อยู่ดีมีแฮงโสเหล่ : คนอุบลฯ พร้อมไหม? รับมือภัยน้ำท่วม

อยู่ดีมีแฮงโสเหล่ : คนอุบลฯ พร้อมไหม? รับมือภัยน้ำท่วม

ขอบคุณภาพ : ศูนย์น้ำมิตร Centre

เครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี จัดวงสนทนาออนไลน์ชวนติดตามความเคลื่อนไหวสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่อุบลราชธานี “คนอุบลฯ พร้อมไหม #รับมือภัยน้ำท่วม ?” ในวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา หลังระดับน้ำในแม่น้ำมูลเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำของชุมชนริมแม่น้ำมูล ส่งผลให้มีชาวบ้านกว่า 500 คน ต้องอพยพไปอยู่ในศูนย์พักพิงเพื่อเตรียมพร้อมรับมือและลดผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมซึ่งเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจอยู่ดีมีแฮงUbonConnectวารินชำราบบ้านเฮาVR CableTV และ ศูนย์น้ำมิตร Centre เพื่อหารือเตรียมการรับมือสถานการณ์น้ำท่วม

ร่วมสนทนาโสเหล่ โดย คุณไมตรี จงไกรจักร์ มูลนิธิชุมชนไท, คุณจำนง จิตนิรัตน์ ที่ปรึกษาอาสาสมัครชุมชนป้องกันภัยพิบัติ, ดร.สุรสม กฤษณะจูฑะ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, คุณจิราวัฒน์ อมรไชย พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลวารินชำราบ, คุณวลัยลักษณ์ ชมโนนสูง เจ้าหน้าที่พัฒนาเครือข่ายสื่ออาวุโส บก.เพจอยู่ดีมีแฮง ThaiPBS ดำเนินวงโสเหล่โดย คุณสุชัย เจริญมุขยนันท ภายใต้การทำงานร่วมกับ Ubon connect , มูลนิธิสื่อสร้างสุข , มูลนิธิชุมชนไท , โรงพยาบาลวารินชำราบ , อาสาสมัครชุมชนป้องกันภัยพิบัติสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และศูนย์เผชิญภัยพิบัติน้ำมิตร คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

คนอุบลฯพร้อมไหม?

สุชัย เจริญมุขยนันท  : สวัสดีคุณผู้ชมขอต้อนรับรายการพิเศษของเรา ซึ่งชาวอุบลราชธานีพร้อมไหมรับมือน้ำท่วม? เพราะว่าตอนนี้ถ้าหากว่าใครได้ติดตามข่าวสารก็จะเห็นว่าปริมาณน้ำในล่าสุดระดับน้ำในอุบลราชธานีที่สะพานเสรีประชาธิปไตยท่วมแล้ว 7 เซนติเมตร (ข้อมูล ณ วันที่ 10 กันยายน 2565) ขึ้นธงแดงบริเวณสะพานเสรีแม่น้ำมูล วันนี้เราจะมาพูดคุยกันกับหลายท่านในการเตรียมตัวกันมากน้อยแค่ไหน อย่างไร ในการเตรียมรับมือน้ำท่วม เพราะว่าปี 2562 อุบลราชธานีของเรามีน้ำท่วมใหญ่ แล้วมีการพูดคุยกันว่าถึงแม้จะน้ำท่วมหรือไม่ท่วมก็ตาม เราน่าจะได้มีการเตรียมตัว อาจารย์ธวัช มณีผ่อง จากคIะศิลปะะศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี บอกว่า เราจะไม่อนุญาตให้มันรุนแรงเท่ากับปี 2562 อีกแล้ว ต้องเตรียมตัวกัน

ชุมชนมีการเตรียมตัวอย่างไรกันบ้างในเรื่องภัยน้ำท่วม

จำนงค์ จิตนิรัตน์ : ที่ติดตามระดับน้ำมาอย่างเป็นกังวลตลอด ทางชุมชนกับพวกผมเมื่อเช้านี้เลยไปจุดแรกเราอยากรู้ว่าน้ำมูลยังไหลแรงอยู่ไหม ถ้าไหลแรงแสดงว่าน้ำโขงยังต่ำและน้ำยังไหลไปได้ ซึ่งน้ำมูลไหลแรงพอสมควร อันนี้แสดงว่าเราเบาใจลงไปบ้าง ถึงว่าน้ำจะไม่เอ่อล้นในอุบล แต่เมื่อมีธงแดงขึ้นแล้วตอนนี้ชาวบ้านมีความตื่นตัวมากเป็นพิเศษ เพราะภาพหลอนปี 62 ยังติดตามติดใจอยู่

ตอนนี้ ตามที่ดูสภาพตอนนี้ได้รับความช่วยเหลือจากเทศบาลฯทั้งสองฝั่งในเรื่องเต้นท์ ซึ่งถือว่าเต้นท์มาเร็ว เป็นเต้นท์ที่ดูมาตรฐาน ทางเทศบาลฯมาติดตั้งไฟให้ แต่่ทุกจุดมีปัญหาเรื่องห้องน้ำ เมื่อวานทางอาสาสมัครชุมชนป้องกันภัยพิบัติ อช.ปภ.ได้ไปพบกับ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานี หลังจากนั้นเลยมีห้องน้ำเคลื่อนที่มาวางไว้ให้ที่หลังสำนักงานที่ดินซึ่งตอนนี้ก็ดีขึ้น

ผมคิดว่าหน่วยงานปีนี้ถือว่าตื่นตัวเร็ว เพียงแต่ว่าข้อติดขัดใหญ่ ๆ เนื่องจากว่าผู้ที่อพยพมารุ่นแรกจะเป็นกลุ่มเปราะบาง เพราะอยู่ในที่ลุ่มบ้านส่วนใหญ่อยู่ในสภาพที่ต่ำมีเด็กมีคนแก่เป็นคนที่ค่อนข้างยากจน กลุ่มนี้เริ่มขาดแคลนเรื่องอาหาร อุปกรณ์ป้องกันโควิด และทาง อช.ปภ.ก็เลยต้องทำเรื่องครัวกลาง ทำวันละ 1 มื้อเพราะว่าไม่มีวัตถุดิบ ซึ่งประเด็นนี้ได้ไปปรึกษากับทาง ปภ.ปรากฏว่าติดขัดเรื่องการประกาศ การประกาศว่าเป็นเขตภัยพิบัติยังไม่ประกาศ เลยยังไม่สามารถเอางบประมาณมาช่วยได้ก็เลยต้องรอให้ทางผู้ว่าประกาศ แต่ว่าบางหน่วยงานอย่างเช่น ทหาร ก็ได้เอาวัตถุดิบมาสมทบที่ครัวกลาง คือ ทหารเขาจะออกมาตอนน้ำท่วม เขาจะมีรถเสบียงคันใหญ่ ๆ ที่ใช้ในสนาม มีห้องน้ำพร้อม แต่เขายังไม่ออกมานะครับ เพราะว่าอาจจะเกี่่ยวกับเรื่องประกาศด้วยแต่เขาก็มาสบทบางส่วนให้กับครัวกลาง ครัวกลางเลยกลายเป็นเหมือนข้อต่อระหว่างไม่มีประกาศใช้กฎหมายแต่ว่ามีบางหน่วยมีข้าวของก็เอามารวมกันได้ อันนี้ก็ถือว่าเป็นทางออกของการช่วยเหลือครับ

มีการเตรียมพร้อมสำหรับภัยพิบัติอย่างไรบ้าง

จำนงค์ จิตนิรัตน์ : ตอนนี้อยากเตรียมงานร่วมกับเทศบาลฯเรื่องพื้นที่อพยพ ซึ่งน่าจะมีทางสาธารณูปโภคมาพร้อม คือไม่ใช่รอให้คนมาเยอะแออัดแล้วถึงเอาสาธารณูปโภคมา และอันที่สองเรื่องอุปกรณ์ป้องกันโควิด แล้วก็จะมีความร่วมมือกันเรื่องถ้าน้ำท่วมสูงมันจะมีบางส่วนที่เฝ้าบ้านอยู่ เรือที่เขาผลิตไวว้เมื่อปี 62-63 ประมาณ 20 กว่าาลำก็จะมีการวางตำแหน่งเป็นท่าเรือให้กระจายเพื่อรองรับชาวบ้านที่เข้าขึ้นลงบ้านหรือไปทำงานได้  ตอนนี้กำลังตรวจสอบเรือ มีเรือบางลำที่ยังไม่ลงน้ำเลยก็พอลงแล้ววปรากฏว่าเรือรั่วก็กำลังเตรียมการซ่อม ลงมือช่วยกันอยู่ แล้วก็มีบางพื้นที่ที่อยู่ไกลถนน เราก็จะมีการบริหารเครื่องเรือ ซึ่งมีประมาณ 20  เครื่องเรือ มีประมาณ 5 เครื่อง ก็จะดูว่าเอาลำไหนที่มีเครื่อง เพื่อที่จะไปช่วยระยะทาง ให้มันเดินทางได้

เรื่องครัวกลางสามารถบริจาคได้ที่ไหนอย่างไร

จำนงค์ จิตนิรัตน์  : สามารถติดต่อ คุณบุญทัน เพ็งธรรม ประธานกลุ่ม อช.ปภ. ได้โดยตรงที่เบอร์ 085-016-6609 และตอนนี้มีสภากาชาติ มีทหาร ร.พัน 6 ที่ติดต่อพี่นำเอาวัตถุดิบมาสบทบให้แล้วครับบางส่วน

มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีกับบทบาทในสถานการณ์น้ำท่วม

สุชัย เจริญมุขยนันท : ไปที่ ดร.สุรสม กฤษณะจูฑะ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งก็มีงานเยอะแยะไปหมดเลย ครั้งนี้ยังมารวมตัวชวนพวกเรา รวมทั้งสื่อที่มาชวนพวกเรา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีก็ไม่ปฏิเสธเลยรีบเข้ามาว่าเราจะช่วยเหลือชุมชนได้ยังไง

ดร.สุรสม กฤษณะจูฑะ : คือ บทบาทของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ส่วนหนึ่งมีหน้าที่ต้องบริการชุมชนหรือว่าทำงานเพื่อชุมชน มันไม่ได้แยกว่า สอนหนังสืออย่างเดียวแต่เราก็ทำหน้าที่ไปพร้อม ๆ กัน เป็นมหาวิทยาลัยอยู่ในท้องถิ่น คือ การที่เราจะทำงานร่วมกับท้องถิ่นหรือว่าสร้างสำนึกสาธารณะให้กับนักศึกษาหรือว่าบุคลากรที่อยู่ในมหาวิทยาลัย คิดว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่เราพยายามจะทำ เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมขึ้นในอุบลก็ถือว่าเป็นสนามที่นักศึกษาได้ใช้ความรู้ความสามารถ อาจารย์เองก็ได้นำความรู้เยอะแยะมากมายนำมาใช้ คิดว่ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีน่าจะเริ่มจากตรงนี้ คือเรามีอะไรบางอย่างที่มีอยู่และก็จะช่วยสามารถทำให้สถานการณ์ตรงนี้คลี่คลายหรือว่าชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนเขาได้รับการช่วยเหลือเท่าที่พอจะทำได้

ดร.สุรสม กฤษณะจูฑะ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ประเด็นที่อยากจะพูดต่อพี่จำนงค์ ที่ให้พี่จำนงค์พูดก่อนว่ามีประเด็นเรื่องของพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ปี2550 ที่บอกว่ามีข้อจำกัดแต่จริง ๆ แล้วมันอาจจะมีอันนึงที่อาจจะพอไปได้นะครับ คือตามมาตรา 21 ที่บอกคล้าย ๆ ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องดำเนินการช่วยเหลือชาวบ้านในช่วงเกิดภัยพิบัติหรือคาดว่าจะเกิดภัยพิบัติ คำว่าคาดว่าเป็นหัวใจสำคัญผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องมีการประกาศภัยพิบัติหรือประกาศสาธารณภัยตามคำพูดในกฎหมาย อันนี้คือคาดว่าจะเกิดก็สามารถช่วยเหลือได้แต่จะช่วยเหลือด้วยระเบียบได้อย่างไรอันนี้ก็คงต้องเป็นเรื่องที่เราจะต้องไปไปคุยกันในหน่วยราชการว่าทำยังไง

เมื่อระดับท้องถิ่นทำแล้วก็ต้องเสนอให้กับอำเภอหรือจังหวัดเพื่อเข้ามาช่วยเหลือ ใน (6) ตามาตราบอกว่าให้มีการสงเคราะห์ผู้ประสบภัยโดยทั่วถึงและโดยเร็ว อันนี้ก็แสดงว่าไม่จำเป็นต้องประกาศภัยพิบัติก็น่าจะช่วยได้ใช่ไหมครับ

ผมอ่านกฎหมายถึงไม่ใช่นักกฎหมายแต่ก็คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องที่เราน่าจะลองหยิบขึ้นมาดูว่าถ้ามีการเกิดเหตุแบบนี้ต้องมีการสร้างครัวกลางแต่หน่วยราชการบอกว่าต้องประกาศภัยพิบัติก่อนจริง ๆ ก็อาจจะไม่จำเป็นก็ได้ ก็เป็นเรื่องที่คิดว่าเรายังแสดงถึงความไม่พร้อมบางอย่างอยู่ แต่เราก็มีความพร้อมที่ภาคประชาชนก็ดำเนินการอะไรบ้างอย่างไปล่วงหน้าแล้วอันนี้ก็จะเป็นข้อสังเกตข้อที่หนึ่งนะครับ

ข้อสังเกตข้อที่สองที่อยากจะพูดถึงก็คือว่าทางมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทีมอาจารย์กนกวรรณ มะโนรมย์ ก็อยู่ที่คณะศิลปศาสตร์เหมือนกัน เราทำงานวิจัยร่วมกันโดยการสนับสนุนจาก สสส. ทำเสร็จเมื่อปี 2564 เป็นงานวิจัยชื่อว่า “การศึกษาเรื่องเล่าและประสบการณ์เกี่ยวกับผลกระทบอุทกภัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมสู่ความสามารถในการรับมือภัยพิบัติอย่างยั่งยืนในจังหวัดอุบลราชธานี” เราก็ศึกษาว่าเราจะรับมือกับภัยพิบัติอย่างยั่งยืนจะรับมืออย่างไร ก็อยากจะพูดแค่ว่าข้อเสนอที่เราเสนอกันหลังจากเสร็จงานวิจัยแล้วเราเสนออยู่ประมาณ 4-5 ข้อด้วยกัน ซึ่งก็อยากจะเอามาทบทวนว่าข้อนั้นทำหรือยังหรือว่ามันมีประเด็นอะไรที่เราอาจจะต้องมาคุยกันว่าเราจะดำเนินการอย่างไร

1. เราเสนอว่าถ้าจะแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืนได้เนี่ยจะต้องมีการจัดตั้งศูนย์จัดการภัยพิบัติระดับจังหวัดที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วมแต่นี่ดูเหมือนว่าอาจจะมีส่วนร่วมอยู่พอสมควร แต่ว่าตอนนี้เมื่อเกิดเหตุแล้วยังเหมือนว่าทำงานคู่ขนานกันอยู่บ้างอันนี้ไม่แน่ใจว่าการทำงานคู่ขนานเนี่ย ก็อาจจะเป็นโมเดลที่ดำเนินการได้ แต่ตอนนั้นเราคิดประมาณว่า เมื่อมีการเกิดเหตุแบบนี้น่าจะคุยกันให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างคนที่อยู่ในพื้นที่ คนที่อยู่ในชุมชน นักวิชาการ แล้วก็หน่วยราชการ เพราะว่ามันมันเป็นภารกิจที่ต้องทำร่วมกัน

2.จะต้องมีศูนย์วิชาการหรือมีการจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องน้ำท่วมโดยเอาประสบการณ์มาพัฒนาเชิงนโยบายให้มันให้มันไปข้างหน้าด้วยเรื่องนี้ก็สำคัญเพราะว่าที่ผ่านมาเมื่อเกิดเหตุแล้วมีฐานข้อมูลที่ชัดเจนอย่างเรื่องน้ำที่จะใช้ทำในเรื่องของการส่งไลน์ให้กับชุมชน คิดว่าเป็นสิ่งที่ดีเพราะว่าชาวบ้านเขาสามารถวิเคราะห์ได้เองว่าเหตการณ์จะเกิดอะไรขึ้นข้างหน้าไม่จำเป็นต้องรอการประกาศ แต่อันนี้ก็คิดว่าชาวบ้านมีประสบการณ์จากปี 2562 อยู่พอสมควรเพราะการคาดเดาก็คงมีเหตุผลอยู่พอสมควร

3.ต้องปฏิบัติตามหลัก 2P2R ก็คือมีการเตรียมความพร้อมการรับมือแล้วก็มีการฟื้นฟูป้องกัน ซึ่งก็ต้องมีแผนที่ชัดเจน แต่อันนี้ก็รู้สึกว่ายังยังยังไม่ดำเนินการเพราะอาจจะมีแผนระดับที่ที่ต่าง ๆ แต่ว่าพอมาบูรณาการกันอาจจะยังไม่มีที่ว่าเราจะลดความเสียหายที่เกิดขึ้นได้อย่างไร เห็นมีนโยบายอาจจะแก้ปัญหาระยะยาวคือคลองผันน้ำซึ่งก็เป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันอยู่พอสมควรว่าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมอย่างไร

4.การจัดเตรียมการน้ำท่วมในภาวะการระบาดของโควิด-19 ซึ่งก็เสนอไว้ว่าจะต้องมีการจัดการในการแบ่งกลุ่มคนที่อพยพหรือว่าได้รับผลกระทบเป็นกลุ่ม 608 เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเจ็ดโรคแล้วก็กลุ่มหญิงตั้งครรภ์อายุ 12 สัปดาห์ขึ้นไป อันนี้ก็คือน่าจะมีวิธีการดูแลคนเหล่านี้ให้ปลอดพ้นจากโควิด-19เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยง อันนี้ก็เป็นข้อเสนอที่เราได้เสนอไว้ว่าจะต้องมี เข้าใจว่าศูนย์อพยพที่ตั้งขึ้นมาก็ยังไม่มีการดำเนินการในการแบ่งโซนหรือจัดการเรื่องการรับบริจาค แต่ว่าก็โชคดีเพราะว่าปี 2562 ถ้าจำไม่ผิดน้ำจะท่วมในช่วงนี้ ก็จะเป็นช่วงที่น้ำเริ่มท่วมแล้ว วันที่ 9 กันยายน 2562 ท่านนายกประยุทธ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ก็มาเยี่ยมจังหวัดอุบลราชธานี ในตอนนั้นก็ถือว่าอาจจะเป็นเรื่องที่เราโชคดีที่ว่าตอนนี้ วันที่10 แล้วยังไม่มีน้ำท่วมขึ้นมาเหมือนกับปี2562 ก็จะไปท่วมช่วงปลายหรือช่วงไปถึงนี้ไปก็ได้หรือไม่ท่วมก็ได้ โชคดีแล้วก็เราน่าจะได้ถอดบทเรียนเอาสิ่งที่เราเคยคุยกันมาเตรียมความพร้อมต่อไป

ผมคิดว่าตอนนี้ถ้า มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจะทำอะไรได้ ณ วันนี้ก็คือคิดว่าเราเตรียมความพร้อมให้ดีที่สุดสำหรับสถานการณ์ไม่ว่าจะเกิดในปีนี้หรือไม่เกิดเพราะว่าถ้าไม่เกิดปีนี้ ปีหน้าก็อาจจะเกิดหรือปีต่อไปก็อาจจะเกิดขึ้นเพราะว่าภาวะโลกร้อนตอนนี้ก็รุนแรงหลายพื้นที่ก็น้ำท่วมอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แล้วก็เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ เพราะฉะนั้นยังไงก็คงต้องเตรียมพร้อมรับมือ คิดว่ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจะเข้ามาทำเรื่องเตรียมพร้อมในการรับมือน้ำท่วมในช่วงนี้ก็น่าจะแข็งขันมากขึ้น ส่วนการจะไปช่วยในกรณีที่เป็นจิตอาสาอันนี้ก็เป็นเรื่องที่ดำเนินการต่อไปในอนาคต

ความพร้อมด้านสาธารณสุขโจทย์เรื่องสุขภาพช่วงน้ำท่วม

สุชัย เจริญมุขยนันท์ : เห็นว่าทางโรงพยาบาลวารินชำราบแล้วก็เครือข่ายกู้ภัยต่าง ๆ มีการถอดบทเรียนตั้งแต่ปี 2562 เล่าให้ฟังได้ไหมครับถอดบทเรียนอะไร อย่างไรบ้าง

จิราวัฒน์ อมรไชย : ในส่วนของทางอำเภอวารินชำราบต้องบอกว่าเรารับน้ำท่วมกันมานาน แล้วก็รับทุกปีนะคะ ในปี2562 ต้องบอกว่าสาหัสมากเลย น้ำเข้ามาเร็วเราตั้งตัวไม่ทัน ทั้ง เครือข่ายในส่วนของโรงพยาบาลแล้วก็กู้ชีพกู้ภัย รวมทั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพของเราก็ถูกน้ำท่วม เราก็มีการขนย้ายแล้วก็ค่อนข้างสับสนกันมาก

หลังจากที่เราถอดบทเรียนเราก็เริ่มมีการเฝ้าระวังในส่วนของการดำเนินงานในส่วนของภาคสาธารณสุขต้องบอกว่าเราดำเนินงานผ่านทาง EOC โดยมีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเป็น EOC ใหญ่ของเราอยู่แล้ว ตั้งแต่สถานการณ์น้ำเข้ามาเราก็มีการรายงาน ตอนนี้ผู้รับผิดชอบในพื้นที่จะเป็นสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ เราแบ่งออกเป็น พื้นที่เฝ้าระวังกับพื้นที่น้ำท่วม ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันนี้ มีพื้นที่น้ำท่วม คือ วารินชำราบกับกลุ่มใหม่ที่อพยพขึ้นมา 184 ครัวเรือนเรียบร้อยแล้ว แล้วก็พื้นที่เฝ้าระวังหนองกินเพลกับคำน้ำแซบ

การรายงานของสาธารณสุขจะค่อนข้างเร็วเพราะว่าเรามี อสม. ในพื้นที่ เราจะรายงานเข้ามาว่ามันเกิดผลกระทบอะไรยังไง แล้วก็มีการรายงานทุกวัน  ปัญหาทาง​ EOC น้ำท่วมของอำเภอวารินชำราบ ข้อมูลนี้จะถูกอัพเดททุกวันแล้วเราจะรู้สถานการณ์ ข้อมูลนี้จากรายงานเข้าไปที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในส่วนของปัญหาที่เราพบในปี 2562 ก็คือพอน้ำมาเร็วมากเราไม่มีพื้นที่อพยพ พื้นที่อพยพเราไม่พอ ปีนี้เราก็ได้คุยกันไว้เบื้องต้นว่าเราจะเอาขึ้นมาไว้ตรงไหน มีทั้งพื้นที่อพยพในส่วนที่ทัวร์ประจำอย่างแถวหาดสวนสุข อันนี้ประชาชนเขาขึ้นลงกันทุกปีไม่มีปัญหาแต่ในปีที่ได้รับผลกระทบปี2562 ก็คือพื้นที่ใหม่ ทาง รพ.สต.ก็ได้มีการจัดเตรียมพื้นที่เรียบร้อยแล้ว

ปีนี้ 2565 เราก็ได้คุยกันว่าเราจะพยายามดูแลกลุ่มติดเตียงออกให้ได้ก่อน เพราะว่าถ้าออกกลางคืน จะมีปัญหา ซึ่งเครือข่ายที่เราคุยกันไว้เรียบร้อยแล้ว คือ มูลนิธิสว่างบูชาธรรม ตอนนี้มีเรือทั้งหมด 5 ลำ มีเครื่อง 4 เครื่อง พร้อมออกปฏิบัติการ 24 ชั่วโมง ในการกู้ชีพ หรือว่าเมื่อไหร่ ที่มีการร้องขอความช่วยเหลือก็สามารถร้องขอผ่าน 1669 ได้ ตรงนี้เราก็ได้เตรียมทีมไว้แล้ว และเบื้องต้นเรามีทีมกู้ภัยทางน้ำซึ่งมีการฝึกทีมอย่างสม่ำเสมอก็ให้มั่นใจได้

สื่อมวลชนและการเชื่อมโยงการทำงานในสถานการณ์ภัยพิบัติ

สุชัย เจริญมุขยนันท์ : การสื่อสารเป็นอีกเรื่องที่สำคัญทางไทยพีบีเอสเอง อยู่ดีมีแฮง คิดยังไงถึงได้ร่วมกับพวกเราในการไลฟ์พูดคุยกันในครั้งนี้

วลัยลักษณ์ ชมโนนสูง : เพราะว่าเท่าที่ตามข้อมูลตั้งแต่ตอนต้นปีมีข้อมูลว่าเป็นปีที่เป็นลานิญา โดยอาจารย์วิษณุ อรรถวานิช ที่มหาลัยเกษตรศาสตร์ บอกว่าปีนี้ เป็น “ปีเปียก” อาจารย์ใช้คำนี้ เพราะฉะนั้น ฝนจะมากกว่าปกติ ถ้าเราสังเกตเนี่ยตั้งแต่ต้นปีจนถึงตอนนี้เรายังไม่มีพายุใหญ่ ๆ แบบชัด ๆ เข้ามาอีสานกันเลยนะคะ แต่เราพบว่ามันมีฝนตกที่เป็นเกิดจากร่องมรสุมมาค่ะ แล้วก็มีฝนปริมาณมากเนี่ยก็เลยทำให้รู้สึกว่า เอ๊ะ มีประสบการณ์ตอนนั้นเนี่ย แล้วก็มีกลุ่มทำงานกับทางพี่ ๆ อยู่แล้วเนี่ยก็เลยใช้โซเชียลมีเดียเนี่ย นัดกันว่าเราจะเตรียมการหรือไม่อย่างไรบ้าง

แล้วก็พอเราลองทำงานกับสื่อพลเมือง อุบลราชธานีก็มีศักยภาพ ทั้ง มีประสบการณ์ตรงเมื่อปี 62  มีคณะทำงานเหมือนพี่ ๆ ไล่เรียงมา มีสถาบันการศึกษา มีสื่อท้องถิ่นอย่างวันนี้นอกจาก อุบลคอนเนค ก็ยังมีวารินชำราบบ้านเฮา วีอาร์เคเบิลนะคะ ศูนย์น้ำมิตร ที่กำลังทำงานร่วมกันหรือแม้แต่อยู่ดีมีแฮง แล้วก็เราได้รับความร่วมมือจากไทยพีบีเอสเพจใหญ่นะคะช่วยแชร์ไลฟ์ให้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสะท้อนว่าการรู้ข้อมูลข่าวสาร การเตรียมรับมือแล้วก็รู้ในพื้นที่จำเป็นอย่างมาก ทั้งหมดทั้งมวลเนี่ยเพื่อที่จะป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น แล้วก็เห็นชัดเจนว่าปีนี้มีความเข้มแข็ง

สุชัย เจริญมุขยนันท์ : ประเทศไทยไม่ใช่กรุงเทพฯ นะครับ เราจะมีข่าวแต่กรุงเทพฯ ก็ไม่ใช่ ขอขอบคุณสื่อไทยพีบีเอสเป็นสื่อสาธารณะ อย่างแท้จริงที่มาปลุกว่าคนอุบลก็ควรจะได้สื่อสารกันเองแล้วก็ได้เรียนรู้ร่วมกันจากบทเรียนของปี 62 ด้วยนะครับ

อุบลฯต้องเตรียมพร้อม

สุชัย เจริญมุขยนันท์ : ฟังจากพวกเราคนอุบลทั้งหมดแล้วเนี่ย พี่ไมตรีคิดว่าควรจะเติมเต็มอะไรหรือจะเชื่อมโยงอะไรบ้างครับ ให้การเตรียมตัวครั้งนี้ของเราได้เข้มแข็ง แล้วก็มีประสิทธิภาพครับ

ไมตรี จงไกรจักร : ขอบคุณทุกท่านนะครับที่ทำให้ได้เรียนรู้ไปด้วยกัน ผมอยากจะแนะนำเพิ่มเติม สิ่งแรกก็คือในเชิงนโยบาย ก็คือว่ามันมีกฎหมาย ซึ่งกฎหมายจะมี 3 ระยะ

ระยะที่หนึ่ง ว่าต้องประกาศเพื่อเตรียมการป้องกันแต่ละจังหวัดใหม่ ถ้าจังหวัดไม่ประกาศเตรียมการป้องกันท้องถิ่นก็จะทำ สตง. จะเล่น มันจะประกาศ จังหวะที่หนึ่งได้เตรียมการป้องกันตามพรบ อันเนี้ยถ้าเกิดจะใช้งบจังหวัดใช้ได้ไม่เกินสิบล้านครับ

ระยะที่สอง ถ้าไม่ประกาศการที่เราจะไปทำโรงครัวก่อน นี่ก็ไม่ได้เลยนะครับโดยหลักการ แต่ว่าชาวบ้านทำได้ แต่ถ้าท้องถิ่นประกาศก่อนไม่มีการป้องกันก็ทำไมไม่ได้ ทีนี้ถ้าจะทำในท้องถิ่น ถามว่าทำได้ไหม ที่จริงทำได้ครับ ถ้าท้องถิ่นประกาศเอง แต่ต้องเข้าสภาด้วย มันก็จะมีระเบียบอะไรเยอะแยะมากมาย ที่ สตง.จะเข้ามาเหมือนกัน และยิ่งกระแสท้องถิ่นจะโกงก็เลยเป็นปัญหา ท้องถิ่นก็เลยกลัว แต่ว่าในเชิงนโยบาย ในอนาคตถ้าท้องถิ่นสามารถออกข้อบัญญัติท้องถิ่นของตนเองได้ มันก็จะทำให้เขาทำงานง่าย สตง.ก็เล่นไม่ได้ เพราะมีกฎหมายเอื้ออยู่ แต่ข้อบัญญัติท้องถิ่นยังไม่มี มันก็เลยยังไม่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างอิสระอย่างเต็มที่ ซึ่งท้องถิ่นเหล่านี้ยังเป็นปัญหา เท่าที่เราได้คุยกับ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น มันมีข้อจำกัดนี้อยู่

สุชัย เจริญมุขยนันท : ข้อบัญญัติท้องถิ่นจะเริ่มได้ยังไงครับ

ไมตรี จงไกรจักร์ : จริง ๆ ก็คือ ท้องถิ่นต้องจัดรับฟังความเห็นของประชาชน  สอง เมื่อรับฟังความเห็นแล้ว ก็ต้องเอาเรื่องเข้าทำร่าง เหมือนว่าประชาชนอยากให้มี แต่ถ้าท้องถิ่นไม่สนใจก็จะเป็นปัญหา พอทำร่างขึ้นมาก็รับฟังความเห็นร่างนั้นอีกที และเอาเข้าสภาด้วยนายกท้องถิ่น หรือนายกเทศฯ ผ่านแล้ว ก็ประกาศใช้ เราพยายามทำเรื่องนี้ให้ท้องถิ่นขยับเรื่องนี้ แต่ท้องถิ่นหลายคนก็เห็นด้วยที่พร้อมจะเดินหน้า มันก็จะทำงานง่ายขึ้น

ทีนี้ถ้าไม่ประกาศเตรียมการป้องกัน ก็ประกาศภัยพิบัติก็สามารถดำเนินการได้ ซึ่งเราจะใช้งบประมาณได้ปกติครั้ง 20 ล้าน จะเบิกกี่ครั้งก็ได้ ถ้าหมด 20 ล้าน ก็ขอเพิ่ม

ระยะที่สาม คือประกาศการช่วยเหลือฟื้นฟู ก็ต้องประกาศอีกรอบหนึ่งครับ ประกาศให้การช่วยเหลือประชาชน เพราะฉะนั้นการประกาศถ้าประกาศอันแรกได้ หรือถ้าประกาศอันที่สอง ก็ต้องประกาศอันที่สามด้วย เพราะการประกาศมันก็จะมีระเบียบขั้นตอนการปฏิบัติอยู่ ซึ่งมันต้องทำความเข้าใจพอสมควร อันนี้คือส่วนแรกที่จะพูดถึง

ขอบคุณภาพ : ศูนย์น้ำมิตร Centre

2565 ท่วมแน่ แต่จะมากหรือน้อยต้องคอยลุ้น

ไมตรี จงไกรจักร์ : ส่วนที่สองผมคิดว่า เท่าที่เราพยายามติดตามข้อมูลข้อข่าวสารและคุยกับนักวิชาการ ยังไงก็ท่วมครับปีนี้ แต่จะท่วมมากน้อยแค่ไหน ทีนี้ในส่วนต่อมาการใช้แผนป้องกันสาธารณภัย มันมีแผนที่ดีอยู่พอสมควร แต่ประชาชนไม่ค่อยรู้ว่าแผนราชการ เขาเขียนไว้ว่าอย่างไร เพราะมันขาดการมีส่วนร่วมตั้งแต่การทำแผนแล้วครับ แล้วไม่เกิดการประชาพิจารณ์แผนด้วย อันนี้เป็นข้อจำกัดที่มันเกิดขึ้น

เมื่อครู่ทางโรงพยาบาลบอกว่าจะจัดตั้งศูนย์แล้วให้คนมารายงานตัวในหลักกฎหมายมันไม่สามารถตั้งได้ ยกเว้นท้องถิ่นหรือจังหวัด เพราะว่าในกฎหมายบอกว่าองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องให้ทุกหน่วย ในท้องถิ่นเนี่ยเข้ามารายงานตัว แต่ถ้าหน่วยงานอื่นไม่มีสิทธิในเชิงกฎหมาย นายอำเภอทำได้ จังหวัดทำได้ เพราะฉะนั้นถ้าจะให้หน่วยงานตั้งอย่างน้อยต้องมีนายอำเภอเป็นคนตั้ง เพราะเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องที่เราต้องทำความเข้าใจมันด้วย เพราะฉะนั้นถ้าเขาให้มารายงานตัว แต่ไม่มีกฎหมายอาจเกิดปัญหาในระยะยาวได้

อีกส่วนหนึ่งผมคิดว่าการที่ประชาชนตื่นตัวลุกขึ้นมา ผมว่าเราต้องทำให้สังคมเห็นคุณค่า เพราะฉะนั้นการที่เราทำเวทีพูดคุยวันนี้ หรือเราจะสื่อสารมันจะช่วยเสริมพลังให้กับชุมชนมีความมั่นใจว่า สิ่งที่เขาทำอยู่มันมีคนเห็น เพราะฉะนั้นการที่จะรอรัฐมันมีข้อจำกัดอย่างมาก

แต่ว่าถ้าเราช่วยกันสื่อสารซึ่งไม่ใช่ว่าแค่สื่อสารอย่างเดียว อย่างที่เราพูดว่ามีการตั้งศูนย์ เราก็ควรทำให้เป็นระบบบอกการจัดการให้ชัดเลย พร้อมทั้งเลขบัญชีที่จะระดมทุนก็ได้ รวมไปถึงเผยแพร่ไปเลยก็ได้ว่าเรามีเรืออยู่ เราต้องการระดมเครื่อง ใครอยากจะสมทบเครื่องเรือให้กับเราทำแผนไปให้ชัดเลย ขาดเหลืออะไรตรงไหน ถ้าเราสื่อสารไปให้ชัดมันก็จะช่วยเสริมพลังได้ ทีนี้องค์กรมูลนิธิที่จะมาช่วยส่งเสริมก็จะสามารถส่งเสริมได้ รวมถึงเชื่อมโยงกับภาคีเครือข่ายอื่น ๆ ด้วยครับ

สุชัย เจริญมุขยนันท : กฎหมายนี้ตกลงเอามาเพื่อสนับสนุนหรือมาเป็นอุปสรรคไม่ทราบนะครับ ดูเหมือนว่าจะเป็นอุปสรรคไปหมดเลย เพราะว่ามีอะไรต่าง ๆ แต่ว่าเขาก็เพื่อการป้องกันการทุจริตนะครับ แต่ว่าป้องกันไปป้องกันมาก็ไม่สามารถที่จะทำให้มีอำนวยความสะดวกในการแก้ไขภัยพิบัติให้ประชาชนได้

ไมตรี จงไกรจักร์ : กฎหมายฉบับนี้ เป็นกฎหมายเพื่อการใช้อำนาจใช้งบประมาณครับ หมายถึงว่าให้อำนาจกับผู้อำนวยการจัดการ ภัยพิบัติ เช่น ผู้ว่าฯ นายอำเภอหรือผู้บริหารท้องถิ่น แต่ไม่ได้ส่งเสริมชุมชน เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราทำก็คือว่า เรากำลังเสนอเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหากฎหมายฉบับนี้ ให้เป็นการส่งเสริมชุมชน เมื่อเกิดภัยพิบัติให้ท้องถิ่นได้มีอำนาจเต็มที่ ไม่ใช่ว่านั่งรอผู้ว่าฯ หรือนั่งรอกฎหมาย ที่ใช้อำนาจอย่างเดียว อันนี้เป็นข้อจำกัดที่เราสรุปกันมานานแล้วครับ ว่ากฎหมายฉบับนี้ มีเพื่อการใช้อำนาจเท่านั้นไม่ได้มีเพื่อส่งเสริมชุมชนครับ

สุชัย เจริญมุขยนันท : เช่นนั้นตามที่ อ่าน พ.ร.บ. ให้ดูแล้วว่าจริง ๆ แล้วเราทำได้ คุณไมตรีก็ตกผลึกแล้วใช่ไหมครับกับประชาชนว่าจริง ๆ แล้วมันไม่ได้ต้องประกาศก่อน แต่ต้องประกาศลูกเดียวเลย ถึงจะสามารถที่จะทำอะไรต่อได้ ถ้าไม่ประกาศภัยพิบัติก็จบข่าว ต่างคนต่างช่วยเหลือกันเองใช่ไหม

ไมตรี จงไกรจักร์ : จริง ๆ แล้วมันมีบอกว่าถ้าคาดว่าจะเกิดภัยพิบัติ ก็มีการป้องกันเตรียมตัวยับยั้ง เพราะฉะนั้นผู้ว่าฯ ต้องอ่านวรรคแรกและประกาศเป็นพื้นที่เตรียมการป้องกัน หรือเทศบาลต้องประกาศ แต่ถ้าทุกคนไม่ประกาศ เดี๋ยว สตง.ก็ต้องเรียกเงินคืนครับ เพราะฉะนั้นเขาต้องเข้าใจกัน เพราะผมทำงานติดตามเรื่องภัยพิบัติมากว่า 18 ปี เกาะติดกฎหมายฉบับนี้กว่า 15 ปี แล้วก็วิเคราะห์กัน ถกเถียงกันแล้วก็แก้กฎหมายกันประมาณนี้

คนอุบลฯ พร้อมไหม #รับมือภัยน้ำท่วม ?

คำตอบของคำถามจากภาคประชาชนจากวงโสเหล่ออนไลน์เมื่อช่วงเย็นของวันศุกร์ที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าจะยืนยันตอบรับอย่างมั่นใจ หรืออาจจะเป็นการตกกระไดพลอยโจนตามสถานการณ์ว่า “พร้อมหรือไม่พร้อมก็ต้องพร้อม ?” เพราะนาทีนี้ชีวิตประชาชนรอคอยความช่วยเหลืออย่างเดียวไม่ได้ จำเป็นต้องเตรียมรับมือเพื่อลดผลกระทบจากความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ถึงกระนั้นความพร้อมของภาคประชาชนยังจำเป็นต้องได้รับการหนุนเสริมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามบทบาทหน้าที่ของรัฐที่ควรต้องทำ และการสนับสนุนเพิ่มเติมจากทุกภาคส่วน เพื่อลดผลกระทบจากน้ำท่วม โดยใช้ต้นทุนจากประสบการณ์การเผชิญภัยพิบัติเมื่อปี 2562  และทุนทางสังคมของชุมชนเพื่อเตรียมรับมือและก้าวข้ามภัยพิบัติน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้น

ขอบคุณภาพ : ศูนย์น้ำมิตร Centre
ขอบคุณภาพ : ศูนย์น้ำมิตร Centre

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ