นถึงความท้าทายในการดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการคมนาคมการขนส่ง ว่าจากที่ผ่านมาการทำโครงการต่าง ๆ มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจำนวนเยอะมาก ทำให้ความท้าทายอยู่ที่ วางแผนวิเคราะห์ ว่าจะทำอย่างไรให้ได้กลุ่ม Stakeholder ตัวจริง หรือผู้ได้รับผลกระทบจริงเข้ามาให้ความคิดเห็นถูกคน เพราะจากการดำเนินโครงการที่ผ่าน เมื่อลงพื้นที่ มักได้รับความเห็นชอบในทางที่ชอบ แต่เมื่อดำเนินโครงการกลับเกิดความขัดแย้ง ทำให้หัวใจของการทำโครงการพัฒนาเป็นการจัดการเรื่องความขัดแย้ง (Conflict Management)

“ต้องยอมรับว่า SEA ยังมีอุปสรรคในการทำงานอยู่บ้าง อย่างตอนไปลงพื้นที่ชุมชน ประชาชนไม่ได้คัดค้านเมื่อนำเสนอแผน แต่จะโดนคัดค้านตอนโครงการการได้เดินหน้าไปแล้ว ทำให้ต้องตามแก้ไขปัญหาอื่น ๆ  แทน ดังนั้น ผมจึงมองว่า Stakeholder (ผู้เกี่ยวข้อง ทั้งที่ได้ประโยชน์และเสียผลประโยชน์) ที่เป็นตัวจริง ควรเข้ามามีส่วนร่วมให้ความเห็นกับเราจริง ๆ ” ศุภกร ระบุ 

สมภพ พัฒนอริยางกูล ผู้ช่วยปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนจะเข้ามามีส่วนตั้งแต่ในระดับนโยบาย เพื่อสะท้อนออกมาเป็นมาตรการ และอิงไปกับแผนพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลกนอกจากนี้ ยังสามารถมีส่วนร่วมในระดับแผนงานโครงการ ยกตัวอย่าง เรื่องพลังงานในดับจุลภาค ที่เราสนับสนุนให้ประชาชนหรือชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมผลิตไฟฟ้าได้ด้วยใช้เทคโนโลยี  อีกทั้งกระทรวงพลังงานมีแผนส่งเสริมองค์ความรู้ ให้ประชาชนรู้จักทำแผนพลังงาน, บัญชีพลังงาน หรือบันทึกว่าพลังงานมาจากไหน ใช้ไปอย่างไร และชุมชนแต่ละที่จะมีศักยภาพผลิตพลังงานได้ในรูปแบบไหนบ้าง เป็นต้น 

ดร.รุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยอมรับว่า SEA ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับกรมอุทยานแห่งชาติฯ ดังนั้น จึงตั้งใจให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น ทั้งขั้นตอนการคิด ทำ และวางแผน 

“การบริหารจัดการผืนป่า เราตั้งใจจัดตั้งคณะกรรมการ ให้มีตัวแทนของแต่ละพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม ทั้งประชาชน ชุมชนที่อยู่ด้านนอกพื้นที่ป่า ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ และปราชญ์ชาวบ้าน” ดร.รุ่งนภา กล่าว 

000

ข้อเสนอแนะต่อการเดินหน้า SEA ของไทย

ช่วงท้ายของวง มีการเสนอเป็นข้อคิดเห็นต่อการเดินหน้า SEA ให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ที่เป็นผู้ดูแลเรื่องนี้ นำไปปรับปรุงต่อไป 

สราวุธ ชีวะประเสริฐ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เสนอแนะว่า แผนของ SEA ควรมีคนในพื้นที่ย่อย  ๆ เช่น ระดับตำบล ชุมชน เข้ามากำกับการทำงาน เพื่อปรับให้สอดรับปัญหาแต่ละเรื่องของแต่ละพื้นที่ 

ดร.รุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ฝากถึงสภาพัฒน์ ในประเด็นการทำงานแบบบูรณาการของแต่ละหน่วยงาน ทำอย่างไรให้เกิดความสมดุลมากกว่านี้ และอยู่ในบริบทที่สามารถดำเนินการร่วมกันได้ โดยเสนอว่าควรมองในกรอบของภูมิภาคมากขึ้น ร่วมถึงเพิ่มการส่งเสริมศักยภาพทรัพยากรธรรมชาติด้วย

นคร ศรีมงคล ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่า ในส่วนของการประยุกต์ใช้ SEA ยังมีคนทำงานด้านนี้รวมถึงคนที่ประสบการณ์จำนวนน้อยอยู่ ดังนั้น ควรต้องมีเจ้าภาพในการผลักดันทำให้เกิด SEA  มากขึ้น นอกจากนี้ ควรต้องมีงบประมาณในการขับเคลื่อนที่ชัดเจน

นคร ศรีมงคล ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่

ส่วน ศุภกร ภัทรวิเชียร ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน นโยบายด้านยุทธศาสตร์ และรักษาการ ผอ. กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงคมนาคม มอง SEA ว่าเป็นโอกาสและความท้าทาย เพราะ EIA อาจจะตอบโจทย์ในการทำงานไม่ได้ทั้งหมด หากมี SEA มาช่วยเพิ่มทางเลือก จะทำให้การวิเคราะห์โครงการต่าง ๆ มีความรอบด้านมากขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญคือ ทำอย่างไรจะเกิดความยั่งยืน สามารถส่งไม้ต่อไปยังรุ่นลูกหลานได้ โดยคนรุ่นหลังไม่ถูกติว่าทำให้สิ่งแวดล้มเสียหาย 

000

คลิกดูคลิป : การสัมมนาเชิงวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนงาน SEA ของประเทศ ครั้งที่ 3

เอกสารประกอบการสัมมนา

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ