อยู่ดีมีแฮง : คุยกับชาวบ้านลุ่มน้ำชี ในวันที่ต้องลอยคอเกี่ยวข้าว

อยู่ดีมีแฮง : คุยกับชาวบ้านลุ่มน้ำชี ในวันที่ต้องลอยคอเกี่ยวข้าว

เดชา  คำเบ้าเมือง  เขียน

มิ่งขวัญ  ถือเหมาะ  ภาพ

ลอยคอเกี่ยวข้าว

“ไผว่าอีสานแล้ง สิจูงแขนมาเบิ่ง แล้งจั่งได๋ อยู่นี่น้ำท่วมมา 13 ปีแล้ว อยากให้มาเบิ่งเด้ ผู้ได๋มันเว้า มันว่า”

อมรรัตน์  วิเศษหวาน หรือแม่มร ชาวนาวัย 58 ปี เปล่งเสียงพูดด้วยความอุกอั่ง ราวกับว่ามันถูกขย้อนออกมาจากก้นบึ้งของหัวใจ แม้ว่าตัวเธออยู่ในสภาพเปียกปอนและพยายามยืนทรงตัวในน้ำระดับหน้าอก แต่ในมือขวายังถือเคียว และอีกมือข้างคอยประคับประคองมัดข้าวที่ชุ่มน้ำอย่างระมัดระวัง

ที่นี่คือหมู่บ้านดอนแก้ว ตำบลบึงงาม อำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2564 เกษตรกรได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมขังมาเป็นเวลากว่า 1 เดือน โดยเฉพาะข้าวนาปีที่กำลังออกรวงรอการเก็บเกี่ยวแต่ต้องจมอยู่ในน้ำ จนทำให้เกิดความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง ด้วยสถานการณ์น้ำที่บีบบังคับและไม่มีทีท่าว่าจะลดลงในเร็ววัน

วันนี้ แม่มร มาช่วยเพื่อนบ้านลอยคอเกี่ยวข้าวในที่นาซึ่งกำลังถูกน้ำท่วมขังเวิ้งว้างสุดสายตาแต่จำเป็นต้องช่วยกันเกี่ยวข้าวขึ้นจากน้ำ ทั้งๆ ที่เมล็ดยังไม่สุกเต็มที่

“พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่นาเสี่ยง ปีไหนที่ไม่ท่วมก็ดี ส่วนปีไหนที่ท่วมก็เป็นแบบนี้สูญเสียทั้งต้นทุนและทุกอย่าง ถึงรู้เราก็ต้องทำเพราะมันเป็นอาชีพของเราบรรพบุรุษเราเคยพาทำ ถ้าให้ไปขายของก็เจอกับปัญหาโควิด คนตกงานลูกหลานกลับมาอยู่บ้าน น้ำก็มาท่วมซ้ำเติมกันลงไปอีก” แม่มร กล่าวอย่างคับแค้นใจ

แม่มร เล่าว่า บริเวณนี้มีสภาพพื้นที่มันเป็นแอ่งกระทะ ซึ่งจะประสบกับปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี แต่สมัยก่อนลักษณะการท่วม คือ น้ำมันจะท่วมแบบว่าไปเร็วไหลเร็ว 7-15 วันน้ำก็ลด คนโบราณจะบอกว่าปล่อยให้น้ำท่วมไปเลยเพราะยิ่งท่วมข้าวยิ่งงาม เหมือนเป็นการใส่ปุ๋ยให้ข้าว แต่ปีนี้น้ำมาช้าก็เลยทำให้ข้าวที่กำลังออกรวงและโตเต็มที่ถูกน้ำท่วมขังและระดับน้ำก็ขึ้นทุกวัน ซึ่งถ้าไม่รีบเร่งเก็บเกี่ยวตอนนี้ก็จะไม่ได้ข้าวเลย

“เราก็ค่อยๆ เล็มเกี่ยวขึ้นมาแบบนี้ เพราะว่าเสียดาย ถึงแม้ว่าข้าวยังไม่สุกเต็มที่แต่ก็ต้องเกี่ยวเอาขึ้นจากน้ำ หวังว่าเอามาตาก เอามาตี ได้สัก 1-2 กระสอบก็ยังดี” เธอยังอธิบายว่าการเกี่ยวข้าวลักษณะนี้ เรียกว่า “การแย่งข้าวขึ้นจากน้ำ”

การเกี่ยวข้าวเป็นไปด้วยความยากลำบาก และต้องการแรงงานมากกว่าปกติ ซึ่งเกี่ยวเสร็จก็ต้องหอบใส่เรือพายออกไปทันที เพื่อเอาไปตากจนแห้งแล้วค่อยตีเอาเมล็ด หากไม่มีการลงแขกหรือขอแรงพี่น้องกันในรูปแบบนี้ก็ไม่ทันการณ์ เพราะน้ำขึ้นทุกวัน

“ใครเขาจะมารับจ้างเกี่ยวข้าวแบบนี้กันล่ะ ถึงจ่ายค่าแรงมันก็แพงหลายเท่าเจ้าของนาไม่มีปัญญาจ้างหรอก สู้เอาแรงแลกแรงกันดีกว่า เสร็จจากนานี้แล้วคิวต่อไปก็ที่นาแม่ต่อ” ในสถานการณ์เช่นนี้ความต้องการแรงงานย่อมสำคัญกว่าเงินค่าจ้างซึ่งเธอก็มุ่งหวังอย่างนั้น

การลงทุนที่จมหายไปกับน้ำ

จันทา  จันทราทอง หรือพี่ช้าง เจ้าของที่นา ขนรวงข้าวขึ้นเรือก่อนจะพายออกไปเป็นระยะทางประมาณ 200 เมตร เพื่อนำรวงข้าวที่เปียกชุ่มน้ำค่อยๆ บรรจงตากบนลานที่เตรียมไว้ ซึ่งข้าวที่เก็บเกี่ยววันนี้เป็นข้าวจ้าวหอมมะลิทั้งหมด ชาวนาที่นี่ไม่ได้ปลูกข้าวเหนียวไว้เลย (โดยปรกติข้าวเหนียว เป็นประเภทข้าวหนักมีอายุนานกว่าข้าวจ้าว โดยมีระยะเวลาเก็บเกี่ยวคือช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน-ต้นเดือนธันวาคม) เนื่องจากคาดการณ์ตั้งแต่แรกแล้วว่าน่าจะเก็บเกี่ยวหนีน้ำไม่ทัน ซึ่งก็จริงไม่มีผิดเพี้ยน กระนั้นยังต้องมาลอยคอเกี่ยวข้าวที่ไม่เต็มเมล็ด ได้ผลผลิตไม่เต็มหน่วย

“ครอบครัวผมเป็นครอบครัวใหญ่ มีที่นาทำร่วมกันประมาณ 50 กว่าไร่ เราใช้แรงงานพี่น้อง เพราะทุกวันนี้แรงงานรับจ้างหายาก จึงต้องใช้วิธีพึ่งพากันในเครือญาติ แต่ถ้าเป็นคนอื่นเขาต้องลงทุนเยอะเพราะเขาต้องจ้างทุกอย่าง”

พี่ช้าง แจกแจงต้นทุนการทำนาให้ฟังว่า ค่าเฉลี่ย 1 ไร่ สำหรับการทำนาปี จะมีต้นทุนคือ ค่าหว่าน 100 บาท/ไร่ ค่าไถรวมค่าปั่น 650 บาท/ไร่ เบ็ดเสร็จแล้วก็ตก 750 บาท/ไร่ ค่าเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูก 2 กระสอบ/ไร่ เป็นเงินกว่า1,000 บาท ค่าปุ๋ย 2 กระสอบ/ไร่ ราคา 1,600 บาท คิดเป็นเงินรวมแล้วประมาณ 3,300-3,400 บาท/ไร่

หากเปรียบเทียบกับราคาข้าวเปลือกราคา 6 – 7 บาท/กิโลกรัม ถือว่าไม่คุ้ม ไม่ต่างอะไรกับการซื้อข้าวกิน ซึ่งย้อนแย้งกับราคาข้าวสารที่มีราคา 30-40 บาท/กิโลกรัม และคาดว่าปีนี้ราคาข้าวสารจะแพงกว่าปีที่ผ่านมา เพราะประสบปัญหาน้ำท่วมทั้งภาคกลางและภาคอีสาน

ด้วยภูมินิเวศบริเวณนี้เสมือนเป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำ พี่ช้างเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนทำนาปีและนาปังในรอบฤดูกาลผลิต 1 ปี ได้ข้าวมากถึง 40-45 ตัน/รอบ ช่วงข้าวมีราคาเคยเอาไปขายได้เงินรวมกันมากถึง 1,000,000 บาท/ปี นอกจากนี้ ยังเหลือเก็บในยุ้งฉางเอาไว้กินปริมาณ 1 ตัน อย่างสบาย ไม่ได้เดือดร้อนอะไร อุดมสมบูรณ์ทั้งข้าวในนาและข้าวในเล้า ส่วนเรื่องอาหารก็มองไปที่น้ำในวังหาปูหาปลาและปลูกผัก เพราะหลังเกี่ยวข้าวแล้วยังมีที่ดินริมกุดตรงน้ำชีอยู่ 2 แปลง พี่น้องต่างก็ลงไปปลูกผักตรงนั้น ทำให้มีอยู่มีกินตลอดทั้งปี

“เรามองว่าการเกษตรมันทำให้เราได้ต่อทุนในช่วงนั้น ซึ่งผมสามารถซื้อรถปิ๊กอัพราคา 750,000 บาท และรถไถนั่งขับสีส้ม 36 แรง เป็นเงิน 530,000 บาท ด้วยเงินสดได้เลย จนเราคิดว่าอนาคตในอาชีพการเกษตรของเรายังไงก็ได้กำไรแน่นอน”

แต่วันนี้กลับตาลปัตร กับสภาพที่เห็นต่อหน้าต่อตา เดิมทีพี่ช้างมีความหวังในใจว่าปีนี้จะมีเงินแสนในกระเป๋าไว้ทำทุน โดยออกมาดูที่นาทุกวันเห็นน้ำขึ้นก็คิดว่าอีกไม่เกิน 1 อาทิตย์จะได้เก็บเกี่ยว แต่ไม่เลยเพราะตอนนี้น้ำขยับขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เกิดความท้อใจลงทุกวัน

ถึงแม้รัฐบาลจะมีการชดเชยเยียวยา แต่มันก็ไม่คุ้มค่ากับการลงทุนของชาวนาที่เสียไป เพราะชาวนาลงทุน 3,000-4,000 บาท/ไร่ แต่รัฐมาช่วยเยียวยาเพียง 1,000 บาท/ไร่ เท่านั้น โดยชาวบ้านที่นี่ได้มีข้อเรียกร้องกับหน่วยงานรัฐมาโดยตลอด เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก และเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการน้ำ ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน

“เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ 2543 ตั้งแต่มีการเปิดใช้เขื่อนเป็นต้นมา คือเราต้องปรับตัวอยู่กับน้ำลักษณะแบบนี้ คือเราต้องปรับอยู่กับมัน แต่ปีนี้เป็นการบริหารจัดการที่ไม่ได้เรื่องเลย ก็คือน้ำเพิ่มระดับขึ้นทุกวัน ทำให้ข้าวในนาถูกท่วมโดยน้ำที่จัดการไม่ได้” พี่ช้าง เล่าด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ พรางใช้มือคลี่รวงข้าวกระจายออกเพื่อให้เมล็ดแห้งเร็ว

อีสานแล้ง ?

โครงการโขงชีมูลเดิม มีการสร้างเขื่อนตั้งแต่ปีพ.ศ. 2532 เป็นต้นมา โดยในส่วนลุ่มน้ำชี เริ่มก่อสร้างเมื่อประมาณ ปีพ.ศ. 2535-2536 จนมาแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2543 จำนวน 6 ตัว เกิดขึ้นในลุ่มน้ำชี ได้แก่ เขื่อนชนบท เขื่อนมหาสารคาม เขื่อนวังยาง เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธรพนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย เมื่อเขื่อนพยายามทำหน้าที่กักเก็บน้ำ เราจึงเห็นปรากฏการณ์น้ำท่วมกินอาณาบริเวณมหาศาล ขังเป็นเวลานาน 1-2 เดือน ซึ่งได้ส่งผลกระทบนาข้าวตาย เกษตรกรเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก

“น้ำท่วมที่นี่มี 2 สาเหตุหลักๆ คือ หนึ่งโครงสร้างของเขื่อนเป็นตัวกั้นและเปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำ และสองหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบก็รู้ว่าฝนตกหนักที่ชัยภูมิ และโคราชจนน้ำท่วม แล้วมวลน้ำก็จะต้องไหลมาทางนี้อย่างแน่นอน แต่หน่วยงานไม่จัดการน้ำหรือพร่องน้ำออกจากอ่างกักเก็บน้ำของเขื่อน จนกระทั่งน้ำไหลมารวมกันทั้งน้ำชีและน้ำมูลแล้วเอ่อหนุนขึ้นมา ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมยาวนานยิ่งขึ้น นี่คือการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดอย่างชัดเจนที่สุด” สิริศักดิ์  สะดวก  ผู้ประสานงานศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง อธิบายให้ข้อมูล

สิริศักดิ์  สะดวก 

อีสานถูกยัดเหยียดภาพลักษณ์ของความแห้งแล้ง ดังนั้นใครก็ตามที่เข้ามาเป็นรัฐบาลจะต้องมีการเอาโครงการพัฒนาต่างๆ ลงมาเพื่อแก้ไขปัญหาความแห้งแล้ง เช่น โครงการโขงชีมูล และการจัดการน้ำต่างๆ แต่ไม่มีความเข้าใจในลักษณะความเป็นนิเวศและวิถีของภาคอีสาน

ภาคอีสานมี 3 ฤดูกาล คือ ฝน หนาว และแล้ง ซึ่งคนอีสานก็มีการปรับตัวตามแต่ละฤดูกาล เช่น ในฤดูแล้งก็มีการเข้าป่าไปหาแหย่ไข่มดแดงหากินตามวิถีชีวิตของคนอีสาน ส่วนก็แล้งไม่เท่ากัน คือ เช่นในพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำ เช่น แม่น้ำชี ในฤดูแล้งพี่น้องก็วางอุปกรณ์หาปลา ส่วนพี่น้องที่อยู่บนที่โคกก็มีวิถีชีวิตกับทรัพยากรตรงนั้น ไม่ใช่ว่าอีสานต้องมีน้ำอยู่ตลอดแบบนั้นไม่ใช่

“เพราะการสื่อสารว่าอีสานแล้งเป็นเพียงวาทกรรม พอคนไม่เข้าใจก็ไปสื่อสารว่าอีสานแล้ง เพราะคาดคิดว่าในนาต้องมีน้ำตลอดฤดูกาล การมองอีสานว่าแล้งจึงเป็นการมองเพื่อสร้างวาทกรรมทางผลประโยชน์”

คนอีสานจะมีองค์ความรู้และภูมิปัญญาการบริหารจัดการน้ำขนาดเล็ก เช่น พื้นที่ลุ่มน้ำชีจะใช้เครื่องสูบน้ำขึ้นมาปลูกผัก และทำนาปี เมื่อเจอกับสภาวะน้ำท่วมก็ปรับตัวทำนาปัง ส่วนคนอาศัยอยู่พื้นที่โคกก็จะจัดการน้ำโดยขุดสระน้ำ เป็นต้น แต่คนบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่พยายามจะบอกว่าจะต้องดึงน้ำจากแหล่งน้ำไปให้พื้นที่ราบสูง อันนี้เป็นการทำลายระบบนิเวศของภาคอีสาน

“การมองนิเวศที่หลากหลายและจัดการให้เหมาะสมแต่ละประเภทพื้นที่จึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งการบริหารจัดการน้ำผ่านโครงการขนาดใหญ่นับว่าขาดการเรียนรู้ในเรื่องของนิเวศภาคอีสาน ดังนั้นอีสานแล้งจึงมี 2 ลักษณะคือ แล้งตามฤดูกาล และแล้งตามลักษณะพื้นที่ ซึ่งเราต้องเคารพพื้นที่” สิริศักดิ์  กล่าวทิ้งท้าย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ