มนุษย์มีหลากหลาย ขณะที่กฎหมายไม่เอื้ออำนวย

มนุษย์มีหลากหลาย ขณะที่กฎหมายไม่เอื้ออำนวย

“ความหลากหลายทางเพศสังคมไทยไปไกลกว่าเดิมเยอะ แต่สิทธิในรัฐที่ให้ยังน้อยมาก ต้องยอมรับว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่อยู่เมืองดัดจริต ชีวิตต้องตอแหลมาก เพราะว่าเขาไม่ให้อะไรเลย ไม่ว่าจะเป็น sex worker คนข้ามเพศ หรือการแต่งงาน รัฐไปช้ามากแต่ว่าสังคมเศรษฐกิจปรับตัวได้เยอะกว่า”

ชุมาพร แต่งเกลี้ยง

วันที่สองของงานครบรอบ 10 ปี รายการก(ล)างเมือง ไทยพีบีเอส ร่วมกับ Documentary club จัดงานเทศกาลหนัง “อยู่เมืองดัดจริต ชีวิตต้อง….” ฉายภาพยนตร์สารคดีก(ล)างเมือง และขยายประเด็นผ่านเวทีพูดคุยกัน เพื่อสะท้อนนโยบายสาธารณะของเมืองในหัวข้อ ชีวิตภายใต้กฎหมาย ร่างกายใต้บงการ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2565 มีผู้ร่วมเสวนา ชานันท์ ยอดหงษ์ นักเขียน “นายใน” และ “หลังบ้านคณะราษฎร” กับ ชุมาพร แต่งเกลี้ยง กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก ดำเนินรายการโดย วิภาพร วัฒนวิทย์ บก. Backpack Journalist/Decode

ชานันท์ ยอดหงษ์ เล่าถึงความเคลื่อนไหวของตัว พ.ร.บ.ว่า ตอนนี้สภาในวาระแรกได้โหวตรับหลักการทั้ง 2 ร่าง ความจริงมี 4 ร่างแต่มารวมกันแล้วสามารถเรียกได้ว่ามีหนึ่งร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต และสองคือร่างสมรสเท่าเทียมหรือการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ว่าด้วยการจดทะเบียนสมรสการสร้างครอบครัว  

ถ้าพูดถึงตัว พ.ร.บ.คู่ชีวิตก่อน มันก็มีพัฒนาการมาตั้งแต่มี พ.ศ. 2556 แล้วที่ผลักดันให้คนรักเพศเดียวกันได้จดทะเบียนสมรมกันได้ ส่วนพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมหรือการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นการแก้ไขถึงตัวปัญหาหลัก ๆ ของการเลือกปฏิบัติโดนกฎหมายที่ปัจจุบันนี้กำหนดให้แค่เฉพาะชายหญิงเท่านั้นสามารถจะจดทะเบียนสมรสกันได้

ส่วนตัวร่างสมรสมเท่าเทียม ความจริงมีสองร่างคือร่างฉบับของพรรคก้าวไกลที่ผ่านสภาไปแล้วตอนนี้อยู่ในชั้นกรรมาธิการกับอีกร่างนึงคือร่างของภาคประชาชนก็มีสองร่างสำคัญที่เกิดขึ้นมาในประเทศเราตอนนี้ ใจความหลัก ๆ ก็คือให้บุคคลกับบุคคลสามารถจดทะเบียนสมรสด้วยกันได้เป็นคู่สมรสมกัน และเราก็จะแก้ไขคำที่เกิดขึ้นมาในกฎหมายด้วยอย่างเช่น คำว่า สามีกับภรรยาก็จะเปลี่ยนเป็นคู่สมรส เพื่อให้ทุกเพศสภาพเพศวิถีจดทะเบียนสมรสด้วยกันได้และเป็นคู่สมรสกัน   

หลัก ๆ เลยปัญหาของประเทศเราโครงสร้างในการเขียนร่างกฎหมายก็จะเขียนในลักษณะของBinary Opposition ที่จะใช้ควบคุมแค่ชายกับหญิงเท่านั้น อันที่จริงเพศสภาพหรือเพศวิถีมีความหลากหลาย และตัวกฎหมายเองต้องล้อไปกับวิวัฒนาการของคนชีวิตของคนด้วย ถ้าเราคำนึงถึงกฎหมายแพ่งก่อนเลย เขาก็จะกำหนดว่า มนุษย์เกิดมาเป็นคนหนึ่งคนและเกิดมีทรัพยสิน มีหนี้และแต่งงานนี้อะไรเหล่านี้ไปจนตาย เพราะฉะนั้นกฎหมายมันจึงสามารถแก้ไขได้เพื่อให้ล้อไปกับมนุษย์คนนึงประชาชนคนนึงที่มีการเปลี่ยนแปลง มีพัฒนาทางความคิดและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปได้ 

กฎหมายไม่พัฒนา การนิยามมองคนไม่เท่ากัน

ชานันท์ ยอดหงษ์ บอกว่า ถ้าเรื่องแรกตอน สลับร่าง พ.ร.บ. อีก พ.ร.บ.ชุดนึงเป็นร่างฉบับภาคประชาชนที่ว่าด้วยอัตลักษณ์ทางเพศ อันนี้ก็ต้องคำนึงอีกที่นึงเพราะว่าอัตลักษณ์ทางเพศลื่นไหลได้ แต่พอมาเขียนเป็นกฎหมายแล้ว อาจจะมีความต้องพิจารณาให้รอบคอบมากขึ้นเหมือนกันมากกว่าสมรมเท่าเทียมด้วย พอพูดถึงเรื่องอัตลักษณ์แล้ว แต่ทุกคนก็มีอัตลักษณ์ที่หลากหลายและลื่นไหลได้ 

ถ้าเรากลับมาพูดถึงเรื่องสมรสเท่าเทียมจะเห็นว่าในตอน รักคงยังไม่พอ การที่เราไม่มีสมรสเท่าเทียม การที่รักเพศเดียวกันไม่สามารถจดทะเบียนสมรสด้วยกันได้ ทำให้เขาเข้าไม่ถึงสิทธิและสวัสดิการอย่างเสมอภาคกันได้นี่สะท้อนภาพปัญหาตัวอย่างบางส่วน ปัจจุบันมีปัญหาที่เกิดขึ้นเต็มไปหมด ยกตัวอย่างนอกเหนือจากที่เราได้ดูสารคดี เช่น ตัวประกันพ.ร.บ. ประกันภัยรถยนต์ในกฎหมายใช้คำว่า สามีภรรยา ถ้ามีใครคนใดคนนึงโดนรถชนตายจะต้องได้รับการเยียวยา ซึ่งกฎหมายกำหนดต่อให้สามีภรรยานั้นไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน แต่ใช้ชีวิตอยู่รวมกันก็สามารถได้ค่าชดเชยด้วย ขณะที่คนรักเพศเดียวกัน คู่ชาย ๆ คู่หญิง ๆ ต่อให้อยู่บ้านเดียวกัน รักกันนานแค่ไหนไม่ได้จดทะเบียนสมรสก็ไม่ได้รับสิทธิ์นี้

เรื่องที่มันคอขาดบาดตาย เช่นการที่จะให้เซ็นต์ยินยอมรักษาพยาบาลในช่วงฉุกเฉิน ต่อให้คุณจะอยู่บ้านร่วมกันยาวนานแค่ไหนคุณไม่ใช่คู่สมรสกัน คุณไม่สามารถที่จะเซ็นต์ยินยอมรักษาพยาบาลคนรักของคุณได้ทันท่วงที คู่รักเพศเดียวกันหลาย ๆ คน LGBTQ+ อาจจะตัดขาดกับครอบครัว อาจจะอยู่บ้านร่วมกัน สร้างครอบครัวกับคนรักของเขาแล้วกว่าพ่อแม่พี่น้องจะมาถึงโรงพยาบาลอันนี้เป็นเรื่องน่าเศร้าที่มีการเสียชีวิตไปเพราะปัญหาของกฎหมายตรงนี้ด้วย

ชุมาพร แต่งเกลี้ยง เล่าประสบการณ์ว่า ถ้าใครดูตอน รักคงยังไม่พอแล้วร้องไห้ ซึ่งภาพในโรงพยาบาลมันเปลี่ยนชีวิตเราไปเหมือนกัน เพราะว่าเราเป็นคนไปเก็บภาพนั้นกับเพื่อนอีกคนนึงเป็นช่วงเริ่มทำงานใหม่ ๆ รู้สึกว่าอยากจะทำหนังสารคดีตอนนั้นมันมีน้อยมาก วันนั้นเราได้อาสาไปที่โรงพยาบาลเพราะมีปัญหาว่าแฟนของพี่หนิงป่วยแล้วรักษาพยาบาลไม่ได้ และความเป็น LGBT ของทั้งคู่ ไม่มีสถานะทางกฎหมายทำให้การรักษาต่อต้องรอญาติเพียงอย่างเดียว วินาทีที่เห็นการถูกปฏิเสธการรักษา คือเราช็อค ยืนฟัง แก้ปัญหาไงดี พยายามทำให้ผู้ป่วยต้องออกจากโรงพยาบาลตรงนั้นไปอยู่อีกโรงพยาบาลนึงที่เป็นรัฐวิสาหกิจเพื่อให้ค่ารักษาพยาบาลมันครอบคลุม พอได้ไปอยู่โรงพยาบาลรัฐแล้วเราก็เอากล้องไปบันทึกภาพด้วย

จากนั้น 2-3 วัน พี่หนิงบอกว่า แฟนเขาเสียแล้วนะ เราก็ช็อคมาก ช็อคแบบไม่คิดว่ามันจะเกิดขึ้นกับสิ่งที่เราไปเจอตรงหน้าให้คำตอบอะไรไม่ได้ ทุกครั้งที่เจอพี่หนิงเขาก็จะร้องไห้ตลอดเวลา และหนึ่งในคำพูดที่เขาพูด ถ้าวันนั้นเขาเซ็นการรักษาได้แฟนพี่คงไม่ตายใช่ไหม

วินาทีนั้นมันเหมือนคนตายทั้งเป็น  

มากไปกว่านั้นตอนนั้นมีการพูดถึงแต่ พ.ร.บ.คู่ชีวิตซึ่งไม่จริง พวกเราพยายามผลักดันสมรสเท่าเทียมแต่ไม่มีสื่อไหนออก แล้วโต้ง (ผู้กำกับสารคดี รักคงยังไม่พอ) เป็นคนแรกที่ผลิตออกมาแล้วมันเป็นสมรสเท่าเทียม เพราะว่าสื่ออื่นซึ่งเราก็เป็นที่ปรึกษาทำออกมายังเป็น พ.ร.บ.คู่ชีวิต ซึ่งมันไม่สะท้อนความเจ็บปวดของความเป็นมนุษย์ สารคดีตอน รักคงยังไม่พอ คือภาพแทนว่าทำไมมันมากกว่าที่เราคิดว่ากฎหมายจะให้มาเพียงแค่ นิยามคำว่าคุณแต่งงานคู่แบบไหนก็ได้ แต่มันพูดถึงสิทธิพลเมือง 

ภาพของโลกใบนี้มันมีรูปแบบการคุ้มครองครอบครัว รูปแบบแรกคือการสมรส(Marriage)  แน่นอนว่าทุกประเทศถูกพัฒนามาให้รัฐคุ้มครองการสมรสมีการพัฒนามาตั้งแต่สมัยอาณานิคม อีกอันคือPartnership เป็นพัฒนาการจริง ๆ ของการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งตอนนั้นอังกฤษกับฝรั่งเศสพยายามที่จะพัฒนาขึ้นมา เนื่องจากสิทธิพลเมืองและสื่อยังไม่กว้างขนาดนี้ และเขาก็พยายามต่อรองกับสังคม แต่ประมาณ 20-30 ปีที่แล้วจนกระทั่งตอนนี้ทั้งอังกฤษกับฝรั่งเศส รู้แล้วว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิต ยังไม่ตอบโจทย์ เพราะว่ามันไม่ได้พูดว่าทุกคนอยู่ภายใต้สิทธิพลเมืองอย่างเท่าเทียม เขาได้แก้ไขกฎหมายให้ใช้ได้ทั้งพ.ร.บ.คู่ชีวิต และใช้ได้ทั้งสมรสเท่าเทียม ซึ่งพ.ร.บ.คู่ชีวิตที่ใช้ก็อนุญาตให้เพศไหนใช้ หมายความว่าอาจจะเป็นรูปแบบไหนของการใช้ชีวิตก็ได้ 

“จริง ๆ แล้ว LGBT จะได้รับการคุ้มครองตั้งแต่เกิดจนตายจะต้องถูกคุ้มครองสามอย่างด้วยกัน นี่คือการทำงานต่อสู้ในนามของสิทธิ LGBT ที่เขาทำมา 1. กฎหมายการเลือกปฏิบัติ (Non-Descrimination) 2.การคุ้มครองครอบครัว คือสิ่งที่เราพูดถึงสมรสเท่าเทียม 3.การให้สิทธิในการนิยามเพศสภาพของตัวเอง”

การให้สิทธิในการนิยามเพศสภาพของตัวเอง มีความน่าสนใจว่าฉันไม่ต้องอธิบายก็ได้ว่าฉันเป็นใคร เหตุผลเพราะอเมริกา ฝรั่งเศสสามารถไปแก้ไม่ใช่แค่คำนำหน้านาม นาย นาวสาวในปัจจุบัน แต่มันไปแก้ได้ถึงขนาดว่าตอนคุณกำเนิด คุณกำเนิดเป็นเพศอะไร ใครตามอั้ม เนโก๊ะ ตอนนี้ลี้ภัยไปอยู่ฝรั่งเศสก็แก้ได้เลยว่า นี่คือเพศที่กำเนิดออกมาเป็นผู้หญิงที่ไม่ได้เป็นคนข้ามเพศด้วย เพราะฉะนั้นความท้าทายในสังคมไทยคนเยอะมากเพราะปัจจุบันการพูดคุยเรื่องรองรับเพศมีแค่ว่ารับรองการใช้ฮอร์โมนกับรองรับการผ่าตัด แต่ไม่ได้รับรองสำนึกที่ลึกไปถึงเพศ  

ปัจจุบันการข้ามเพศไม่ได้มีแค่ข้ามจากชายแล้วไปเป็นหญิง ฉะนั้นการพูดถึงเรื่องการสำนึกหรือเพศกำหนด เราจะใช้คำว่าเพศกำหนด เราจะไม่ใช้คำว่าเพศกำเนิด เพราะว่าคนกำหนดมันคือรัฐกับสังคมกำหนดว่าคนนี้ต้องเป็นเด็กหญิงเด็กชาย แต่สำนึกของเขาอาจจะสามารถบอกได้เลยว่า ฉันกำเนิดมาเป็นผู้หญิงแม้ว่าจะมีอวัยวะเพศชายก็ตาม

พ.ร.บ.คู่ชีวิต กับ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม แตกต่างกัน 

ชุมาพร แต่งเกลี้ยง บอกว่า จริงๆ ก็ไม่ได้กลับไปดูพ.ร.บ. คู่ชีวิตที่ชัดมาก แต่ว่าพ.ร.บ.คู่ชีวิตยังใช้คำว่าอนุโลม สมรมเท่าเทียมมันไปแก้ไขปัญหาเรื่องของภาษาที่เป็นไบนารี (binary) คือความเป็นแค่หญิงกับชาย ก็ได้ไปรีวิวทั้งหมดเลยว่าจากกฎหมายมาตรา 1448 เป็นต้นมาที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งครอบครัว ถ้ามีภาษาที่เป็นไบนารีให้เปลี่ยน อย่างเช่น หญิงกับชายแต่งงานกัน เปลี่ยนเป็น บุคคลสองบุคคลแต่งงานกัน

กับสอง อะไรที่เป็นคำว่าสามีภรรยาให้เปลี่ยนเป็นคู่สมรส สามเป็นอันที่ร่างของพรรคก้าวไกลไม่ได้ไปแตะอะไรที่บอกว่าบิดามารดา เปลี่ยนเป็นผู้ปกครองก็ได้ เปลี่ยนเป็นบุพการีก็ได้ เรามีเพื่อนที่เป็น Non-Binary เยอะมากที่ตั้งครรภ์ได้ด้วยตนเอง เขาไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็น Dad กับ Mom เลย เขาเรียกว่า “พามา” เพื่อให้คำมันเป็น Binary แน่นอนว่าในครอบครัวคงจะไม่ได้เรียกบุพการี แต่ในเรื่องของกฎหมายมันต้องถอดโครงสร้างนี้ ซึ่งถอดแค่สามประเด็นจะทำให้ประเทศเปลี่ยนและโครงสร้างเปลี่ยน เพราะเปลี่ยนจากกฎภาษาที่เป็น Binary word มาเป็นภาษาเป็นที่กลางทางเพศ และไม่ได้ลดทอนคุณค่าศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์อันไหนของใครเลย แต่แนวคิดไปไม่ถึงคนที่อยากจะสถาปนาความเป็นครอบครัวแบบปิดตาธิปไตยรักต่างเพศเท่านั้น  

อีกอันนึง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ก่อนหน้านี้จะเป็นพ.ร.บ.ที่ให้เฉพาะผู้รักเพศเดียวกันแต่ตอนนี้ทุกคนทุกเพศใช้ได้ แต่มีเนื้อหาเยอะมากที่ใช้คำว่า อนุโลม ถ้าสมมุติว่าเรากับแฟนแต่งงานกันเราแล้วเราเสียชีวิต แฟนเราต้องการที่จะเอาเราไปทำพิธีกรรมแบบที่เราชอบ แต่ครอบครัวเราอยากจะเอาเราไปทำพิธีกรรมแบบพุทธ การที่กฎหมายบอกว่า อนุโลมให้ไปใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มันอ้างถึงการมอบหมายให้ใครมีในร่างกายหลังความตายด้วย ญาติต้องเป็นทายาทโดยธรรมเท่านั้น นั่นความหมายแฟนเราต้องไปจ้างทนายแล้วเอาเรื่องนั้นไปฟ้องศาล

“คุณกำลังผลักภาระให้กับ LGBT หรือคนที่ต้องการใช้กฎหมายฉบับนี้ มีภาระในการอนุมัติสิทธิเพิ่มขึ้น อันนี้คือหัวใจสำคัญที่ไม่มีใครยอมพูดถึง แต่พยายามพูดถึงว่ามันก็อนุโลมแล้วไง”

แต่มันมีกฎหมายหลายตัวที่เราศึกษา กรณีที่ศาลตัดสินตีความว่าอนุโลมใช้ไม่ได้ทั้งที่กฎหมายบอกอนุโลม มันอยู่ที่ศาลอยู่ที่ทนาย แล้วคนตัวเล็กตัวน้อยหรือคนที่เป็นคนชายขอบ หรือคนรากหญ้าแค่จะไปหาทนายยังยากเลย นี่คือสิ่งที่เขาไม่ได้คิดถึงเลยว่าการบังคับใช้กฎหมายมันเป็นการผลักภาระมากขนาดไหนนี่คือสิ่งที่เรากำลังต่อสู้ เพราะฉะนั้นทำไมผู้กำกับตอน รักคงยังไม่พอทำได้ดีมากก็คือการพูดถึงสิทธิพลเมือง 

“LGBT เป็นเรื่องการเมือง เพราะว่าเรากำลังพูดถึงสิทธิพลเมืองที่เท่ากัน เราไม่ได้ต้องการพูดแค่เพียงแค่การจัดตั้งครอบครัวอนุญาตให้ใครแต่งงานได้เท่านั้น”

ถ้าพ.ร.บ. สมรมเท่าเทียม ไม่ผ่านจะเกิดอะไรขึ้น 

ชุมาพร แต่งเกลี้ยง มองว่าประเด็นสำคัญคือการเปิดพื้นที่ให้คนที่อยากจะเล่าเรื่องแบบเนมของคนรุ่นใหม่มาเล่าประเด็นสังคม ซึ่งไม่มีทางที่คนรุ่นเก่าจะทำได้อันนี้เรารู้สึกชื่นชมมาก ๆ ที่สำคัญตอนนั้นประเด็น LGBT มันไม่ได้มากถึงขนาดนี้ และไทยพีบีเอสโดยเฉพาะโครงการนี้เป็นคนที่เอาเรื่องของ LGBT มาเยอะมากจนกระทั่งเรารู้สึกว่ามันได้ปักหมุดยุคสมัยไปให้พวกเราด้วย ทำให้เราเห็นว่าแต่ก่อนการเป็นกะเทยมันยากมากเลยชีวิตของเขา 

“เชื่อว่าการทำงานของไทยพีบีเอสและรายการก(ล)างเมือง เป็นการทำงานเพื่อต่อสู้สมรสเท่าเทียมที่ปักหมุดในสังคมนี้เหมือนกัน เพราะว่าถ้าอยู่ ๆ เราทำแคมเปญสมรสเท่าเทียมแต่มันไม่มี narative อื่น ๆ เล่าเรื่องให้เป็นฐานให้สังคมเข้าใจ มันก็ไปต่อยาก”

ฉะนั้นถ้าถามว่าวินาทีที่เราเห็นแฮชแท็ก หรือเราเห็นผู้คน เราเห็นเด็กมัธยมที่ถือป้าย “กัญชามีได้ทำไมสมรสเท่าเทียมไม่มี” เราไม่คิดว่าสมรสเท่าเทียมมันจะไม่มีอีกแล้วในสังคมนี้ และเราก็เชื่อว่าพวกเราปักหมุดเรื่องนี้และหยั่งรากไว้ลึกแล้ว แต่หลังจากนี้เป็นความท้าทายว่าแล้วสมรมเท่าเทียมไม่ผ่านการเลือกตั้งครั้งนี้ก็เลือกตั้งครั้งหน้า เพราะอย่างไรสังคมเปิดรับมันแล้ว  

ชานันท์ ยอดหงษ์ ให้ความเห็นว่า ถ้าสมรสเท่าเทียมไม่ผ่านก็เศร้าใจเพราะอยากให้มี แต่เรายังมีอีกฉบับหนึ่ง ฉบับภาคประชาชน ก็ต้องรอไปอีกให้ ผลักเข้าสภาอีกครั้ง คือมันจะมีการเสียเวลามาก เรื่องแบบนี้รอไม่ได้คือจะเห็นว่าในหนังสารคดีมันมีนาทีชีวิตตาย  

ถ้าสมรสเท่าเทียมจะถูกปัดตก และต้องรออีกร่างถัดไป ขณะเดียวกันสิ่งที่คำนึงอยู่ด้วยก็คือว่า คำว่าคู่ชีวิต อันที่จริงแล้วทุกคุ่รักทุกคุ่สามีภรรยา คู่สมรสเองก็สามารถเป็นคู่ชีวิตได้อยู่แล้วไม่ว่าจะเป็น ชายชายหญิงหญิงเหล่านี้สามารถอยู่อาศัยพึ่งพากันจนแก่เฒ่าได้  แต่ปรากกฎว่าการเกิดขึ้นมาของร่างพ.ร.บ. คู่ชีวิต ยิ่งอยู่ในบริบทของปัจจุบันด้วย ทำให้เรามองคำว่า คู่ชีวิต มีความหมายที่แย่ลงไปด้วย คู่ชีวิตในฐานะที่มันเป็นส่วนหนึ่งของการเลือกปฏิบัติตามกฎหมาย อันนี้ก็เป็นสิ่งที่น่ากังวลใจเหมือนกันของการที่เกิดขึ้นมาในความหมายใหม่ของคำ ๆ นี้ ทั้งที่เป็นความหมายที่ดีมาก ๆ 

ชมสารคดีย้อนหลังจากวงเสวนา

ตอน สลับร่าง

ตอน รักคงยังไม่พอ

ตอน นาเดีย 

เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี ขอเชิญผู้ที่สนใจเรื่องราวต่างๆ รอบเมือง มาร่วมชมภาพยนตร์สารคดีชุด “อยู่เมืองดัดจริต ชีวิตต้อง …..” พร้อมฟังการพูดคุย เกี่ยวกับประเด็นที่น่าสนใจจากหนังในแต่ละวันได้ฟรี!
ที่ร้าน Doc Club & Pub ศาลาแดง ซอย 1 ตั้งแต่เวลา 4 โมงเย็นจนถึงหนึ่งทุ่ม (หนังเริ่มฉาย 4 โมงครึ่ง และ เริ่มพูดคุยในเวลา 6 โมงเย็น)

  • วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน 2565 ประเด็น “สุนทรียศาสตร์แห่งการขัดขืน”
    ศิลปะ ศิลปินเพื่อประชาธิปไตย
    o UBON AGENDA วาระผีบุญ – ยิ่งยง วงตาขี่
    o แผ่นดินนี้ใครครอง – ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
    o เสียงปืนแตกที่บ้านนาบัว – วินัย ดิษฐจร
  • คุยกับ ธีระวัฒน์ มุลวิไล กลุ่มละคร B-Floor และกลุ่มศิลปะปลดแอก และ วรพจน์ โอสถาภิรัตน์ กลุ่มดินสอสี
    ชวนคุยโดย ภาสกร อินทุมาร
    ผู้ที่สนใจ สามารถลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อแลกรับ ขนมและน้ำฟรีในงาน ได้ที่ลิงก์นี้ https://forms.gle/1gjRwcBywoQ8gbSG9 หรือมาลงทะเบียนร่วมงานได้ที่หน้าร้าน Doc Club & Pub ได้ตั้งแต่เวลา 4 โมงเย็นเป็นต้นไป

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ