หลังสถานการณ์น้ำท่วมจากฝนตกหนัก โดยส่วนใหญ่เนื่องด้วยอิทธิพลของ พายุโนรู ที่พัดเข้าไทยช่วงวันที่ 25-30 ก.ย. 65 ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมเป็นวงกว้างในหลายจังหวัดของภาคอีสาน ขอนแก่น เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในเขตตัวเมืองที่ยังมีการระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ชุมชนที่อยู่ในเขตแนวการระบายน้ำ ได้รับมวลน้ำจนท่วมสูงหลายชุมชน
ชุมชนมิตรภาพ เป็นหนึ่งในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการอยู่ใกล้ลำคลองระบายน้ำ ผู้คนส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ เช่น เร่ขายอาหาร เก็บของเก่า ลูกจ้าง รายวัน เก็บขยะขาย กวาดถนน ขายพวงมาลัย ดูแลความสะอาดในสวนรัชดานุสรณ์ในเมืองขอนแก่น และอาศัยบนที่ดินการรถไฟตั้งแต่ช่วงปี 2503 เป็นระนาบยาวตามรางรถไฟ ร่วมกับอีกหลายชุมชนตลอดเส้นทางกว่า 700 ครัวเรือน เป็นที่รู้จักในนาม “ชุมชนริมรางรถไฟ”
ตั้งแต่คืนวันที่ 25 ก.ย. 65 ที่ผ่านมาน้ำได้เอ่อท่วมชุมชน จนชาวบ้านต้องรีบขนของขึ้นที่สูง รวมถึงช่วยกันสร้างที่พักชั่วคราวสำหรับครอบครัวไหนที่อยู่พื้นที่ต่ำมาก แม้จะดูเป็นพื้นที่ซ้ำซาก แต่จากการพูดคุยกับชาวบ้าน บอกว่าปกติแม้น้ำจะท่วมขังแต่ก็ไม่เคยขังน้ำหรือท่วมสูงขนาดนี้ เกือบ 10 ปีแล้วที่ไม่ได้อพยพขึ้นมาอยู่ข้างบน
“ก็ลำบากอยู่ค่ะ ย้ายมาอยู่ข้างบนรางรถไฟ (ที่ไม่ได้ใช้แล้ว) ก็รอดูว่าพายุจะสงบหรือไม่ เขาบอกว่า 2-3 วัน บ้านช่องไม่กล้าขึ้นไปอยู่ กลัวน้ำมา ข้าวของก็เก็บขึ้นที่สูงหมด ทีวี ตู้เย็นก็เอาไว้ที่สูงหมด แต่ไม่รู้จะพ้นไหม นอนอยู่นี่ 2 คืนแล้ว”
คุณอารีรัตน์ เกรียงไกรนาวิน ชาวชุมชนมิตรภาพ จ.ขอนแก่น พูดถึงการอพยพขึ้นมาอยู่บนที่สูง เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมเพิ่มขึ้นทุกนาที ตอนนี้ที่กังวลคือของที่ยกขึ้นที่สู.ไว้จะได้รับความเสียหายหรือเปล่า นอกจากนี้คุณอารีรัตน์บอกว่าบางครั้งต้องไปใช้ห้องน้ำปั๊มน้ำมันไปก่อน เพราะว่าห้องน้ำที่บ้านไม่สามารถเข้าไปใช้งานได้
นอกจากเรื่องของการใช้ห้องน้ำแล้ว เรื่องอาหารการกินก็เป็นเรื่องสำคัญ แม้จะมีความช่วยเหลือจากภาคเครือข่ายที่เคยทำงานร่วมกัน อย่างกลุ่มเพื่อนคนไร้บ้านหรือชุมชนใกล้เคียง หรือหน่วยงานท้องถิ่น เทศบาลนครขอนแก่น ที่ทำการบรรจุกระสอบทรายและส่งมอบให้กับผู้ประสบภัยครัวเรือนละ 30 กระสอบ รวมทั้งการจัดตั้งโรงครัวกลางเร่งประกอบอาหารปรุงสุกแจกจ่ายและส่งมอบให้กับพื้นที่ที่ประสบภัยในเขตเทศบาลน้ำอย่างเร่งด่วน แต่คนในชุมชนก็มองว่าความช่วยเหลืออาจจะไม่ทันการหากชุมชนไม่ช่วยเหลือกันเองก่อน บางครอบครัวที่มีกำลังทรัพย์หรือกำลังกายดี ก็มาช่วยกันทำอาหารแจกจ่ายให้กับคนในชุมชนได้กิน
“ตั้งแต่น้ำท่วมก็มีเทศบาลเข้ามาช่วย มีทีมคนไร้บ้านเข้ามาช่วย และของชุมชนที่ช่วยเหลือกันเอง มีครัวกลางอยู่ตรงนี้ ช่วยกันทำ หรือลูกค้าที่ผ่านไปมา เห็นว่าน้ำท่วมก็มาช่วยบริจาควัตถุดิบหรือเงินโดยไม่ประสงค์ออกนาม เวลามีคนต้องการความช่วยเหลือ เขาก็จะประสานออกมาที่ อสม. แล้วก็จะเอาเรือไปรับ หรือขนของช่วยหน่อย เราก็เข้าไปขนของช่วย เพราะข้างในมีผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงอยู่”
คุณวิภาบัว สีแดง ถือเป็นแม่ครัวประจำโรงครัวฉุกเฉินในครั้งนี้ โดยที่ตัวเองก็เป็นคนในชุมชนมิตรภาพด้วย แต่ได้รับผลกระทบน้อยกว่าเนื่องจากบ้านอยู่บนที่สูง และ เปิดร้านขายอาหาร จึงอาสาเป็นคนทำโรงครัวกับเพื่อน ๆ แจกจ่ายอาหารให้กับคนในชุมชนได้กิน
นอกจากนี้พวกเขายังพูดคุยถึงแผนรับมือในขั้นต่อไปว่าหากมีน้ำท่วมขึ้นสูงหรือมีพายุลูกใหม่เข้ามาหลังจากนี้ จะขอยื่นเสนอต่อเทศบาลใช้พื้นที่ส่วนกลางอย่าง สวนเรืองแสง เป็นที่พักช่วยคราวให้กับคนในชุมชน เพราะตอนนี้ทำได้แค่อพยพขึ้นมาอยู่บนที่สูงใกล้ ๆ กับบ้านตนเอง เพราะกลัวโจรขโฒยของในบ้านด้วย แต่ถ้าน้ำท่วมขึ้นมาถึงจุดอพยพนี้ ก็ต้องขยับไปพื้นที่ที่สูงกว่านี้ และ มีอาสาเฝ้ายามในชุมชนเพื่อป้องกันการลักขโมยที่อาจจะเกิดขึ้นได้