คนนอก เมืองนอก – ชีวิตในเชียงใหม่หลังรัฐประหารเมียนมา

คนนอก เมืองนอก – ชีวิตในเชียงใหม่หลังรัฐประหารเมียนมา

ในความทรงจำร่วมของมนุษยชาติ เราล้วนเคยตัดพ้อต่อว่า – กาลเวลานั้นกลั่นแกล้ง  

เมื่อรอคอยมักไหลผ่านเนิ่นช้า แต่หากรีบร้อนไขว่คว้ากลับถาโถมเชี่ยวกรากจนคว้าอะไรไว้ไม่เคยทัน   

หลังเหตุการณ์รัฐประหารที่กองกำลังทหารเมียนมายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564

โมงยามความทรงจำของผู้คนที่บ้านเกิดอยู่ในเขตแดนรัฐชาติเมียนมาก็ถอยหลังกลับ 

ทุกคนต่างหวังว่าไม่ใช่ตลอดกาล เพียงแต่ว่าตอนนี้ยังหาจุดจบร่วมกันไม่เจอ   

หอมหล้าตั้งใจดูแลร่างกายและจิตใจ เพื่อเป็นที่พึ่งให้กับคนรอบตัวที่ตกอยู่ในสถานการณ์อันน่าอึดอัดใจหลังเหตุการณ์รัฐประหารที่บ้านเกิด – เมียนมา   บางวันเธอเดินออกกำลังกายตามถนนริมทุ่งนาใกล้ที่พักในจังหวัดเชียงใหม่ 

“ตอนเด็ก ๆ ต้องปิดไฟแล้วแอบจุดเทียนอ่านหนังสือ ถ้าบ้านไหนเปิดไฟไว้ ดึก ๆ จะมีทหารมาคอยตรวจเช็คตามบ้านว่าทำอะไร เราประชาชนคนธรรมดาอยู่ตรงกลางระหว่างการสู้รบของกองกำลังทหารไทใหญ่และทหารพม่า ยังจำความรู้สึกหวาดกลัวจับขั้วหัวใจนั้นได้อยู่เลย แล้วตอนนี้ก็เหมือนว่ามันเวียนกลับมาอีกครั้ง”  

รัฐประหารเมียนมาทำให้ “หอมหล้า” ในวัย 27 ปี มีอาการไม่ใช่ก็ใกล้เคียงกับคำว่า “ใจสลาย”    หลังการยึดอำนาจของกองทัพอันยาวนานเมียนมาเพิ่งเปิดประเทศในปี 2554 ความยากจนของคนในประเทศลดลงกว่าครึ่ง ภาพเศรษฐกิจที่เคยเติบโตอย่างรวดเร็วมากกว่า 7% ต่อปีก็หายวับไปกับตาเมื่อกองทัพเมียนมาหันมาจับปืนอีกครั้ง 

ปี 2558 เป็นครั้งแรกที่หอมหล้ามีโอกาสเดินทางออกนอกประเทศ ช่างเป็นความทรงจำหอมหวานที่ทำให้หัวใจพองโตเมื่อนึกถึงสำหรับการเดินทางระยะสั้นเพื่อมาอบรมเชิงปฏิบัติการที่เชียงใหม่ โดยที่เธอไม่ได้เอะใจเลยสักนิดว่าวันหนึ่งจะต้องมาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่และกลับบ้านไม่ได้ จากเยาวชนที่ขับเคลื่อนประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในวันนั้นสู่บทบาทเจ้าหน้าที่ฝ่ายการศึกษาในองค์กรภาคประชาสังคมในเมืองหลวงของ NGO แห่งนี้ 

“ข่าวยืนยันว่าเกิดรัฐประหารจริง ๆ ประมาณ 8 โมง เหมือนทุกอย่างมันมืดไปหมด โทรหาที่บ้านไม่ติด โทรหาใครก็ไม่ติด เราทำงานไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้เลยอยู่ 3 อาทิตย์ ช่วงแรก ๆ ทหารตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต ค่าโทรศัพท์พุ่งกระฉูดเพราะต้องโทรกลับบ้านผ่านโทรศัพท์เท่านั้น”    

แววตาฟ้องว่ากล่องดวงใจของหอมหล้าคือครอบครัว เธอแลกความก้าวหน้าทางการงานโดยจำใจวางกล่องดวงใจนั้นไว้ที่เมืองปัน รัฐฉานบ้านเกิด ไม่มีวันไหนเลยสักวันที่เธอและสมาชิกครอบครัวจะไม่ได้คุยกันจนกระทั่งการรัฐประหารตัดทั้งสัญญานและสัมพันธ์ ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของครอบครัวที่น้องชายคนเล็กต้องไปเข้าร่วมฝึกกับกองกำลังทหารไทใหญ่แทนการได้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย พี่สะใภ้และพี่ชายคนโตกลับต้องหนีหัวซุกหัวซุนอยู่บ้านไม่ได้หลังการประกาศตามตัวแกนนำผู้เข้าร่วมขบวนการอารยะขัดขืนภาคประชาชน Civil Disobedience Movement หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า “ขบวนการ CDM” 

“ในแต่ละวันจิตใจแย่ลงทุกที มันเหมือนกับว่าเราหาเงินได้ แต่ไม่รู้ว่าตอนเราได้กลับบ้านจริง ๆ ทุกคนจะยังอยู่กันครบไหม พอเหตุการณ์มันรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เราก็กังวลมากขึ้น อยู่ที่นี่ทำได้แค่ติดตามข่าวสาร มันเหมือนจะเป็นบ้า สิ่งที่เกิดขึ้นมันกระทบกระเทือนจิตใจเรามาก”     

เมื่อดำดิ่งถึงจุดที่ลึกที่สุดในความเจ็บปวด หอมหล้ารู้สึกว่าตัวเองต้องทำอะไรบางอย่าง หากกายหยาบของเธออยู่ที่เมียนมาก็คงพาตัวเองไปเป็นมวลชนของขบวนการอารยะขัดขืน แต่เมื่อวันนี้เธอยังต้องอยู่ที่นี่ สิ่งที่พอทำได้ คือ การมีส่วนช่วยระดมทุนเพื่อช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากการชุมนุม และบางครั้งก็เข้าร่วมการชุมนุมกับชาวเมียนมาในเชียงใหม่ สำหรับเธอการไปอยู่ตรงนั้นเป็นสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและให้กำลังใจเพื่อนร่วมชาติที่ออกมาเคลื่อนไหวในประเทศเมียนมา  

หอมหล้าเป็นเพื่อนร่วมรุ่นสมัยมหาวิทยาลัยของ Hanna Yuri เมคอัพอาร์ติสและอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังชาวไทใหญ่ เธอไหวตัวหลบหนีการจับกุมของรัฐบาลทหารพม่าไปเรียนต่อที่ประเทศเกาหลีใต้ และยังคงสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจากที่นั่น   จากโพสต์ใน Instragram ของเธอ ยังพบแฮชแท็ค #WhatsHappeningInThailand อีกด้วย 
(ที่มาของภาพ: Instagram @hannayuri_sunshine) 

“เราพูดภาษาไทยได้ดีก็จริง แต่บางทีก็ไม่อยากพูดเท่าไหร่ เพราะเวลาเราแนะนำตัวว่ามาจากพม่า น้ำเสียงของคนที่ให้บริการก็จะเปลี่ยน เวลาเราพูดภาษาอังกฤษคนไทยจะปฏิบัติกับเราอีกแบบหนึ่ง” 

เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในสถานการณ์แตกต่างกันไป รวมทั้งในช่วงโควิด-19 ที่ไวรัสไม่เลือกหน้า เลือกสัญชาติใด ในเดือนกันยายน 2564 เมื่อกระทรวงการต่างประเทศประกาศว่าได้กันวัคซีนไฟเซอร์จำนวนหนึ่งที่ได้รับมอบจากรัฐบาลอเมริกันไว้สำหรับชาวต่างชาติที่มีถิ่นพำนักพักพิงในประเทศไทย   หอมหล้าวอล์กอินไปรับวัคซีนและต้องสะดุดใจกับป้ายประกาศตัวโตที่ระบุว่า สิทธิการฉีดวัคซีนไฟเซอร์นี้ไม่ครอบคลุมถึงแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน    

“เวลาที่เราควักพาสปอร์ตสีแดงแปร๊ดออกมามันดูเหมือนไม่ค่อยมีค่าเลย เจ้าหน้าที่บอกกับเราว่าคุณถือสัญชาติเมียนมา เราก็ถามเขากลับว่าถือสัญชาติเมียนมาแล้วมันยังไง เราก็เป็นชาวต่างชาติถือพาสปอร์ตมีใบอนุญาตทำงานคนหนึ่ง ซึ่งถ้าเขาอธิบายว่าคุณต้องยื่นคำขอไปตามประกาศหรือต้องรอก่อนตามหลักเกณฑ์ความจำเป็นเร่งด่วน เราสามารถเข้าใจได้ทันที แต่นี่เขาตัดสินเราเพียงแค่จากสัญชาติที่เราถือ” 

หอมหล้ากดจองคิววัคซีนไฟเซอร์ผ่านเว็บไซต์ด้วยใจที่คิดถึงบ้าน การลืมตาตื่นขึ้นมาใช้ชีวิตในทุก ๆ วันของเธอคืออารยะขัดขืนต่อผู้ขโมยอนาคตที่ควรเป็นทั้งของเธอและเพื่อนร่วมชาติ เพื่อนเมียนมาบางคนตั้งปณิธานว่าจะไม่ยอมจัดงานวันเกิดหรืองานเฉลิมฉลองรื่นเริงใด ๆ จนกว่าฝ่ายประชาชนจะได้รับชัยชนะ แม้จะถูกท้าทายอย่างสม่ำเสมอจากความกังวลใจ แต่หอมหล้าตั้งใจว่าจะค่อย ๆ สร้างจิตที่เข้มแข็งและแจ่มใส เป็นผู้รับฟังที่ดีให้ทั้งเพื่อนและครอบครัว ถนอมร่างกายให้อยู่รอดูความพ่ายแพ้ของเผด็จการไม่ว่าจะจากมุมไหนของโลก    

เสื้อสีแดงเป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญอดทนและแข็งแรงของชายชาวกะเหรี่ยง ซอโพพกเสื้อและย่ามกะเหรี่ยงติดกระเป๋าเดินทางเมื่อต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนไปอยู่แดนไกลเฉกเช่นพี่น้องชาวกะเหรี่ยงที่กระจัดกระจายอาศัยอยู่ทั่วทุกมุมโลก 

“จริง ๆ ต้องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่เดินทางไม่ได้เพราะสถานการณ์โควิด พอตอนนี้เดินทางมาได้ ก็ยังไม่รู้เลยว่าจะกลับยังไง” 

หลังจากการแยกกักตัวเพื่อเฝ้าสังเกตอาการโควิด-19 ในโรงแรมที่กรุงเทพสิ้นสุดลง “ซอโพ” ลืมตาตื่นในเช้าวันแรกที่เขามาถึงเชียงใหม่เพื่อรับรู้ข่าวการรัฐประหารในบ้านตัวเอง  หากกำหนดการเดินทางช้ากว่านี้เพียงหนึ่งสัปดาห์ ในปีการศึกษานี้คงไม่มีชื่อนักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วัยสามสิบกว่า ๆ ที่วางแผนจะทำวิจัยประเด็นเรื่องสิทธิในที่ดิน  

บ้านเกิดของซอโพอยู่ในรัฐกะเหรี่ยงที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทยถึงสามจังหวัด คือ กาญจนบุรี ตาก และแม่ฮ่องสอน เขาเป็นกะเหรี่ยงสกอ นั่นคือชื่อซึ่งเป็นที่รู้จักกันในฝั่งเขตแดนเมียนมาของกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ พรมแดนไร้ความหมายเมื่อเขาสื่อสารในถ้อยภาษาเดียวกันกับพี่น้องกะเหรี่ยงในฝั่งไทย – คนกะเหรี่ยงล้วนคือพี่น้อง 

แม้จะเคยเดินทางมาเชียงใหม่หลายต่อหลายครั้งแต่การเดินทางครั้งนี้กลับให้ความรู้สึกแตกต่างกว่าที่เคย นอกจากการคร่ำเคร่งทำวิจัยในภาษาที่สามของเขา นั่นคือ ภาษาอังกฤษ  ซอโพต้องลุ้นว่าโครงร่างงานวิจัยของเขาจะผ่านหรือไม่ตามปกติชีวิตแบบเด็ก ป.โท ค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนจะพอยังชีพไหม และที่ต้องครุ่นคิดหนักที่สุดก็คือ หากหัวข้อวิจัยผ่านแล้วเขาจะทำอย่างไรต่อเมื่อการเดินทางคืออุปสรรคสำหรับหัวข้อวิจัยที่เขาเลือก 

“เรามาเรียนที่เมืองไทยก็จริงแต่ก็อยากทำวิจัยในประเด็นที่สนใจที่บ้านเกิดของเรา อยากให้รัฐกะเหรี่ยงถูกพูดถึงในแวดวงวิชาการ สร้างความเข้าใจในพื้นที่ จะให้ปรับหัวข้องานวิจัยมาทำในพื้นที่ประเทศไทยเราก็ไม่ได้มีความอยากเรียนรู้ที่มากพอในประเด็นนั้น ๆ” 

คะแนนทดสอบความสามารถภาษาอังกฤษเป็นความท้าทายหนึ่งซึ่งซอโพและนักศึกษาปริญญาโทอื่น ๆ ต้องเผชิญ เขาต้องสอบให้ผ่านตามเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนดจึงจะสามารถนำเสนอหัวข้อวิจัยได้  

หลังจากขบวนการอารยะขัดขืน CDM เคลื่อนไหว ขยับ และยกระดับไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลคู่ขนาน NUG หรือ National Unity Government of the Republic of the Union of Myanmar ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 สถานการณ์ความรุนแรงของการปราบปรามประชาชนของรัฐบาลทหารพม่าก็ยกระดับตามไปด้วย มีคนบาดเจ็บล้มตายรายวันเพียงเพราะมีความเห็นต่าง ตั้งแต่เกิดการรัฐประหารมีจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,000 คน  

“จะปลอดภัยมากกว่าหากข้ามไปทางชายแดน แต่ก็จะไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนในอย่างอิสระ ไม่สามารถเดินทางข้ามรัฐได้ อยู่นานก็ไม่ได้เช่นกัน เพราะถ้ายังวางแผนจะนำเสนอและเรียนให้จบที่ไทย มันเสี่ยงต่อการผิดกฎระเบียบของทางราชการไทย ยังไม่รู้ว่าจะจัดการตัวเองยังไง”   

ไม่ใช่ว่ามีเงินซื้อตั๋วเครื่องบินแล้วจะกลับบ้านอย่างสบายใจ    การเดินทางเข้าออกประเทศโดยเครื่องบินโดยสารที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเรื่องปกติที่สุด กลับกลายเป็นจุดเสี่ยงอันตรายอย่างเป็นทางการสูงสุดจุดหนึ่ง    เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักในพื้นที่ รัฐทหารถือสิทธิให้ทุกคนต้องแจ้งข้อมูลส่วนตัวอย่างละเอียดที่สุดกับสถานทูตเมียนมาก่อนการเดินทาง   ในหมอกควันมืดมัวยามเผด็จการครองเมืองนั้นยากที่จะรู้ว่าชื่อของใครจะไปโผล่ในรายชื่อที่รัฐบาลทหารกำหนดให้จับตาเฝ้าดูพฤติกรรม    มีนักกิจกรรมและประชาชนจำนวนมากถูกจับที่สนามบินและถูกนำตัวไปกักขังหน่วงเหนี่ยวในเรือนจำ ดังนั้น หากเลี่ยงการเดินทางได้ก็ควรเลี่ยงเพราะดูเหมือนว่าจะเข้าออกช่องทางไหนก็เกิดความเสี่ยงซึ่งปัจเจกต้องแบกรับ 

“ตอนที่ได้ยินข่าวที่รัฐไทยพยายามผลักดันพี่น้องจากรัฐกระเหรี่ยงตามตะเข็บชายแดนที่หลบหนีการสู้รบข้ามฝั่งแม่น้ำสาละวินมาก็รู้สึกสะเทือนใจ   ถ้าเราวางประเด็นการเมืองและความมั่นคงลงก่อน แล้วมองเรื่องนี้ตามกรอบที่เพื่อนมนุษย์พึงปฏิบัติต่อกัน รัฐไทยน่าจะมีการจัดการผู้อพยพที่ดีกว่าการผลักดันพวกเขากลับพื้นที่เสี่ยงอันตราย”   

เหตุการณ์รัฐประหารครั้งนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่น่าตื่นตกใจของผู้คนที่อยู่ในแถบภาคกลางของเมียนมา เช่น ภูมิภาคเอยาวดี ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ พวกเขาไม่เคยเผชิญหน้ากับสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างการปะทะกัน สงครามกลางเมือง หรือพบเจอความสูญเสียรายวันบ่อยครั้งเท่าที่กลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่อาศัยในรัฐอื่น ๆ ต้องพบเจอ สำหรับซอโพที่เกิดและโตในรัฐกะเหรี่ยงจะพูดว่าชินก็เป็นความเจ็บปวด แต่ข้อเท็จจริงก็คือเขาอยู่ท่ามกลางสถานการณ์การสู้รบและความขัดแย้งเช่นนี้ตลอดมา 

“ยังไม่อยากพูดถึงปัญหาการสู้รบระหว่างทหารเมียนมาและกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ต่าง ๆ เป้าหมายอันดับแรกคือต้องได้ประเทศคืนมาจากเผด็จการเสียก่อน แล้วอย่างอื่นค่อยว่ากัน   ลึก ๆ ก็หวังอยากเห็นคนเมียนมาเข้าใจในอัตลักษณ์วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์และกระจายอำนาจให้รัฐบาลท้องถิ่นในรัฐต่าง ๆ จัดการตนเอง” 

พ่อค้าแม่ค้าในตลาดเรียกป้าแสงคำว่า “เจ๊” โดยต่างรู้กันดีว่าถ้าหยุดซื้อของที่ร้านไหน มักจะซื้อเยอะเป็นพิเศษ ป้าแสงคำรู้สึกเขินอายที่ตกเป็นเป้าสายตาจับจ้องของคนในตลาดเพราะซื้อของเยอะเหมือนแม่เลี้ยง แถมบางวันมีคนตามไปช่วยถือของ    

“คนไทยเขาก็ว่าป้าเป็นคนพม่า คนพม่าก็บอกว่าป้าเป็นคนไทใหญ่ ไม่รู้จะบอกว่าตัวเองเป็นคนอะไรเหมือนกัน” “ป้าแสงคำ” แม่ครัววัย 54 ปี แนะนำตัว 

คนไทใหญ่ไม่ใช้นามสกุล จะเรียกชื่อเสียงเรียงนามอย่างเต็มยศก็ต้องเรียกชื่อตามด้วยบ้านเกิด เช่น แสงคำเมืองนาย เมืองเล็ก ๆ ทางตอนใต้ในรัฐฉาน   จริง ๆ หากจะสาวลึกไปยังกระแสธารแห่งประวัติศาสตร์   ป้าแสงคำอาจสามารถแนะนำตัวว่าเป็นคนเชียงใหม่ได้ด้วยซ้ำ เพราะครั้งหนึ่งในยุคสมัยของพญามังราย เมืองนายไม่ใช่ใครอื่นไกลแต่เคยเป็นเมืองลูกของเชียงใหม่ 

“ป้าย้ายมาอยู่เชียงใหม่ตั้งแต่ปี 2547 เจียดแบ่งที่ดินแปลงเล็กแปลงเดียวของครอบครัวขายได้แค่ 200,000 จ๊าด (ประมาณ 10,000 บาทไทยในขณะนั้น) จ่ายค่านายหน้าหอบลูกชายย้ายมาหางานทำ ตัดสินใจมาเพราะตอนนั้นที่บ้านต้มเหล้าขาย แต่เมืองนายเป็นเขตสู้รบค้าขายไม่ได้กำไรเพราะทหารพม่ามาขอเหล้ากินดื้อ ๆ เป็นประจำ คุยกันก็ไม่รู้เรื่อง พูดคนละภาษา ป้าโมโหมาก ไม่อยากจะยอมให้เหล้าต้มมันกินฟรี ๆ จนครั้งสุดท้ายเกือบเอาอะไรนะที่ใช้ขุดดินมีด้ามยาว ๆ ฟาดมันนั่นแหละ ป้ารู้สึกทนไม่ไหวแล้วเลยเลิกขาย”  

มีเพียงแค่คำว่า “จอบ” ที่หายไปจากคลังคำศัพท์ภาษาไทยของป้าแสงคำ นอกนั้นมีสำเนียงเพียงนิดเดียวที่ฟ้องสำเนียงบ้านเกิด    

ครอบครัวของป้าแสงคำแยกกันอยู่คนละทิศคนละทางตามความจำเป็นนับตั้งแต่นั้น เธอตัดสินใจทิ้งสามีไว้ที่บ้านเพื่อดูแลลูกสาวและแม่วัยชรา เหตุผลคือในภาวะคับขันยามนั้นจำเป็นต้องมีผู้ชายสักคนประจำอยู่ที่บ้านเพื่อป้องกันความปลอดภัยให้คนที่เหลือในสถานการณ์ที่กองกำลังทหารไทใหญ่ยังทำการสู้รบกับทหารเมียนมา เกือบ 20 ปีผ่านไป ไม่น่าเชื่อว่าความฝันที่ครอบครัวของเธอจะได้กลับมาอยู่ด้วยกันพร้อมหน้ายังไม่มีทางเป็นจริง การสู้รบยังเกิดขึ้นระหว่างสองฝ่ายเดิมแถมเพิ่มเติมนักสู้หน้าใหม่ คือ ขบวนการอารยะขัดขืน CDM  

ป้าแสงคำติดรูปเจดีย์สีทองอร่ามติดไว้บนกำแพงตรงหัวนอน เราพบเห็นเจดีย์สีทองพิมพ์นิยมนี้ได้ทั่วไปในเมียนมาร์ เป็นอิทธิพลจากความศรัทธาในเจดีย์ชเวดากอง ศูนย์รวมจิตใจคู่บ้านคู่เมืองของชาวเมียนมา 

“ป้าเริ่มจากทำงานพนักงานในร้านอาหารเงินเดือน 3,000 บาท จนตอนนี้มาเป็นแม่ครัวประจำเงินเดือน 15,000 บาทแล้ว” 

ลูกชายของป้าแสงคำสร้างครอบครัวกับคนไทใหญ่ด้วยกัน รับตัดเย็บเสื้อผ้าไทใหญ่อยู่กับบ้านรายได้เดือนละหลายหมื่นบาท   รายได้ที่เหลือจากใช้จ่ายในครอบครัว ป้าแสงคำจะส่งกลับบ้านที่เมืองนายเพื่อฝากเก็บไว้ในธนาคารซึ่งก่อนเหตุการณ์รัฐประหารดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 8   แต่ตอนนี้อย่าไปถามหาดอกเบี้ยเลย เพียงแค่จะถอนเงินที่เป็นสินทรัพย์ส่วนบุคคลออกมายังต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของรัฐบาลทหาร 

“ลูกสาวป้าทำงานธนาคารเงินเดือนสามแสนจ๊าด เดือนหนึ่งก็ถอนได้แค่นั้น ห้ามถอนเกิน   ยังไม่รู้เลยว่าจะทำยังไงกับเงินที่ยังถอนออกมาไม่หมด กลัวธนาคารมันจะล่มเข้าสักวัน เงินเราที่ยังเหลืออยู่ในนั้นก็ไม่รู้จะหายไปวันไหน” 

เราต่างเลือกจุดหมายปลายทางแห่งใดแห่งหนึ่งเป็นบ้าน ณ ชั่วขณะ เพียงแต่ชั่วขณะของเธอ เขา เรา ฉันนั้นสั้นยาวแตกต่าง และบางครั้งเข็มนาฬิกาก็หมุนย้อนกลับในแบบที่เราควบคุมไม่ได้ ทำให้เราต่างเผชิญความเจ็บปวดซ้ำ ๆ อย่างไม่มีสิทธิเลือก หอมหล้า ซอโพ และป้าแสงคำ ยังให้คำตอบไม่ได้ว่าที่ใดจะเป็นบ้านหลังสุดท้ายของเธอ เขา และครอบครัว   ไม่มีประโยชน์ของเผด็จการในบทสนทนา และการถ่ายโอนอำนาจให้กลับคืนสู่มือของประชาชนเป็นทางเดียวที่จะทำให้เข็มนาฬิกากลับมาหมุนในทิศทางที่ควรเป็นอีกครั้ง      

………………………… 

ขอบคุณแหล่งข้อมูล: 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ