วิจัยไทบ้าน “วิชาการ บวก วิชาชีวิต” กลุ่มลุ่มน้ำชีตอนล่างตั้งเป้าศึกษาผลกระทบโขง ชี มูล

วิจัยไทบ้าน “วิชาการ บวก วิชาชีวิต” กลุ่มลุ่มน้ำชีตอนล่างตั้งเป้าศึกษาผลกระทบโขง ชี มูล

ชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างและนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด ร่วมทำวิจัยไทบ้านเพื่อศึกษาโครงการโขง ชี มูล ซึ่งดำเนินการตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน เพื่อสะท้อนผลกระทบจากเขื่อนร้อยเอ็ด ยโสธร พนมไพร ใน 5 ประเด็น คือ 1.ระบบนิเวศน์ 2.พันธุ์พืชและสมุนไพร 3.พันธุ์ปลา 4.เรื่องพันธุ์ข้าว และ 5.การทำปศุสัตว์

ภาพ / ข่าว : นักข่าวพลเมืองจังหวัดร้อยเอ็ด

17 พ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างจังหวัดร้อยเอ็ดและนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด ร่วมทำวิจัยไทบ้าน ศึกษาผลกระทบจากโครงการโขง ชี มูล เพื่อเตรียมนำเสนอสู่สาธารณะ เกี่ยวกับ “โครงการ โขง ชี มูล” โครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ในภาคอีสานที่เกิดขึ้นเป็นทางการในปี 2532

อิทธิพล ภูขำ คณะกรรมการกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำชีตอนล่าง เล่าว่า เนื่องจากที่ผ่านมามีปัญหาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ดและยโสธร พนมไพร ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ไม่สามารถทำมาหากินได้ตามวิถีชีวิตของชุมชน เพราะมีปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตรเป็นเวลานานทำให้ไม่สามารถทำการเกษตรริมฝั่งแม่น้ำชีได้เหมือนในอดีต และผลจากน้ำท่วมในพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามยังทำให้อาหารตามฤดูกาล ทั้ง เห็ด หน่อไม้ และพืชผักพื้นบ้านเริ่มหายไปไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ พร้อมมองว่า หากวิจัยไทบ้านชิ้นนี้เสร็จสมบูรณ์ จะทำให้ชาวบ้านมีข้อมูล ความรู้ และเข้าใจสภาพปัญหามากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การปรับตัวและเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นได้ โดยงานวิจัยชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งในแผนฟื้นฟูและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการโขง ชี มูล

ชัยวิทย์ ทรหาร นักศึกษาสาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด เล่าว่า ได้ช่วยชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง ลงเก็บข้อมูล เพื่อศึกษาผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อน ในเรื่องผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงในเรื่องวิถีชีวิต ตลอดจนช่วยกันจัดทำชุดข้อมูลการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำตามวิถีชีวิตชุมชน เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวเสนอต่อสาธารณชนได้รับทราบ

ขณะเดียวกัน สิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน มองว่า กระบวนการทำวิจัยในครั้งนี้ เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบนโยบายของรัฐ ซึ่งชาวบ้านลุ่มน้ำชีได้กำหนดประเด็นในการศึกษาร่วมกันทั้งหมด 5 ประเด็น คือ 1.ประเด็นเรื่องระบบนิเวศน์ 2.เรื่องพันธุ์พืชและสมุนไพร 3.เรื่องพันธุ์ปลา 4.ประเด็นเรื่องพันธุ์ข้าว และ 5.การทำปศุสัตว์ ซึ่งข้อมูลจากการศึกษาวิจัยครั้งนี้ จะมีการสรุปข้อมูลก่อนและหลังการสร้างเขื่อน ตามโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ โขง ชี มูล เพื่อเปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย โดยชาวบ้านจะได้รวบรวมและนำเสนอต่อหน่วยงานราชการและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอนุกรรมการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมต่อไป

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ