รุกต่อ…รอไม่ได้ อุบลราชธานีรวมพลังสู้ภัยน้ำท่วม

รุกต่อ…รอไม่ได้ อุบลราชธานีรวมพลังสู้ภัยน้ำท่วม

บ้านหนองจาน ต.แจระแม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี

6 ตุลาคม 65 เครือข่ายนักวิชาการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ภาคประชาสังคม สื่อท้องถิ่น และอาสาสมัครร่วมกันเปิดรับบริจาคสมทบความช่วยเหลือกับศูนย์น้ำมิตรและ UBUsaveUbon รวมน้ำใจช่วยผู้ประสบอุทกภัยอุบลฯ ปี 65

ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)  หรือ GISTDA  รายงานเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 65 ระบุว่า ดาวเทียม Sentinel-1 ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทย มีพื้นที่ท่วมขังแล้วทั้งสิ้น 3,289,514 ไร่ รวม 25 จังหวัด ในเขตภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคตะวันออก

เปรียบเทียบพื้นที่น้ำท่วมไทยช่วงเดือนกันยายน 2554 2564 และ 2565

กว่า 1 สัปดาห์แล้ว หลังอุบลราชธานีเจอกับพายุโนรู และปริมาณน้ำจากฝนตกหนักในลุ่มน้ำมูลแม่น้ำสายสำคัญของเมืองดอกบัวงาม น้ำจากเขื่อนตอนบนที่ระบายลงมา รวมกับลำน้ำสาขา และน้ำจากลุ่มแม่น้ำชีที่ไหลมารวมกันในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี นั่นทำให้นาทีนี้ จ.อุบลราชธานี ทั้งฝั่ง อ.วารินชำราบ และเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี ที่มีแม่น้ำมูลขวางกั้นเอาไว้แทบจะสำลักน้ำ เพราะหลายจุดน้ำท่วมสูง นั่นจึงเป็นที่มาของการรวมตัวฟื้นเหล่าอาสาสมัครที่เคยเผชิญสถานการณ์มหาอุทกภัย ปี 2562 ต้องมารวมกันเฉพาะกิจอีกครั้ง

ธวัช มณีผ่อง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

“เราต้องการศูนย์อำนวยการกลาง ที่ประกอบด้วยทุกภาคส่วน เพราะในระยะเผชิญเหตุ เราต้องการปฏิบัติการพร้อมๆ กัน แนวคิดเชิงออกแบบ design thinking ง่ายๆ สามารถทาบลงไปที่ ศูนย์อำนวยการกลางเลย   มีปัญหาอะไรบ้างฟุ้งมาให้หมด” ธวัช มณีผ่อง อาจารย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หนึ่งในอาสาสมัครที่กระโดดและเป็นแรงผลักแรงดันคณะทำงานมาร่วมหัวจมท้ายด้วยกันอีกครั้ง หลังจากผ่านวิกฤตในปี 2562 ไปเพียง 3 ปี

“สรุปแล้วปัญหาอยู่ตรงไหน เอาชัด ๆ   ระดมว่าจะแก้ไขอย่างไร ทดลองระบบหรือกลไก  แก้ไขปรับปรุง  ทำในระบบของศูนย์อำนวยการกลาง ซึ่งควรประกอบด้วย

1.งานด้านการอพยพ-ขนย้าย การบริการจุดอพยพ คน สัตว์ สิ่งของ และระบบสุขอนามัย
2. งานบริจาค อาสาสมัคร จัดระบบให้ทุกคนได้ทำงานและทั่วถึงผู้ประสบภัย
3. งานด้านการสื่อสาร Update สถานการณ์  ข้อมูลหลายระดับ ที่ประชาชนเข้าถึง โดยแปลงเป็นภาษาการสื่อสารหลายระดับ รวมทั้งการพยากร
4. ศูนย์เคลื่อนที่เร็ว กรณีอุบัติเหตุ ไฟดูด คนป่วย 
5. กองอำนวยการ”

จุดพักพิงชั่วคราว ชุมชนวัดบูรพา 2

อยู่กับน้ำอย่างมีคุณภาพ

สถานการณ์น้ำท่วมยังเป็นเสมือนยาขมที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกของคนเมืองอุบล เพราะแม้ไม่ได้ต้องการก็ได้รับผลกระทบเพราะภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ปลายน้ำภาคอีสานที่จะรอรับน้ำจากลุ่มน้ำโขง ชี มูล ทั้งหมดมาออกสู่แม่น้ำโขงที่ อ.โขงเจียม ต้นทุนประสบการณ์จากน้ำท่วมปี 2562 ที่เคยจะเป็นเกราะป้องกันอย่างดีเพื่อเตรียมพร้อมป้องกันได้ถูกหยิบยกให้เป็นบทเรียน และนำมาปรับใช้ในเหตุการณ์น้ำท่วมปีนี้ 2565 จากผลการศึกษาทางวิชาการของทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

แผนที่เส้นทางน้ำอีสาน

“หลังน้ำท่วม 2562 เราได้ทำวิจัย 2 รูปแบบคือ เรื่องเล่าน้ำท่วมปี 62  จำนวน 62 กรณี และการวิจัยผลกระทบน้ำท่วมที่เกิดขึ้นกับภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งจากงานวิจัยเรื่องเล่าปี 2562  สิ่งสำคัญที่เราพบจากเสียงของประชาชน คือ ต้องการการเผชิญภัยพิบัติแบบมีส่วนร่วม รับรู้ข่าวสารเดียวกัน เพื่อการเตรียมตัวและเผชิญภัยพิบัติอย่างมีคุณภาพ  มีหลายคนต้องขนย้ายสิ่งของหลายรอบ เสียทั้งทรัพย์ และแรงงาน  มีเรื่องเล่าของหาย ทำให้เข้าใจว่าทำไมต้อง มี 1 คนเฝ้าของทรัพย์สินประชาชนแม้ไม่มีราคาแต่มีค่ามาก ที่นอน  กบ ไก่ ฯลฯ

ซึ่งเรื่องเล่าทั้ง 62 กรณี สื่อสารถึงการทบทวนการจัดการภัยพิบัติ คือ 1. การแจ้งเหตุที่แน่นอน ชัดเจน เชื่อถือได้ ต้องการคุณภาพทั้งเนือ้หา และ ช่องทางการสื่อสาร  2. การมีพื้นที่รองรับอพยพที่เหมาสม ทั้งสำหรับ คน สัตว์ และ สิ่งของ การนำสัตว์เลี้ยงไปอยู่ในจุดอพยพ ไม่หมาะสมทั้งบรรยากาศและสุขอนามัย 3. ขอให้มีการจัดการเผชิญเหตุระยะยาวอย่างอยั่งยืน เมื่อปฏิเสธการเป็นพื้นที่รับน้ำไม่ได้ ต้อง เป็นมิตรกับกัน มีแนวทางการเผชิญเหตุ ที่รองรับวิถีชาวน้ำ เช่น มีการลงทุนแพชุมชน เรือชุมชน ให้อุบลราชานีและวารินชำราบ มีเรือจำนวนมากพอในฤดูน้ำหลาก  “อยู่กับน้ำอย่างมีคุณภาพ”

จากเรื่องเล่า เมื่อนำมาเชื่อมกับการวิจัยผลกระทบต่อฝ่ายต่าง ๆ พบว่า การเผชิญภัยพิบัติ 2562 ยังขาดความเป็นระบบ หวังว่าจะนำมาใช้เตรียมการเผชิญเหตุ ปี 2565 แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ 

ข้อเสนอจากการวิจัย มีทั้งระยะเผชิญเหตุในการช่วยเหลือ อพยพ มีเรือ มีแพ  มีระบบการแจ้งเตือน จุดรับและสื่อสารความช่วยเหลือภัยพิบัติแต่ละครั้งที่เผชิญเหตุ  แต่ก็พบว่า การมีศูนย์อำนวยการดังกล่าว ต้องอาศัยการทลายวัฒนธรรมไซโล (Silo) หรือ การทำงานเป็นแท่งไซโลของระบบราชการผมเข้าใจข้อจำกัด แต่หากจะเผชิญภัยพิบัติ มันต้องทลาย และถือว่างานน้ำท่วมเป็นภารกิจร่วมกัน เมื่อไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมใหม่ของการทำงานข้ามภาคส่วนได้  เมื่อน้ำท่วม 2565 มา ประชาชนจึงยังคงต้องช่วยเหลือกันเอง

ในระยะยาว ผลการวิจัยชี้เลยว่า น้ำท่วมเป็นธรรมชาติ แต่ภัยพิบัติเป็นผลพวงจาการทำและไม่ทำอะไรของมนุษย์  งานวิจัยเสนอการแก้ไขปัญหาระยะยาวว่าด้วยการจัดการเมือง ผังเมือง  ภาพนี้ คือ สิ่งที่เราคิดว่าต้องทำ เพื่อให้น้ำท่วมเป็นเพียงธรรมชาติ”  ธวัช มณีผ่อง อาจารย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และหนึ่งในสมาชิกทีมวิจัยไล่เรียงที่มาที่ไปและการแก้โจทย์ให้อยู่ร่วมกับน้ำได้เมื่อต้อง “ถูกท่วม”

ฮักแพง เบิ่งแงงกัน คนอุบลช่วยคนอุบล

แม้จะเห็นข้อจำกัดจากการเผชิญเหตุเฉพาะหน้า แต่ความเดือดร้อนรอไม่ได้ เพราะขณะนี้น้ำในอุบลราชธานียังท่วมสูงเพิ่มระดับและขยายวงกว้าง รอน้ำมวลน้ำจากอีสานตอนบน ลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูลไหลมาเติมกันก่อนลงสู่แม่น้ำโขง ที่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เครือข่ายนักวิชาการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ภาคประชาสังคม สื่อท้องถิ่น และอาสาสมัคร จึงร่วมกันเปิดรับบริจาคสมทบความช่วยเหลือกับศูนย์น้ำมิตรและ UBUsaveUbon รวมน้ำใจช่วยผู้ประสบอุทกภัยอุบลฯ ปี 65 เชื่อมการทำงานในรูปแบบ “จิตอาสา” โดยมีแกนตั้งต้นจากคณาจารย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ต้องฟื้นระบบการทำงานเมื่อปี 2562 ขึ้นมาอีกครั้ง ในฉบับปรับปรุง

รุกต่อ…รอไม่ได้ อาสาสมัครอุบลราชธานีรวมพลังสู้ภัยน้ำท่วม

“จัดโครงสร้างการทำงาน มหาวิทยาลัย อุบลราชธานี ตอนนี้ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาคีคณะต่างๆ ศิลปะศาสตร์ ศิลปะประยุกต์และสภาปัตยกรรม  บริหารศาสตร์ ในนามของ ศูนย์น้ำมิตร กับ ระบบของมหาวิทยาลัย UBUSaveUbon  นำระบบกลับมาสื่อสารกัน  คาดว่าจะเตรียมการสำหรับ 2 ช่วง คือ ช่วงการเผชิญเหตุ การระดมข้าวของและเงิน เพื่อช่วยเหลือฉุกเฉิน และช่วงหลังเผชิญเหตุหรือการฟื้นฟู ตรงนี้หนักทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์”   ธวัช มณีผ่อง อาจารย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้ภาพรูปแบบการทำงานที่ผสานความร่วมมือจากหลายภาคส่วน

การเตรียมการระหว่างและหลังเผชิญเหตุ ประสบการณ์ 2562 พบว่า การสนับสนุนช่วยเหลือจากราชการมีจำกัด และเงื่อนไขจิปาถะ ทำให้คนจำนวนมากเข้าไม่ถึง หรือ เข้าถึงแต่ไม่เพียงพอ เงินบริจาคที่ได้รับผ่านศูนย์เฉพาะกิจศิลปศาสตร์ ในปี 62 ลงไปกับระยะการฟื้นฟู ตอนนี้มีผู้ประสานมาจาก พอช. ว่าจะร่วมมือวางแผนการสนับสนุนระยะฟื้นฟู ให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ทันทีหลังน้ำลด โดย พอช. ได้ประสานกับ ทาง เทใจดอทคอม ไว้  พร้อมกันนั้นในมหาวิทยาลัย ก็ได้ทำ platform อาสาสมัครไว้รองรับ ทั้งระยะเผชิญเหตุและระยะฟื้นฟู

ความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ศูนย์น้ำมิตร และ UBUSaveUbon  ได้ร่วมกับ ไทยพีบีเอส และเพจท้องถิ่น Ubon connect วารินชำราบบ้านเฮา อยู่ดีมีแฮง ในการสื่อสารสถานการณ์น้ำท่วมและการช่วยเหลือ ทั้งนี้ มีแผนร่วมกันที่จะฝึกอบรมนักศึกษาให้เป็นผู้สื่อสารข่าวสารในสถานการณ์ภัยพิบัติ คาดว่าจะทำทันทีหลังสอบปลายภาคเสร็จสิ้น ราวกลางเดือนตุลาคมนี้

การระดมทุน ไม่ได้คาดหวังระดมเงินหรือข้าวของ หากมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่นี้ และ ระบบการกระจายเงินและข้าวของดี ทั่วถึง   แต่จากประสบการณ์ 2562 และ ในปี 2565 นี้เอง ที่พบว่า การช่วยเหลือในระยะฉุกเฉิน ไม่สามารถรองรับกับผุ้เดือนร้อน ที่กระจายอยุ่ตามจุดต่างๆ ได้ ทางศูนย์น้ำมิตร จึงได้เปิดบริจาคเงิน เพื่อกระจายไปยังครัวกลาง เป็นลำดับต้น และ ข้าวของ อาจตามมาภายหลังจากที่เราเตรียมการเรื่อง ระบบขนส่งแล้ว  คาดว่า จะทำหน้าที่ แมชชิ่ง ความช่วยเหลือมากกว่า นำมาค้างไว้ที่จุดใดจุดหนึ่ง  หวังว่าเราจะทำได้จริงครับ”

รุกต่อ…รอไม่ได้

เมืองอุบลกับคนปลายน้ำ นับเป็นโจทย์ใหญ่ในระยะยาวที่ต้องร่วมขบคิด ออกแบบ วางแผน และจัดการอย่างเป็นรูปธรรม (อีกครั้ง) เพราะเวลาเพียง 3 ปี จาก 2562 – 2565 ภาพเหตุการณ์มหาอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สร้างความเสียหายแก่ประชาชนคนลุ่มน้ำมูลที่ไม่เพียงแต่อุบลราชธานี แต่หมายรวมถึงลุ่มน้ำโขง และลุ่มน้ำชี ต้นทางที่รวบรวมเอามวลน้ำจากแผนดินที่ราบสูงส่งมาที่เมืองดอกบัวงาม กลับตามหลอกหลอนเสมือนว่าเหตุการณ์เพิ่งผ่านไป และนั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่คนอุบลราชธานีรอความช่วยเหลืออย่างเดียวไม่ได้ ซึ่งพวกเขาเองก็ไม่เคยรอ…

รวมสมทบทุน แบ่งปันความช่วยเหลือกับศูนย์น้ำมิตรและ UBUsaveUbon รวมน้ำใจช่วยผู้ประสบอุทกภัยอุบลฯ ปี 65

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ