สถานการณ์น้ำท่วมของอุบลราชธานียังคงเป็นที่น่ากังวล แม้ระดับน้ำในวันที่ 12 ตุลาคม 2565 นี้จะเพิ่มขึ้นจากเดิม (วันที่ 11 ตุลาคม 2565 ) เพียง 1 เซนติเมตร แต่ข้อมูลล่าสุดพบว่า มีผู้อพยพจากอุทกภัยแล้วกว่า 205 ชุมชน จำนวน 8,672 ครัวเรือน คิดเป็น 25,382 คน ซึ่งในตอนนี้มีศูนย์พักพิงเพียง 82 แห่ง นอกจากนี้ยังมียอดคาดการณ์ความเสียหายพื้นที่เกษตรกรรมรวม 317,819.75 ไร่ บ่อปล่า กุ้ง ตะพาบ เสียหายกว่า 540.75 ไร่ รวมทั้งถนนหลายสายถูกตัดขาด สร้างความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องประชาชนในการเดินทางสัญจรไปมา
จากลักษณะทางกายภาพของจังหวัดที่เป็นแอ่งกระทะ และยังเป็นพื้นที่ปลายน้ำของภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อนที่น้ำจะระบายลงสู่แม่น้ำโขงที่ อ.โขงเจียม ทำให้จังหวัดอุบลราชธานี โดยเฉพาะริมฝั่งแม่น้ำมูลอย่างอำเภอวารินชำราบ และพิบูลมังสาหาร ต้องประสบกับอุทกภัยเป็นประจำทุกปี แต่ในปี 2565 นั้น สถานการณ์หนักเกือบเท่าปี 2521 ที่เกิดพายุถึง 2 ลูก ทำให้น้ำไหลเข้าท่วมถึงใจกลางเมือง ซึ่งทางหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานีคาดการณ์ว่า น้ำท่วมครั้งนี้จะสร้างความเสียหายให้ระบบเศรษฐกิจของเมืองไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท
ถอดบทเรียนระบบการรับมือน้ำท่วมฉบับพี่น้องชาวอุบลราชธานี
กว่า 3 เดือนที่ภาคส่วนต่าง ๆ และประชาชนต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ภาคประชาชน มหาวิทยาลัย นักศึกษาและสื่อท้องถิ่นเอง ได้ร่วมมือลุกขึ้นมาช่วยกันดูแลและรับมือกับน้ำท่วมในครั้งนี้ นำเอาประสบการณ์และการถอดบทเรียนเมื่อปี 2562 มาใช้ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่เดือดร้อน
ระบบการเฝ้าระวังระดับน้ำ มีการติดตามข้อมูลผ่านหน่วยงาน ได้แก่ กรมชลประทาน เพื่อติดตามสถานการณ์ระดับน้ำและประกาศการระบายน้ำออกจากเขื่อน กรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อติดตามสภาพอากาศและการคาดการณ์ปริมาณน้ำฝน ศูนย์อุทกวิทยาชลประทานภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำรายชั่วโมง สภาพน้ำท่า และข้อมูลเชิงสถิติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ระบบการสัญจรไปมาในพื้นที่ มีการติดตามข้อมูลผ่านทาง แผนที่ติดตามและเฝ้าระวังน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานี โดยทีม SaveUbon มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
นอกจากนี้ยังมีการส่งต่อข้อมูลข่าวสารผ่านไลน์กลุ่ม เตือนภัยพิบัติอุบลราชธานี เพจเฟซบุ๊ก Ubon Connect และวารินชำราบบ้านเฮา อุบลราชธานี
การประสานพลังสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น ศูนย์น้ำมิตร คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลฯ, UBUSaveUbon (ภาคีเครือข่ายและคณะอาจารย์) และภาคประชาสังคมหน่วยงานและสื่อท้องถิ่น (Ubon connect, อุบลราชธานี บ้านเฮาและ อยู่ดีมีแฮง)
การรวมกลุ่มของอาสาสมัครช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน และสำรวจความคิดเห็นและความต้องการ แม้จะมีหน่วยงานคอยสนับสนุนแต่การกระจายให้เข้าถึงคนทุกกลุ่มยังเป็นโจทย์ที่ต้องแก้ไขอยู่
สังคมยังคงต้องเอาใจช่วย ร่วมกันจับตาสถานการณ์ และเป็นกระบอกเสียงให้กับพี่น้องชาวอุบลราชธานี เพื่อรับมือกับปริมาณน้ำฝนในวันที่ 14 ตุลาคมนี้
ถึงแม้พี่น้องประชาชนชาวอุบลราชธานีจะมีการวางแผนเตรียมพร้อมรับมืออย่างเข้มแข็งเพียงใด แต่จากการคาดการณ์ถึงสถานการณ์น้ำที่อาจจะคลี่คลายภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ ประกอบกับในบางพื้นที่ที่มีการท่วมขังนานมาแล้วกว่า 1 เดือน การขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภค ปัญหาทางด้านสาธารณสุข การถูกตัดน้ำตัดไฟอยู่เป็นระยะ และถนนที่ถูกตัดขาดสร้างความไม่สะดวกในการสัญจรไปมา สังคมยังคงต้องเอาใจช่วย ร่วมกันจับตาสถานการณ์ และเป็นกระบอกเสียงให้กับพี่น้องชาวอุบลราชธานี เพื่อรับมือกับปริมาณน้ำฝนในวันที่ 14 ตุลาคมนี้ ที่จะทำให้ระดับน้ำสูงขึ้นกว่า 20 เซนติเมตร และการรอน้ำระบายในอีก 2 – 3 สัปดาห์ต่อจากนี้
เรียบเรียงโดย
อรกช สุขสวัสดิ์
กัณญาพัชร ลิ้มประเสริฐ
ทิตติกาญจน์ วังมี
เรื่องที่เกี่ยวข้อง