คนสมุยจะเลือกทางไหน? รักษาชายหาด หรือ กำเเพงกันคลื่น

คนสมุยจะเลือกทางไหน? รักษาชายหาด หรือ กำเเพงกันคลื่น

ชะตากรรมหาดแม่น้ำ และ หาดบางมะขาม เกาะสมุย บนทางแพร่ง ?

ไกลจากชายฝั่งทะเล บนเกาะสมุย เกาะที่ได้ชื่อว่าเป็นเพชรเม็ดงามทางทะเลของฝั่งอ่าวไทย และเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวทางทะเลของใครหลายคนที่หมายมั่นตั้งใจต้องไปเยื่อนสักครั้งหนึ่ง เพราะด้วยสภาพแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งที่สวยงาม

ภาพชายหาดบนเกาะสมุย

ไกลจากชายฝั่งทะเล เสียงการคัดค้าน “กำแพงกันคลื่น” เริ่มปรากฎบนเกาะสมุย เมื่อกรมโยธาธิการ ได้ดำเนินโครงการศึกษาและออกแบบเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งตำบลเเม่น้ำเเละตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีการจัดรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 ที่ผ่านมาในพื้นที่หาดเเม่น้ำ เเละ จะดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของ หาดบางมะขามในวันที่ 4 ตุลาคม 2565 ที่จะถึงนี้

โครงการศึกษาและออกแบบเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ ทั้งสองพื้นที่นั้นเกิดจากการร้องขอโดยเทศบาลเมืองสมุย ซึ่งไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดได้ จึงร้องขอการสนับสนุนจากกรมโยธาธิการ ทำให้กรมโยธาธิการได้กำหนดศึกษาและออกแบบโครงการดังกล่าวใน 2 พื้นที่ชายหาดของเกาะสมุย

และเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา กรมโยธาธิการได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นชายหาดแม่น้ำ โดยมีการนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ทั้งหมด 11 แนวทาง ให้แก่ประชาชนได้พิจารณาเลือกและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อแนวทางเลือกต่างๆ โดยมีดังนี้

  • กำหนดแนวถอยร่น
  • การปลูกป่าชายหาด ป่าชายเลน
  • การถ่ายเททราย
  • เติมทรายชายฝั่ง
  • ปักรั้วไม้ดักทราย
  • เขื่อนถุงทราย
  • เขื่อนหินเรียงใหญ่
  • เขื่อนหินเกเบี้ยน
  • กำแพงคอนกรีตกันคลื่น
  • เขื่อนคอนกรีตขั้นบันได
  • รูปแบบผสมผสาน (ผสมผสานโครงสร้างป้องกันชายฝั่งหลายรูปแบบในพื้นที่เดียวกัน)
การรับฟังความคิดเห็นประชาชนโครงการศึกษาเเละออกเเบบเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลหาดเเม่น้ำ เกาะสมุย

ท่ามกลางการรับฟังความคิดเห็นประชาชนหาดแม่น้ำ ประชาชนที่เข้าร่วมเวทีต่างสะท้อนเป็นเสียงเดียวกันว่า “ที่ผ่านมากำแพงกันคลื่นได้สร้างปัญหาและผลกระทบต่อการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ต่างๆทั้งสมุยเองและชายหาดอื่นๆ ดังนั้นการดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นนั้นประชาชนในสมุยจึงไม่เห็นด้วยและกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างยิ่ง เพราะเกาะสมุยเป็นพื้นที่เกาะที่ต้องอาศัยหาดทรายเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว การเกิดขึ้นของกำแพงคลื่นจึงเป็นการทำลายการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลของเกาะสมุย” นายพะโยม บุญธัม หนึ่งในประชาชนที่เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นกล่าว

หลังจากการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นหาดแม่น้ำผ่านไป ประชาชนในพื้นเกาะสมุยที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการเริ่มขึ้นป้ายพร้อมข้อความ “ไม่ต้องมาสร้างเขื่อนยาว 3 กิโลให้นะ ขอบคุณที่หวังดี แต่ไม่น่ารักเลย มันทำลายชายหาด ! ใครนะช่างคิด รู้นะคิดอะไรอยู่ จุ๊บๆ” ข้อความดังกล่าวสะท้อนความห่วงกังวลของประชาชนต่อโครงการของกรมโยธาธิการอย่างถึงที่สุด และในวันที่ 4 ตุลาคม นี้ จะถึงคราวของเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนเพื่อศึกษาและออกแบบเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์หาดบางมะขาม

ในปัจจุบันกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้กำหนดแนวทางหลักเกณฑ์โครงการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง โดยคณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ มีมติเห็นชอบให้หน่วยงานต่างๆทีเกี่ยวข้องยึดถือปฏิบัติ เพื่อการการพิจาณาเลือกมาตรการ รูปแบบให้สอดคล้องกับสภาพชายฝั่งทะเล และการกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดขึ้น เพื่อการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งในพื้นที่ชายหาดต่างๆที่อยู่ในเขตแผ่นดิน นั้นมีหลักเกณฑ์ดังกล่าวครอบคลุมอยู่  แต่สำหรับพื้นที่เกาะ อย่างเช่นเกาะสมุย และที่อื่นนั้นไม่มีหลักเกณฑ์ในลักษณะดังกล่าวกำหนด ซึ่งยิ่งทำให้การดำเนินโครงการศึกษาและออกแบบเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง บนพื้นที่เกาะสมุย โดยกรมโยธาธิการฯ นั้นมีความน่าห่วงกังวลอย่างยิ่ง

หลังจากนี้พื้นที่ชายหาดทั้งสองแห่งของเกาะสมุยจะมีมาตรการอะไรในการป้องกันชายฝั่ง ก็ขึ้นอยู่กับคนสมุยที่จะเลือกชะตามกรรมของชายหาดแม่น้ำและบางมะขาม

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ