3 ทศวรรษ โขง ชี มูล คำถามถึงบทเรียนการจัดการน้ำอีสาน

3 ทศวรรษ โขง ชี มูล คำถามถึงบทเรียนการจัดการน้ำอีสาน

12 กันยายน 2565 เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน นักวิชาการ และภาคประชาสังคม ร่วมกันจัดงาน 3 ทศวรรษ โขง ชี มูล : บทเรียนการจัดการน้ำขนาดใหญ่ของรัฐที่ล้มเหลว ณ สมาคมคนทาม บริเวณเขื่อนราษีไศล อําเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ระหว่างวันที่ 12 – 13 กันยายน 2565 เพื่อเสนอทางเลือกการจัดการน้ำและสร้างพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันของเครือข่ายภาคประชาชน แลกเปลี่ยนเรียนรู้บทเรียน ถกเถียง และวิพากษ์กระบวนการนโยบายและการขับเคลื่อนโครงการในแง่มุม ต่าง ๆ เพื่อแสวงหาแนวทางแก้ไขและป้องกันปัญหาในระดับพื้นที่พร้อมผลักดันข้อเสนอให้เกิดแรงกระเพื่อมต่อการเปลี่ยนแปลงแนวทางการบริหารจัดการน้ำในระดับนโยบายที่เป็นธรรม

3 ทศวรรษ โขง ชี มูล  

ที่มาของกิจกรรมครั้งนี้ เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน ระบุว่า“โขง ชี มูล” เป็นโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ของรัฐบาลไทยเมื่อราว 30 ปีก่อน ที่พยายามนําเสนอภาพฝันของการขจัดปัญหาความแห้งแล้งในภาคอีสานแบบถาวร โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความแห้งแล้งในพื้นที่สําคัญอย่างลุ่มน้ำชี-ลุ่มน้ำมูล แต่เวลาที่ล่วงเลยมาถึงปัจจุบัน โครงการนี้กลับยังคงถูกผู้คนจากหลายแวดวงกล่าวถึงวิพากษ์วิจารณ์ และถูกใช้เป็นภาพแทนของโครงการพัฒนาที่ล้มเหลวเพื่ออธิบายถึงจุดจบในทํานองเดียวกันของโครงการจัดการน้ำที่เกิดขึ้นในยุคหลัง คําถามสําคัญคือทําไมสิ่งเหล่านี้ยังคงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างไม่รู้จักจบสิ้น ?

“การเคลื่อนไหวของโครงการ โขง ชี มูล เกิดขึ้นในราวปี 2530 โดยกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ได้ทําการศึกษาเบื้องต้น (Desk Study) โครงการ ตามด้วยการเสนอโครงการเข้าบรรจุในแผนงานของโครงการน้ำพระทัยจากในหลวง เพื่อพัฒนาภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ ตามแนวพระราชดําริในปี 2531 แต่โครงการได้รับการสนับสนุนเพียงงบสํารวจและเก็บ รวบรวมข้อมูลเท่านั้น ทําให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ต้องออกแรงผลักดันโครงการให้ คณะรัฐมนตรีที่กําลังประชุมสัญจรอยู่ที่จังหวัดขอนแก่นพิจารณาอีกครั้งในปี 2532 ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติให้ ดําเนินโครงการได้ภายใต้วงเงิน 18,000 ล้านบาท จากนั้นกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานจึงเริ่มทําการศึกษา ความเหมาะสมของโครงการจนกระทั่งแล้วเสร็จในปี 2535 โดยผลการศึกษาพยายามนําเสนอให้เห็นถึงศักยภาพเชิงเทคนิคของโครงการ และสามารถเพิ่มปริมาณน้ำให้พื้นที่การเกษตรได้สูงถึง 4.9 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 15 จังหวัดในภาคอีสาน มีแนวทางการบริหารจัดการน้ำ 2 แนวทางหลัก คือ การผันน้ำจากแม่น้ำโขง เข้ามายังลุ่มน้ำชี-ลุ่มน้ำมูล และการบริหารจัดการน้ำภายในพื้นที่ลุ่มน้ำเป้าหมายภายในประเทศ ส่วนการดําเนินโครงการถูกแบ่งออกเป็น 3 ระยะ รวมเวลาทั้งสิ้น 42 ปี

ระยะพัฒนาที่ 1 เริ่มดําเนินการในปี 2535- 2544 แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน มีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 2.3 ล้านไร่ ระยะพัฒนาที่ 2 กําหนดเวลาดําเนินงาน 16 ปี เริ่มในปี 2544 แบ่งเป็น 4 ขั้นตอน มีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 1.6 ล้านไร่ ระยะพัฒนา ที่ 3 มีแผนพัฒนาในปี 2560 รวมเวลาดําเนินการ 17 ปี มีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 0.9 ล้านไร่ ต่อมา กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานได้เสนอผลการศึกษาโครงการพร้อมขอทบทวนแผนดําเนินโครงการใหม่ต่อคณะรัฐมนตรี โดยขอปรับลดแผนดําเนินงานที่ออกแบบไว้ในช่วงก่อนหน้าให้เหลือเพียงแผนพัฒนาระยะที่ 1 รวม 32 โครงการย่อย มีเป้าหมายส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูก 2.3 ล้านไร่ ในวงเงินงบประมาณ 39,500 ล้านบาท

โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติในปี 2537 เห็นชอบในหลักการตามแผนในระยะที่ 1 แต่ให้ดําเนินการได้เฉพาะใน ขั้นตอนที่ 2 ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบชลประทานและบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเป้าหมายภายในประเทศก่อน ประกอบด้วยการก่อสร้างฝายและระบบชลประทานในลุ่มน้ำชี-ลุ่มน้ำมูล และลําน้ำสาขา รวม 13 โครงการย่อย ครอบคลุมพื้นที่จังหวัด อุดรธานี ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และหนองคาย อันได้แก่ 1.โครงการฝายกุมภวาปี 2.โครงการฝายชนบท 3.โครงการฝายมหาสารคาม(คุยเชือก) 4.โครงการฝายวังยาง 5.โครงการฝายยโสธร-พนมไพร (คูฟ้า) 6.โครงการฝายธาตุน้อย 7.โครงการฝายชุมพวง 8.โครงการฝายบ้านเขว้า 9.โครงการฝายตะลุง 10.โครงการ ฝายราษีไศล 11.โครงการฝายฝายหัวนา 12.โครงการฝายลําโดมใหญ่ 13.โครงการฝายลําเซบก และโครงการ พัฒนาระบบชลประทานรอบอ่างเก็บน้ำห้วยหลวงอีก 1 โครงการ รวมเป็น 14 โครงการย่อย มีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 525,592 ไร่ รวมวงเงินงบประมาณ 10,346 ล้านบาท

ส่วนการพัฒนาโครงการในขั้นตอนที่ 1 และขั้นตอนที่ 3 ตามแผนในระยะที่ 1 ที่เกี่ยวข้องกับการวางระบบผันน้ำในแม่น้ําโขงเข้ามาเพิ่มเติมในพื้นที่ลุ่มน้ำเป้าหมาย คณะรัฐมนตรีมีมติให้ชะลอไว้ก่อนและมอบหมายให้กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานกลับไปศึกษาความเหมาะสมใหม่อีกครั้ง”

คำถามถึงภาพฝันกับความจริง โขง ชี มูล

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน ยังต้องข้อสังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบจากการดำเนินการโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคอีสาน โขง ชี มูล ว่า ส่งผลกระทบต่อวิถีชุมชนในพื้นที่

“จากวันนั้นจวบจนวันนี้โครงการ โขง ชี มูล เดินทางผ่านกาลเวลายาวมานานกว่า 3 ทศวรรษ ภาพฝันกับความจริงกลับคลาดเคลื่อนไม่เป็นไปตามที่ผู้มีอํานาจกล่าวอ้างไว้ ทุกพื้นที่ที่มีการดําเนินโครงการประชาชนได้รับความเดือดเนื้อร้อนใจกันอย่างถ้วนหน้า ทั้งการถูกอพยพโยกย้ายออกจากถิ่นพํานักเดิม การสูญเสียที่ดินทํากิน น้ำท่วมพื้นที่ทําการเกษตร การสูญเสียอาชีพประมงพื้นบ้าน การพังทลายของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะการหายไปของพันธุ์ปลา พันธุ์พืชท้องถิ่น ดินเค็ม แพร่กระจาย และความเสียหายของสมบัติชุมชน สิ่งเหล่านี้ล้วนสั่นคลอนวิถีชีวิต ระบบสิทธิ และความมั่นคงใน การดํารงชีพของชาวบ้านอย่างไพศาลในหลายพื้นที่ เช่น อุดรธานี ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ ชาวบ้านรุ่นแล้วรุ่นเล่า ยังคงตกอยู่ในวังวนของการต่อสู้เรียกร้องเงินค่าชดเชยความเสียหายและการฟื้นฟูระบบนิเวศจากรัฐอย่างหนัก หน่วง ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเกิดการตั้งคําถามจากผู้คนหลายฝักฝ่ายต่อความคุ้มค่าของโครงการใน หลายมิติ ความหละหลวมของกฎหมายและการบังคับใช้ที่เป็นธรรม โดยเฉพาะการจัดทํารายงานการวิเคราะห์ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)ที่ขาดความสมบูรณ์ตามที่กฎหมายกําหนด ตลอดจนอํานาจการมีส่วนร่วมใน กระบวนการกําหนดนโยบายและการตัดสินใจโครงการของชาวบ้านในพื้นที่”

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสานจึงมีการจัดเวที การถอดบทเรียน 30 ปี ความล้มเหลวของโครงการบริหารจัดการน้ำ โขง ชี มูล เพื่อเปิดพื้นที่ให้เครือข่ายชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ นักพัฒนา นักวิชาการ และสื่อมวลชนที่เกาะติดชิดใกล้สถานการณ์ปัญหาได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้บทเรียน ถกเถียง และวิพากษ์กระบวนการนโยบายและการขับเคลื่อนโครงการในแง่มุม ต่าง ๆ เพื่อแสวงหาลู่ทางสําหรับแก้ไขและป้องกันปัญหาในระดับพื้นที่ และผลักดันข้อเสนอให้เกิดแรง กระเพื่อมต่อการเปลี่ยนแปลงแนวทางการบริหารจัดการน้ำในระดับนโยบายที่เป็นธรรมต่อไป ในระหว่างวันที่ 12 –13 กันยายน 2565 โดยภายในงานจะมีเสวนาเวทีเสวนา “3 ทศวรรษ โขง ชี มูล บทเรียนการจัดการ น้ำขนาดใหญ่ของรัฐที่ล้มเหลว”  วงโสเหล่ เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน “เบิ่งแยงถาม ข่าวไทลุ่มน้ำนำกันเด้อ”  และเวทีแลกเลี่ยน ทิศทางขบวนการทํางานร่วมกันของ เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ