ชุมชนน้ำจั้น จ.ลพบุรี กับการต่อสู้สิทธิในที่อยู่อาศัย

ชุมชนน้ำจั้น จ.ลพบุรี กับการต่อสู้สิทธิในที่อยู่อาศัย

อัพเดต ชุมชนน้ำจั้น จ.ลพบุรี ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ร้องสิทธิในที่ดินคืน พร้อมเยียวยาครอบครัวที่ไม่ได้เอกสารสิทธิ์ แกนนำชุมชนชวนประชาชนจับตาการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินให้ชาวบ้าน 9 รายภายในกลางตุลาคมนี้

เอกสารสิทธิ์ที่ดินของสมาชิกชุมชนน้ำจั้น ทั้ง 7 ราย

“ความเดือดร้อนที่เราเจอตอนนี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินทำกิน ทำมาหากินไม่ได้จากที่ดินของตัวเอง จึงต้องไปมีอาชีพรับจ้างทั่วไปและทำงานก่อสร้างในและนอกหมู่บ้าน”

เสียงสะท้อนจาก บัวทอง ไพศาล เลขาธิการเครือข่ายแก้ไขปัญหาที่ดินบ้านน้ำจั้น อ.เมือง จ.ลพบุรี หนึ่งในชาวบ้าน 179 ครอบครัว ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งในที่ดินสาธารณะประโยชน์ของชุมชนน้ำจั้น 

บัวทอง ยังเล่าถึงความอึดอัดใจว่าพื้นที่ชุมชนน้ำจั้น หมู่ 2 และ 3 ที่คนในชุมชนบ้านน้ำจั้นใช้ทำกินมาหลายรุ่นนั้น หน่วยงานรัฐขอที่ดินคืนเพื่อนำไปใช้สร้างพื้นที่ราชการทหาร ขณะนี้เป็นเวลากว่า 14 ปี แล้ว ยังคงมีการต่อสู้ของข้อพิพาทกรณีที่ดินระหว่างหน่วยงานรัฐ 3 หน่วยงาน คือ กรมที่ดิน กรมธนารักษ์ และกองทัพบก กับชุมชนอยู่

บัวทอง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าที่ดินส่วนใหญ่ของชุมชนบ้านน้ำจั้น ถูกใช้ประโยชน์ทำไร่ข้าวโพด สามารถสร้างรายได้ให้ครอบครัวในชุมชน เฉลี่ย 20,000 บาทต่อไร่ เมื่อรายได้ส่วนนี้หายไป ทำให้หลายครอบครัวในชุมชนน้ำจั้นประสบปัญหาเรื่องรายได้และขาดที่ดินทำกิน

ส่วนสถานการณ์ต่อสู้ในสิทธิที่อยู่อาศัยของชุมชนยังคงอยู่ เพราะเมื่อ 15 กันยายน 2564 ชาวบ้านทำเรื่องยื่นอุทธรณ์ต่อ ศาลปกครองกลาง กรุงเทพมหานคร แต่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 ศาลปกครองกลาง แจ้งเอกสารตอบกลับว่าไม่รับฟ้อง ทำให้ต่อมาวันที่ 18 มีนาคม 2565 ชาวบ้านชุมชนน้ำจั้นและคณะกรรมการเครือข่ายแก้ไขปัญหาที่ดินบ้านน้ำจั้น อ.เมือง จ.ลพบุรี ตัดสินใจยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อเรียกร้องสิทธิในที่ดินคืนพร้อมเรียกร้องเยียวยาต่อกรณีครอบครัวที่ไม่ได้ที่ดินคืน ซึ่งปัจจุบันกระบวนการยังอยู่ในขั้นตอนตรวจสอบสำนวนคำฟ้อง

แผนที่แสดงภาพรวมของพื้นที่ชุมชนน้ำจั้นที่ถูกขอคืนเพื่อนำไปสร้างทางราชการทหาร

14 ปี ของการต่อสู้ ชาวบ้านยังไร้ที่ดินทำกิน

บัวทอง ให้ข้อมูลชุมชนบ้านน้ำจั้นว่า มีทั้งหมด 179 ครัวเรือน จำนวนประชากรประมาณ 600 คน บนพื้นที่ 1,300 ไร่ จากทั้งหมดเกือบ 3,000 ไร่ ก่อนที่จะทางกองทัพบกจะนำไปใช้สร้างเป็นพื้นที่ทางการทหารแล้ว ประมาณ 1,700 ไร่ ปัจจุบันมีความเดือดร้อนที่เผชิญอยู่มีอยู่สามเรื่องหลัก ๆ คือ 1) เกิดภาวะขาดแคลนที่ทำกินมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 – ปัจจุบัน ส่งผลต่อการดำรงชีวิต ไม่สามารถหารายได้ในชุมชนเหมือนเคย ต้องดิ้นรนหางานทำในตัวเมืองมากขึ้น 2) มีมลพิษทางเสียงที่เกิดจากฝึกซ้อมยิงปืนของทหาร โดยได้ยินทั้งในกลางวันและกลางคืน 3) กลุ่มทหารเข้ามาใช้พื้นที่ในชุมชนน้ำจั้นโดยไม่บอกกล่าว บัวทอง กล่าวว่า หากมีการแจ้งล่วงหน้าก่อนเข้าใช้พื้นที่ ชาวบ้านก็ยินดีให้ความร่วมมือ

“บางวันตั้งแต่เช้าถึงห้าทุ่ม เรายังได้เสียงยิงปืนมาจากทางทิศจะวันตกของหมู่บ้าน เราตกใจมาก นึกว่าระเบิด ความถี่ทางมลพิษเสียงจากเสียงปืน จะเป็นช่วง ๆ ซึ่งได้ยินเสียงแบบนี้มาตั้งแต่ ปี 2563 ถึงปัจจุบัน แต่ตอนปลายปี 2562 เราได้รับผลกระทบเยอะมาก ได้ยินเกือบทุกวัน” บัวทอง กล่าว

ระยะเวลายื่นออกเอกสารสิทธิ์ที่ยาวนาน แต่ได้รับเพียง 7 ราย 

ส่วนเรื่องเอกสารสิทธิ์ที่ดิน บัวทอง อธิบายว่าจากที่ปี 2540 กรมธนารักษ์ออกหนังสือทางราชการให้ชาวบ้านเพื่อแสดงความยินยอมให้ชาวบ้านครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินได้ ด้วยเหตุผลเพราะชาวบ้านมาอยู่ในพื้นที่ก่อนแล้ว ต่อมาภายในปี 2546 – 2553 ชาวบ้านจึงยื่นเรื่อง ขอเอกสารสิทธิ์จากที่สำนักงานที่ดิน จ.ลพบุรี แต่กว่าจะได้เอกสารสิทธิ์ใช้เวลานานมาก ผ่านไป 9 เดือน ชาวบ้านก็ยังไม่ได้ ทั้งที่ตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ในส่วนระเบียบการออกโฉนดที่ดินให้ประชาชน ต้องใช้เวลาภายใน 101 วัน หรือ 3 เดือนครึ่ง

ทำให้ชาวบ้านน้ำจั้นตัดสินใจ รวมกลุ่มกันจำนวน 50-70 คน เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปหาอธิบดีกรมที่ดิน และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่กำกับดูแลกรมที่ดิน ให้ชี้แจงความขัดข้องของกระบวนการ การออกออกสารสิทธิ์ ทำให้ต่อมาชาวบ้านได้รับเอกสารสิทธิ์ในที่สุด

ทั้งนี้ วันที่ 15 สิงหาคม 2565 หัวหน้าสำนักงานที่ดิน จ.ลพบุรี ออกเอกสารสิทธิในที่อยู่อาศัยดังให้ชาวบ้านชุมชนน้ำจั้นรอบแรก ทั้งหมด 7 ราย จำนวน 2 แปลง โดยชาวบ้านใช้เวลาเดินเรื่องเอกสารทั้งหมด 11 เดือน กับ 27 วัน (นับตั้งแต่วันยื่นเรื่องที่ 18 สิงหาคม 2564) แต่ชาวบ้านก็ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมกว่าจะได้เอกสารสิทธิ์ ต้องรอนานขนาดนี้

บัวทอง อธิบายว่า การยื่นเรื่องขอเอกสารสิทธิ์เพื่อให้สำนักงานที่ดิน จ.ลพบุรี พิสูจน์สิทธิ์ที่ดินให้ชาวบ้าน มี 2 รอบ แบ่งเป็นวันที่ 21 เมษายน 2564 ยื่น 6 ราย 18 สิงหาคม 2564 ยื่น 10 ราย แต่ว่า 18 สิงหาคม 2564 ออกเอกสารสิทธิ์ได้เพียง 7 ราย เหลืออีก 3 ราย จึงนำไปรวมกับ 21 เมษายน 2564 ที่ยังไม่ได้เอกสาร เป็นจำนวน 9 ราย โดยทางสำนักงานที่ดิน จ.ลพบุรี รับปากชุมชนว่าจะออกเอกสารสิทธิ์สำหรับ 9 รายนี้ให้ในวันที่ 15 ตุลาคม 2565

ทั้งนี้ ที่ดินที่ชุมชนไปยื่นขอเอกสารสิทธิ์ จาก สำนักงานที่ดิน จ.ลพบุรี มีทั้งหมดประมาณ 1,300 ไร่

ความเคลื่อนไหวต่อจากนี้ 

บัวทองเล่าว่า ชุมชนน้ำจั้นได้ตั้งข้อสังเกตถึงการออกโฉนดที่ดินให้ชาวบ้านครั้งแรกว่า อาจเกิดจากการที่ชาวบ้านรวมกลุ่มไปกดดัน ให้กระบวนเร่งรัดหรือไม่ แต่หากในอนาคตชาวบ้านยังต้องรอคอยแบบนี้ จะมีการดำเนินการคดีอาญา ฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 

“เราจะจับตาและชวนประชาชนติดตามการออกเอกสารสิทธิ์สำหรับ 9 ราย ใน 15 ตุลาคม 2565 จาก สำนักงานที่ดิน จ.ลพบุรี อีกทีว่าจะได้หรือไม่ได้ ส่วนการต่อสู้สิทธิในที่อยู่อาศัยเคสข้างหน้า อาจจะไม่ราบรื่นนัก เพราะสำหรับที่ดินที่ไม่ได้ออกเอกสารสิทธิ์  เราต้องการเรียกร้องให้มีการชดเชยค่าเยียวหรือเป็นที่ดินแห่งใหม่แต่ใกล้เคียงชุมชนเดิม ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลออกมาว่าจะจัดการอย่างไร ส่วนชาวบ้านก็ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบสิทธิ์ต่อไป” บัวทอง กล่าว

ไทม์ไลน์แสดงการต่อสู้อจากปัญหาความขัดแย้งในที่ดินสาธารณะประโยชน์ของชุมชนน้ำจั้น 

ไทม์ไลน์ ปัญหาความขัดแย้งในที่ดินสาธารณะประโยชน์ของชุมชนน้ำจั้น

  1. ก่อนปี พ.ศ. 2367 ชาวไทพวน อพยพมาอยู่เมืองสระบุรีจึงได้ตั้งชุมชน “บ้านน้ำจั้น” อยู่อาศัยจากรุ่นสู่รุ่น 200 ปีเเล้ว แต่เมื่อมีการปกครองท้องที่ “บ้านน้ำจั้น” ขึ้นกับ อ.หนองโดน จ.สระบุรี ต่อมาเป็น ม.2 และ 3 ต.เขาสามยอด อ.เมืองลพบุรี จ.ลพบุรี และปัจจุบันเป็นชุมชนที่ 7 เทศบาลเมืองเขาสามยอด อ.เมืองลพบุรี จ.ลพบุรี
  2. ปี 2479 รัฐบาลออกกฎหมาย 2 ฉบับ ฉบับแรก เป็นพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ระบุว่าห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าในเขตพื้นที่หมายเลข 3 ตามแผนที่ท้าย พ.ร.ฎ. เพื่อใช้ในกิจการทหาร และฉบับที่สอง กฎหมายกำหนดเขตพื้นที่ที่จะเวนคืนที่ดินซึ่งราษฎรครอบครองอยู่ก่อน ภายใน 5 ปี ซึ่งในเขตพื้นที่ตามแผนที่ท้าย พ.ร.ฎ. ระบุชื่อ “บ้านน้ำจั้น” ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ดังกล่าวด้วย

ตั้งแต่ปี 2496 – 2562 หน่วยงานรัฐเข้ามาใช้พื้นที่รวมแล้วเป็นพื้นที่ 1,300 ไร่

  1. ปี 2498 ชาวบ้านน้ำจั้นที่ครอบครองที่ดิน หมู่ 2 และ หมู่ 3 ต.เขาสามยอด ได้รับแจ้งการครอบครองตามที่ดิน ส.ค.1ให้ ( คือการมีสิทธิครอบครองที่ดิน) นายอำเภอเมืองลพบุรี ทราบและเก็บ ส.ค.1 ไว้เป็นหลักฐานของกรมที่ดิน รวม 358 ฉบับ/แปลง

หมายเหตุ ผู้ใหญ่บ้านน้ำจั้น (ม.2 และ 3) เห็นว่าที่ดินตาม ส.ค.1 ไม่ใช่ที่ดินหวงห้ามหรือถูกเวนคืนตามกฎหมายจึงลงชื่อรับรองความถูกต้องก่อนส่งมอบให้นายอำเภอและใน ส.ค.1 ไม่มีข้อความใดพิมพ์หรือเขียนด้วยลายมือที่สื่อได้ว่าเป็นที่ดินสงวนหวงห้ามของรัฐ

  1. ปี 2513 กรมที่ดินออก นสล. ที่ 3166/2513 ต.เขาสามยอด อ.เมืองลพบุรี จ.ลพบุรี ในที่ดินตามเขตพื้นที่ท้าย พ.ร.ฎ. ปี 2479 โดยแผนที่ท้าย หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ระบุเฉพาะเส้นเขตพื้นที่ตามแผนที่ท้าย พ.ร.ฎ. โดยไม่ระบุที่ดินรกร้างว่างเปล่า กับ ที่ดินของชาวบ้าน ที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ดังกล่าวล โดย น.ส.ล. ดังกล่าวเป็นหนังสือแสดงเขตที่สาธารณประโยชน์ของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน
  2. ปี 2496 – 2526 เมื่อกองทัพบกเข้าใช้ที่ดินทำกินของชาวบ้านน้ำจั้นในท้องที่บ้านน้ำจั้น (ม.2 และ 3) ที่มี ส.ค.1 รวม 6 ครั้งจึงมีทั้งที่จ่ายหรือไม่จ่ายเงินเยียวยาการสูญเสียโอกาสทำกินในที่ดินอย่างถาวรให้ชาวบ้าน รวมประมาณ 1,368 ไร่
  3. ปี 2533 กรมธนารักษ์นำที่ดินตาม นสล. ที่ 3166/2513 ไปขึ้นทะเบียนเป็นที่ดินราชพัสดุ อนุญาตให้กองทัพบกใช้
  4. ปี 2534 สำนักงานที่ดินอำภอเมืองลพบุรี แจ้งฝ่ายยุทธโยธาหน่วยบัญชาการสงคราม พิเศษ(นสศ.) ที่ดินบ้านน้ำจั้น(ม.2 และ 3) ยังมีวัดน้ำจั้นและชาวบ้านน้ำจั้นถือสิทธิในที่ดินตาม ส.ค.1(บางแปลงได้ น.ส.3 แล้ว) อยู่อีก 264 แปลง
  5. ปี 2540 จังหวัดลพบุรีพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดิน ส.ค.1 บ้านน้ำจั้น(ม.2 และ 3) รวม 59 แปลงปรากฏว่าเป็นที่ดินที่ชาวบ้านน้ำจั้นครอบครองทำประโยชน์อย่างต่อเนื่องมาก่อนเป็นที่ดินของรัฐ(ที่ของชาวบ้าน) 22 แปลง ส่วนอีก 37 แปลง มีป่าละเมาะที่ต้องตรวจสอบว่าเป็นป่าธรรมชาติ หรือเกิดจากการทำประโยชน์ในที่ดินของชาวบ้าน

หมายเหตุ จังหวัดลพบุรีแจ้งที่ดิน 22 แปลง ที่เป็นของชาวบ้านให้ นสศ. ทราบ เมื่อปี 2540 ด้วยแล้ว

  1. ปี 2546 – 2553 วัดน้ำจั้นและชาวบ้านน้ำจั้นยื่นคำขอโฉนดในที่ดิน ส.ค.1 ม.2 และ 3 ต.เขาสามยอด อ.เมืองลพบุรี จ.ลพบุรี จำนวน 143 แปลง 225 ราย/คำขอ

หมายเหตุ จนถึงปี 2565 วัดน้ำจั้นและชาวบ้านน้ำจั้นยังไม่ได้รับ โฉนดแม้แต่รายเดียว

  1. ปี 2560 และ 2562 กองพลรบพิเศษที่ 1 (พล.รพศ.1) นสศ. เข้าใช้ที่ดินตามข้อ 8. สร้าง บก.รพศ.2 และสนามยิงปืน รพศ.3 โดยไม่จ่ายเงินเยียวยาการสูญเสียโอกาสทำกินในที่ดินอย่างถาวรให้ชาวบ้าน โดยประมณ 189 ไร่
  2. เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2565 มีที่ดินทำกินของชาวบ้านน้ำจั้น ตามส.ค.1/น.ส.3 41 แปลง 494 ไร่ 1 งาน 62.5 ตารางวา รวม 48 แปลง 532 ไร่ 1 งาน 62.5 ตารางวา
  3. ชาวบ้านน้ำจั้น ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองกลาง กทม. ตามคดีหมายเลขดำ ที่ 1660/2564 ลงวันที่ 15 กันยายน 2564 โดยคำสั่งศาลปกครองกลางไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา ตามคดีแดงหมายเลขที่ 211/2565 ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 สรุป เพราะเป็นการฟ้องเรียกทรัพย์สิน
    (ที่ดิน)ตาม กฎหมายแพ่ง ชาวบ้านน้ำจั้น รวมทั้งคณะกรรมการชุมชนและคณะกรรมการเครือข่ายแก้ไขปัญหาที่ดินบ้านน้ำจั้น ลพบุรี ไม่ใช่ผู้เดือดร้อนเสียหาย จึงไม่มีสิทธิฟ้อง

หมายเหตุ : ศาลปกครองกลาง กทม. ส่งหมายคำสั่งศาลทางไปรษณีย์เมื่อ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565

  1. 19 มีนาคม 2565 ชาวบ้านยื่นคำอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด มีคำร้องโดยสรุป คือ

    1. ชุมชนน้ำจั้น ลพบุรี ถูกจัดตั้งโดยเทศบาลเมืองเขาสามยอด อ.เมืองลพบุรี และตั้งคณะกรรมการเครือข่ายแก้ไขปัญหาที่ดินบ้านน้ำจั้น ลพบุรี

    2. ที่ประชุมได้จัดตั้งคณะกรรมการเครือข่ายแก้ไขปัญหาที่ดินบ้านน้ำจั้น (ผู้ครอบครอง ที่ดิน ส.ค.1/น.ส.3 ใน ม.2 และ 3 ต.เขาสามยอด อ.เมืองลพบุรี ได้มอบหมายให้คณะกรรมการเครือข่ายแก้ไขปัญหาที่ดินบ้านน้ำจั้น ลพบุรี ดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินแทน)

    3. มีผู้ลงนามในคำฟ้อง 5 คน ซึ่งแต่ละคนเป็นผู้ครอบครองที่ดิน ส.ค.1/น.ส.3 ใน ม.2 และ 3 ต.เขาสามยอด อ.เมืองลพบุรี หรือเป็นสามี/ภรรยาหรือผู้เป็นญาติสืบสายโลหิตเดียวกันกับผู้ครอบครองที่ดิน

    4. คำฟ้องเป็นการฟ้องเรียกร้องสิทธิในที่ดินคืน เมื่อได้สิทธิคืนจึงสมควรได้รับที่ดินที่ถูกยึดไปคืน หากคืนที่ดินให้ไม่ได้ก็ให้จ่ายเงินเยียวยาแทน

สมเกียรติ ไพศาล : โดยชาวบ้านชุมชนไทพวนบ้านน้ำจั้น อ. เมือง จ.ลพบุรี ให้ข้อมูล
วิศรุต สมงาม : ผู้ประสานงานเครือข่ายเเก้ไขปัญหาที่ดินบ้านน้ำจั้น อ. เมือง จ.ลพบุรี
ที่มา : https://www.csitereport.com/newsdetail?id=0000026610

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ