สช.ลงพื้นที่ฟังเสียงชาวบ้านมวกเหล็กร้องปัญหาฝุ่น-กลิ่นไม่พึงประสงค์

สช.ลงพื้นที่ฟังเสียงชาวบ้านมวกเหล็กร้องปัญหาฝุ่น-กลิ่นไม่พึงประสงค์

ชาวบ้าน บ้านมอมะเกลือซอย อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ร่วมให้ข้อมูลปัญหาฝุ่นละอองและกลิ่นไม่พึงประสงค์ในพื้นที่ ขอ สช. แก้ไขปัญหาและตรวจสอบที่มา หลังต้องทนอยู่กับมลพิษมากว่า 10 เดือน ด้าน สช.เตรียมตั้งคณะทำงานศึกษาเร่งด่วน

13 ต.ค. 65 – จากการปักหมุดผ่านทางเว็บไซต์ C-site โดยนายคณิน รูมะปาน รายงานสถานการณ์จากพื้นที่ บ้านมอมะเกลือซอย 1 หมู่ที่ 3 ต.มวกเหล็ก อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 65 ที่ผ่านมาว่า พบฝุ่นละอองและกลิ่นไม่พึงประสงค์ในพื้นที่ จึงได้มีการร้องขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งองค์การบริหารส่วนตำบลมวกเหล็ก และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เข้ามาตรวจสอบ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 65 เจ้าหน้าที่ สช. ลงพื้นที่ประชุมหารือกับกรมอุตสาหกรรมเหมืองแร่และการเหมืองแร่ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ถึงสถานการณ์และผลกระทบด้านสุขภาพ กรณีเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนและหินดินดาน มาใช้ในการทำอุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ ที่ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี เพื่อหาแนวทางการดำเนินงานในการใช้สิทธิการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ 

การประชุมดังกล่าวได้เชิญตัวแทนชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงมาพูดคุย ถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และเชิญนายคณิน รูมะปาน ซึ่งร้องเรียนปัญหาฝุ่นละอองและกลิ่นไม่พึงประสงค์ในพื้นที่เข้าให้ข้อมูลด้วย

เบื้องต้น ที่ประชุมได้มีการรับฟังผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน และชี้แจงถึงหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะทำงาน ขึ้นมาศึกษาผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ก่อนที่จะมีการทำประชาพิจารณ์กับชาวบ้านในพื้นที่อีกครั้งในเร็ว ๆ นี้

ด้านนายคณิน ระบุว่า กลิ่นที่ชาวบ้านได้รับ คล้ายกับการเชื่อมเหล็ก หรือเผาไหม้ รวมไปถึงฝุ่นควันที่พัดมาตามลม ซึ่งส่งผลกระทบกับคนในพื้นที่มาตั้งแต่เดือนมกราคม เนื่องจากพื้นที่บริเวณนั้น มีภูมิศาสตร์เป็นแอ่งกระทะ จึงทำให้มีฝุ่นและกลิ่นจากพื้นที่บริเวณใกล้เคียงพัดมาสะสมอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว แต่ยังไม่ทราบสาเหตุและแหล่งที่มาที่แน่ชัด

นายคณิน เล่าถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ว่า ในตอนแรกชาวบ้านในพื้นที่เข้าใจว่า กลิ่นเหม็นและฝุ่นละอองที่ลอยมา เกิดจากการเชื่อมเหล็ก หรือการก่อสร้างทางรถไฟที่อยู่ห่างออกไปจากพื้นที่ 180 เมตร แต่เมื่อไปสำรวจบริเวณพื้นที่ที่มีการก่อสร้าง พร้อมกับสอบถามรายละเอียดจากคนงาน ได้รับแจ้งว่า งานก่อสร้างในพื้นที่ได้ทำเสร็จไปแล้วหลายเดือน และที่ผ่านมาไม่ได้มีการเชื่อมเหล็กหรือเผาอะไร 

จากนั้น ชาวบ้านได้ไปสำรวจยังพื้นที่ใกล้เคียงตามจุดต่าง ๆ ก็ไม่พบการเผาขยะหรือการก่อสร้างใด ๆ ในระแวกใกล้เคียง รวมทั้งไปสอบถามพื้นที่เกษตร สวนดอกไม้ดาวเรืองที่อยู่ใกล้ ๆ ว่ามีการฉีดยาหรือไม่ ก็ได้รับคำตอบว่า ไม่ได้มีการฉีดยาใด ๆ ทั้งสิ้น

นายคณิน กล่าวถึงผลกระทบที่ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับว่า นอกจากกลิ่นไม่พึงประสงค์ และฝุ่นควันที่ฟุ้งกระจายปกคลุมพื้นที่แล้ว ยังทำให้แสบจมูกและมีอาการของโรคภูมิแพ้กำเริบขึ้น จนต้องกินยาแก้แพ้ทุกวันในช่วงที่เริ่มมีกลิ่นเหม็น ทำให้ทนไม่ไหว จึงได้เดินทางไปยื่นคำร้องกับทางองค์การบริหารส่วนตำบลมวกเหล็กเข้ามาตรวจสอบ แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในการแก้ปัญหา


นายคณิน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 65 ได้ร่วมกับชาวบ้านยื่นคำร้องไปที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เพื่อขอให้เข้ามาแก้ไขปัญหา โดยร้องขอให้มีการติดตั้งเครื่องตรวจวัดฝุ่นควันและเครื่องวัดกลิ่นในพื้นที่ เพื่อตรวจสอบที่มาของฝุ่นละอองและกลิ่นไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้น

หลังจากผ่านไป 13 วัน ทางเจ้าหน้าที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควมคุมมลพิษที่ 7 (สระบุรี) ได้ลงพื้นที่มาพร้อมกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์สิ่งแวดล้อมที่ 7 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสระบุรี อ.มวกเหล็ก เทศบาลเมืองทับกวาง องค์การบริหารส่วนตำบลมวกเหล็ก และเจ้าหน้าที่ของบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เข้าตรวจสอบเรื่องร้องเรียนของชาวบ้าน ด้วยการติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศบริเวณบ้านผู้ร้องเรียนเป็นเวลา 3 วัน 

นายคณิน ระบุว่า ระหว่างที่มีการติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศนั้น ไม่มีฝุ่นละออง หรือกลิ่นในพื้นที่ แต่หลังจากมีการเก็บเครื่องวัดออกไป ก็เริ่มมีกลิ่นแสบจมูกและฝุ่นละอองกลับมาอีกครั้ง

ด้านสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 7 (สระบุรี) ได้ออกประกาศผลจากการตรวจวัดคุณภาพอากาศภายหลังจากการลงพื้นที่ ว่า ผลจากการตรวจวัดคุณภาพอากาศในบรรยากาศแบบอัตโนมัติ จำนวน 5 สถานี ได้แก่ 1. โรงเรียนบ้านซับบอน 2.วัดซับบอน 3.บ้านอ่างหิน 4.วัดหินลับ และ 5.บ้านไทรงาม มีผลการตรวจวัด TSP, PM10, SO2 1 ชม., SO2 24 ชม. และ NO2 1 ชม. อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด

ประกาศดังกล่าวระบุด้วยว่า การลงพื้นที่ไปตรวจสอบบริเวณบ้านเรือนของประชาชนที่ ม.3 ต.มวกเหล็ก อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ขณะตรวจสอบ ไม่พบกลิ่นเหม็นรบกวน และฝุ่นละอองฟุ้งกระจายมายังบ้านเรือนของผู้ร้องเรียน แต่ได้มีคำสั่งบริษัท พีทีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) แจ้งผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศและเฝ้าระวังปัญหากลิ่นเหม็นรบกวนให้คณะตรวจสอบภายหลังดำเนินการแล้วเสร็จ พร้อมทั้งให้องค์การบริหารส่วนตำบลมวกเหล็ก คอยเฝ้าระวังและติดตามปัญหากลิ่นเหม็นรบกวนบริเวณพื้นที่ดังกล่าวเป็นเวลา 7 วัน 

นายคณิน เล่าว่า หลังจากได้รับกลิ่นจนแสบจมูกและฝุ่นละอองปกคลุมอีกครั้ง ในวันที่ 19 ก.ย. 65 จึงประสานไปยังเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลมวกเหล็ก ให้เข้ามาตรวจสอบ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกคนยืนยันตรงกันว่า ได้รับกลิ่นตามที่มีการร้องเรียน รวมไปถึงหมอกควันที่ปรากฎให้เห็นชัดเจน จึงได้โทรประสานขอสนับสนุนเครื่องวัดกลิ่นจากเจ้าหน้าที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควมคุมมลพิษที่ 7 อีกครั้ง แต่เจ้าหน้าที่ระบุว่า ต้องรอให้บริษัทสรุปผลการตรวจสอบที่ได้ออกมาให้ชัดเจนก่อน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ