อยู่ดีมีแฮง : แม่น้ำชีสะอื้น เมื่อมนุษย์เข้าควบคุมธรรมชาติ

อยู่ดีมีแฮง : แม่น้ำชีสะอื้น เมื่อมนุษย์เข้าควบคุมธรรมชาติ

“ปิดหม่องผีท่องน้ำเทียวมันขะลำ” คือคำเปรียบเปรยของคนอีสานโบราณเพื่อสอนว่า  หากมนุษย์ไปเปลี่ยนแปลงธรรมชาติจะนำไปสู่หายนะ  เช่นเดียวกับการปิดทางน้ำไหลที่กำลังนำคนลุ่มน้ำชีไปสู่หายนะอยู่ในขณะนี้

ภาพการลอยคอเกี่ยวข้าวของชาวนาลุ่มน้ำชีเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา สะท้อนถึงปัญหาการบริหารจัดการน้ำที่ล้มเหลวของมนุษย์ที่อาสาควบคุมปริมาณการไหลของน้ำแทนธรรมชาติที่เคยทำมานับพันนับหมื่นปี แต่งานนี้ ลานีญา กลับตกเป็นผู้ร้ายข้อหาทำให้น้ำท่วมนา ซึ่งออกจะแปลกสักหน่อยที่ปรากฎการณ์ธรรมชาตินี้ก็เกิดขึ้นบ่อย ๆ มาตั้งนานแล้ว แต่น้ำเพิ่งมาท่วมหลังเขื่อนกั้นแม่น้ำชีหลายแห่งสร้างเสร็จ

อยู่ดีมีแฮงมีโอกาสไปคุยกับพ่อนิมิต หาระพันธ์ เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีจังหวัดยโสธร ถึงความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำชีตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน  และทำไมน้ำท่วมหนักบริเวณลุ่มน้ำชี

“แม่น้ำชีเป็นแม่น้ำธรรมชาติที่พี่น้องพึ่งพาอาศัยมัน เคยถามผู้เฒ่าผู้แก่ว่าทำไมถึงอพยพมาอยู่ที่นี่ พวกท่านบอกว่าเพราะ “ออนซอน” (ชื่นชอบ) ที่มีปลาเยอะ ฝั่งซ้ายและฝั่งขวาก็จะมีสายน้ำย่อยอีกที่เรียกว่าชีน้อย ชีเฒ่า ชีหลง กุด  หนอง วัง ก็เยอะ เพราะฉะนั้นจะหาพื้นที่ที่มีสภาพอุดมสมบูรณ์เหมือนตรงนี้ได้ยากมาก แม่น้ำชีมีความคดโค้งมากเลยทำให้มีปลาเยอะ”

ความคดโค้งของแม่น้ำชีคือสภาพธรรมชาติของแม่น้ำที่ไหลในพื้นราบ มันเป็นตัวชะลอความเร็วของแม่น้ำให้ลดลงด้วยการเพิ่มระยะทางด้วยการโค้งไปโค้งมา ส่งผลให้แม่น้ำชีจากจุดกำเนิดที่จังหวัดชัยภูมิไหลมาบรรจบกับแม่น้ำมูลที่บ้านวังยาง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี  มีความยาวถึง 765 กิโลเมตร กลายเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในประเทศไทย

ความอุดมสมบูรณ์ของเขตลุ่มน้ำชีก็เกิดจากความคดโค้งของมันนี้เอง แม่น้ำสายนี้ได้สร้าง “กุด” ขึ้นมามากมาย คำว่ากุดมีที่มาจากความคดโค้งของแม่น้ำมีมากเกินไป โดยธรรมชาติแล้วกระแสน้ำมีการกัดเซาะดินไปเรื่อย ๆ ทำให้โค้งของแม่น้ำยาวออกไปเรื่อย ๆ จนมีรูปร่างไม่เหมือนเดิมในทุกปี หากโค้งมันยืดออกไปมากน้ำปริมาณมหาศาลจะหาทางไปให้เร็วขึ้นโดยการลัดโค้งจนเกิดเป็นเส้นทางน้ำใหม่ เมื่อน้ำลดโค้งเดิมก็จะถูดตัดขาดและห่างเส้นทางน้ำใหม่ออกไปเรื่อย ๆ ตรงที่เคยเป็นเส้นทางน้ำก็จะกุดลง ๆ จนเป็นแหล่งน้ำใหม่เลยเรียกว่ากุด

กุดส่วนใหญ่จะมีปลาเยอะ เพราะช่วงหน้าฝนน้ำจะท่วมมาถึงกุด ปลาตามมามาอาศัยอยู่ในนั้นด้วย เมื่อน้ำลดลงไปแต่ปลายังถูกขังอยู่ที่นี่ ชาวบ้านจึงมักออกไปหาปลาตามกุดเพราะหาได้ง่ายและมีปลาชุกชุมกว่าในแม่น้ำ 

“พูดไปก็เหมือนเล่านิทาน สมัยก่อนอยากกินปลาอะไรก็หาได้ง่าย ๆ เครื่องมือจับสัตว์ก็มีไม่เยอะถึงขนาดว่าตั้งหม้อไว้แล้วค่อยลงไปหาก็ได้ เท่าที่จำความได้ก่อน พ.ศ. 2520 คนที่นี่จะไม่รู้จักคำว่าหาปลาขาย เพราะเราหาแค่มากินหรือถ้าได้มากก็ทำปลาร้าไว้กินในวันหน้า  ซึ่งถ้าปีไหนน้ำท่วมมากก็จะหาปลาได้มาก แล้วเราก็เอามาทำปลาร้าไว้แลกข้าวเปลือกกับหมู่บ้านที่อยู่โคกที่เขามีข้าวแต่ไม่มีปลา”

“สมัยก่อนเครื่องมือหากินจะมีแค่ แห ลอบ ไซและต้อน (แผงไม้ไผ่สานเป็นผืนนำมาปักเป็นแนวเพื่อบังคับทิศทางปลาให้ไปลงลอบที่ดักไว้) สมัยนั้นได้ปลาอย่างเป็นล่ำเป็นสันจากการลงต้อน การลงต้อนจะไปกันเป็นทีมในช่วงที่น้ำเริ่มลด ทำเลที่ดีคือบริเวณที่เป็นสันเนินซึ่งน้ำจะตื้นก็เอาแผงไม้ไผ่ไปปักเป็นแนวแล้วใส่ลอบดักไว้ตรงปลายทาง ปลามันก็จะหาทางลง ได้เต็มลอบ”

นอกจากกุดแล้วแม่น้ำชียังมีทาม ทามก็คือที่ราบริมลำน้ำซึ่งน้ำจะท่วมขังในฤดูน้ำหลาก คนส่วนหนึ่งเห็นว่าทามเป็นพื้นที่ราบสามารถปลูกพืชได้  จึงจับจองทำเป็นที่นาเรียกว่า “นาทาม”

“ถ้าใครมีนาทามก็จะลำบากหน่อยเพราะน้ำท่วมบ่อยแต่ถ้าท่วมไม่นานก็ไม่เสียหายอะไร  ต้นข้าวมันทนได้ แต่ข้อดีคือนาทามนี้ข้าวจะงามมากเพราะมันพัดพาธาตุอาหารมาจากหลายจังหวัดจนมีคำกล่าวของคนโบราณบอกว่า ทำนาทามถ้าน้ำไม่ท่วมมันรู้สึกไม่ “ส่วง” (คลี่คลาย) เพราะถ้าน้ำท่วมก็ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยใด ๆ แล้วข้าวนาทามสมัยก่อนก็ไม่ตายง่าย ๆ ส่วนน้ำก็ขึ้นแค่ 5-6 วันก็ลดแล้ว เป็นอยู่อย่างนี้ปีละ 5-6 ครั้ง แต่หากปีไหนน้ำท่วมหนัก ๆ จนต้นข้าวเสียหาย คนสมัยนั้นก็จะทำนาแซง (คือการปลูกข้าวริมแม่น้ำหลังจากน้ำลด) ซึ่งหากเทียบกับปัจจุบันก็คล้ายกับทำนาปรัง แตกต่างกันตรงที่นาแซงไม่ต้องลงทุนมาก  ลงแต่แรงกับพันธุ์ข้าวเท่านั้น”

ไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้  ชาวบ้านไม่สามารถทำได้ทั้งนาทามและนาแซง  เนื่องจากนาทามถูกน้ำท่วมนานเกินไป  และน้ำในแม่น้ำชีไม่ลดระดับเลย  จึงไม่สามารถปลูกข้าวริมน้ำได้หลังจากการสร้างเขื่อน

“ทีแรกเขาประกาศว่าจะสร้างฝายยางชาวบ้านก็ไม่ได้สนใจอะไรเพราะคิดว่าเป็นแค่ฝายยางเล็ก ๆ หลังจากเขาสร้างเสร็จแล้วค่อยตื่นตัวเพราะสมัยก่อนน้ำก็ท่วมเหมือนกันแต่มาไวไปไวชาวบ้านก็ไม่ได้ตกใจ แต่ช่วงหลังมานี้ น้ำมันมาแค่ 3 วันแต่ท่วมแช่อยู่ 3 เดือน ข้าวก็ตายหมดไม่มีอะไรเหลือ” 

ช่วงนั้นชาวบ้านรู้เพียงแค่ว่าจะมีการก่อสร้างฝายยางในลุ่มน้ำชี  แต่เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2543 กลับไม่ใช่ฝายยางเล็ก ๆ อย่างที่เข้าใจ  มันกลายเป็นเขื่อนคอนกรีตขนาดใหญ่ มีประตูระบายน้ำเปิด-ปิดทุกเขื่อน  นั่นคือผลผลิตจากโครงการโขง-ชี-มูล เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ของรัฐบาล  มีแผนก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำชีจำนวน 6 แห่ง ประกอบด้วย เขื่อนชนบท เขื่อนคุยเชือก เขื่อนวังยาง เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย โดยกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

“หลังจากที่นาปีเสียหายอย่างสิ้นเชิง ทางออกของชาวบ้านก็คือทำนาปรัง เพราะโครงการที่รัฐทำก็มุ่งไปที่นาปรังอยู่แล้วแต่ปัญหาของพื้นที่เราคือมันอยู่ในจุดที่ไม่มีน้ำ อยู่ช่วงปลายของของระบบชลประทานนี้ เมื่อชาวบ้านทำนาปรังก็เจอปัญหาน้ำไม่เพียงพอต้องแย่งน้ำกันอีก และนาปรังยังลงทุนเยอะหากปีไหนข้าวไม่เป็นราคาก็เจ๊งไปตาม ๆ กัน”

เครือข่ายลุ่มน้ำชีตอนล่าง จ.ร้อยเอ็ด-ยโสธร  ได้เรียกร้องไปยังรัฐบาลถึงผลกระทบที่เกิดจากการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำชี  ตั้งแต่ปี 2553 ก่อนหน้านั้นก็ได้ใช้นับเวลา 10 ปีคือตั้งแต่ปี 2543 ในการรวมตัวของพี่น้องที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งมีข้อเสนอให้รัฐบาลได้หันมอง คือ 1.ความเปลี่ยนแปลงด้านวิถีชีวิตที่ชาวบ้านมีอาชีพทำนาเป็นหลัก แต่ปัจจุบันการทำนาต้องอยู่บนความเสี่ยงว่าน้ำจะท่วมหรือไม่ท่วมในแต่ละปี เพราะมีเขื่อนกั้นแม่น้ำชี 2.ความเปลี่ยนแปลงด้านสังคม วัฒนธรรม 3.ความเปลี่ยนแปลงด้านระบบนิเวศ

“ปัจจุบันถือว่าอาการหนักแล้วกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ มันจะส่งผลถึงลูกหลานในภายภาคหน้าพวกเขาจะอยู่กันอย่างไร นี่คือโจทย์ใหญ่ของคนลุ่มน้ำชี ซึ่งปัจจุบันก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างบ้างแล้ว  เริ่มมีการตั้งคณะอนุกรรมการมาดูแลเรื่องนี้แล้ว ซึ่งผมมองว่าการแก้ปัญหาเรื่องน้ำจริง ๆ แล้วต้องคำนึงถึงธรรมชาติดั้งเดิมของมัน เพราะในฤดูแล้งจริง ๆ น้ำมันไม่เยอะ พอมาสร้างสิ่งก่อสร้างเพื่อกักเก็บน้ำแต่ไม่มีระบบควบคุมน้ำให้เหมือนกลไกธรรมชาติ เช่น  ธรรมชาติมีกุดที่เป็นแอ่งน้ำพอฝนมาน้ำก็ท่วมแอ่งนี้  ปลาก็ย้ายที่อยู่อาศัยได้อย่างอิสระ แต่เมื่อมีการสร้างฝายเป็นตอน ๆ ก็เหมือนแม่น้ำถูกตัดขาดเป็นท่อน ๆ ปลาไม่สามารถย้ายไปวางไข่ที่อื่นได้ พอน้ำนิ่งก็มีวัชพืชขึ้นเกิดปัญหาใหม่ตามมาอีก ทำให้เป็นวังวนของปัญหานี้ไปเรื่อย ๆ เพราะแก้ไม่ตรงจุด พื้นที่ทามน้ำต้องท่วม แต่จะทำอย่างไรให้มันท่วมเหมือนในอดีตตอนที่ยังไม่มีการสร้างฝายหรือเขื่อน เรื่องนี้คิดว่าน่าจะยังพอเป็นไปได้อยู่ถ้ามีกลไกมาช่วยกันศึกษาและช่วยกันขยับ และสิ่งสำคัญคือการสร้างความเข้าใจในระดับพื้นที่ระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับพี่น้องประชาชน  ทั้งหมดต้องหันหน้าคุยกัน”

ความเปลี่ยนแปลงของคนลุ่มน้ำชีวันนี้เริ่มเห็นชัดแล้ว  หลายครอบครัวเริ่มทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดออกไปเสาะแสวงหาพื้นที่เลี้ยงตัวแห่งใหม่โดยเฉพาะตามเมืองใหญ่ ความหวังที่จะให้คนรุ่นใหม่กลับบ้าน  กลับมาพัฒนาบ้านเกิดให้เจริญรุ่งเรื่องอาจกลายเป็นความหวังลม ๆ แล้ง ๆ เพราะเมื่อเขากลับมาแล้วต้องมาเผชิญปัญหาที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกบอกใครก็เงียบไปแบบนี้ คงไม่มีอะไรที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้เขากลับมาอีกต่อไป เราได้แต่หวังว่ามนุษย์จะตัวเสียทีว่า เราไม่อาจต่อกรกับธรรมชาติได้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ