มหากาพย์ 30 ปี บทเรียนลุ่มน้ำโขง ชี มูล

มหากาพย์ 30 ปี บทเรียนลุ่มน้ำโขง ชี มูล

โจทย์เรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในภาคอีสานดูเหมือนจะเป็นมหากาพย์ยาวนานที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลง แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า 30 ปี ซึ่งเรื่องนี้ เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน  มองว่า เป็นผลจากการบริหารจัดการทรัพยากรโดยภาครัฐที่ยังขาดความเข้าใจบริบทของชุมชนอีสาน

เวทีการถอดบทเรียน 30 ปี ความล้มเหลวของโครงการบริหารจัดการน้ำ โขง ชี มูล จึงเป็นโอกาสสำคัญให้เครือข่ายชาวบ้านในลุ่มน้ำต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคอีสานและลุ่มน้ำโขงในภาคเหนือ ซึ่งเป็นเครือข่ายชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ นักพัฒนา นักวิชาการ และผู้ที่ติดตามสถานการณ์ปัญหาได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถกเถียง และวิพากษ์กระบวนการนโยบายและการขับเคลื่อนโครงการในแง่มุมต่างๆ เพื่อผลักดันข้อเสนอให้เกิดในระดับนโยบาย

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน  ระบุว่า “โขง ชี มูล” เป็นโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ของรัฐบาลไทยเมื่อราว 30 ปีก่อน ที่พยายามนำเสนอภาพฝันของการขจัดปัญหาความแห้งแล้งในภาคอีสานแบบถาวร โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความแห้งแล้งในพื้นที่สำคัญอย่างลุ่มน้ำชี-ลุ่มน้ำมูล แต่เวลาที่ล่วงเลยมาถึงปัจจุบันโครงการนี้กลับยังคงถูกผู้คนจากหลายแวดวงกล่าวถึง วิพากษ์วิจารณ์ และถูกใช้เป็นภาพแทนของโครงการพัฒนาที่ล้มเหลวเพื่ออธิบายถึงจุดจบในทำนองเดียวกันของโครงการจัดการน้ำที่เกิดขึ้นในยุคหลัง คำถามสำคัญ คือ ทำไมสิ่งเหล่านี้ยังคงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างไม่รู้จักจบสิ้น ?

“ประสบการณ์ 30 ปี ถ้ามองเป็นคนก็คงแต่งงานมีลูกมีเต้าแล้ว” ผศ.ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้พูดเปรียบเปรยในเวทีเสวนา 3 ทศวรรษ โขง ชี มูล บทเรียนการจัดการน้ำขนาดใหญ่ของรัฐที่ล้มเหลว” เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2565 ณ สมาคมคนทาม บริเวณเขื่อนราษีไศล อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ  โดยมีเครือข่ายนักวิชาการ ภาคประชาสังคมและชาวบ้านจากลุ่มน้ำในอีสาน ทั้ง น้ำโขง น้ำเลย น้ำชี น้ำมูล น้ำพอง น้ำโมง น้ำเซิน น้ำพรม ฯลฯ มาร่วมเสวนาถอดบทเรียน

ประดิษฐ์ โกสน ชาวบ้านลุ่มน้ำมูลเขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา ที่เข้าร่วมเสวนาในฐานะตัวแทนชาวบ้านเล่าว่า “ผมเป็นคนราษีไศล ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนราษีไศล  เขื่อนราษีไศลยังบริหารจัดการไม่ได้ การสร้างเขื่อนแก้ภัยแล้งไม่ให้น้ำท่วม แต่ตอนนี้เกิดน้ำท่วมไม่รู้ใครรับผิดชอบ ได้รับค่าชดเชยเมื่อปี 2540 จ่ายค่าชดเชยไป 12 ครั้งใช้งบประมาณ 2 พันกว่าล้าน แต่ชาวบ้านยังต้องได้ซื้อน้ำ เสียไร่ละ 200 บาท เห็นชัดเจนว่ามันเป็นการจัดการที่ล้มเหลวทำให้เกิดความขัดแย้งในชุมชน พี่น้องต้องแย่งน้ำ แย่งทรัพยากร และย้ำในตอนท้ายว่าการบริหารจัดการน้ำโขง ชี มูล ล้มเหลวมาก”

นิมิต ตัวแทนชาวบ้านลุ่มน้ำชี ตอนล่าง เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธพนมไพร ก็ได้เล่าถึงความเจ็บปวดของชาวบ้านในลุ่มน้ำที่สะสมมานานซึ่งไม่รู้ใครจะช่วย “ตอนแรกเข้าใจว่าจะสร้างฝาย ชาวบ้านก็ดีใจจะมีน้ำใช้ แต่พอมีการสร้างเขื่อนขึ้นที่ จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร ชาวบ้านเดือดร้อนมากพี่น้องที่มาเรียกร้องก็เหนื่อยมาก บางคนก็ท้อถอย แต่ทุกวันนี้ยังมีพี่น้องมาตุ้มมาโฮมกันอยู่ ถึงวันนี้เราเรียกร้องมาหลายปี หลายรัฐบาล ปัญหาตรงนี้มันต้องช่วยกันสะท้อน เวลากว่า 14 ปีที่ผ่านมาเราเรียกร้อง ประเด็นความเดือดร้อนของพี่น้องให้เร่งเยียวยาไร่ละ 7,000 บาท ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มมองเห็นแนวทางว่าต้องแต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อศึกษาผลกระทบเขื่อนและเร่งเยียวยาชาวบ้าน”

ไม่เพียงแค่เสียงสะท้อนของผู้ได้รับผลกระทบจากการจัดการน้ำในลุ่มน้ำอีสานเท่านั้น “แม่น้ำโขง” ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักที่หล่อเลี้ยงผู้คนริมฝั่งและเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไหลผ่าน 8 จังหวัดของประเทศไทย ก็ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนไม่น้อย

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว จากกลุ่มรักษ์เชียงของ เดินทางกว่า 900 กิโลเมตร จาก อ.เชียงของ จ.เชียงรายมาร่วมแลกเปลี่ยนเรื่องราวและสถานการณ์น้ำกับชาวลุ่มน้ำอีสานณ สมาคมคนทาม จ.ศรีสะเกษ บอกว่า “เรื่องราวนี้เป็นมหากาพย์มานาน ทั้ง สถานการณ์แม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา ถ้าเป็นคนป่วยก็คงลุกไม่ได้แล้ว เรื่องราวพวกนี้ต้องได้รับการแก้ไขในการดูแลแม่น้ำของเรา เรื่องนี้ยึดหลักคิดเดิม ๆ ถ้ามองธรรมชาติเป็นศูนย์กลางมันจะไม่มีผลกระทบขนาดนี้ ผมอยากพูดถึงเรื่องราวของแม่น้ำโขง แม่น้ำโขงของเราไม่ต้องอธิบายเพราะมีความอุดมสมบูรณ์ในเรื่องของปลา และแม่น้ำโขงในมุมมองของผม มันถูกกระทำจากฝีมือมนุษย์  

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว

เขื่อนตัวแรกมานวาน พอสร้างเสร็จก็สร้างความหายนะ เขื่อนตัวที่สองมา น้ำโขงก็ขึ้นลงผันผวน และเมื่อมีเขื่อนตัวที่สามจินหง ที่บอกว่าเขื่อนจะช่วยให้น้ำไม่ท่วมแต่พอเขื่อนปล่อยน้ำกลับมาท่วมเชียงของ จ.เชียงราย พอเขื่อนตัวที่สี่ สร้างเสร็จเมื่อปี 2553 เป็นเขื่อนขนาดใหญ่ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ แม่น้ำโขงไม่เคยแห้งกลับแห้ง เมื่อน้ำโขงขึ้นลงผันผวน ตลิ่งพัง พื้นที่เกษตรเสียหาย อาชีพคนหาปลาก็ทำไม่ได้  ปัจจุบันตะกอนในแม่น้ำโขงหายไป นั่นคือวิกฤต”

อาจารย์สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์

ด้าน อาจารย์สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ที่ติดตามเรื่องน้ำมูลมายาวนานกว่า 30 ปี กล่าวว่ามันเป็นเรื่องอำนาจของคนที่เป็นศูนย์กลางการพัฒนา โครงการ โขง ชี มูล มันเป็นเรื่องของน้ำมูล น้ำชี น้ำที่เอามาจากน้ำโขง ใกล้ที่ไหนก็เอามาเก็บไว้ และโครงการศรีสองรักษ์เป็นเส้นใหม่ เอาน้ำโขงเข้ามาในน้ำเลยทั้งหมดคือสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับคนอีสาน ปัญหาคือว่า ยิ่งเงินเยอะยิ่งผลกระทบเยอะ ปัญหาที่ผมคิดว่าน่าสนใจที่สุด คือ ผันน้ำเข้ามาในช่วงฤดูฝนเพื่อจะใช้ในฤดูแล้ง นี่คือสิ่งที่มันผิดพลาดล้มเหลว เชื่อมโยงในเรื่องการจัดการน้ำผมมองว่ามันเป็นการรวมศูนย์มากขึ้น น้ำที่มามันจะมาเยอะเกินไปและมาในช่วงที่เราไม่อยากได้จะมีราคาที่สูงและหน้าแล้งจะเจอปัญหา”

อาจารย์นิรันดร คำนุ

อาจารย์นิรันดร คำนุ หัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หนึ่งในคณะทำงานเรียกร้องเงินชดเชยแม่น้ำชีตอนกลางและล่างกล่าวว่า

“30 ปี น้ำชีเจอปัญหามา 14 ปี ที่น่าสนใจเกี่ยวกับที่มาโครงการโขงชีมูล เกิดขึ้นภายใต้การมองภาพอีสานว่าแห้งแล้ง กระบวนการศึกษาตอนนั้นยังไม่มี พอมีเขื่อนทยอยเกิดขึ้นผลกระทบก็เริ่มเกิดขึ้นกับชาวบ้าน ชีพจรและการไหลของน้ำเปลี่ยนไป น้ำเข้าท่วมพื้นที่ป่าบุ่งป่าทาม โดยรัฐนิยามว่าเป็นป่าละเมาะ แต่ข้อเท็จจริงน้ำคือวิถีชีวิต ความเชื่อ น้ำไม่ใช่ทรัพยากรที่ต้องไปจัดการแต่น้ำมีมิติหลายอย่าง ทั้งทางวัฒนธรรม เกษตรริมมูล ริมชี  พอมองข้ามเรื่องพวกนี้ไปทำให้เกิดปัญหา สิ่งหนึ่งที่สำคัญภายหลังการเกิดปัญหาประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน คนที่จะมาช่วยไม่มี ขาวบ้านถึงเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหา สิทธิที่เขาควรมีในการจัดการทรัพยากรถูกรบกวน อันนี้คือสิ่งที่คนในสังคมต้องทำความเข้าใจ คนในภาคอีสานล้วนเกี่ยวข้องกับลุ่มน้ำ 30 ปีที่ผ่านมาที่ชาวบ้านเรียกร้องลำพังถูกปล่อยปะละเลยและต่อไปจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้จะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด”

ความเป็นธรรมที่ใช้เวลากว่า 30 ปี ในการชดเชย เรื่องนี้เกิดอะไรขึ้น?

ผศ.ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวในเวทีเสวนาซึ่งมีทั้งคำถามต่อการจัดการน้ำโดยรัฐและความหวังของพี่น้องชาวบ้านที่ร่วมกันต่อสู้มายาวนานกว่า 3 ทศวรรษ  “ประสบการณ์ 30 ปี  ถ้ามองเป็นคนก็คงแต่งงานมีลูกแล้ว แต่ 30 ปีการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่มันยาวนานมาก อาจารย์ขอพูดว่า 30 ปีของการจัดการน้ำขนาดใหญ่ของรัฐที่ไม่ยั่งยืน อาจารย์เห็นว่า 30 ปีที่ผ่านมาความเป็นธรรมมาช้าเหลือเกิน ทำไมภาคประชาชนถึงต้องใช้เวลายาวนานกว่า 30 ปี ถึงจะได้ค่าชดเชย มันเกิดอะไรขึ้น

ผศ.ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์

ผศ.ดร.กนกวรรณ กล่าวต่อว่าโครงการขนาดใหญ่ในมุมองของรัฐคือการแก้ปัญหา ต้องโครงการพัฒนาขนาดใหญ่เท่านั้น ในขณะเดียวกันสิ่งที่เรียกว่าใหญ่ คุณพ่อใช้คำว่า กลับตาลปัตร แปลว่า ไม่ใช่ความจริง มันตรงกันข้าม มันมีข้อพิสูจน์แล้วว่ามันสร้างผลกระทบมากกว่าประโยชน์ ความยุติธรรมเดินทางมาช้าเหลือเกิน ถ้าเปรียบเทียบกับผลกระทบที่เกิดกับประชาชน ผลกระทบมันข้ามรุ่นมาจากรุ่นปู่ย่าตายาย มาจนรุ่นลูกหลาน ถ้าเราสามารถเข้าถึงทรัพยกรป่าบุ่งป่าทามได้เหมือนเดิม อย่าบอกว่าชาวบ้านต้องอยู่อย่างพอเพียง ทุกคนอยากมี อยากได้ การชดเชยเยียวยาก็จะต้องข้ามรุ่นเช่นกัน ซึ่งการมีเขื่อนขนาดใหญ่มันตัดขาดความสำคัญ ความผูกพันของคนกับแม่น้ำมูล ป่าบุ่งป่าทาม ปลา ความสำคัญและความผูกพันมันเป็นแก่นของชีวิตที่ก่อให้เกิดรายได้ เกิดวิถีวัฒนธรรม เหล่านี้เขื่อนทำให้ความผูกพันของชาวบ้านตั้งแต่เล็กแต่น้อยหายไป การเข้าไปใช้ทรัพยากรแบบภูมิปัญญาชาวบ้านเขารู้ว่าจะใช้ยังไงจะเก็บแบบไหน

“อาจารย์มองว่าการพัฒนาที่ผ่านมา 30 ปี มันคือความรุนแรงต่อแม่น้ำ ต่อวิถีชีวิต แต่รัฐไม่ได้แบกรับต้นทุน ชาวบ้านต่างหากที่แบกรับ ซึ่งมองว่ามันไม่เป็นธรรมแต่ว่ามันมีทางออกแต่น่าเสียดายว่ามันช้าเกินไปไหม ซึ่งอาจารย์มีความหวังนะไม่งั้นอาจารย์จะไม่มานั่งอยู่ตรงนี้ 30 ปีที่ผ่านมา อาจารย์เห็นความเข้มแข็งของภาคประชาสังคมที่มีการปรับเปลี่ยนการต่อสู้ เมื่อก่อนไปทำเนียบ แต่ตอนนี้ชาวบ้านรวมตัวกันทำงานวิจัยไทบ้าน ใช้เครื่องมือความรู้ในการต่อสู้ ซึ่งโครงการขนาดใหญ่มันไม่ใช่สูตรสำเร็จในการจัดการอีกต่อไป” ผศ.ดร.กนกวรรณ กล่าว

หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) กล่าวว่า โครงการโขงชีมูลเป็นโครงการที่ลอกแบบมาจากโครงการลุ่มน้ำเมอเลย-ดาร์ลิงค์ ของออสเตรเลีย ซึ่งโครงการโขง ชี มูล ไม่ได้เข้ามาเพื่อแก้ปัญหาให้กับชาวบ้านจริง ๆ ซึ่งควรจะมีการพูดคุยและระบุให้ชัดเจนว่าใครคือผู้ได้ประโยชน์จากโครงการนั้น ๆ

วงเสวนายังคงเปิดพื้นที่ให้แลกเปลี่ยนบทเรียนและประสบการณ์การทำงาน การลงพื้นที่เก็บข้อมูลในการศึกษาโครงการ โขง ชี มูล ถูกบอกเล่าให้เครือข่ายชาวบ้านจากลุ่มน้ำอีสานได้เห็นภาพมากขึ้นเพื่อให้เห็นและเข้าใจปัญหาอันจะนำมาซึ่งข้อเสนอแนะในเชิงการผลักดันในระดับนโยบายต่อไป

“ปัญหาของราษีไศล การสู้ของราษีไศล เรามีการพัฒนาของการสู้ไม่ใช่แค่เรื่องเขื่อนอย่างเดียว เราสู้กับปากท้อง ถ้าจะสร้างใหม่ก็แก้ไขตัวเก่าก่อน หรือถ้าจะทำใหม่ให้ชดเชยอันเดิมก่อน และต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง” ผา กองธรรม นายกสมาคมคนทาม กล่าว  

ปราณี มรรคนันท์ เจ้าหน้าที่โครงการทามมูล ก็ได้แลกเปลี่ยนว่า สิ่งหนึ่งที่พิสูจน์ได้คือ กรมชลประทานพยายามที่จะไม่แก้ไขปัญหาโดยกรม การแก้ไขปัญหาทั้งหมดกรมชลประทานอาจไม่ได้เข้าใจสภาพพื้นที่ ไม่มีในระบบที่จะทำในโครงการที่จะประสบผลสำเร็จ แต่การแก้ไขปัญหาเป็นการต่อสู้ของพี่น้อง การเรียกร้องการต่อสู้ของพี่น้องประชาชน เราอย่ารอคอยว่าเขาจะมาช่วยเรา เพราะฉะนั้น 30 ปี รัฐควรพอได้แล้ว การจัดการขนาดเล็ก แก้มลิง กุด หนอง มันจัดการของมันได้ ทำไมไม่ดึงเอาศักยภาพมาสร้าง ภาคประชาชนต้องตื่นรู้ 

“เราเห็นแบบนี้มาตลอด ผลกระทบทุกเรื่อง ผมก็ทำทุกเรื่องได้ตามศักยภาพ วันนี้การมาคุยกัน 30 ปีครั้งหนึ่งเราต้องทำต่อเนื่อง ขับเคลื่อนตลอด”  สวาท อุปฮาด เครือข่ายจากลำน้ำพอง จ.ขอนแก่น แลกเปลี่ยนต่อ

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว จากกลุ่มรักษ์เชียงของ ได้กล่าวต่อถึงแนวทางการขับเคลื่อนของชาวบ้านโดยสิ่งสำคัญที่ต้องทำคือ การสำนึกร่วมว่าปัญหาแม่น้ำโขงเป็นปัญหาใหญ่ เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องใช้เวลา เราต้องคิดแบบใหม่ มิติใหม่ ๆ ในการจัดการน้ำ พวกเราคนลุ่มน้ำโขงสิ่งหนี่งที่เราต้องร่วมกันคือรณรงค์เรียงร้อยกันเพื่อจะบอกว่าที่ผ่านมาเป็นอย่างไร จะต้องชูประเด็นให้ไปถึงระดับนโยบาย อันนี้คือข้อแรกและข้อสองคือตัวกฎหมาย แม่น้ำโขงก็ใหญ่ แม่น้ำสาขาก็ใหญ่ แต่หลายเรื่องไปไม่ถึงระดับกฎหมาย เงินข้ามพรมแดนแต่กฎหมายยังไม่ไปไหน อย่างกรณีเขื่อนไซยะบุรี ที่ฟ้องเรื่องการซื้อขายไป แต่กฎหมายตัดสินว่า การซื้อขายไม่ได้ผิด แต่ผิดที่เขื่อน เราต้องช่วยกันแก้ไขตรงนี้ให้ได้

“สุดท้ายสิ่งสำคัญที่สุดที่เราต้องทำและไม่ทำไม่ได้คือ สร้างสำนึกร่วม โดยการสร้าง “สภาประชาชนลุ่มน้ำโขงประเทศไทย” เราคือหุ้นส่วนใหญ่ของแม่น้ำโขง แต่เราไม่มีที่ยืนเราจะต้องช่วยกันก่อเกิดเรื่องนี้และเดินไปด้วยกันให้ได้เพื่อที่จะช่วยกันพูดแทนแม่น้ำโขงและลุ่มน้ำสาขาทั้งหมด” นิวัฒน์ ร้อยแก้ว กล่าว

นอกจากข้อเสนอการร่วมพลังให้เกิด “สภาประชาชนลุ่มน้ำโขงประเทศไทย” แล้ว  ผศ.ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ยังได้ย้ำถึงความสำคัญว่า“ต้องทำให้มันเกิด อาจารย์คิดว่ามันควรจะเป็นโครงการขนาดเล็ก จิ๋วแต่แจ๋ว และเราต้องทำให้แม่น้ำมีสถานะเหมือนบุคคลให้ได้ อย่างที่นิวซีแลนด์ทำ เราใช้แม่น้ำไหนก็ได้เป็นกรณีศึกษา อย่าง แม่น้ำสงครามที่ยังไม่มีเขื่อน เราควรจะผลักดันให้แม่น้ำมีสถานะเหมือนบุคลที่สามารถฟ้องรัฐบาลได้”

การพูดคุยหารือ ถกเถียง แลกเปลี่ยนกับฝ่ายวิชาการ โดยคนทำงาน โดยชาวบ้านที่ใช้วิชาชีวิตเป็นอาชีพซึ่งต้องพึ่งพาลุ่มน้ำต่าง ๆ ในอีสาน ณ สันเขื่อนราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ที่ซึ่งยังคงเป็นรูปธรรมการบริหารจัดการน้ำจากโครงการขนาดใหญ่ที่ขวางกั้นแม่น้ำมูลในลุ่มน้ำอีสานตอนกลางซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชุมชน ต่อคนหาปลา และระบบนิเวศที่เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสานยังคงตั้งคำถามควบคู่กับการพยายามหาทางออก โดยยังหวังว่าเสียงของชาวบ้านจะถูกได้ยินโดย “รัฐ” และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมหาทางออก โดยมีบทเรียนกว่า 30 ปีที่ผ่านมายืนยันว่า “แม่น้ำต้องไหลอย่างอิสระ” เพื่อลดผลกระทบต่อชุมชน ผู้คน สิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศในแต่ละลุ่มน้ำ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ