“สุนทรียศาสตร์แห่งการขัดขืน” ศิลปะ ความงาม และบทสนทนา

“สุนทรียศาสตร์แห่งการขัดขืน” ศิลปะ ความงาม และบทสนทนา

วันสุดท้ายในงานครบรอบ 10 ปี รายการก(ล)างเมือง ไทยพีบีเอส ร่วมกับ Documentary club จัดงานเทศกาลหนัง “อยู่เมืองดัดจริต ชีวิตต้อง….” ฉายภาพยนตร์สารคดีก(ล)างเมือง และขยายประเด็นผ่านเวทีพูดคุยกัน เพื่อสะท้อนนโยบายสาธารณะของเมืองในหัวข้อ สุนทรียศาสตร์แห่งการขัดขืน

อีกทั้งเป็นการน้อมรำลึกถึงการจากไปของ “ถนอม ชาภักดี” ศิลปิน นักวิจารณ์ และอาจารย์พิเศษ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ รวมถึงผู้ร่วมสร้างสรรค์ปฏิบัติการศิลปะในสารคดี UBON ADGEN วาระผีบุญ โดย อ.ถนอม ชาภักดี ถือเป็นศิลปินอีสานที่ร่วมต่อสู้กับเผด็จการด้วยงานศิลปะมานาน จนได้ฉายาว่า “นักปฏิบัติการทางศิลปะแห่งโขงชีมูล”

มีผู้ร่วมวงสนทนาในหัวข้อนี้คือ ธีระวัฒน์ มุลวิไล กลุ่มละคร B-Floor และกลุ่มศิลปะปลดแอก กับ วรพจน์ โอสถาภิรัตน์ กลุ่มดินสอสี ดำเนินรายการ ผศ.ดร.ภาสกร อินทุมาร สาขาวิชาการละคอน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2565 ณ Doc Club & Pub

ซ้าย : วรพจน์ โอสถาภิรัตน์ กลาง : ธีระวัฒน์ มุลวิไล ขวา : ภาสกร อินทุมาร

ธีระวัฒน์ มุลวิไล เล่าถึงกระบวนการสร้างงานร่วมกับอ.ถนอม ชุด UBON ADGEN วาระผีบุญว่า ผมมีโอกาสทำงาน กับอ.ถนอมหลายครั้ง อย่างงาน Khonkaen Manifesto ไปเล่นที่บ้านดาวดินซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับการถูกอุ้มหายของคนที่สู้เพื่อประชาธิปไตยที่ไปอยู่ต่างประเทศ

หลังจากนั้นอ.ถนอม ชวนทำเรื่องเกี่ยวกับ UBON ADGEN คุยกันเป็นปี ๆ ว่าจะมีเรื่องผีบุญ ผมกับกลุ่มราษดรัมส์ไปทำงานกับที่นั้นลงพื้นที่กับชาวบ้าน คือตอนแรกแกฝันไว้เยอะว่าเราต้องไปเป็นศิลปินฝังตัวอยู่กับชุมชน พอรู้ว่าในพื้นที่มีความขัดแย้งเรื่องการเมืองก็มีความยากประมาณนึง จึงวางเรื่องหลัก ๆ พูดถึงการแจกข้าวคือการทำบุญไปให้คนตาย   

อ.ถนอม พาเราเดินไปและบอกว่ามันเป็นเส้นทางของกบฏผีบุญที่ถูกขังคุกอยู่ใกล้ ๆ กับทุ่งศรีเมือง ตอนนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ของจังหวัดอุบลราชธานี ข้างในเป็นงานศิลปะแต่ไม่ได้มีอะไรพูดถึงผีบุญจริง ๆ ตรงนี้คือคุกที่เคยขังผีบุญมาก่อน และทุ่งศรีเมืองเป็นทุ่งสังหารมีการตัดคอกบฏผีบุญแล้วมีการลากศพเพื่อให้เกิดความหลากจำกับประชาชน ฉะนั้นเส้นทางที่แกแสดงให้ผมเห็นจากถึงทุ่งศรีเมืองไปจนถึงน้ำมูล กลายเป็นเส้นทางที่เราย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์

ภาพประกอบสารคดีก(ล)างเมือง UBON AGENDA วาระผีบุญ – ยิ่งยง วงตาขี่

การเดินไปในทุ่งศรีเมืองตอนนั้น ซึ่งเราจะเห็นสิ่งประติมากรรมเทียนที่ยิ่งใหญ่อลังการมาก ผมเพิ่งรู้ว่าเป็นการทำขึ้นโดยรัฐไทยในส่วนกลาง พอดีการรำลึกผีบุญจะตรงกับช่วงเมษายน ซึ่งเมษายนส่วนใหญ่จะเป็นงานบั้งไฟแล้วกลายเป็นว่าทางรัฐเปลี่ยนทำให้เป็นงานแห่เทียนเล่นไฟแทนในการเอาสิ่งเหล่านี้มาครอบ  

พอไปเดินในพื้นที่มีคนเตะบอล ผมเห็นต้นไม้ต้นหนึ่งที่โดนตัดไปจนเตียน เลยคิดว่าที่นี่จะเป็นจุดแรกเริ่มในการแสดงละคร เพราะเรานึกถึงคนที่ถูกตัดหัวที่นี่ อันนี้คือเราเริ่มหา Gimmick ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเล่าด้วยคือไม่ใช่จะเป็นที่ไหนก็ได้ต้องมีการวิจัยและดูสถานที่ด้วย

“ระหว่างทาง อ.ถนอม เป็นคนที่ให้เกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์ เพราะนี้เป็นการเดินทางไปอุบลฯ ครั้งแรกของพวกเรา” 

การแสดงชุดสุดท้ายที่เราเห็นในสารคดีเรื่อง UBON ADGEN วาระผีบุญ พอเดินทางทุ่งศรีเมืองออกมานิดนึงเราจะเจออนุสาวรีย์เจ้าพระยาสรรพสิทธิประสงค์ ถ้าตามประวัติศาสตร์คือคนที่สั่งการปฏิบัติการในการสังหารตัดคอผีบุญ อนุสาวรีย์นี้เพิ่งสร้างมาไม่นานนี้เอง และผมบอกทุกคนว่าจุดนี้เราต้องหยุด จากทุ่งศรีเมืองมาเจออนุสาวรีย์เราจะต้องชูผ้าแดงเพื่อจะแทนชัยชนะของเลือดที่คุณคร่าชีวิตไป และชูให้เขาเห็นเลย ท้าท้ายกับอนุสาวรีย์รูปปั้นนั้นสักพักนึง อันนี้เป็นจุดที่สองกำลังส่งสารเชิงสภาวะ เชิงประวัติศาสตร์การสร้างตำแหน่งด้วย

 พอเดินต่อไปเราผ่านคุกก็เอาผ้าแดงไปร้อยไปคล้องเพื่อทิ้งร่องรอยว่าตรงนี้เคยมีเลือดที่หยดลงบนพื้น และเปรอะเปื้อนกำแพงบ้าน หรือแม้กระทั่งการเอาให้ผู้ชมที่อยู่รอบ ๆ ที่มาดู  

 “การแสดงที่อ.ถนอมตั้งใจไว้ว่าน่าจะชื่อ 444 เหตุการณ์ปี 2444 วันที่ 4 เริ่ม 4 โมงเย็น อันนี้เป็นอันแรกที่ตั้งใจไว้ว่ามันต้องเกิดขึ้น”   

ตอนนั้นอ.ถนอม บอกว่าที่บ้านสะพือจะมีงานเราเลยคิดว่าจะต้องไปดูพื้นที่ศึกโนนโพธิ์ ไปแบบมั่ว ๆ เพราะ อ.ถนอม ยุ่งมาก แกไปเป็นมัคคุเทศก์พาทุกคนและบอกเล่าเรื่องราว เลยให้เรามาแถว ๆ หลังวัด พอไปถึงก็เจอสายสิญจน์พุ่งจากวัดออกไปที่ทุ่งนา เลยคิดว่าน่าจะใช่เลยตามสายสิญจน์ไป จนถึงพื้นที่ที่ไม่ได้ไกลจากวัดเท่าไหร่เลยมีการ Blockshot และบันทึกวิดีโอไว้

ภาพประกอบสารคดีก(ล)างเมือง UBON AGENDA วาระผีบุญ – ยิ่งยง วงตาขี่

การ Blockshot ว่าดูรูปนี้แล้วเหมือนกันรูปเก่า ๆ ตรงที่อยู่ คนนั่งอยู่แล้วก็มีต้นตาลเรียง ๆ กัน น่าจะเป็นแถว ๆ นี้ ตรงนี้สวยดี คล้ายเป็นแอ่งน้ำ โอเอซิสกลางทุ่งนา มีแอ่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ ดังนั้น ผีบุญเลยมาอยู่แถวนี้ มันก็พ้องกันโดยบังเอิญ และเจอโรงนาแหล่งหนึ่งที่ร้าง เราก็คิดว่าเอารถมาจอดและแต่งตัวกันตรงนี้ แต่ อ.ถนอม บอกตรงนี้ล่ะ ที่เขาฝั่งกันร้อยศพเลย เดือนนั้นเป็นเดือนที่แปลกมาก หนาวมากมวลอากาศเย็น ลมแรงดูไม่เป็นมิตรเลย แต่มันก็ได้พลังงานแปลก ๆ เวลาเราไปอยู่ในพื้นที่แบบนั้นพอเกิดการถ่ายทำขึ้นมา ดูศักดิ์สิทธิ์ ดูมีอำนาจวิเศษอะไรขึ้นมา การแสดงชุดเต็มนี้ยังไม่ได้ตัดต่อ คิดว่าจะตัดออกมา 15-20 นาที อันนี้เป็นส่วนหนึ่งในสารคดีที่เราเห็น จริง ๆ จะมีตัวฟิล์มตามออกมาที่หลัง

ปฏิบัติการศิลปะในการเคลื่อนไหวสังคม การเมือง

ธีระวัฒน์ มุลวิไล บอกว่า ผมได้ยินคำพูดของอ.ถนอมที่ว่า ตัวศิลปินเองอย่าไปตัดสินว่าอะไรคือศิลปะหรือไม่ศิลปะ แต่เวลาคุณทำงานมันถูกโยนไปสู่สาธารณะอยู่แล้ว และแกก็พูดถูกถึงการปฏิบัติการงานศิลปะ ผมทำงานแรกเริ่มอยู่ในโรงละครปิดที่เข้าใจมันดี ควบคุมมันได้ แม้ว่าจะเป็นการพูดถึงการเมือง ความรุนแรง สังคมต่าง ๆ แต่มันก็เหมือนเอาการตีความชั้นที่สองมาทำงาน ตีความเปลี่ยนแปลง สร้างความหมายมันขึ้นมาใหม่ เพื่อสนับสนุนผู้ชมที่มีความคิดเห็นที่คล้าย ๆ กับเรา มันเป็นทางหนึ่งในการทำงาน

ช่วง 2-3 ปีที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองจากในรั้วมหาลัยจนออกมาถนน ทำให้จากที่เราเองเป็นผู้ชมเป็นผู้ที่เข้าไปอยู่ในพื้นที่การชุมนุมต่าง ๆ มีความรู้สึกว่าเราน่าจะเป็นเครื่องมืออะไรบางอย่างให้กับการความเคลื่อนไหวได้ ด้วยสร้างการแสดงหรืออะไรที่มันอยู่ในพื้นที่ชุมนุม

“มันเปลี่ยนความคิดมากขึ้นว่า การที่เราทำโรงละครแบบปิด คนซื้อบัตรมาดู ใครชอบ ไม่ชอบก็เขียนด่ากันไป แต่ว่าการที่เราเข้าไปอยู่ในพื้นที่ตรงนั้นแล้วเราเอา ไอเดีย ข้อมูล ข้อเรียกร้องของคนในที่ชุมนุมมาเปลี่ยนแปลงให้เกิดเป็นการแสดงได้เป็นสิ่งที่เราน่าจะลองทำ”

ภาพประกอบสารคดีก(ล)างเมือง UBON AGENDA วาระผีบุญ – ยิ่งยง วงตาขี่

อย่างเช่น งานที่หมู่บ้านบางกลอย ก่อนที่จะสลายโดนจับไปหลายคน ทำไอเดียของปฏิบัติการงานศิลปะ ดึงคนให้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย ถ้าเป็นปกติเราจะฝึกซ้อมและเทรนนักแสดงของเราและให้ผู้ชมเป็นออเดียน แต่ตอนนี้เอาคนที่สนใจมาร่วมขบวนการกับเรา แสดงออก และออกประสบการณ์ไปด้วยกันเลย ดังนั้นจะไม่ใช่เป็นเหมือนกับว่า เราเป็น Directors 100% แต่เราเหมือนเป็นผู้จัดกระบวนการมากกว่า กระบวนการแบบนี้ผมมีความรู้สึกว่า เสียงของคนที่อยู่ในกระบวนการ หรือคนทั่ว ๆไปก็ได้แสดงออกได้ด้วย นั่นคือศิลปะ แนวทางของการมีส่วนร่วม โดยการใช้ศิลปะด้วยเหมือนกัน โดยที่ไม่ต้องมาตัดสินหรอกว่าจะเป็นศิลปะหรือเปล่า เพราะว่าเราไม่ได้ซ้อม หรือมันต้องคราฟ นั่นเพราะบางอย่างมันฉุกเฉิน บางอย่างมันเป็นวาระสำคัญ

ถึงแม้ว่าตอนนี้บนท้องถนนซบเซาแล้ว ผมก็เริ่มกลับมาในพื้นที่ปิดเหมือนเดิม แต่มันก็จะกลับไปกลับมา แต่ผมรู้ว่าจิตวิญญาณยังช่วยเสริมจินตนาการหรือความรู้สึกบางอย่างที่ทำให้สุนทรียศาสตร์อาจจะเปลี่ยนไปก็ได้

สุนทรีย การช่วงชิงพื้นที่ทางวาทกรรม

วรพจน์ โอสถาภิรัตน์ อยากชวนจัดคำสำคัญของอ.ถนอมพูดว่าสุนทรียขึ้นมา มองว่า มันเป็นสองด้าน เป็นการขัดขืนที่ก่อให้เกิดสุนทรีย และเป็นสุนทรียของการขัดขืนด้วย มันกลับไปกลับมาอยู่ในด้วยมันเอง ในงานที่อ.ถนอมทำเป็นการขัดขืนที่สร้างสุนทรีย ซึ่งในคำจำกัดความของอ.ถนอม ก่อให้เกิดบทสนทนา เกิดการถกเถียง ถกเถียงในแบบไหนก็แล้วแต่ ประเด็นไหนก็แล้ว รูปแบบไหนก็แล้วแต่ พอมันเกิดบทสนทนาขึ้นมีเรื่องราวที่มาแลกเปลี่ยนกันขึ้น อ.ถนอมเขาจัดว่า มันคือการสร้างสุนทรีย และสุนทรียนี้เองที่มาตอบสนองต่อการต่อต้านอีกทีนึง ทำให้การต่อต้านนั้นมันวางบนฐานการเคารพซึ่งกันและกัน

การต่อต้านนั้นเกิดจากวิถีของประชาธิปไตย เสรีภาพที่จะคุยกัน ถ้าเอาแนวคิดนี้มาตั้งจะเห็นเรื่องว่า เป็นการบ่งบอกว่า ศิลปะและวัฒนธรรม เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างไรกับการต่อต้าน จริง ๆ แล้วมันไม่เคยถูกแยกออกจากกันอยู่แล้ว การปฏิวัติทุกอย่างไม่ใช่เรื่องการเมืองอย่างเดียวประกอบส่วนไปด้วยวิถีชีวิต ศิลปะวัฒนธรรมอาหารการกิน และการเกษตรหรืออะไรต่าง ๆ อยู่ในนั้นทั้งหมดแล้ว ทั้งหมดที่รวมกันคือสิ่งที่อ.ถนอมพยายามจะพูดหรือพยายามชี้ว่ามันคือ “ชุมชน” ฉะนั้นคุณต้องไปหาชุมชน เพื่อไปค้นพบพลังขับดันทางศิลปะวัฒนธรรม และการต่อต้านทางการเมืองที่นั่นแล้วดึงมันออกมา

ประสบการณ์ในการไปค้นหาศิลปะวัฒนธรรมและการต่อสู้ต่อต้านในพื้นที่ชุมชนที่อ.ถนอม เรียกได้ว่าเป็นปฏิบัติการในพื้นที่จริงมันสร้างประสบการณ์ให้หลายส่วนที่ไม่ใช่เฉพาะศิลปิน ให้ชาวบ้าน ให้คนที่เป็นคนประสานงานต่าง ๆ ซึ่งจริง ๆ แล้วมันคือการก่อรูปของการทำสงครามทางวาทกรรม การช่วงชิงพื้นที่ทางวาทกรรมว่าคุณจะเล่าประวัติศาสตร์แบบนี้อย่างไร ฉะนั้นศิลปวัฒนธรรมในกรณีที่เรากำลังพูดถึงมันเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้

จากหนังสารคดีก(ล)างเมืองเรื่อง UBON ADGEN วาระผีบุญ แค่ผีบุญในหนังเรื่องเดียวกันแต่ละเรียกกันสามอย่าง ถ้าเป็นชาวบ้านที่เข้ามาประสานในพื้นที่ เขาเรียกผีบาปผีบุญ  ขนาดที่พวกเราฝ่ายซ้ายพยายามเป็นฝ่ายต่อต้านอำนาจรัฐ พยายามสร้างวาทกรรมเป็นผู้มีบุญ ขนาดที่ผีบุญก็เป็นอีกอย่างนึง คือในหนังเรื่องเดียวกัน คนที่อยู่ในแต่ละตำแหน่งทางการเมืองจำกัดความและสร้างวาทกรรมที่จะเรียกต่างกัน หรือในงานแจกข้าว อาศัยการแจกข้าวเป็นตัวกลางทุกคนรับได้ แต่ทีนี้แจกข้าว ข้าวของใครบ้าง ชาวบ้านไปแจกข้าวอาจจะหมายถึง อยากจะส่งบุญเพื่อให้ออกไปจากที่นี่เถอะ ไม่ได้มองว่าเป็นฮีโร่ของเรา แต่คนที่อยากให้ไปทำงานแสดงอยากให้เห็นเป็นฮีโร่

ภาพประกอบสารคดีก(ล)างเมือง UBON AGENDA วาระผีบุญ – ยิ่งยง วงตาขี่

คำถามคือเรากำลังอยู่บนจุดไหน ผมคิดว่าอ.ถนอมก็คิดแบบนี้เหมือนกัน เราต้องสร้างพื้นที่ปฏิบัติการจริงที่จริง ๆ แล้วมันเป็นสมรภูมิทางศิลปะวัฒนธรรมที่จะได้มาสร้างบทสนทนาขึ้นมา เป็นสมรภูมิที่สวยงาม สวยงามไม่ได้แปลว่าต้องไม่รุนแรง มันมีสุนทรียที่เถียงกันหน้าดำหน้าแดงแต่สุดท้ายยังคุยกันได้กินข้าวกันได้

ฉะนั้นโจทย์ของเราก็คือว่าจะทำอย่างไรให้มีนักปฏิบัติการทางความคิด กับนักคิดเชิงปฏิบัติการ สองอย่างซึ่งอ.ถนอมเป็นแบบนี้ คือเป็นนักคิดเชิงปฏิบัติการด้วยและมีปฏิบัติการที่เป็นจริง ขณะเดียวกันปฏิบัติการที่เป็นจริงของอ.ถนอม สะท้อนความคิดด้วยกลับมาที่ว่าความคิดเชิงต่อต้านแบบนี้เป็นไปได้ไหม ผมคิดว่าอย่างที่เรามีอยู่ยังขาดสิ่งนี้

“การฉายหนังที่ Doc Club มีคนมาพูดคุยกับแบบนี้ เป็นหนึ่งในปฏิบัติการที่จะสร้างนักคิดเชิงปฏิบัติการที่มาสร้างให้เกิดเชิงความคิดด้วย มันถ่ายเทซึ่งกันและกัน”

ตอนนี้หลายหมู่บ้านนำไปสู่การท่องเที่ยว แต่การท่องเที่ยวเหมือนกับการทำร้ายทำลายหรือว่าทำให้ประวัติศาสตร์ถูกขโมยไปจากมือของชุมชนหรือของเจ้าของเรื่องหรือไม่นั้น จึงเป็นหน้าที่ใหญ่เลยที่ในแง่ของคนที่ทำศิลปะวัฒนธรรมหมายถึงคนทำสารคดีและคนทำหนังด้วยต้องฝ่าจุดนี้ไปให้ได้ เพื่อสร้างเรื่องเล่าของเราเองขึ้นมา

ผมคาดหวังว่าคนทำสารคดีก(ล)างเมืองเรื่อง บ้านนาบัว จะพาเราไปให้ได้มากกว่านี้ว่าจริง ๆ แล้วมันเกิดอะไรที่นั่น ทำไมมันต้องเกิดขึ้น ซึ่งเรื่องของคนที่ยึดอุดมการณ์ และเข้าป่าไป เป็นด้านที่คนพูดถึงมีเยอะมาก แต่ยังไม่ถูกเล่าเข้ามา แต่ขณะเดียวกันพวกเขาเองก็เป็นพวกที่ขัดขืนหรือต่อต้านอยู่ในพื้นที่นั่นด้วย ต่อต้านและขัดขืนทั้งพรรคคอมมิวนิวส์แห่งประเทศไทย ต่อต้านและขัดขืนทั้งอำนาจรัฐ ความซ้อนเหลี่ยมกันแบบนี้ ทำให้คนพวกนี้ ถ้าเป็นศิลปินก็มีความลึกมาก แล้วงานเขียนดี ๆ ของนักเขียนหลายคนก็เกิดขึ้นในช่วงเวลาแบบนี้ ซึ่งในเวลาแบบนั้นมันเกิดขึ้นจากขัดขืนและต่อต้านที่มีสุนทรีย สร้างบทสนทนาขึ้น เพียงแต่บทสนทนาคนที่ร่วมส่วนใหญ่แพ้ออกมา ทำให้กลับมาบางส่วนเลยจำเป็นต้องสร้างเรื่องเล่าใหม่ขึ้นมาเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดได้

ทีนี้เราจะต้องปฏิบัติการอย่างไรให้เกิดการสะท้อนสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา เช่น ถ้าเกิดคนที่เคยเข้าป่า หรือคนที่ไปในป่าจะรู้ว่ายากลำบากแต่ขณะเดียวกันมันมีด้านที่สร้างสรรค์มากเลย สมมุติทำเอกสารโรเนียว เขาถอดเป็นชิ้นๆ สะพายเป้ขึ้นไปบนเขาซึ่งเป็นฐานที่มั่นเขา ใช้เวลาเดินทางสามวันสองคืน เพื่อไปประกอบเป็นเครื่องโรเนียว มีฝ่ายศิลปรูปประกอบกับบนกระดาษโรเนียว กลายเป็นจุลสารเอากลับไปพิมพ์ เป็นต้น มันคือการต่อสู้และขัดขืน พอนักศึกษาเข้าไปแล้วไปทำแบบนี้ ทำให้อำนาจในการจัดการวารสารที่จะเผยแพร่ความคิดของพคท. หลุดมือจากรัฐได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก  

ในการขัดขืนและต่อต้านผลความสำเร็จที่วัดได้ คือคนที่เราขัดขืดและต่อต้านเขาจะต้องสะเทือนจากเราแน่ ๆ ขณะเดียวกันการขัดขืนและการต่อต้าน คือการคืนอำนาจมาให้เรา คืนอำนาจมาให้ชุมชน เมื่อไหร่ที่เรารู้สึกว่าจัดการเองได้ นั่นคือวิธีการต่อต้านขัดขืนแล้ว แล้วมันสร้างสุนทรียขึ้นมาเยอะแยะเลย ทำหนังสือนอกระบบแบบที่ไบโอสโคปทำ คือการขัดขืนอย่างนึงต่อระบบของหนังสือใหญ่ ๆ เป็นสร้างการทางเลือก

“เมื่อเราสามารถคุมอำนาจในการสื่อสารของเราได้ ในการพูดของเราและในการสร้างเรื่องราวของเราได้นั่น คือการขัดขืนที่มีสุนทรียและมีสุนทรียของการขัดขืนนั่นเอง ซึ่งเราเองจะต้องมองเห็นเรื่องเหล่านี้ตามวาระและโอกาสต่างๆ”

ภาพประกอบสารคดีก(ล)างเมือง UBON AGENDA วาระผีบุญ – ยิ่งยง วงตาขี่

ด้วยความระลึกถึง อ.ถนอม ชาภักดี

ดูสารคดีก(ล)างเมืองย้อนหลังจากวงเสวนา

ตอน แผ่นดินนี้ใครครอง

ตอน เสียงปืนแตกบ้านนาบัว

ตอน Ubon Agende วาระผีบุญ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ