เกิดอะไรในทวิตภพ DEAL พลเมืองรวมพลังจับตาพฤติกรรมชวนสงสัยเลือกตั้ง 66

เกิดอะไรในทวิตภพ DEAL พลเมืองรวมพลังจับตาพฤติกรรมชวนสงสัยเลือกตั้ง 66

รายงานเปิดเผยครั้งแรกที่เพจเฟซบุ๊ก We Watch เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 เวลา 12:21 AM

เปิดรายงาน การติดตามสถานการณ์เลือกตั้งในสื่อสังคมออนไลน์ วันที่ 1-17 เมษายน 2566 ของกลุ่มDEAL หรือ Digital Election Analytic Lab โครงการการติดตามกระบวนการเลือกตั้งในสื่อสังคมออนไลน์ซึ่งเป็นการรวมตัวแบบเฉพาะกิจของภาคประชาชน ระหว่างเดือนเมษายน ถึงเดือนมิถุนายน 2566 นำโดย WeWatch, MOVE, คณาจารย์และนักวิจัยสังคม, ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ และประชาชนอาสาสมัคร 

ร่วมมือกันโดยมีเป้าหมายเพื่อให้ความสำคัญของพื้นที่กลาง พื้นที่การสื่อสารและการถกเถียงทางการเมืองที่ปลอดภัย สร้างสรรค์ มีความรับผิดชอบ และให้ความสำคัญต่อการเลือกตั้งในฐานะของกระบวนการที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยที่ปราศจากความรุนแรง

DEAL ได้ศึกษาความเคลื่อนไหวและกิจกรรมบนแพลตฟอร์ม Twitter พบว่ามีพฤติกรรมที่น่าสนใจเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ข้ามพรรคและผู้สนับสนุนพรรคนั้นๆ รวมถึงสื่อมวลชน อาทิ เผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน (Disinformation) ลดทอนคุณค่าเชิงอัตลักษณ์ (Discrimination of Identity) ยั่วยุปลุกปั่นที่มุ่งร้ายให้เกิดความรุนแรงต่อผู้อื่น (Dangerous Speech and Incitement of Violence) รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อหวังผลต่อคะแนนเสียงของผู้สมัครที่ถูกมุ่งเป้า (Doxxing) และการใช้เครือข่ายบัญชีผู้ใช้งานปลอม (Network of Coordinated Accounts) 

รูปที่ 1: เครือข่ายบัญชีของพรรคการเมืองหลักสามพรรค ซึ่งมีปฏิสัมพันธ์กันภายในและระหว่าง “ชุมชน”อย่างเข้มข้นมากกว่าเครือข่ายพรรคการเมืองอื่นที่มีขนาดเล็กกว่า หรือมุ่งหาเสียงในโลกออฟไลน์มากกว่าออนไลน์รายงานฉบับนี้ยังไม่เปิดเผยชื่อของพรรคการเมืองเหล่านี้ ที่มา: Twitter API และทีมนักวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลมีเดียขนาดใหญ่ของ DEAL

ข้อสังเกตเบื้องต้นต่อพฤติกรรมของเครือข่ายบัญชี

  • จากรูปข้างต้น ตีความได้ว่ากลุ่มบัญชีที่เกี่ยวข้องกับพรรค A และพรรค C โต้ตอบกันไปมาข้ามชุมชนอย่างคึกคัก เมื่อเทียบกับกลุ่มบัญชีที่เกี่ยวข้องกับพรรค B ซึ่งดูเหมือนคุยกันภายในกลุ่ม และมีลักษณะแยกตัวออกจากเครือข่ายบัญชีของพรรค A และพรรค C
  • เมื่อเทียบกับพรรค B แล้ว ดูเหมือนพรรค A และพรรค C ใช้ Twitter ในการสื่อสารอย่างมาก โดยบัญชีTwitter ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด 10 อันดับแรก เป็นบัญชีทางการของพรรคและบัญชีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งของพรรค A รองลงพรรคคือบัญชีทางการของพรรค C ข้อมูลนี้ตีความได้หลายทิศทาง เช่น หากผู้ใช้ Twitter ส่วนใหญ่ในไทยคือประชากรอายุราว 20-35 ปีอาจแสดงว่าฐานเสียงของพรรค A คือประชากรกลุ่มนี้ซึ่งใช้ Twitter เพื่อสื่อสารกับพรรค ทีมตั้งข้อสังเกตเบื้องต้นว่าบัญชีในเครือข่ายของพรรค A อย่างน้อยสามบัญชีใหญ่ (ให้สังเกตดีๆ ที่จุดสีเทาในวงกลมสีฟ้าข้างต้น) มีพฤติกรรมที่ผิดปกติจากการใช้งาน Twitter ของผู้ใช้ที่เป็นบุคคลทั่วไป คือมีลักษณะเป็นบัญชีที่ไม่พักผ่อน ตื่นตัวตลอดเวลาทั้งการโพสต์ รีโพสต์และการตอบกลับ บางบัญชีโพสต์แบบไม่มีช่วงพักตลอด 24 ชั่วโมง มากกว่า 300 โพสต์ เฉลี่ย 5 โพสต์ใน 1 นาทีทีมจึงตั้งข้อสังเกตว่าหากเป็นบัญชีของคนทั่วไป จะมีช่วงที่นอนหรือพักบ้างต่อให้เสพติดโซเชียลมีเดียแค่ไหนก็ตาม นอกจากนี้บัญชีต้องสงสัยของพรรค A มักแห่แหนกันตอบข้อความที่มาจากบัญชีทางการของพรรค A โดยมากข้อความเหล่านี้ให้กําลังใจและสนับสนุนพรรคเช่น ใช้การแสดงสัญลักษณ์ การสนับสนุนด้วยอีโมจิอย่างเดียวเท่านั้นและโพสต์ค่อนข้างถี่ ทั้งนี้อาจตั้งข้อสงสัยได้ว่าเป็นไปเพื่อต้องการเพิ่มยอดการมองเห็น (visibility) หรือไม่
  • ในทางกลับกัน พรรค B มีเครือข่ายชุมชนในTwitter ที่เล็กและหนาแน่นน้อยกว่าอีกสองพรรค และแต่ละบัญชีค่อนข้างกระจายตัว อาจแปลได้ว่าผู้ใช้ Twitter ส่วนใหญ่ในไทยมิใช่ “กลุ่มลูกค้า” หลักของพรรค B หรือหากมี “กลุ่มลูกค้า” หลักอยู่บ้าง ดูเหมือนพฤติกรรมของผู้ใช้บัญชีในเครือข่ายพรรค B ในช่วงแรกของการหาเสียงมี “ความเฉื่อย” ในการสื่อสาร ซึ่งต่างจากธรรมชาติของ Twitter อันเป็นพื้นที่หลักของคนรุ่นใหม่ซึ่งมักโต้ตอบไปมา จนสร้างบรรยาการการสนทนาทางการเมืองที่ร้อนแรงในบางครั้ง
  • แม้จะเล็กและ “เฉื่อย” แต่การที่พรรค B ยังคงปรากฎตัวบนเครือข่ายบัญชีใน Twitter อยู่ พาให้ตั้งข้อสงสัยต่อเหตุจูงใจประการอื่น เช่น อาจจะบัญชีเหล่านี้มุ่งบ่มเพาะชุดความคิดผู้ใช้ Twitter ที่อาจมีอุดมการณ์ใกล้เคียงกับพรรคแม้จะเป็นเพียงคนกลุ่มเล็กก็ตาม หรือพยายามจุดกระแสในบางประเด็นเพื่อให้ผู้สนับสนุนพรรคกลุ่มเล็กๆ ใน Twitter ขยายประเด็นนี้ต่อในพื้นที่โซเชียลมีเดียอื่น เช่น Facebook LINE หรือ TikTok ซึ่งผู้สนับสนุนพรรค B ส่วนใหญ่ อาจนิยมใช้มากกว่า นอกจากนี้บัญชีต้องสงสัยในเครือข่ายของพรรค B มีอย่างน้อยสี่บัญชีใหญ่ (ให้สังเกตดีๆ ที่จุดสีม่วงเข้มในวงกลมสีม่วงข้างต้น) และแสดงพฤติกรรมบางประการที่ผิดปกติจากบัญชีผู้ใช้ Twitter ที่เป็นบุคคล เช่น บางบัญชีไม่โพสต์อะไรเลยตลอดทั้งวัน ในทางตรงข้ามบางครั้งก็โพสต์ถี่ๆ แบบไม่มีช่วงพัก ตลอด 24 ชั่วโมง บางบัญชีก็โพสต์มากกว่า 300 โพสต์โดยบัญชีที่ “ขยัน” ที่สุดมีจังหวะพักเพียง 23 วินาที โดยเนื้อหาของโพสต์จํานวนมากมักโจมตีพรรค A และ C และถูกส่งต่อไปยังเครือข่ายผู้สนับสนุนพรรค B อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันบางบัญชีที่ต้องสงสัยก็มุ่งโพสต์แต่ข้อความ “อวย” พรรค B

รูปที่ 2: “ความขยัน” โพสต์ของแต่ละบัญชีที่มีพฤติกรรมต่างจากบัญชีบุคคล แต่ละแท่งกราฟแทนหนึ่งบัญชี (ปิดชื่อบัญชีในรายงานชิ้นนี้) ความสูงต่ําของแต่ละแท่งกราฟสะท้อนจํานวนนาทีที่แต่ละข้อความโพสต์ห่างกัน บัญชีแรกที่แทบไม่เห็นแท่งกราฟเลยคือบัญชีที่ “ขยัน” มากที่สุดที่กล่าวไว้ข้างต้น คือโพสต์ทุกๆ 23 วินาทีทีมวิเคราะห์ว่ากราฟเจ็ดแท่งแรกซึ่งโพสต์ทุกๆ 23 วินาทีถึง 45 นาทีมีลักษณะที่ต่างไปจากบัญชีบุคคลทั่วไปที่มา: Twitter API และทีมนักวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลมีเดียขนาดใหญ่ของ DEAL

  • เห็นได้ชัดว่า พรรค A มีผู้สนับสนุนจํานวนมาก โดยเอกลักษณ์ประการหนึ่งของบัญชีเหล่านี้คือ การเน้นรีทวิต ไลค์ตอบกลับ ในทางหนึ่งเราหลายคนก็มีพฤติกรรมเช่นนี้เวลาใช้โซเชียลมีเดีย แต่บัญชีของบุคคลทั่วไปมักจะมีรูปแบบของพฤติกรรมที่หลากหลาย เช่น มีการโพสต์เนื้อหา รีทวิต และตอบกลับข้อความคนอื่น แต่บัญชีผู้สนับสนุนของพรรค A หลายบัญชีมีพฤติกรรม “เชิงเดี่ยว” มากกว่ามีพลวัตแง่นี้จึงต่างจากพฤติกรรมของผู้สนับสนุนพรรค B และ พรรค C

ปรากฏการณ์การใช้โซเชียลมีเดียในสมรภูมิการเลือกตั้งได้รับความสนใจในโลกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา พรรคการเมืองทั้งหน้าใหม่และเก่าสร้างบัญชีทางการของพรรค ขณะเดียวกันผู้สนับสนุนพรรคทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการต่างก็สื่อสารนโยบายพรรค ความชื่นชอบ (และไม่ชื่นชอบ) ในตัวบุคคล รวมถึงมีปฏิสัมพันธ์กับสื่อมวลชนที่เริ่มหันจากการผลิตข่าวในโลกออฟไลน์มาเป็นโลกออนไลน์มากขึ้น ท่ามกลางบรรยากาศเช่นนี้หลายฝ่ายกังวลว่าสมรภูมิการเลือกตั้งในโซเซียลมีเดียที่ดุเดือดมากขึ้นอาจนําไปสู่การเผยแพร่ข่าวลวงหรือข่าวบิดเบือนการจงใจสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงของพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งการระดมมวลชนในโลกออนไลน์ที่อาจกลายเป็นการคุกคามในโลกออฟไลน์ต่อพรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือกลุ่มภาคประชาสังคมที่จับตามองการเลือกตั้ง กระทั่งความพยายามส่งอิทธิพลต่อความเห็นผู้เลือกตั้งที่อาจกระทบต่อความบริสุทธิ์ยุติธรรมของกระบวนการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย

ในไทยเอง อาจกล่าวได้ว่าสมรภูมิเลือกตั้งในโซเชียลมีเดียทวีความเข้มข้นขึ้นตั้งแต่การเลือกตั้ง’62 โดยแปรผันตามความนิยมเสพสื่อออนไลน์ของประชากรไทย เช่นเดียวกับปรากฎการณ์ในโลกที่กล่าวไปข้างต้นการใช้พื้นที่โซเชียลมีเดียในการหาเสียงมิใช่เรื่องผิดปกติ ทว่าสิ่งที่อาจกระทบกับความบริสุทธิ์ยุติธรรมของกระบวนการเลือกตั้งคือการฉวยใช้พื้นที่ดังกล่าวและเทคโนโลยีในการโจมตีคู่แข่งในการเลือกตั้งอย่างเป็นระบบ เช่น เผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน (Disinformation) ลดทอนคุณค่าเชิงอัตลักษณ์ (Discrimination of Identity) ยั่วยุปลุกปั่นที่มุ่งร้ายให้เกิดความรุนแรงต่อผู้อื่น (Dangerous Speech and Incitement of Violence) รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อหวังผลต่อคะแนนเสียงของผู้สมัครที่ถูกมุ่งเป้า (Doxxing) และการใช้เครือข่ายบัญชีผู้ใช้งานปลอม (Network of Coordinated Accounts) ตลอดจนวิธีการหลากหลายเพื่อลดหรือเพิ่มแนวโน้มที่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียจะเห็นข้อความของผู้สมัครคนหนึ่งหรือพรรคหนึ่งๆ ในหน้าฟีดของตน ปฏิบัติการเช่นนี้ มีพัฒนาการที่ซับซ้อนมากขึ้นในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา โดยมีการจัดการ ระดมสรรพกําลังพล และการออกแบบข้อความที่เป็นระบบ โดยมีทั้งตัวละครที่เป็นทางการและไม่ทางการ (คือมีลักษณะ “จิตอาสา”)

Digital Election Analytic Lab (DEAL) มุ่งติดตามพฤติกรรมข้างต้นในโซเชียลมีเดียที่อาจส่งผลต่อความบริสุทธิ์ยุติธรรมของกระบวนการเลือกตั้ง และพลวัตความขัดแย้งทางการเมืองไทยหลังการเลือกตั้งโดยในรายงานฉบับแรกนี้เป็นบทวิเคราะห์เครือข่ายสังคม (Social Network Analysis) ของบัญชีทางการของพรรคการเมือง บัญชีทางการของผู้สมัครรับเลือกตั้ง และครอบคลุมถึงบัญชีเครือข่ายในแพลตฟอร์มอันเป็นพื้นที่สนทนาทางการเมืองที่สําคัญของไทยในขณะนี้อย่าง Twitter ซึ่งบัญชีเหล่านี้ใช้โซเซียลมีเดียในสมรภูมิการเลือกตั้งอย่างเป็นระบบ และสะท้อนพฤติกรรมที่น่าสนใจเกี่ยวปฏิสัมพันธ์ข้ามพรรคและผู้สนับสนุนพรรคนั้นๆ รวมถึงสื่อมวลชน ทีมงานตั้งข้อสังเกตด้านล่างเกี่ยวกับพฤติกรรมอันน่าสงสัยของบางบัญชี อันจะเป็นฐานให้ทีมได้วิเคราะห์แนวโน้มของบัญชีเหล่าในโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งและหลังการเลือกตั้งต่อไป

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ