ลมหายใจแห่งฮูสะโฮง อนาคตแห่งแม่น้ำโขงที่เดิมพันด้วย “เขื่อน” อีกครั้ง

ลมหายใจแห่งฮูสะโฮง อนาคตแห่งแม่น้ำโขงที่เดิมพันด้วย “เขื่อน” อีกครั้ง

กรุงเวียงจันทน์, สปป. ลาว, 16 มกราคม 2557 : กัมพูชา สปป.ลาว ไทย และเวียดนาม ตกลงร่วมกันในการนำเรื่องโครงการเขื่อนดอนสะโฮงเข้าพูดคุยในวาระการประชุมระดับคณะมนตรีของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี – MRC) อันเป็นที่รวมของตัวแทนระดับรัฐมนตรีจากกระทรวงที่ดูแลเรื่องน้ำและสิ่งแวดล้อมในแต่ประเทศสมาชิก

ข้อสรุปดังกล่าวมีขึ้นหลังจากการประชุมคณะกรรมการร่วม (Joint Committee) โดยทั้งสี่ประเทศสมาชิก ซึ่งจัดขึ้นเพื่อพูดคุยเรื่องเขื่อนดอนสะโฮงในภาคใต้ของ สปป.ลาว โดยเฉพาะ สืบเนื่องจากในวันที่ 30 กันยายน 2556 รัฐบาลสปป.ลาว ได้ดำเนินการในระดับ “แจ้งให้ทราบ” ต่อเอ็มอาร์ซี ว่า สปป.ลาว จะดำเนินการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง จึงได้ทำการแจ้งเอ็มอาร์ซีทราบ ทั้งนี้ ตามกรอบของระเบียบปฏิบัติว่าด้วย “การแจ้งให้ทราบ,การปรึกษาหารือล่วงหน้า,การเห็นชอบ (Notification, Prior Consultation and Agreement [PNPCA]) ในชั้นแรก ความเห็นของประเทศกัมพูชา ไทย และเวียดนาม ต่างเสนอให้ลาวดำเนินการในระดับ “การปรึกษาหารือล่วงหน้า”

หากเป็นเพียงการ “แจ้งให้ทราบ” ประเทศที่เสนอโครงการจะทำเพียงแค่เสนอข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการให้กับประเทศสมาชิกที่ตนเองทำการแจ้งให้ทราบ แต่หากเป็นระดับของ “การปรึกษาหารือ” มีการกำหนดให้มีการปรึกษาหารืออย่างเป็นทางการ และการประเมินในทางเทคนิคอื่นๆ ด้วย 

หลังจากการพูดคุยในประเด็นกระบวนการภายใต้กรอบ PNPCA ดังกล่าว ที่ประชุมไม่สามารถมีมติที่เป็นเอกฉันท์ว่าในกรณีเขื่อนดอนสะโฮงนี้ กระบวนการที่ควรใช้ควรเป็นกระบวนการแจ้งให้ทราบหรือกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า

เขื่อนดอนสะโฮงตั้งอยู่ในเขตเมืองโขง แขวงจำปาสักของ สปป.ลาว เขื่อนจะตั้งอยู่ในบริเวณ “ฮูสะโฮง” ซึ่งเป็นช่องทางน้ำที่มีความยาว 5 กิโลเมตร เป็นหนึ่งช่องน้ำหลายช่องในลำน้ำโขงที่ถักทออยู่ด้วยกัน ลักษณะเป็นเกลียวคล้ายเปีย (braided) ในพื้นที่ซึ่งอยู่ทางตอนบนของชายแดนลาว-กัมพูชาประมาณ 2 กิโลเมตร ในที่ประชุม กัมพูชา ไทยและเวียดนาม ต่างยืนยันให้โครงการดำเนินการผ่านกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า โดยแต่ละประเทศได้หยิบยกเอาความเป็นห่วง โดยเฉพาะในเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเส้นทางอพยพของปลา เนื่องจากการที่ฮูสะโฮงเป็นเส้นทางสำคัญที่ปลาสามารถอพยพผ่านได้ในช่วงฤดูแล้ง ทาง สปป.ลาว ชี้แจงว่า ช่องทางน้ำที่อยู่ใกล้กับฮูสะโฮงอีกสองช่องทาง คือฮูสะดำ และฮูช้างเผือก สามารถใช้เป็นทางเลือกสำหรับให้ปลาอพยพได้

หัวหน้าคณะผู้แทนจากกัมพูชาเน้นถึงผลกระทบร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นทันทีต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจในพื้นที่ตอนล่างของเขื่อนในประเทศกัมพูชา

นายที นาวุท (Mr.Te Navuth) หัวหน้าคณะผู้แทนกัมพูชากล่าวว่า “เราเห็นว่ารายงานของเขื่อนดอนสะโฮงไม่สมบูรณ์ การศึกษาที่ทำไปก็ไม่คำนึงถึงผลกระทบข้ามพรมแดนในประเทศเช่นประเทศกัมพูชา ถ้าเส้นทางอพยพปลาที่เสนอมาเป็นทางเลือกไม่สามารถทำหน้าที่ได้ดี เขื่อนดอนสะโฮงจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการของกัมพูชา”

สำหรับประเทศไทยก็เห็นด้วยกับความเห็นดังกล่าวของผู้แทนจากกัมพูชา ในประเด็นคำถามที่มีต่อความเป็นไปได้ที่จะใช้เส้นทางอพยพปลาอื่น และเสนอให้มีการปรึกษาหารือกันระหว่างประเทศสมาชิก ก่อนที่โครงการจะเริ่มขึ้นเพื่อตอบคำถามดังกล่าวนี้และปัญหาอื่นๆ ด้วย

“ทางไทยเสนอให้โครงการมีการปรึกษาหารือกัน เพื่อเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยจากกลุ่มที่มีข้อกังวลและระหว่างผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ” คำกล่าวของคณะผู้แทนไทย

ขณะที่เวียดนามก็เสนอเรื่องผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมเช่นกัน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของปริมาณการไหลของน้ำและตะกอน

“ทางเราเห็นว่าการประมงจะได้รับผลกระทบมาก ยกตัวอย่างเช่น การที่เราไม่สามารถปรับเปลี่ยนหาเส้นทางอื่นเพื่อมาทดแทนเส้นทางการอพยพขึ้นของปลาอย่างที่ฮูสะโฮงทำหน้าที่อยู่ จึงจำเป็นจะต้องมีการศึกษาผลกระทบเพิ่มเติม เพื่อทำความเข้าใจต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมจากการสูญเสียการประมง” ดร. เลอ ดั๊ก จุง (Dr. Le Duc Trung) หัวหน้าคณะผู้แทนเวียดนามกล่าว 

อย่างไรก็ตาม ทางคณะผู้แทนจาก สปป.ลาว ยังคงยืนยันความเห็นที่แตกต่าง โดยกล่าวว่าการดำเนินการในระดับของการแจ้งให้ทราบถือว่าเหมาะสม เพื่อเสนอข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการให้กับประเทศอื่นๆ ทราบ สำหรับโครงการซึ่งลาวบอกว่าไม่ใช่เป็นเขื่อนบนสาขาของแม่น้ำโขงและไม่ใช่เป็นเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก โดยตัวแทนสปป.ลาว กล่าวว่า เขื่อนจะใช้น้ำอย่างชั่วคราวเพียงร้อยละ 15 ของปริมาณการไหลของแม่น้ำโขง เพราะฉะนั้นจึงเกิดผลกระทบไม่มากต่อการไหลของแม่น้ำโขง

“ฮูสะโฮงถือเป็นเส้นทางอพยพของปลาที่สำคัญในช่วงฤดูแล้ง แต่ในความเป็นจริง ยังมีช่องทางน้ำที่เป็นทางปลาผ่านช่วงฤดูฝนอยู่อีก และจากงานวิจัย เห็นว่าสามารถทำการปรับเปลี่ยนช่องทางน้ำอื่นๆ เพื่อทำให้การอพยพของปลาขึ้นลงแม่น้ำโขงดีขึ้นและสามารถใช้ได้ตลอดปี สปป.ลาว ได้ทำงานอย่างโปร่งใสมาโดยตลอด และได้ทำสิ่งที่ควรทำ ตามเงื่อนไขข้อตกลงแม่น้ำโขงปี 2538” ดร.ดาววง โพนแก้ว (Dr.Daovong Phonekeo) หัวหน้าคณะผู้แทนจาก สปป.ลาว กล่าว

การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมร่วมกันระหว่างสมาชิกในระดับคณะกรรมการร่วม (Joint Committee) โดยเจ้าหน้าที่อาวุโสจากรัฐบาลของสี่ประเทศสมาชิก และสมาชิกอาวุโสจากสำนักงานเลขาธิการเอ็มอาร์ซี รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการเขื่อนดอนสะโฮง และกระบวนการแจ้งให้ทราบของ สปป. ลาวดูได้ที่ http://www.mrcmekong.org

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ