ฟังเสียงประเทศไทย I “ส่องซอด” ภัยพิบัติลุ่มน้ำชี ณ มหาสารคาม

ฟังเสียงประเทศไทย I “ส่องซอด” ภัยพิบัติลุ่มน้ำชี ณ มหาสารคาม

เรียบเรียง : นาตยา สิมภา

ฟังเสียงประเทศไทย ยังคงออกเดินทางในทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อร่วมรับฟังเสียงของผู้คนด้วยหัวใจที่เปิดรับ เพื่อให้มีข้อมูลที่รอบด้านและหวังจะร่วมหาทางออกจากโจทย์ความท้าทายของผู้คนในแต่ละพื้นที่

ครั้งนี้รายการฟังเสียงประเทศไทย Next normal เดินทางมาถึงพิกัดที่ 10 แล้ว ณ ศาลาอเนกประสงค์ริมแม่น้ำชี บ้านท่าขอนยางหมู่ที่ 2 อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม และเพื่อให้ทุกคนได้ฟังกันอย่างใคร่ครวญ ได้ไตร่ตรอง ฟังโดยไม่ตัดสิน และชวนรับฟัง แลกเปลี่ยนถึงการมีส่วนร่วมออกแบบ “การรับมือและแก้โจทย์ภัยพิบัติลุ่มน้ำชี” ที่อาจจะเกิดขึ้นผ่านการจัดวงคุยภายใต้แนวคิด  Citizen Dialogues ประชาชนสนทนา

เราเชื่อว่าการเดินทางทุกครั้งหัวใจของการมาเจอคือได้มา “ฟัง” แลกเปลี่ยนข้อมูล ได้รู้ในสิ่งที่ยังไม่เคยรู้ หรือได้เติมข้อมูลให้กัน และนำมาคิดไปข้างหน้า เพื่อร่วมออกแบบภาพอนาคต โอกาสและข้อท้าทายมาเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจมากขึ้น รายการยังมีข้อมูลพื้นฐาน โอกาสและข้อท้าทายจากพื้นที่ลุ่มน้ำชีตำบลท่าขอนยาง เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ภาพรวมเพิ่มมากขึ้น

มหาสารคาม เมืองตักสิลานคร

จังหวัดมหาสารคาม เป็นศูนย์กลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (สะดืออีสาน) ตั้งอยู่บริเวณตอนกลางภาคอีสาน มีพื้นที่กว่า 3 ล้าน 3 แสนไร่ เป็นลำดับที่ 14 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเป็นลำดับที่ 41 ของประเทศ

จังหวัดมหาสารคาม อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครโดยทางรถยนต์ ประมาณ 475 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง รวม 8 จังหวัด คือ ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดกาฬสินธุ ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดบุรีรัมย์  ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดกาฬสินธุ์ ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดบุรีรัมย์

ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเมื่อปี 2554 ระบุว่ามีพื้นที่เสี่ยงภัยถูกน้ำท่วม 4 อำเภอ คือ โกสุมพิสัย เชียงยืน กันทรวิชัย และ เมืองมหาสารคาม คิดเป็นร้อยละ 10.31 ของพื้นที่ทั้งหมด และสำนักงานป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยจังหวัดมหาสารคาม ระบุข้อมูลพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ปี 2556- 2565 รวม 13 อำเภอ 129 ตำบล 1,955 หมู่บ้านและแผนที่เสี่ยงภัยแล้ง ปี 2557- 2562 รวม 13 อำเภอ 133 ตำบล 1,974 หมู่บ้าน

เทศบาลตำบลท่าขอนยาง

เทศบาลตำบลท่าขอนยาง ตั้งอยู่ด้านทิศใต้ของอำเภอกันทรวิชัย มี 15 หมู่บ้าน มีพื้นที่ทั้งหมด 24,263 ไร่ เป็นพื้นที่การเกษตร 17,560 ไร่ /ที่อยู่อาศัย 1,917 ไร่ และที่สาธารณประโยชน์ และอื่นๆ 4,786 ไร่ เป็นที่ราบลุ่ม ไม่มีภูเขา มีแม่น้ำชีไหลผ่านกั้นเป็นเขตแดนกับ อ.เมืองมหาสารคามประมาณ 30 กิโลเมตร แหล่งน้ำธรรมชาติ ในพื้นที่ ได้แก่ แม่น้ำชี ห้วยสายคลอ ห้วยวังเลิง ชีหลงเหนือ ชีหลงใต้ กุดน้ำใส และหนองตีนบ้าน

ข้อมูล ณ มีนาคม 2562 มีจำนวนประชากร 8,724 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม รองลงมาคือค้าขาย รับราชการ และรับจ้าง มีการประกอบการพาณิชยกรรม กว่า 1,000 แห่ง 1,056 แห่ง โดยสูงสุด คือ หอพัก  336 แห่ง รองลงมา คือ ร้านค้า/มินิมาร์ท  295 แห่ง และอาคารพาณิชย์ให้เช่า  119 แห่ง

มีที่ตั้งอยู่ติดกับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งถือกำเนิดมาจากวิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคาม เมื่อปี 2511 และจัดตั้งเมื่อปี 2537  ทำให้เกิดการขยายตัวของชุมชนในทุกด้าน มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง และมีโอกาสทางธุรกิจจากผู้ประกอบการต่าง ๆ ในอนาคต มีแม่น้ำและลำห้วยขนาดใหญ่ คือ แม่น้ำชี และลำห้วยสายคลอ ที่มีความสำคัญในการทำเกษตรกรรม มีสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า 4 สถานี สามารถทำนาได้ 2 ครั้งต่อปี เกษตรกรที่อาศัยอยู่ตามแนวของแม่น้ำชีสามารถทำประมงได้

ในรอบ 44 ปี น้ำท่วมหนัก

ปี 2565 จ.มหาสารคาม ประสบน้ำท่วมหนักในรอบ 44 ปี ในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม 4 อำเภอ  คือ โกสุมพิสัย กันทรวิชัย เมืองมหาสารคาม เชียงยืน 46 ตำบล 557 หมู่บ้าน 5 ชุมชน หมู่บ้านถูกตัดขาด 14 ตำบล 71 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 13,565 ครัวเรือน 41,769 คน เสียชีวิต 9 คน ความเสียหายด้านพืช กว่า 222,786.5 ไร่  เกษตรกร 20,625 ราย ความเสียหายด้านประมง 59 ไร่  เกษตรกร 53 ราย

ชุมชนตลอดริมแม่น้ำชี จ.มหาสารคาม จะรับน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ที่ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำพอง มาบรรจบกับลำน้ำชีในพื้นที่ ต.บึงเนียม อ.เมืองขอนแก่น

วันที่ 29 กันยายน 2565 เกิดเหตุพนังกั้นน้ำชีขาดที่ บ้านเลิงใต้ อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม  เมื่อวันที่2 ตุลาคม 2565 เขื่อนอุบลรัตน์ ปรับเพิ่มการระบายน้ำ ตั้งแต่ 25 – 35 ล้าน ลบ.ม./วัน และเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2565 ปรับเป็น 50.00 ล้าน ลบ.ม./วัน โดยในพื้นที่ตำบลท่าขอนยาง แม่น้ำชีจะไหลผ่าน 7 หมู่บ้าน คือ หมู่ 3 / หมู่ 2 /หมู่ 4 /หมู่ 6 / หมู่ 10 / หมู่ 14 และ หมู่ 5

ความถี่และความรุนแรงของภัยพิบัติ ทั้งน้ำท่วมหรือภาวะแล้ง ที่ส่งผลต่อคนลุ่มน้ำในภาคอีสาน โดยเฉพาะแม่น้ำชี นับเป็นโจทย์ใหญ่และโอกาสที่หลายฝ่ายจะเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ในการป้องกันและลดความสูญเสียต่อชีวิต ทรัพย์สิน และวิถีชุมชน ซึ่งจำเป็นต้อง “ส่องซอด” มองให้ทะลุไปด้วยกัน ทำให้ เครือข่ายภาคประชาสังคม นิสิต นักศึกษาที่เป็นประชากรแฝงในแต่ละปีจำนวนหลายหมื่นคนค่ะ /สถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการภาคเอกชน และหน่วยงานในท้องถิ่น พร้อมกับทีมงานฟังเสียงประเทศไทยพา เพื่อชวนมอง “ส่องซอด” ถึงการเตรียมรับมือภัยพิบัติในพื้นที่ลุ่มน้ำชีที่อาจจะมีความถี่และความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในอนาคต จาก บ้านท่าขอนยาง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ทางรายการจึงได้ประมวลฉากทัศน์หรือภาพอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นมาเพียง 3 แบบ เพื่อให้วงสนทนาได้พูดคุย ถึง การรับมือและแก้โจทย์ภัยพิบัติลุ่มน้ำชี” 

ที่อยู่อาศัย การเดินทาง ความลำบากเมื่อตอนน้ำท่วมสูง รวมไปถึงปัจจัยที่ทำให้น้ำท่วม คือ สิ่งที่จะนำไปสู่ฉากทัศน์ ภาพอนาคตที่หลากหลายเพื่อให้วงสนทนาได้แลกเปลี่ยนอย่างมีส่วนร่วม

ฉากทัศน์คนเล็กสู้โลก ตั้งรับปรับตัวระดับชุมชน

•  ภาคชุมชน ภาคประชาชนเห็นร่วมกันว่า ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เกิดจากผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change ) ถือเป็นสถานการณ์ร่วมของประชาคมโลก ที่ยากจะควบคุม สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือ ชุมชนเตรียมการรับมือและแก้โจทย์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยใช้ชุดประสบการณ์ของชุมชน วางระบบแจ้งเตือนเหตุการณ์เฉพาะหน้าและเผชิญเหตุในระยะสั้น แต่ในเบื้องต้นทั้งนี้จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้และเครื่องมือ อุปกรณ์ จากสถาบันการ ศึกษา ภาครัฐและภาคประชาชนเพื่อให้สามารถรับมือภัยพิบัติที่อาจจะมีความถี่และรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

ฉากทัศน์ รวมกันเราอยู่ บูรณาการรัฐท้องถิ่น

•      หน่วยงานรัฐในท้องถิ่นเป็นกำลังหลักบูรณาการทำงานร่วมกันในแนวระนาบ มีแผนเผชิญเหตุและรับมือภัยพิบัติแล้งและน้ำท่วมอย่างเป็นรูปธรรมในระดับพื้นที่ ก้าวข้ามข้อจำกัดระเบียบการดำเนินงานเพื่อลดผลกระทบและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน อาจต้องได้ใช้เวลานานในการพิจารณาแก้ไขระเบียบข้อบังคับตามขั้นตอน เพื่อให้เกิดความคล่องตัว ต้องมีการสนับสนุนงบประมาณอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องมือจากรัฐส่วนกลาง และเชื่อมการต่อการทำงานร่วมกับภาคเอกชน เพื่อให้เตรียมป้องกัน รับมือเมื่อเกิดเหตุ และฟื้นฟูชุมชนได้อย่างรวดเร็ว  

ฉากทัศน์ C  จากต้นจนปลาย จัดการน้ำแบบองค์รวม

•      นักจัดการเขื่อน หน่วยงานองค์กร นักวิชาการ เอกชน และและภาคประชาสังคม ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบในรูปแบบใหม่ ทั้งก่อนเกิดเหตุ ขณะเผชิญเหตุ และการฟื้นฟูเยียวยา ซึ่งคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนในลุ่มน้ำเป็นหลัก ด้วยการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศในการดำเนินงาน แจ้งเตือน เฝ้าระวัง และตัดสินใจ ซึ่งปัจจุบันยังกระจัดกระจาย ทำให้การรับมือด้อยประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีแผนเตรียมรับภัยพิบัติในภาพรวมเชื่อมโยงทั้งลุ่มน้ำอีสาน โขง ชี มูล ไม่มองการจัดการน้ำแยกส่วน อาจต้องใช้กฎหมาย ระเบียบข้อบังคับที่เข้มข้น

นอกจากข้อมูลพื้นฐาน แผนพัฒนาและศักยภาพของจังหวัดมหาสารคามที่รวบรวมมาแบ่งปันแล้ว ยังมีข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติมจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 ฉากทัศน์มาให้ร่วมตัดสินใจ โดย คุณกมล หอมกลิ่น ผู้อำนวยการมูลนิธิสื่อสร้างสุข เป็นผู้ดำเนินวงเสวนา เพราะเราเชื่อว่าหากทุกคนได้รับข้อมูลอย่างรอบด้าน ได้พูดคุยและรับฟังกันอย่างเข้าใจจะนำไปสู่การออกแบบภาพอนาคตได้เพราะเสียงของทุกคนมีความหมาย

  ข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติมฉากทัศน์ A  

คนเล็กสู้โลก ตั้งรับปรับตัวระดับชุมชน

วัชระ ไชยราช ผู้ใหญ่บ้านท่าขอนยาง หมู่ที่ 4 อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม

“บ้านท่าขอนยางเราเป็นเมืองท่าเมืองตั้งรับ รับน้ำมาจากเขื่อนอุบลรัตน์และชัยภูมิ การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เราก็ช่วยเหลือกันเองโดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่ช่วยกัน สำคัญที่สุดจากคำถามที่บอกว่า ถ้าพูดถึงน้ำท่วมสารคามนึกถึงอะไร ผมคิดถึงความเสียหายทั้งระบบ ชีวิต ทรัพย์สิน เกษตรและปศุสัตว์ ซึ่งพื้นที่เราเป็นพื้นที่เศรษฐกิจเสียหายหมด น้ำท่วมเรามีการแจ้งเตือนภัยก่อน เรารู้ก่อน 1 สัปดาห์ก่อนน้ำจะมาเพราะผู้นำแต่ละหมู่บ้านมีการวัดระดับน้ำทุกวันทั้ง เช้า-เย็น ในช่วงที่น้ำหลาก โดยนายอำเภอกันทรวิชัยได้กระตุ้นให้ผู้นำทุกหมู่บ้านที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมจะท่วมให้ช่วยเหลือพี่น้องชาวบ้านให้เต็มที่ ถ้าเรายอมรับสภาพว่าเราสู้ไม่ไหวเพราะปีนี้น้ำเยอะมาก เราก็ต้องมาดูทิศทางของการเยียวยา

สำคัญที่สุดคือผมคิดว่าพ่อแม่พี่น้องชาว ต.ท่าขอนยางหรือแม้กระทั่งน้อง ๆ นิสิตนักศึกษาที่มาอาศัย มาเรียนในพื้นที่ซึ่งแต่ละคนมีจิตอาสาที่จะช่วยกันป้องกันรับมือกับมวลน้ำ ผมคิดว่าปีหน้าน้ำจะท่วมอีกแน่ ๆ  เหมือนกันบ้านพ่อสี ก็ท่วมเหมือนเดิม แต่เราจะทำอย่างไรที่จะรับมือได้ อุปกรณ์สิ่งของต่าง ๆ ที่หน่วยงานราชการและภาคเอกชนที่มอบให้เรา แต่ติดอยู่ที่กรอบของหน่วยงานราชการและพื้นที่ในการดูแลประชาชนไม่แน่ชัด ซึ่งผมอยากให้เอาความเดือนร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบเป็นที่ตั้ง แก้ไขกฎระเบียบที่ทำให้การดำเนินงานของระบบราชการให้สามารถช่วยผู้ที่เดือนร้อนได้เร็วขึ้น

ส่วนสำคัญอีกอย่างคือการปลุกกระแสจิตสำนึก จิตอาสาของชาวบ้าน น้อง ๆ นิสิต ให้ร่วมด้วยช่วยกัน ซึ่งที่ผ่านมาบ้านท่าขอนยางพอน้ำท่วมแล้วก็รับสภาพเหมือนกัน การช่วยเหลือที่เข้ามาในพื้นที่บางบ้านไม่สามารถทำอาหารเองได้เราก็มีหน่วยกลางคือครัวกลางที่ทางมหาวิทยาลัยก็ดูแลนิสิตที่ติดเกาะ ก็ทำอาหารมาส่ง ผู้นำชุมชนก็มีอาหารไปแจกจ่ายให้ชาวบ้านแต่ก็ยังไม่พอเพราะน้ำท่วมไม่ต่ำกว่า 2 เดือน”

ข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติมฉากทัศน์ B

รวมกันเราอยู่ บูรณาการรัฐท้องถิ่น

ว่าที่ร้อยตรี ดร.รังสรรค์ ชินภักดี สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดมหาสารคาม

“จังหวัดมหาสารคามเราก็จะมีข้อเด่นคือหน่วยงานราชการทุกภาคส่วนก็จะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้เร็วโดยการบูรณาการทั้งภาครัฐภาคเอกชนนะครับ ซึ่งเราจะเห็นว่าเมื่อเกิดสถานการณ์ขึ้นกำลังทางทหารแล้วก็จิตอาสาและปภ. ก็จะเข้าไปตามพื้นที่ ซึ่งปีนี้เรามีเหตุการณ์ทั้ง 4 อำเภอ เราต้องมีการกระจายกำลังคนลงครับไม่ว่าจะเป็นบุคลากรภาครัฐ ภาคเอกชนแล้วก็มูลนิธิที่เข้ามาช่วยเราทั้งเรื่องของเรือ หน่วยเคลื่อนที่เร็ว โรงครัวแล้วก็หน่วยผลิตน้ำดื่มอีกอย่างก็คือเป็นเรื่องของห้องสุขาเคลื่อนที่ ก็จะช่วยลงพื้นที่ให้พี่น้องประชาชนทั้ง 4 อำเภอ

ทางส่วนกลางก็มองเห็นว่ากำลังภาครัฐมีน้อย ผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ท่านอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แล้วก็ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดก็จะมีการประชุมติดตามสถานการณ์ทุกวันว่าอำเภอไหน ตำบลใดที่มีปัญหาอะไรบ้างที่ทางภาครัฐหรือหน่วยงานบูรณาการจะพยายามที่จะดึงกำลังไปช่วยอย่างเช่นว่า อ.กันทรวิชัย ต.ท่าขอนยาง ก็จะเป็นทั้งการสูบน้ำด้วย ทั้งหาสะพานแบรี่ด้วย อย่างเช่นหนองตีนบ้านเขาจะมีการจัดจุดอพยพ แล้วก็จังหวัดก็มีการเปิดศูนย์พักพิงสำหรับผู้ที่ต้องการที่จะไปพัก มีปัญหาเรื่องที่พักแล้วก็จะมีจำนวนหนึ่งที่เข้าไปพักในเมือง ก็จะเป็นปัญหาที่เราเจอทุกปี ปีที่แล้วก็เจอปีนี้ก็เจอแต่ภาครัฐก็มีการถอดบทเรียนว่า ทำอย่างไรพี่น้องประชาชนในพื้นที่มหาสารคามจะปรับตัวแล้วก็จะร่วมมือในการที่จะขับเคลื่อนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งปีนี้ก็เป็นปีที่หนัก อย่างที่เราทราบคือ 44 ปี

ปี 2521 น้ำท่วมหนักแต่ปีนี้คือทำลายสถิติเลยคือปีนี้น้ำท่วมมากกว่าปี 2521 ถึง 50 เซนติเมตรจากวัดระดับ ก็ถือว่าหนักพอสมควรที่เราเจอศึกสองด้าน ไม่ว่าจะเป็นทางชัยภูมิแล้วก็เขื่อนอุบลรัตน์ ตอนนี้ทางภาครัฐก็พยายามที่จะแก้ระเบียบให้มันมีความคล่องตัวขึ้น โดยถ้าเราติดขัดเรื่องระเบียบกระทรวงการคลังเราก็มีการแก้ไขปัญหาเรื่องระเบียบกระทรวงมหาดไทยเพิ่มให้ท้องถิ่นสามารถที่จะแอคชันในพื้นที่ให้เร็วขึ้น ทั้งเรื่องงบประมาณทั้งเรื่องคนแล้วก็พิจารณาการช่วยเหลือให้ทุกรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นด้านการดำรงชีพ ด้านการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแม้แต่ญาติที่เสียชีวิตก็จะมีเรื่องของเงินที่จะช่วยเยียวยาจะสามารถยกเพิ่มเติมให้อันนี้ก็เป็นความเดือดร้อนที่เรามองเห็นทุกปีซึ่งปีหน้าก็เราอาจจะได้เจอสถานการณ์อุทกภัยอีกครั้งหนึ่ง แต่ปีนี้เราก็ยังถอดบทเรียนว่าอันไหนที่เป็นปัญหาเราจะแอคชันในพื้นที่ได้ช้าเราก็จะปรับหรือพยายามที่จะปรับให้มีความคล่องตัวครับ

ปัญหาเรื่องระเบียบหรือว่าสิ่งที่เราจะแก้ไขร่วมกันภาครัฐนั้นไม่สามารถทำงานได้คนเดียวเพราะเรากำลังน้อยมากเลย งบประมาณก็น้อยลง กำลังคนก็น้อยลง ทั้งเกษียณด้วยทั้งมีการปรับระบบราชการใหม่ เราต้องอาศัยภาคเอกชนก็คือพวกมูลนิธิต่างๆแล้วก็สิ่งสำคัญก็คือชาวบ้าน จิตอาสาที่จะเข้ามาช่วยเหลือพวกเราให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้นสิ่งนี้ครับที่เราจะทำให้การแก้ปัญหาแล้วก็เคารพธรรมชาติได้ดี อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้แล้วก็สามารถที่จะแก้ไขปัญหาให้เร็วขึ้นนี่คือภาครัฐที่จะช่วยพวกเราครับ”

ข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติมฉากทัศน์ C

จากต้นจนปลาย จัดการน้ำแบบองค์รวม

ผศ. ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.มหาสารคาม

“ผมมีข้อเสนอก็คือว่าเราจะต้องจัดการตั้งแต่ต้นน้ำ เขื่อนทุกเขื่อนในลุ่มน้ำชีจะต้องมีแผนเผชิญเหตุฉุกเฉินทางสิ่งแวดล้อม เพื่อที่จะมีการบริหารจัดการน้ำไม่ให้กระทบต่อคนที่อยู่ท้ายน้ำ นอกจากนั้นมันยังมีโครงการที่อยู่ตลอดลำน้ำคือพนังกั้นน้ำ ผมคิดว่าพนังกั้นน้ำเป็นสายสำคัญที่ทำให้เกิดน้ำท่วมด้วย ด้านหนึ่งเราคิดว่าช่วยป้องกันน้ำท่วมแต่ผนังกันน้าเนี่ยมันบีบน้ำลงมาท่วมทางตอนล่างเพราะเรามีพนังกั้นน้ำทำตอนบนคือโกสุมพิสัยแม่น้ำชีก็เลยเหมือนซุปเปอร์ไฮเวย์แล้วก็ลงมาที่นี่ ใต้เราลงไปก็ยังมีพนังกั้นน้ำอีก แล้วยังมีเขื่อนมหาสารคามหรือฝ่ายข้างล่างอีกตัวหนึ่ง ซึ่งจริงๆแล้วเขื่อนนี้ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร ควรจะเปิดประตูระบายน้ำตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ท่าขอนยางก็จะถูกน้ำท่วมน้อยลง

ประการที่สองจะต้องมีแผนเผชิญเหตุอุทกภัยตามพรบป้องกันและบรรเทาสาร ซึ่งอันนี้ก็เป็นหน้าที่ของปภ.และจังหวัด ซึ่งหลายจังหวัดมีแต่ในอีสานเราผมยังไม่เห็นว่าที่ไหนมี ถ้าเรามีแผนนี้มันจะช่วยในการบริหารระดมและบริหารทรัพยากรที่ดี เราจะรู้ว่าทรัพยากรอยู่ตรงไหน ใครรับผิดชอบอะไร มีตั้งแต่แจ้งเตือนล่วงหน้า 120 ชั่วโมงไม่ใช่น้ำมาถึงแล้วแจ้งเตือนอันนั้นไม่ใช่แจ้งเตือนนะครับ มีการระดมคนและทรัพยากรมากู้ภัยระหว่างที่เกิดน้ำท่วมสองเดือนเรือจะมาจากไหน ใครรับผิดชอบต้องมีหมด รวมถึงงบประมาณที่มีจะต้องจัดตั้งจัดไว้และก็มีการฟื้นฟูและเยียวยาทุกจังหวัดจะต้องขาย นอกจากนั้นเนี่ย อปท.ทุกอปท.เช่นเทศบาลตำบล องค์การบริหารส่วนตำบลก็ควรที่จะมีแผนเผชิญเหตุอุทกภัย

ประการที่สามแผนเผชิญเหตุอุทกภัยชุมชนเองก็สามารถที่จะทำได้ด้วยนะถ้าเราทำทุกระดับอย่างนี้ ตั้งแต่จังหวัดต้องเป็นตัวเริ่มต้นนะผมคิดว่าเราก็จะช่วยในการรับมือกับภัยพิบัติ และอีกประการหนึ่งผมอยากจะฝากพวกเราก็คือในเรื่องของการพัฒนาในลุ่มน้ำชีเนี่ย เราจะต้องมองในเรื่องของผังเมืองด้วย ผังเมืองจะต้องวางเพื่อที่จะให้มันสอดคล้องกับสภาพทางภูมิศาสตร์เราจะไม่ไปตั้งบ้านเรือนหรือหมู่บ้านในพื้นที่รับน้ำ เช่นทางตอนบน ขอนแก่นจะต้องไม่ไปสร้างหมู่บ้านจัดสรรในพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งมันต้องรับน้ำไม่ให้มันไหลลงมาท่วมข้างล่างอย่างรวดเร็ว แล้วก็ในระยะยาวเราจะต้องคิดถึงแผนการพัฒนาในอีสานที่เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ผมคิดว่าการทำนาเนี่ยเนี่ยมันช่วยเก็บน้ำได้ แต่ถ้าคุณเปลี่ยนนาเป็นไร่อ้อยเมื่อไหร่คันนาไม่มีเก็บน้ำไม่ได้ น้ำก็ไหลลงมาอย่างรวดเร็วแล้วไหลมาท่วมเราด้วย

ฟังด้วยหัวใจที่เปิดรับ ส่งเสียงแลกเปลี่ยนด้วยข้อมูลที่รอบด้าน

แม้จะมีความเห็นที่หลากหลาย แต่การฟังข้อมูลอย่างรอบด้านคือหัวใจในการสนทนาโสเหล่ในครั้งนี้ และนี่เป็นเพียง 3 ฉากทัศน์ท่ามกลางฉากทัศน์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้มากมายหรือบางครั้งก็อาจจะเกินกว่าจินตนาการได้

นอกจากผลกระทบต่อคนในชุมชนแล้ว  /จ.มหาสารคาม ยังมีนิสิต นักศึกษาที่เป็นประชากรแฝงในแต่ละปีจำนวนหลายหมื่นคนค่ะ /สถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการภาคเอกชน และหน่วยงานในท้องถิ่น จึงมีส่วนสำคัญที่จะร่วมกันเตรียมรับมือภัยพิบัติ ซึ่งชุมชนหวังเอาไว้ค่ะว่า อยากจะให้เกิดเป็น “ท่าขอนยางโมเดล” สามารถติดตามรายการเพิ่มเติมและร่วมโหวตเลือกฉากทัศน์หรือแสดงความเห็นเพิ่มเติมได้ที่ www.thecitizen.plus หรือร่วมเสนอประเด็นเพื่อให้เกิดเวทีฟังเสียงประเทศไทยกับไทยพีบีเอส และเรื่องราวในอีสานกับแฟนเพจอยู่ดีมีแฮง

เราหวังว่านี่จะเป็นอีกพื้นที่ ที่ “เสียง”ของประชาชนจะไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่จะออกแบบและจัดการตามข้อเสนอที่ผ่านการร่วมกันคิด ร่วมกันตัดสินใจ แบบ “ปัญญารวมหมู่”

ร่วมโหวตฉากทัศน์ “ส่องซอด” ภัยพิบัติลุ่มน้ำชี ณ มหาสารคาม

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ