กระทรวง พม. / กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศเพื่อให้มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยให้หน่วยงานในสังกัดสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนและบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย เช่น ผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ฯลฯ รวม 160,185 ครัวเรือน งบประมาณ 2,152 ล้านบาท ด้าน พอช. มีเป้าหมาย 30,000 ครัวเรือน ประเดิมมอบ ‘บ้านพอเพียง’ ที่ จ.นครสวรรค์
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง รวมถึงการขาดโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนที่มีรายได้น้อยเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน และสะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย รัฐบาลจึงมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) มีเป้าหมายครัวเรือนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศ ประมาณ 3 ล้านครัวเรือน (การเคหะแห่งชาติ 2 ล้านครัวเรือน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ 1 ล้านครัวเรือน) ขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินโครงการ
พม. ตั้งเป้าปีนี้ 1.6 แสนครัวเรือนทั่วประเทศ
โดยในปี 2566 นี้ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดจัดทำแผนงาน ‘โครงการเสริมสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย’ ให้แก่ประชากรกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศ เช่น ผู้มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ฯลฯ รวม 160,185 ครัวเรือน งบประมาณ 2,152 ล้านบาทเศษ
มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างโอกาสในการเข้าถึงที่อยู่อาศัย ให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐาน เหมาะสม โดยการปรับปรุง ซ่อม สร้างบ้าน ปรับปรุงสภาพแวดล้อม ปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนที่มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาส ส่งเสริมอาชีพ การดูแลสุขภาพ ฯลฯ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคม โดยการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ใช้ข้อมูลจากการสำรวจเพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้เดือดร้อนและกลุ่มเป้าหมาย
โดยมีหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวง พม. รับผิดชอบดำเนินการ เช่น กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ โครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ กลุ่มเป้าหมายผู้ด้อยโอกาส จำนวน 1,700 ครัวเรือน งบประมาณ 37 ล้านบาทเศษ กรมส่งเสริมพัฒนาและคุณภาพชีวิตคนพิการ ปรับสภาพแวดล้อมสำหรับคนพิการ จำนวน 6,134 ครัวเรือน งบประมาณ 245 ล้านบาทเศษ
กรมกิจการผู้สูงอายุ ปรับปรุงสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกให้ปลอดภัย เหมาะสมแก่ผู้สูงอายุ จำนวน 10,000 ครัวเรือน งบประมาณ 225 ล้านบาท การเคหะแห่งชาติ สร้างที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนที่มีรายได้น้อยและปานกลาง จำนวน 112,351 ครัวเรือน งบประมาณ 701 ล้านบาทเศษ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) โครงการบ้านมั่นคง บ้านพอเพียง ที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง ฯลฯ จำนวน 30,000 ครัวเรือน งบประมาณ 941 ล้านบาทเศษ
พอช.ประเดิมมอบบ้านพอเพียง จ.นครสวรรค์
นายสยาม นนท์คำจันทร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ในฐานะโฆษก พอช. กล่าวว่า พอช.มีภารกิจหลักในการเสริมสร้างชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ โดยการส่งเสริมสนับสนุนชุมชน ขบวนองค์กรชุมชน ตลอดจนภาคีเครือข่าย เพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่นร่วมกัน ผ่านโครงการและกิจกรรมต่างๆ เช่น การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อย การส่งเสริมเศรษฐกิจและทุนชุมชน การส่งเสริมการจัดสวัสดิการชุมชน การส่งเสริมประชาธิปไตยจากฐานราก โดยการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบล เพื่อเป็นเครื่องมือหรือกลไกในการพัฒนาชุมชน ฯลฯ
ส่วนการพัฒนาที่อยู่อาศัยนั้น พอช.สนับสนุนชุมชนและขบวนองค์กรชุมชนผ่านโครงการต่างๆ เช่น บ้านมั่นคงเมืองและชนบท (มีที่อยู่อาศัยที่ไม่มั่นคง อยู่ในที่ดินเช่าหรือบุกรุก) โครงการบ้านพอเพียงชนบท (ซ่อมสร้างบ้านครัวเรือนที่ยากจนด้อยโอกาส) โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร กรุงเทพฯ การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนชายฝั่งทะเลอันดามัน, กลุ่มคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ ปทุมธานี ขอนแก่น และเชียงใหม่ ฯลฯ โดย พอช.มีเป้าหมายตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี จำนวน 1,050,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ ขณะนี้ดำเนินการแล้วกว่า 200,000 ครัวเรือน
“ส่วนการพัฒนาที่อยู่อาศัยในปี 2566 นี้ พอช.ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ให้ดำเนินการครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายต่างๆ เช่น บ้านมั่นคง บ้านพอเพียงชนบท ชุมชนริมคลอง รวมทั้งหมดจำนวน 3 หมื่นครัวเรือนทั่วประเทศ ใช้งบประมาณจำนวน 941 ล้านบาทเศษ” นายสยามกล่าวถึงแผนการดำเนินงานของ พอช.ในปีนี้ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางรถไฟ, ชุมชนชายฝั่งทะเลอันดามันภาคใต้, ชุมชนคลองแม่ข่า จ.เชียงใหม่, คลองสำโรง จ.สงขลา เป็นต้น
นายสยามยกตัวอย่างโครงการที่ดำเนินไปแล้ว โดยเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 (ปีงบประมาณ 2566) เช่น โครงการบ้านพอเพียงชนบท จังหวัดนครสวรรค์ ปี 2566 มีเป้าหมายครัวเรือนที่ด้อยโอกาส ฐานะยากจน รวม 30 ตำบล จำนวน 273 ครัวเรือน งบประมาณรวม 5.7 ล้านบาทเศษ โดย พอช. สนับสนุนให้ชุมชนและขบวนองค์กรชุมชนเป็นแกนหลักในการดำเนินการผ่านสภาองค์กรชุมชนตำบล เริ่มตั้งแต่การจัดตั้งคณะทำงาน การสำรวจข้อมูลครัวเรือนที่เดือดร้อน การประเมินสภาพบ้านเรือนที่จะซ่อมสร้าง วัสดุ อุปกรณ์ งบประมาณที่ต้องใช้ การลงแรงซ่อมสร้างโดยชุมชนและจิตอาสา ฯลฯ
ทั้งนี้งบประมาณที่ พอช. สนับสนุนซ่อมบ้านไม่เกินหลังละ 20,000 บาท หากงบประมาณไม่พอเพียงหรือบ้านหลังใดชำรุดทรุดโทรมมาก ต้องรื้อเพื่อสร้างใหม่ ชุมชนจะร่วมกันจัดหางบประมาณมาเพิ่มเติม รวมทั้งบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชน หน่วยงาน องค์กรต่างๆ ในท้องถิ่น ตลอดจนพระสงฆ์ในตำบล โดยใช้หลักการ ‘พลังบวร’ คือ ‘บ้าน-วัด-ราชการ’
เช่น เมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา มีพิธีส่งมอบบ้าน ‘พลังบวร’ ให้แก่ครอบครัวของนายสมนึก สมทบ และบุตรสาว บ้านเลขที่ 211/1 หมู่ที่ 3 ตำบลเขาชนกัน อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ โดยพลังบวรร่วมกันสร้างบ้านหลังใหม่ เนื่องจากบ้านหลังเก่ามีสภาพชำรุดทรุดโทรม ไม่มีความปลอดภัย ห้องน้ำไม่ถูกสุขลักษณะ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากหลายฝ่าย รวมทั้งหมดประมาณ 98,000 บาท เช่น สนง.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครสวรรค์ หน่วยงานราชการในอำเภอแม่วงก์ ภาคเอกชน ร้านค้า และพระราชรัตนเวที รองเจ้าคณะจังหวัด
เรื่องและภาพ : สนง.ประชาสัมพันธ์ จ.นครสวรรค์, สนง.พม. จ.นครสวรรค์, สนง.ภาคเหนือ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)