“จากการที่เราได้มาลงพื้นที่ 2 วันนี้เราได้เห็นน้ำตาและน้ำเสียงที่สั่นเครือของพี่น้องแล้วเราได้สัมผัสถึงความคือทุกข์ยากและการไม่ยอมจำนนต่อโยบายขอรัฐที่ไม่คำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก…. ดังนั้นพวกเราตัวแทนของกลุ่มคนรุ่นใหม่จึงได้ออกมาร่วมต่อสู้เรียกร้องอยู่เคียงพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จนกว่าพวกจะได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง…”
ส่วนหนึ่งของคำแถลงการณ์จากคนรุ่นใหม่ ที่ลงพื้นที่เรียนรู้ผลกระทบจากโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ต่อชุมชนภายในงาน “3 ทศวรรษโขง ชี มูล บทเรียนการจัดการน้ำขนาดใหญ่ของรัฐที่ล้มเหลว” โดยกิจกรรมได้มีการวิพากษ์วิจารณ์โครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ของรัฐเพื่อนำไปสู่บทเรียนและข้อเสนอแนะภาคประชาชน เมื่อวันที่ 12-13 กันยายน 2565 ณ ศูนย์สมาคมคนทาม อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ
สราวุฒิ โหมดนอก นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่อ่านแถลงการณ์ดังกล่าว มองว่าจากการลงพื้นที่ตลอด 2 วันที่ผ่านมาพวกเขาได้เรียนรู้ผลกระทบและปัญหาที่เกิดกับพ่อแม่พี่น้องที่เข้ามาร่วมงานจากหลากหลายจังหวัดทั่วภาคอีสาน โดยได้สัมภาษณ์พูดคุยกับชาวบ้าน ก็รู้สึกสะเทือนใจ รู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่าง และเชื่อว่าการเป็นนักศึกษาจะมีความน่าเชื่อถือในระดับหนึ่ง ที่จะออกมาพูดที่จะออกมาแสดงความคิดเห็น ก็เลยตัดสินใจมายืนหยัดเป็นกระบอกเสียงช่วยชาวบ้านครั้งนี้
“ตอนแรกผมเคยไปลองลงพื้นที่ ที่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ผมรู้สึกว่าจัดการบริหารของรัฐ มันส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผู้คนด้วย ก็เลยตัดสินใจลงพื้นที่ต่าง ๆ ดู ถ้าถามว่าทำไมถึงเลือกที่จะไปอ่านแถลงการณ์ ผมก็คุยกันแหละครับ กับพี่ ๆ ถ้าเกิดว่ามาแบบนี้ มันยังไม่ได้ทำอะไรสักอย่าง เราอยากทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยเขาได้จริง ๆ พี่เขาก็บอกว่าการพูดในฐานะนักศึกษา มันก็จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือมากขึ้น ก็เลยลองคิดช่วยกัน ว่าจะช่วยเขียนแถลงการณ์ช่วยกันและออกแบบการสื่อสารโดยโยนจรวดเข้าไป”
นอกจาก สราวุฒิ ยังมีเพื่อนจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ลงพื้นที่ด้วยกัน และสะท้อนสิ่งที่ได้เห็นผ่านทีมข่าวพลเมืองว่าการมาเรียนรู้ครั้งนี้เป็นเหมือนการสร้างประสบการณ์ใหม่ การได้มาเรียนรู้นอกห้องเรียน และการเห็นอีกมุมมองหนึ่งที่ตนเองไม่เคยรู้มาก่อน เช่น จลินทร์ กุลพรม นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ได้เห็นชาวบ้านออกมาเคลื่อนไหวมากขนาดนี้ ซึ่งทำให้เขามองว่าโครงการพัฒนาที่จะเข้ามามันมีผลกระทบต่อชีวิตชาวบ้านจริง ๆ
“จริง ๆ แล้วผมทำโครงการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่มหาวิทยาลัยอยู่แล้ว มีพี่ชวนมางานนี้แล้วมันเป็นเรื่องที่ใหม่สำหรับผม ผมเพิ่งรู้เลยว่ามันมีการทำแบบนี้ขึ้น มันก็เกิดปัญหาขึ้น มันก็เป็นเรื่องที่ใหม่มาก ๆ สำหรับผมก็ให้มันกระจายไปสู่คนอื่น ให้คนรุ่นใหม่ได้รู้เพิ่มมากขึ้น เพราะผมเอง ผมก็ไม่รู้ อยากให้เรื่องข่าวสารอะไรแบบนี้มันกระจายออกไปอีก หรือแม้กระทั่งฐานข้อมูลที่มันเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศที่เป็นพื้นที่บุ่งทาม อยากให้มันกระจายออกไปอีก
มีหลายอย่างมากครับ ที่เราพอจะช่วยได้ เช่น เรื่องเทคโนโลยีของข้อมูลข่าวสาร การทำวิจัย การทำ Database ฐานข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ผมมองว่าคนรุ่นใหม่ พอเขาได้เรียนรู้ เขาได้ศึกษา มันจะสร้างผลกระทบสำหรับการเคลื่อนไหว มันคือการวิจัย มีการทำข้อมูลฐานความรู้ เราได้รับผลกระทบอย่างไร เขาได้รับผลกระทบอย่างไร อันนี้เป็นสิ่งที่มองว่าคนรุ่นใหม่จะเข้ามาช่วยตรงนี้ได้”
เช่นเดียวกับ รณยุทธ์ ชัยจุมพล นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มีมุมมองว่าความรู้ด้านนิติศาสตร์ที่ตัวเองเรียนมาสามารถนำมาช่วยชาวบ้านได้ และจะนำความรู้จากการสัมภาษณ์ความเดือดร้อนของชาวบ้าน นำไปเป็นบทเรียน ไปนำเสนอ ซึ่งมองว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญ
“ด้วยที่พวกผมเรียนนิติศาสตร์ ศึกษาด้านนี้อยู่แล้ว มีการศึกษาปัญหา Case เหล่านี้อยู่แล้ว และพอได้มาศึกษาความรู้นอกตำราแบบนี้ มาในสถานที่จริง มาในปัญหาจริง แล้วนำสิ่งนี้ไปปรับใช้ในรายวิชาเรา แล้วนำมาเผยแพร่ ให้สังคมได้รับทราบว่าตามที่เพื่อน ๆ ได้เรียนมามันตรงกับที่เป็นอยู่ไหม มันใช้ได้จริงไหม แล้วควรแก้ไขในภายภาคหน้าอย่างไร จะเห็นความยั่งยืนได้อย่างไร เราอยู่ได้ เขาอยู่ได้ คนอยู่ได้”
ส่วน ดนิตา ชั้นวงศ์ นิสิตสาขาภาษาสร้างสรรค์สื่อ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ มองว่าตนเองและเพื่อน ๆ สามารถเป็นกระบอกเสียง ให้สังคมได้รับรู้ได้ ประชาชนอาจจะเห็นจากสิ่งที่พวกเธอสื่อสารออกไป จากสารคดี คลิปข่าว ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความสนใจของภาคประชาชนหรือคนอื่น ๆ และจะสร้างความช่วยเหลือต่อไปได้
“เราเรียนในเรื่องการสร้างสรรค์สื่อค่ะ แล้วเราก็มองว่าจะสื่อสารเรื่องแบบนี้อย่างสร้างสรรค์ได้อย่างไรบ้าง เรามาศึกษาข้อมูลเบื้องต้น มาเก็บภาพบรรยากาศ สัมภาษณ์ชาวบ้าน แล้วเราก็จะไปคิดกันว่าเราจะทำคลิปสื่อสารอย่างไร ให้ทุกคนได้รับรู้ว่ามันเกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้น ไม่ใช่แค่พวกเราที่รู้ว่าพวกเขาต่อสู้กันมา ก็อึ้งมากว่าชาวบ้านเองก็ยังเหนียวแน่นกันอยู่ เพราะว่าบางอย่างเราก็ท้อแล้ว อย่าง 30 ปีมันเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมาก แต่พวกเขาแต่ละพื้นที่ก็ยังสู้อยู่ เพื่ออนาคตของทุกคน เพราะผลกระทบมันก็มหาศาลมากกว่าที่ทุกคนคิด”
แม้จะเป็นการเรียนรู้เรื่องราวผลกระทบต่าง ๆ ในช่วงเวลาเพียง 2 วัน แต่การลงพื้นที่จริงเพื่อเปิดตำรานอกห้องเรียนนับเป็นโอกาสให้นิสิต นักศึกษา คนรุ่นใหม่ ได้พาตัวเองมาสัมผัส มารับฟังปากคำของชาวบ้าน มาเห็นด้วยตาของตนเองว่าชุมชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรในแต่ละลุ่มน้ำ ผู้ซึ่งมีส่วนร่วมดูแล และร่วมใช้ประโยชน์ในพื้นที่ภาคอีสาน ลุ่มน้ำ โขง ชี มูล อันเปรียบเป็นเส้นเลือดหลักที่หล่อเลี้ยงวิถีชีวิต ผู้คน และชุมชนมาอย่างยาวนาน
ณ วันนี้ อย่างน้อย 30 ปี เขาได้เผชิญและยืนหยัดต่อสู้กันมาอย่างไร และกำลังก้าวต่อกันอย่างไร เพื่อเป็นส่วนหนึ่งให้ “เขาและเธอ” ได้มีส่วนออกแบบโจทย์และร่วมหาคำตอบเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลไกทางสังคมร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อหาทางออกอย่างสร้างสรรค์และสมจริงโดยคนแห่งปัจจุบันและในอนาคตที่คนรุ่นใหม่ร่วมกับหนดชะตากรรม