เปิดบลูพรินท์แก้ฝุ่นโดยภาคประชาชน

เปิดบลูพรินท์แก้ฝุ่นโดยภาคประชาชน

เปิดบลูพรินท์วาระแห่งชาติ 6 แนวคิด แก้ฝุ่นจากภาคประชาชนเสนอต่อรัฐ สภาลมหายใจ 9 จว.เหนือ ชี้รัฐต้องปรับกระบวนทัศน์สู่การบริหารจัดการอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อก้าวให้พ้นวังวนฝุ่นควัน

วันที่ 8 กันยายน 2565 เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ 9 จังหวัด ประกอบด้วย สภาลมหายใจแม่ฮ่องสอน สภาลมหายใจเชียงใหม่ สภาลมหายใจลำพูน สภาลมหายใจเชียงราย สภาลมหายใจลำปาง ชมรมอากาศดีที่เมืองแพร่ สภาลมหายใจพะเยา เครือข่ายรักษ์อากาศน่าน และสภาลมหายใจตาก ร่วมกันแบ่งปันการดำเนินการแก้ฝุ่นควันในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาซึ่งต่างมีอิสระในการผลักดันตามบริบทพื้นที่ แต่มารวมกันเพื่อผลักดันมาตรการและนโยบายระดับภาค โดยในงานมีการร่วมกันแถลงเรียกร้องให้รัฐบาลปรับกระบวนทัศน์ และยกระดับการแก้ปัญหามลพิษอากาศจากฝุ่นควัน pm2.5 อย่างจริงจัง

นายภาณุพงศ์ ไชยวรรณ์ ประธานสภาลมหายใจลำพูน ตัวแทนแถลงว่า ฤดูแล้งที่ผ่านมา เกิดฝุ่นควันและไฟน้อยกว่าปีก่อนหน้า เนื่องจากปัจจัยสภาพภูมิอากาศมีฝนตกจากภาวะลานีญ่าเป็นสำคัญ ขณะที่การบริการจัดการแก้ไขปัญหา เครือข่ายฯ พบว่า มีความจำเป็น ต้องยกระดับปรับปรุงชุดมาตรการแก้ปัญหามลพิษอากาศจากฝุ่นควัน pm2.5 ตามวาระแห่งชาติด้านฝุ่นละอองที่ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 เพราะไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและสภาพปัญหาของภาคเหนือ ใช้ตัวชี้วัดที่ไม่สะท้อนและไม่ครอบคลุม มุ่งเน้นที่การบังคับห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ชุดมาตรการ zero burning ซึ่งไม่ได้ผลจริงในทางปฏิบัติ

ทั้งนี้ เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ ร่วมกันสังเคราะห์และปรับปรุงและยกระดับจากวาระแห่งชาติด้านฝุ่นละออง เป็นรายงานข้อเสนอเพื่อยกระดับการแก้ปัญหามลพิษฝุ่นควันภาคเหนือ หรือเรียกสั้นๆ ว่า “บลูพรินท์” โดยจะนำเสนอต่อรัฐบาลในทุกช่องทางนับจากนี้ หวังว่าจะนำไปสู่การนำไปปรับปรุงยกระดับนโยบายและมาตรการต่อไป

สำหรับชุดข้อเสนอตาม “บลูพรินท์” จัดทำขึ้นตามหลักแนวคิด 6 ประการคือ 1.บริหารจัดการสาเหตุตามบริบทภูมิสังคม (แทนการห้ามเผาเด็ดขาด) 2.หลักความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม 3.หลักสุขภาพประชาชนเป็นตัวตั้ง 4.เปิดการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นแกน 5.การเข้าถึงอากาศสะอาดเป็นสิทธิพื้นฐานที่รัฐต้องคุ้มครอง 6.ประสิทธิภาพการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ (เอาพื้นที่ปัญหาเป็นตัวตั้งไม่ใช่เขตอำนาจปกครองหรืออำนาจหน่วยงานตามกฎหมาย)

โดยเมื่อแปลงข้อเสนอสู่มาตรการเชิงปฏิบัติ เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือหวังจะเห็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ อาทิเช่น หน่วยงานรัฐต้องแจ้งล่วงหน้าต่อสาธารณะว่าจะดำเนินการบริหารเชื้อเพลิง (ชิงเผา) ในพื้นที่ใด เวลาใด เช่นเดียวกับแปลงชิงเผาของประชาชน หน่วยงานรัฐมีมาตรการป้องกันสุขภาวะเชิงรุกเช่นการจัดเตรียมเครื่องฟอกอากาศให้ผู้ด้อยโอกาส ผู้ป่วยยืมไปใช้ รัฐต้องขยายเครื่องวัดคุณภาพอากาศมาตรฐานไปยังพื้นที่รอบนอก แทนที่จะมีแต่เครื่องวัดมาตรฐานที่ตัวจังหวัดเพียงตัวเดียว จัดทำแผนมาตรการบูรณาการเพื่อบริหารพื้นที่ไฟไหม้ขนาดใหญ่ ขนาดกลางที่คาบเกี่ยวเขตปกครองและเขตความรับผิดชอบหน่วยงาน ให้เป็น KPI ร่วม ฯลฯ เป็นต้น

โดยประชาชนสามารถเข้าไปดาวน์โหลดชุดข้อเสนอและมาตรการฉบับเต็มตามบลูพรินท์โดยตรงได้ทางเว็บไซต์ สภาลมหายใจเชียงใหม่ https://breathcouncil.org/ และเว็บไซต์ WEVOสื่ออาสา https://wevo.news/

นายบัณรส บัวคลี่ ประธานยุทธศาสตร์ สภาลมหายใจภาคเหนือกล่าวว่า เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ 9 จังหวัด อยากเรียกร้องให้รัฐบาลปรับปรุงกระบวนทัศน์มาสู่การบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งไม่ใช่การบริหารจัดการชิงเผา หรือยึดเพียงการวัดค่า Hot Spot เท่านั้น เพราะไม่สะท้อนความจริงในพื้นที่เพราะมีปัจจัยเกี่ยวข้องหลายอย่างเช่น สภาพพื้นที่ ภูมิอากาศ ที่สำคัญวิธีคิดที่มองว่า Zero burning หรือปลอดการเผาเป็นหลัก ส่งผลให้ปัญหาวนเวียนแก้ไขไม่บรรลุง จำเป็นต้องปรับกระบวนทัศน์ใหม่ ซึ่งแก่นสาระสำคัญของ “บลูพรินท์” เป็นหลักสำคัญสู่ทางออกคือ 1.เปิดการมีส่วนร่วม โดยชุมชนท้องถิ่นเป็นแกน 2.บริหารจัดการสาเหตุตามบริบทภูมิสังคม 3.ยึดสุขภาพประชาชนเป็นตัวตั้ง 4.ประชาชนมีสิทธิในอากาศสะอาด 5.ประสิทธิภาพการบริหารเชิงพื้นที่ 6.ความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม และไม่มีความเหลื่อมล้ำเชิงนโยบาย

ทั้งนี้ เครือข่ายสภาลมหายในภาคเหนือได้จัดเวทีสรุปบทเรียนและสร้างแนวทางการขับเคลื่อนภาคเหนือสู้ฝุ่นควัน ระหว่างวันที่ 8-9 กันยายน 2565 โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาการผลักดันยกระดับการแก้ปัญหามลพิษอากาศฝุ่นควัน pm2.5 ในปี พ.ศ.2566 ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมทั้งตั้งเป้าจะพัฒนาความเข้มแข็งขององค์กรเครือข่ายแต่ละจังหวัดอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยมีเจตนาร่วมกันเพื่อให้พื้นที่ภาคเหนือเกิดมีอากาศสะอาดและปลอดภัยในทุกฤดู เพื่อสุขภาวะของประชาชนทุกพื้นที่ของภาคเหนือ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ