“เกี่ยวข้าวเขียว ส่งโรงสี หนีน้ำ” โลกแปรปรวนภาวะเคราะห์ซ้ำของชาวนา

“เกี่ยวข้าวเขียว ส่งโรงสี หนีน้ำ” โลกแปรปรวนภาวะเคราะห์ซ้ำของชาวนา

สถานการณ์พายุ “โนรู” วานนี้พายุนี้ได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีปรสชันและหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงตามลำดับ แม้พายุนี้ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคเหนือของประเทศไทย แต่ปัจจุบันในพื้นที่เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขังอยู่แล้วเป็นทุนเดิม พื้นที่เฝ้าระวังในช่วงอาทิตย์นี้คือจังหวัด ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลกและเพชรบูรณ์ เป็นอีกหนึ่งภัยพิบัติที่เข้ามาซ้ำเติมทั้งยังเป็นความกังวลของชาวนาไม่น้อย

สภาพอากาศที่แปรปรวนมากขึ้นในทุกปี เกษตรกรพยายามเรียนรู้เรื่องและปรับตัวมาโดยตลอด แต่ถึงอย่างไรก็ไม่ทันกับสถานการณ์ และไม่สามารถคาดเดาได้ ซึ่งความไม่แน่นอนนี้ กำลังผลักไสให้เกษตรกรอีกจำนวนมากตกอยู่ในภาวะเปราะบางจากผลกระทบลูกโซ่ไม่รู้จบ

ที่มา : https://www.gistda.or.th/news_view.php?n_id=6227&lang=TH 

ข้อมูลจาก GISTDA เผยให้เห็นถึงสถานการณ์น้ำท่วมขัง จากดาวเทียม Sentinel-1 เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2565 

พบน้ำท่วมขังในพื้นที่บางส่วนของจังหวัด สุโขทัย จำนวน 114,061 ไร่ และ พิษณุโลก จำนวน 10,819 ไร่ รวมทั้งสิ้น 124,880 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมในพื้นที่ลุ่มต่ำริมสองฝั่งแม่น้ำสายหลักและสายรองของพื้นที่โดยรอบ ซึ่งรวมถึงชุมชนที่อยู่อาศัยและเส้นทางคมนาคมบางส่วน ในขณะพื้นที่ปลูกข้าวได้รับผลกระทบ 7,217.1 ไร่

เช่นที่ จังหวัดนครสวรรค์ ชาวหนองกรดเร่งเกี่ยวข้าวข้ามคืน เพื่อหนีน้ำหลากจากป่าแม่วงก์ ข้อมูลจากเพจ : ปักหมุดคอนหวัน-อุทัย ชาวนาตำบลหนองกรด อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ เร่งเกี่ยวข้าว หนีน้ำและพายุโนรู ในเขตตำบลหนองกรด อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ชาวนาเร่งเกี่ยวข้าวเขียว ที่ยังไม่ถึงระยะเวลาเก็บเกี่ยว ขายให้โรงสี โดยว่าจ้างรถเกี่ยวข้าวตามคิวยาว โดยวางแผนเกี่ยวต่อเนื่องกันตลอดทั้งคืน

สำหรับพื้นที่เขตตำบลหนองกรด เป็นพื้นที่ชานเมืองนครสวรรค์ ที่รับน้ำจากเขตอำเภอลาดยาว ซึ่งน้ำหลากออกมาจากป่าแม่วงก์ ซึ่งฝนตกติดต่อกันนานนับเดือน และตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาฝนตกต่อเนื่องทุกวัน ทำให้น้ำจากป่าแม่วงก์หลากมาที่เขตอำเภอลาดยาวและไหลต่อมาตามลำคลองสาขา เข้ามาในเขตเมืองนครสวรรค์  ชาวนาที่ทราบข่าวว่าน้ำกำลังหลากต่อเนื่องมาที่ตำบลหนองกรดจึงลงขันจ้างรถแบ็คโฮกั้นน้ำระหว่างคลองสาขากับทุ่งนาเพื่อประวิงเวลาให้เกี่ยวข้าวทันในคืนนี้ พร้อมว่าจ้างรถเกี่ยว เพื่อเกี่ยวข้าวหนีน้ำ แม้ข้าวจะยังไม่แก่เต็มที่ . ชาวนาที่ได้เกี่ยวข้าวไปก่อนหน้านี้บอกว่าข้าวที่เกี่ยวรอบนี้ขายขาดทุนดีกว่าไม่ได้ขาย  ขณะที่ทางโรงสีก็หั่นราคารับซื่อ จากราคากลาง 9,000 บาท เหลือ 6,500 – 7,500 บาทต่อตัน อย่างไรก็ตามคนที่ไม่ทันคิวรถเกี่ยวอาจต้องทิ้งข้าวให้ถูกน้ำท่วม เพราะชาวนารู้ว่าน้ำจะหลากมาถึงเขตตำบลหนองกรด

.

.

และอีกหนึ่งพื้นที่คือ จังหวัดสุโขทัย รายงานจากเพจ สุโขทัยโพสต์ ชาวนาสุโขทัยเร่งเกี่ยวข้าวหนีน้ำท่วมกว่า 15,000 ไร่ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 ต.หนองกลับ บอกว่า ขณะนี้มวลน้ำได้ไหลเข้าท่วมนาข้าวที่หมู่ 4 กับหมู่ 6 รวมทั้งหมดประมาณ 15,000 ไร่ แต่ที่เกี่ยวหนีน้ำไปแล้วมีจำนวน 12,000 ไร่ ยังเหลืออีก 3,000 ไร่ ที่ยังเกี่ยวไม่ได้ เพราะนาข้าวจมอยู่ในน้ำลึกกว่า 1 เมตร รถเกี่ยวเข้าไม่ถึง ทำให้สุ่มเสี่ยงที่จะเสียหายร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เกี่ยวหนีน้ำมาได้แล้ว 12,000 ไร่ เกวียนนึงก็จะขายได้ประมาณ 7,500 บาท 6,000 บาท 4,000 บาท แล้วแต่สภาพข้าว ทว่าจะได้ทุนคืนหรือไม่ได้นั้นไม่รู้ แต่ชาวนาขอให้ได้เกี่ยวหนีน้ำท่วมไว้ก่อน เพราะยังดีกว่าปล่อยให้จมน้ำเสียหายทั้งหมด แล้วไม่ได้อะไรเลย

และพื้นที่อ่างเก็บน้ำแม่มอก อ.เถิน จ.ลำปาง ล้นสปิลเวย์ เนื่องจากอ่างแม่มอกมีความจุ 110 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปัจจุบันปริมาณน้ำเหนืออ่าง มีอยู่ 120 ล้านลูกบาศก์เมตรทำให้น้ำล้นสปิลเวย์สูงถึง 84 เซนติเมตร มวลน้ำจำนวนมากไหลเข้าสู่ อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย ซึ่งเป็นจุดแรก ก่อนจะไหลผ่านไปยัง อ.สวรรค อ.ศรีสำโรง ทำให้น้ำจากแม่มอกไหลบ่าเข้าท่วมนาข้าวในหลายอำเภอ ตั้งแต่ อ.ทุ่งเสลี่ยม อ.สวรรคโลก อ.ศรีสำโรง นาข้าวจมน้ำหลายร้อยไร่ ทำให้เกษตรกร หมู่ 3 และหมู่ 7 ต.บ้านไร่ อ.ศรีสำโรง ต้องช่วยกันนำกระสอบทรายมาทำคันดินกันน้ำจากแม่มอกที่ไหลมาทางลำน้ำสาขา ไม่ให้ไหลเข้าท่วมพื้นที่นาข้าว

ชาวบ้านในพื้นที่ กล่าวว่า มวลน้ำจากแม่มอกไหลลงลำน้ำสาขาที่คลองตาขาว และกำลังไหลเข้าสู่ พื้นที่ ม.3 และ ม.7 ต.บ้านไร่ อ.ศรีสำโรง ตนจึงได้ชวนเพื่อบ้านที่ปลูกข้าวในละแวกดังกล่าวมาช่วยกันกรอกระสอบทรายและทำคันดิน ไม่ไห้น้ำไหลทะลักท่วมนาข้าวของพวกตน เนื่องจากตอนนี้ข้าวที่พวกตนปลูกไว้อายุได้ 4 เดือนแล้ว เป็นช่วงเวลาที่ข้าวที่กำลังจะเก็บเกี่ยวผลผลิต ก็หวังใจว่าจะสามารถป้องกันมวลน้ำดังกล่าวได้บาง อย่างไรก็ตามขณะนี้ ยังมีมวลน้ำจากแม่มอกที่ยังไหลมาอย่างต่อเนื่อง และจะไหลผ่านมาที่ อ.ศรีสำโรงฝั่งตะวันตก ก่อนที่จะไหลผ่านเข้าสู่แก้มลิงทุ่งทะเลหลวง อ.เมืองสุโขทัย 

เมื่อเวลา11.00น.วันที่ 29ก.ย. บริเวณประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ หมู่ 9 ต.ในเมือง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย จนท.ผู้ควบคุมประตูระบายน้ำได้ทำการเปิดประตูระบายน้ำเพื่อระบายน้ำที่อยู่บริเวณด้านหน้าประตูระบายน้ำ เพื่อรอรับฝนตกหนักจากฤทธิ์พายุโซนร้อน”โนรู” ล่าสุดจนท.ได้เปิดประตูระบายน้ำจำนวน 5 บาน มีปริมาณน้ำสะสมบริเวณด้านหน้าประตู 62.04 ม. มีปริมาณน้ำไหลผ่านประตูทั้ง 5 บาน 366.10 ลบ.ม./วินาที ความจุ 13.865 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 90.62 %ของความจุ ส่วนระดับน้ำด้านท้ายประตูอยู่ที่ 56.80 ม. นอกจากนี้ยังได้เปิดประตูระบายน้ำคลองหกบาท จำนวน 3 บาน สูง 5 เมตร เพื่อระบายน้ำไปทางยม-น่าน อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ฟังเสียงประเทศไทย : อนาคตข้าวอนาคตชาวนา

หากเราดูที่ต้นทุนการทำนาของชาวนาไทย

พบว่าต้นทุนการทำนาของชาวนาไทย อยู่ที่เฉลี่ยราวๆ 4-5 พันบาทต่อไร่ เป็นค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่ายา  ค่าไถ หว่าน ปักดำ ค่าแรงงาน ค่าเก็บเกี่ยว และค่าเช่านา ได้ผลผลิตเฉลี่ยราวๆ 500 กิโลกรัม/ไร่

ขณะที่ขายข้าวได้ตันละ 7,000 – 12,000 บาท รัฐได้มีนโยบายต่าง ๆ ออกมาสนับสนุนการทำนามาโดยตลอด แต่ยังไม่มีความต่อเนื่องและยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างทั่วถึงและตรงจุด

  • นโยบายจำนำข้าว
  • นโยบายประกันราคาข้าว
  • นาแปลงใหญ่
  • พักชำระหนี้เกษตรกร

พื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ที่ได้รับการพัฒนาระบบชลประทาน และเป็นพื้นที่หลักในการผลิตข้าวของประเทศไทย มีการรวมตัวกันหลากหลาย รูปแบบ ประกอบด้วย จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดพิจิตร

ในสถานการณ์นี้ปกติราคากลางขายข้าวคือ 9,000 บาท

หากต้องตัดเขียว และส่งโรงสี อยู่ที่สภาพของข้าวด้วยแล้ว ราคาต่ำลงมาในการรับซื้อเหลือ 6,500 – 7,500 บาทต่อตัน

ซึ่งชาวนาจะเหลือกำไรเพียงแค่ 1,000 บาทต่อไร่เท่านั้น 

ในสภาวะเช่นนี้ ทำให้ชาวนาต้องปรับตัวให้มีความยืดหยุ่น โดยมีการเคลื่อนย้ายไปทำงานนอกภาคการเกษตร เพื่อช่วยพยุงชีวิตให้ดำรงอยู่ต่อไป แต่สิ่งที่น่ากังวลต่อไปในอนาคต คือ ความผันผวนของราคาสินค้าทางการเกษตรและภูมิอากาศแปรปรวนที่รุนแรงขึ้น หากไม่มีการสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมความรู้ใหม่ และเมื่อชาวนาเผชิญกับความยากลำบากทั้งสองด้าน สภาวะฝืดเคืองของเศรษฐกิจในครัวเรือนจึงตามมา และจะบีบให้ชาวนาสูญเสียที่ดินทำกิน อันเป็นหนึ่งในผลกระทบที่เป็นลูกโซ่ที่ยิ่งทำให้ชาวนาไม่มีโอกาสลืมตาอ้าปากได้

——————————————————

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมขังในช่วงนี้ GISTDA ได้วางแผนและปรับแผนรับสัญญาณดาวเทียม เพื่อวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง ท่านสามารถตรวจสอบพื้นที่อื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ http://flood.gistda.or.th

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ