พอช.MOUก.เกษตร สร้างความเข้มแข็งให้สหกรณ์โครงการบ้านมั่นคงทั่วประเทศ

พอช.MOUก.เกษตร สร้างความเข้มแข็งให้สหกรณ์โครงการบ้านมั่นคงทั่วประเทศ

พอช./  3 หน่วยงาน  พอช.-กรมส่งเสริมสหกรณ์ – กรมตรวจบัญชีสหกรณ์  กระทรวงเกษตรฯ ลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์โครงการบ้านมั่นคงที่ พอช.ให้การสนับสนุนทั่วประเทศ  เพื่อให้สหกรณ์มีระบบบริหารจัดการที่ดี  สามารถดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และมี    ธรรมาภิบาล

วันนี้ (28 พ.ย. ) เวลา 14.00 น. ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU.) เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ภายใต้โครงการบ้านมั่นคง  ระหว่างสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กับกรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์   โดยมีนาวาตรีสุธรรม ระหงส์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ  เป็นประธานสักขีพยานในพิธีลงนามดังกล่าว

ทั้งโดยมีนายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ พร้อมด้วยนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์  นางสาวอัญมณี ถิรสุทธิ์ รองอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์  และผู้แทนสหกรณ์เครือข่ายสหกรณ์ชุมชนบ้านมั่นคง  จำนวนกว่า 300 คนเข้าร่วมงาน

Img 8207
นาวาตรีสุธรรม ระหงส์

‘บ้านมั่นคง’ สร้างแล้วทั่วประเทศกว่า 145,000 ครัวเรือน

นาวาตรีสุธรรม ระหงส์ เลขานุการ รมว.พม. กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี พ.ศ. 2560 – 2579 ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ภายใต้วิสัยทัศน์ “คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579”  โดยมุ่งเน้นส่งเสริมและพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชน สนับสนุนให้มีที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐาน มีสภาพแวดล้อมที่ดี สร้างโอกาสในการเข้าถึงระบบการเงินและสินเชื่อเพื่อการอยู่อาศัย และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในทุกระดับเพื่อนำไปสู่ชุมชนเข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน

โดยแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว ได้ยึดโยงกับปฏิญญาสากลที่ประเทศไทยได้ให้การรับรอง ได้แก่ เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป้าหมายที่ 11ของสหประชาชาติ และวาระใหม่แห่งการพัฒนาเมือง ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ทางการเมืองในการพัฒนาเมืองและที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมและยั่งยืนสำหรับทุกคน โดยเน้นการแบ่งตามระดับรายได้ และการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่สอดคล้องกับวงจรชีวิต

Img 8034

“กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ รับผิดชอบกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาส จำนวน 1,053,702 ครัวเรือน  ดำเนินการพัฒนาภายใต้ 4 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการบ้านมั่นคง 2.โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง 3.โครงการบ้านพอเพียง และ 4. โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มคนไร้บ้าน  โดยโครงการบ้านมั่นคงได้นำแนวคิดและหลักการดำเนินงานของสหกรณ์มาเป็นเครื่องมือสำคัญทำให้สมาชิกที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยทุกคน  มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของสหกรณ์  สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของโครงการบ้านมั่นคงในทิศทางเดียวกัน” นาวาตรีสุธรรมกล่าว

ปัจจุบันโครงการบ้านมั่นคงดำเนินการไปแล้วทั่วประเทศ รวม 145,062 ครัวเรือน  โครงการบ้านพอเพียง 107,569 ครัวเรือน  โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มคนไร้บ้าน 3 ศูนย์   โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชั่วคราว กรณีไฟไหม้ไล่รื้อ 6,041 ครัวเรือน  ถือเป็นการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้มีรายได้น้อยตามนโยบายของรัฐบาล

Img 7913
นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา

รวมตัวกันจัดตั้งเป็น’สหกรณ์’  ส่งผลให้การทำงานของชาวบ้านถูกต้องตามกฎหมาย

นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา ประธานอนุกรรมการบ้านมั่นคงและการจัดการที่ดิน  กล่าวว่า  ในการทำความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน 3 หน่วยงาน ที่ร่วมกันเพื่อสนับสนุนสหกรณ์บ้านมั่นคงอย่างเป็นทางการ  เป็นเรื่องใหญ่มาก เนื่องจากเป็นการผสมผสานเรื่องสำคัญ 2 เรื่อง คือ การที่คนรายได้น้อยได้ลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาของตนเอง ชาวบ้านเป็นผู้ขับเคลื่อนเป็นขบวนการทั่วประเทศไทย เป็นการรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์  ส่งผลให้การทำงานของชาวบ้านถูกต้องตามกฎหมาย  ที่ระบบรองรับ  มีสถานภาพ  มีการบริหารจัดการ มีการประสานสานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ   สหกรณ์เป็นระบบสำคัญที่ทำให้คนธรรมดาเป็นเจ้าของกิจการร่วมกันได้  เกิดการทำงานร่วมภายใต้แนวคิดการพัฒนาในมิติสังคม ที่มีการดำเนินงานร่วมเพื่อส่วนรวม  สหกรณ์ที่อยู่อาศัย เป็นการพัฒนาขั้นสูง  เพื่อสร้างระบบความสัมพันธ์ การพัฒนาที่ต่อเนื่อง การประสานหน่วยงาน  การจัดหาที่ดิน  การสร้างชุมชนสวัสดิการ  เช่น ในช่วงสถานการณ์โควิด   เกิดการใช้พลังชุมชนดูแลกันในหลายมิติ  อยู่กับแบบเอื้ออาทร

Img 7915

นางสาวสมสุข กล่าวต่อ ในช่วงเริ่มต้นของการทำงานโครงการบ้านมั่นคง  การใช้ระบบสหกรณ์ในการรวมกลุ่มและออมทรัพย์  ยังมีข้อติดขัดด้านความพร้อมของชุมชน และความเข้าใจระหว่างหน่วยงานและชุมชน เรื่องเกณฑ์การตั้งและการบริหารจัดการสหกรณ์   แต่ชุมชนสามารถเรียนรู้ได้ อย่างไรก็ตามหากสามารถปรับเกณฑ์และกติกาของสหกรณ์ให้ยืดหยุ่นให้ใช้คนเป้นตัวตั้ง  ก็จะสามารถทำให้เกิดการบริหารจัดการสหกรณ์ได้เข้ากับการปฏิบัติจริงได้ และถูกต้องตามหลักการของสหกรณ์

Img 8195
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์(คนกลาง)

ประสานความร่วมมือ 3 หน่วยงาน

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ในปี 2547 ได้นำระบบสหกรณ์มาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการโครงการบ้านมั่นคงเข้มแข็งมากขึ้น ภายใต้ “โครงการสหกรณ์บ้านมั่นคง” โดยมีแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญ  คือการให้ชุมชนเป็นเจ้าของโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาและจัดการตนเอง โดยมีการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์  มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดและการไม่มีที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยอย่างเป็นระบบ โดยครอบคลุมชุมชนทั้งหมดของเมือง

“ตลอดระยะที่ผ่านมา  กรมส่งเสริมสหกรณ์  กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ได้ร่วมมือในการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว  เป็นอย่างดี  แต่อย่างไรก็ตาม  เพื่อให้การขับเคลื่อนการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพสหกรณ์บริการบ้านมั่นคงเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ทั้ง 3 หน่วยงาน จึงร่วมกันจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ครั้งนี้” 

Img 8192

อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าวว่า  เพื่อเป็นการประสานความร่วมมือ  การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ภายใต้โครงการบ้านมั่นคงให้มีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ   มีระบบบัญชีที่โปร่งใส  ตรวจสอบได้ การจัดทำบัญชีเรียบร้อยเป็นปัจจุบัน  สามารถอำนวยประโยชน์ให้กับสมาชิกได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนตามเจตนารมณ์ที่ได้จัดตั้งสหกรณ์  และสมาชิกมีคุณภาพชีวิตที่ดี   สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาโครงการบ้านมั่นคง

Img 8187
นายกฤษดา สมประสงค์

นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  กล่าวว่า  การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้  เป็นความร่วมมือของทั้ง 3 หน่วยงาน  ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์บ้านมั่นคง โดยมุ่งหวังให้สมาชิกสหกรณ์ภายใต้โครงการบ้านมั่นคงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  นโยบายในการพัฒนาสหกรณ์ภายใต้โครงการบ้านมั่นคงจะมีความสอดคล้องกันมากขึ้น งบประมาณจะมีการบูรณาการร่วมกันได้มากขึ้น บุคลากรจะมีความเข้าใจ ความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดขึ้น กระบวนการปฏิบัติงาน มีทิศทางเดียวกัน เข้มแข็ง เข้มข้นขึ้น

 “ทั้งหมดนี้ จะส่งผลให้สหกรณ์ภายใต้โครงการบ้านมั่นคง มีการบริหารจัดการที่ดี มีประสิทธิภาพ มีเสถียรภาพทางการเงิน  จัดทำบัญชีได้ตามมาตรฐานการบัญชี  สามารถพึ่งพาตนเองภายใต้หลักธรรมาภิบาล”  นายกฤษดา ผอ.    พอช.กล่าว

Img 8218

8 แนวทางส่งเสริมสหกรณ์บ้านมั่นคงสู่ความเข้มแข็ง

สำหรับขอบเขตความร่วมมือในส่วนของ พอช. จะดำเนินการ ดังนี้ 1.รวมคนที่มีความประสงค์จะจัดตั้งสหกรณ์โดยรวมเป็นกลุ่มออมทรัพย์ก่อน  พร้อมทั้งให้ความรู้การดำเนินการในรูปแบบสหกรณ์  ศึกษาดูงานสหกรณ์ต้นแบบ และร่วมกับสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ ให้ความรู้กับสมาชิกเรื่องการบันทึกบัญชีจนสามารถจัดทำงบการเงินได้ และแจ้งเรื่องสิทธิในที่ดินภายใต้โครงการบ้านมั่นคงแบบแปลงรวมโดยไม่สามารถแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นรายบุคคลได้

2.ร่วมกำหนดแนวทางในการปรับปรุงคู่มือการจัดตั้งและส่งเสริมสหกรณ์ตามโครงการบ้านมั่นคง  3. ดำเนินการและสนับสนุนการจัดอบรมหลักสูตรต่างๆ เพื่อให้สหกรณ์ภายใต้โครงการบ้านมั่นคงมีความเข้มแข็ง  มีระบบบริหารจัดการที่ดี  และสามารถดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีธรรมาภิบาล 4.ผลักดัน สนับสนุน ให้สหกรณ์ภายใต้โครงการบ้านมั่นคงมีหรือจัดจ้างพนักงานจัดทำบัญชีของสหกรณ์ และร่วมให้ความรู้ในด้านการจัดทำบัญชีสหกรณ์ให้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด

5.ร่วมเป็นคณะทำงานเพื่อสนับสนุน  แก้ไข  ปรับปรุง และพัฒนาการดำเนินงานของสหกรณ์ที่มีปัญหา 6. ประชุมร่วม 3 หน่วยงาน ภายใต้บันทึกข้อตกลงร่วมมือ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง  รวมถึงติดตามและรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 7.ร่วมส่งเสริม สนับสนุน และประชาสัมพันธ์ให้สหกรณ์มีความเข้มแข็งสามารถบริหารจัดการ ดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ในชุมชนตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีธรรมาภิบาล และ 8.มีแผนการปฏิบัติงานร่วมกันภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือที่ชัดเจน

ปัจจุบันมีการจัดตั้งสหกรณ์บ้านมั่นคงแล้วทั่วประเทศ  จำนวน 465 สหกรณ์ พัฒนาความร่วมมือในระดับจังหวัด 52 จังหวัด

Img 7991
Img 7995
Img 8226
Img 8211
Img 8239
Img 8243
Img 8248

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ