“เมืองดำรงอยู่ได้ด้วยชีวิตต่าง ๆ” จะไม่มีคำว่าเมือง ถ้าไม่มีชุมชน

“เมืองดำรงอยู่ได้ด้วยชีวิตต่าง ๆ” จะไม่มีคำว่าเมือง ถ้าไม่มีชุมชน

วันที่สามในงานครบรอบ 10 ปี รายการก(ล)างเมือง ไทยพีบีเอส ร่วมกับ Documentary club จัดงานเทศกาลหนัง “อยู่เมืองดัดจริต ชีวิตต้อง….” ฉายภาพยนตร์สารคดีก(ล)างเมือง และขยายประเด็นผ่านเวทีพูดคุยกัน เพื่อสะท้อนนโยบายสาธารณะของเมืองในหัวข้อ บ้านเมืองก็ของเรา จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3กันยายน 2565 มีผู้ร่วมเสวนา ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร และศุเรนทร์ ฐปนางกูร กรรมการบริษัทชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ดำเนินรายการโดย วิภาพร วัฒนวิทย์ บก. Backpack Journalist/Decode

ศุเรนทร์ ฐปนางกูร สะท้อนว่า สิ่งที่ผมให้ความสนใจหลังจากดูหนังสารคดีมันมีเรื่องของคน เรื่องของชุมชน และในนิยามของชุมชนทั้งสามเรื่องนี้ความหมายนิยามไม่เหมือนกัน แม้แต่ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ก็เป็นการนิยามอีกแบบนึง บางทีเวลาเราทำเรื่องของเมืองต้องมีกระบวนการวิเคราะห์ทำความเข้าใจ  

อย่างประสบการณ์ของผมที่อยู่ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ในช่วงแรก ๆ ที่เราเริ่มมีการเจราต่อรอง ผมเป็นคนนึงที่ไม่กล้าเรียกตัวเองว่าชุมชน เพราะว่าในความเป็นเลื่อนฤทธิ์เป็นชุมชนที่อยู่ใจกลางเยาวราช และเรามีปัญหาเมือง 20 ปีที่แล้ว เราถูกบอกเลิกสัญญาจากสำนักทรัพย์สินฯ ตอนนั้นเกิดการรวมกลุ่มของชาวบ้านแล้วก็ไปเจรจา จนสุดท้ายสามารถที่จะต่อสัญญาได้ 

เวลาเราพูดประวัติศาสตร์ เราอย่าเอาความคิดปัจจุบันไปจับเหตุการณ์เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ของกรณีเลื่อนฤทธิ์เกิดขึ้นหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจทั้งหมดมีการปรับตัวอย่างรุนแรง รวมถึงตัวสำนักงานทรัพย์สินฯ ด้วย จึงมีนายทุนเข้าไปบอกว่าจะเอาพื้นที่ของชุมชนเลื่อนฤทธิ์ไปพัฒนาเป็นศูนย์การค้า ตอนนั้นเราไม่เห็นด้วยและเริ่มต้นในการพูดคุยเจรจา 

ประเด็นของเราเองคือ พอเราบอกว่าเป็นชุมชนที่อยู่ในเยาวราช เวลาพูดออกที่สาธารณะว่าเราขอเรียกร้องสิทธิ ทุกคนคงด่าแน่นอน เพราะเราไม่ใช่เป็นคนที่มีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ เรื่องความยากจน ทำให้การต่อสู้ก็ค่อยข้างจำกัด

แต่สิ่งหนึ่งที่เราเห็นตอนนั้น บังเอิญเห็นสัญญาของนายทุนที่จะเข้ามาทำศูนย์การค้า เราเห็นตัวเลขของการลงทุน เราบอกว่าตัวเลขแบบนี้ทำไมเราถึงปล่อยให้การลงทุนอยู่ในมือของนักทุนลงเพียงแค่รายเดียว ทำไมไม่ให้เกิดการระดมทุน และการรวมตัวกันของคนเล็กคนน้อยลงขันกัน ในการที่จะสร้างเมือง-ชุมชนของเราขึ้นมา อันนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้น  

แต่ว่าจุดแข็งอีกอันของชุมชนเลื่อนฤทธิ์ คืออาคารเก่าที่สร้างสมัยรัชกาลที่ 5 เวลาพูดถึงอาคารเก่า อาคารอนุรักษ์ เรามองย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว สังคมไทยไม่รู้จักคำว่าอนุรักษ์ สมัยนั้นเรากำลังคิดว่าอยากจะมีการพัฒนา ชาวบ้านไม่ต้องการศูนย์กลางค้า แต่ชาวบ้านต้องการอนุรักษ์ ชาวบ้านต้องการอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น ซึ่งกระบวนการของเมืองเป็นกระบวนการที่ต้องเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตลอดเวลา  

ตอนนั้นคนที่พูดประเด็นอนุรักษ์เป็นนักวิชาการเพียงไม่กี่คน กว่าสังคมจะมารู้จักคำว่าอนุรักษ์จะคิดว่าการอนุรักษ์เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามันก็ผ่านมาเป็นสิบ ๆ ปี  

ตัวชุมชนความเป็นเลื่อนฤทธิ์ของเราตอนนั้น มันเป็นย่านการค้า เวลาผมมองคำว่าชุมชน เราจะเข้าใจนิยามความหมายของคำว่าชุมชน ชุมชนจะหมายถึงการอยู่ร่วมกันของคน มีครัว(ที่กิน) และมีเรือน(ที่อยู่) แต่เลื่อนฤทธิ์ไม่ได้มีสภาพแบบนั้น มีคนที่อยู่และกินพักอาศัยน้อยมาก รวมทั้งเป็นย่านการค้าที่มีการแข่งขันสูงมาก ฉะนั้นนิยามคำว่าชุมชนในวันนั้น ผมไม่รู้จะเรียกตัวเองว่าอย่างไร แต่วันนี้เรารู้แล้วว่าเราคือชุมชน 

“เวลาเรามองเรื่องเมือง และมองคำว่าชุมชน เราคงต้องนิยามคำว่าชุมชนให้ดี”

อย่างหนังสารคดีสามเรื่องที่เราดูตอน ขอนแก่นโมเดลเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่ผู้คนมายุ่งเกี่ยวกันและทำเรื่องโครงสร้างการพัฒนาหัวเมือง ส่วนตอน เจริญชัยจะมีลักษณะชุมชนขนาดเล็ก ๆ ที่มีความผูกพันของวิถีอะไรบางอย่าง และตอน ชุมชนคนสร้างบ้าน อันนี้น่าสนใจ และเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่สำคัญมาก คือชุมชนใหม่ที่เกิดขึ้นกับการเติบโตของเศรษฐกิจ เป็นชุมชนใหม่จากพ่อหลายแม่มาอยู่รวมกัน นี่เป็นโจทย์นโยบายที่สำคัญซึ่งตอนนี้ยังไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้เท่าไรนัก

ศานนท์ หวังสร้างบุญ มองว่า จะไม่มีคำว่าเมืองเลยถ้าไม่มีชุมชน เพราะชุมชนรวมกันเห็นเป็นเมือง สิ่งที่สำคัญมาก ๆ คือทำอย่างไรให้หน่วยที่เล็กที่สุดมันเข้มแข็ง วันนี้หน่วยที่เล็กที่สุดเข้มแข็ง วันนั้นเมืองก็จะเข้มแข็ง ซึ่งตรงกับที่อ.ชัชชาติพูดเสมอเรื่องเส้นเลือดฝอย เรื่องโซ่

“ข้อที่เล็กที่สุดอ่อน ทั้งโซ่ก็ไม่มีความแข็งแรง เช่นเดียวกันถ้าเราไม่ดูแลชุมชนที่เป็นเส้นเลือดฝอยของเมืองก็คงไม่สามารถทำให้เมืองดีขึ้นได้”

เวลาเราพูดถึงการพัฒนาเมือง เราชอบมองไปที่ถนน อุโมงค์ แต่การพัฒนาเมืองในมุมมองของผมคือการพัฒนาคน พัฒนาชุมชน ซึ่งหัวใจของเศรษฐกิจต่าง ๆ มาจากความสัมพันธ์ของคนทั้งนั้น ท่องเที่ยวคือการเดินทางของคน การก่อสร้างคนต้องเป็นแรงงานของกันและกัน คนที่เป็นเศรษฐีมีเงินกับคนที่ต้องการแรงงานต้องอยู่ใกล้กัน เพราะฉะนั้นการที่จะทำให้เมืองและเศรษฐกิจมันเดินหมุนเวียนกันได้ การดูแลชุมชนคือหัวใจ การสร้างเศรษฐกิจ การพูดถึงนักท่องเที่ยวไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยถ้าเราไม่ดูแลชุมชน   

กลไกการจัดการที่ดีช่วยให้เสียงชุมชนดังขึ้น

ศุเรนทร์ ฐปนางกูร เห็นด้วยว่าตัวชุมชนเป็นเส้นเลือดฝอยสำคัญ แต่เส้นเลือดฝอยอย่างที่คุณศานนท์ว่าการไปจัดการจะทำอย่างไร อย่างผมวันแรกที่ผมไม่กล้าบอกว่าผมคือชุมชน เพราะเยาวราชเป็นย่านการค้า มีธุรกิจ และธุรกิจขนาดใหญ่คือธุรกิจค้าผ้า และมีพ่อค้าผ้าเป็นคนจีน และผ้าที่เป็นคนอินเดีย เพราะฉะนั้นการแข่งขันมันสูงมากในหมู่เพื่อนบ้าน ทำให้ความร่วมมือมันน้อยกว่าความแข่งขัน สู้กันขนาดทีว่าตัดต้นทุนขายกัน คนจีนขายเท่าต้นทุน คนแขกขายต่ำกว่าทุน ถ้ามองเส้นเลือดฝอยโดยที่ไม่มีตัวกลไกเข้าไปจัดการอย่างไรก็ไม่เกิด

หลังจากที่กระบวนการเราคุยและเราทำงานไปเรื่อย ๆ สิ่งที่พบเวลาเราพูดถึงมิติของชุมชน มันมีมิติตัดในเชิงของพื้นที่ในแนว ณ เวลานึงกับพัฒนาการการค่อย ๆ เคลื่อนตัวของชุมชน 

ตัวอย่างของเลื่อนฤทธิ์ ตัวตึกอายุร้อยกว่าปี แต่ระหว่างนั้นจะมีกลุ่มคนเข้าไปใช้ประโยชน์ของอาคาร ยุคแรกก็จะเป็นคนไทยเข้าไปใช้ประโยชน์และหมุนเวียนกันไปเรื่อย ๆ ยุคสองเป็นคนจีนแคะ มีวิถีของการเย็บปักเสื้อผ้า สุดท้ายธุรกิจเปลี่ยนไปเศรษฐกิจเปลี่ยนไป ก็มาด้วยของกลุ่มคนซิกข์ อุตสาหกรรมสิ่งทอเปลี่ยนไปด้วยคนหน้าจีนเข้ามาแทรก ตัววัฒนาการของชุมชนตรงนี้มันร้อยสายอะไรบ้างอย่างไว้ เวลาวิกฤตสายตรงนี้มีส่วนในการออกแบบกลไกของชุมชน

ตอนนั้นข้อเสนอ คือ หนึ่งเราไม่เอาศูนย์การค้า สองเราจะขอทำเป็นอาคารอนุรักษ์กลับให้เหมือนสมัยรัชกาลที่ 5 แต่มีการปรับการใช้งานให้ตอบโจทย์ปัจจุบัน เราจะระดมทุนด้วยตัวของเราเอง และเงินในการอนุรักษ์จะเป็นเงินของชาวบ้านทั้งหมด และเราก็เอาชาวบ้านทั้งหมดมาถือหุ้น การระดมเป็นการระดมทุนจากชาวบ้านทั้งหมด ตอนแรกมีคนมาถือหุ้น 80 กว่าคน เป็น 160 คน ขณะเดียวกันในตัวชาวบ้านมีการตั้งบริษัท และบริษัทมีการตั้งกรรมการ กรรมการก็เป็นตัวแทนของชาวบ้าน สิ่งที่เกิดขึ้นคือว่า ตัวกลไกการจัดการ กรรมการเป็นคนที่เอาเรื่องทุกเรื่องมาประชุม เพื่อเสนอต่อผู้ถือหุ้น เพราะฉะนั้นเวลาเราพูดชุมชนและการมีส่วนร่วม การออกแบบกลไกการจัดการเป็นเรื่องที่ต้องลงมือทำด้วยไม่อย่างนั้นมันอาจจะไม่เกิด 

“เราเริ่มต้นจากความไม่รู้ แต่โอกาสมันมาจากการที่เราถูกบอกเลิกสัญญาว่าจะต้องถูกย้ายออก แล้วเราได้เรียนรู้มาทีละก้าว”

ศานนท์ หวังสร้างบุญ มองว่า ปัญหาของชุมชนจริง ๆ แล้ว ที่ดินของประเทศเรามันไม่มีให้เป็นของชาวบ้านตัวเล็กสักเท่าไหร่ อย่างวันนี้ใครจะซื้อบ้านทั้งชีวิตเราหมดไปแล้วหนึ่งรุ่น

ความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากการถือครองที่ดินต่อสู้ยากมาก ตอนที่ผมไปทำที่ชุมชนป้อมมหากาฬ เราเข้าไปด้วยความโรแมนติก ชุมชนสถาปัตยกรรมบ้านเรือนไม่เก่า คนไทยไม่ชอบเหม็น ฝรั่งไปนั่งกินข้าว พอเข้าไปแล้วมันไม่โรแมนติกเลย การที่บอกว่าฝรั่งชอบเพราะมันแค่แตกต่าง แต่คุณภาพชีวิตที่เขามีกันยกตัวอย่างเช่น น้ำไฟพร้อมโดนสับสวิตซ์ได้ทุกเมื่อ เพราะเป็นชุมชนต่อสู้ บ้านเลขที่ การอุดหนุนชุมชนไม่มี ตามยถากรรม บ้านบางหลังที่บอกว่าโทรม เพราะมันไม่เคยมีการดูแลจากส่วนกลาง หรือความเป็นชุมชนก็พร้อมที่จะแตกสลายได้ทุกเมื่อ ผมว่าปัญหานี้มันสะท้อนชุมชนแออัดทั้งหมดที่อยู่ในกทม.  

ตอนนี้ชุมชนในกทม. มี 2,017 ชุมชนเป็นแค่ส่วนบนแต่ยังมีใต้ภูเขาน้ำแข็งที่ไม่รู้ว่าเรียกว่าชุมชนหรืออะไรดี หน้าที่แรกของกทม. คือปรับระเบียบชุมชนใหม่ ตอนนี้เรากำลังปรับระเบียบชุมชนให้สามารถจัดตั้งชุมชนที่ต่ำกว่า 100 หลังคาเรือนได้ เป็นชุมชนที่เรียกว่าชุมชนพิเศษ การทำแบบนี้สำคัญอย่างไร 

“โอเคล่ะ เรายังไม่ได้ไปแก้เรื่องที่ดิน ยังไม่ได้ไปแก้สวัสดิการอื่น ๆ แต่เราต้องทำให้คนรู้จักหรือว่าอยากมีการจัดตั้งเป็นชุมชนก่อน” 

ประเด็นนี้ผมคิดว่าการมองเห็นผู้คนสำคัญมาก ซึ่งพอเรามองเห็นแล้วเขาจัดตั้งเป็นชุมชนแล้ว เขามีกระบวนการแบบที่คุณศุเรนทร์พูดเมื่อกี้ และปัญหาที่เขามีร่วมกันมันจะไม่ถูกแก้เลยถ้าเขาไม่รวมกลุ่มกัน

การรวมกลุ่มมันเป็นจุดเริ่มต้นของการเห็นว่า มันต้องออมทรัพย์ออมเงินกัน หรือว่าต้องแสวงหาที่ดินอาจจะอยู่ที่เดิมไม่ได้ ซึ่งก็เป็นกระบวนการนึงที่สำคัญของการสร้างบ้านที่มั่นคงให้กับชุมชน ต้องยอมรับว่าหลายชุมชนก็บุกรุกจริง ๆ 

“การบุกรุกจำเป็นต้องทำ เพราะเมืองนี้มันแพง ไม่มีสวัสดิการให้เขา ขณะที่เขาอยู่ได้เพราะเขามีงานทำ นั่นแสดงว่าเมืองนี้ต้องการเขา แต่ดันไม่มีพื้นที่ให้เขาอยู่”

เพราะฉะนั้นหน้าที่ของกทม. อันดับแรกคือการทำให้เกิดชุมชนที่มีอยู่จริง และจดจัดตั้งชุมชนได้จริง เพราะคือจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาที่เหลือทั้งหมด สองการตั้งสำนักงานที่อยู่อาศัย เป็นสำนักงานที่อยู่ใต้สำนักพัฒน์กำลังจัดตั้งขึ้นมา งานแรกของสำนักพัฒน์ คือวิเคราะห์ผังทั้งหมดว่าจะมีพื้นที่ของชุมชนคนจนเมืองในแต่ละที่เท่าไร เปอร์เซ็นต์จะเป็นอย่างไร นี่คือหน้าที่ของกทม. ถ้าเราจะบอกว่าเรากำลังทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน คำว่าทุกคนเป็นข้อความสำคัญมากและคนจนก็คือหนึ่งในนั้นที่ต้องดูแล

ลองไปถามในการต่อสู้ของทุกที่ต้องมีเรื่องการอนุรักษ์ เรื่องประวัติศาสตร์เขาถึงจะอยู่ได้ กลับกลายเป็นว่าการจะมีที่ดิน การจะมีชีวิตเพื่อเป็นแรงงานให้กับในเมือง ฉันจะต้องมีประวัติศาสตร์ ผมว่าเรื่องราวเหล่านี้มันคงเป็นการต่อสู้ที่ต้องหมดได้แล้ว วันนี้เราต้องมาหาที่ดิน ซึ่งเจ้าภาพที่ดีที่สุดคือกทม.    

การสร้างเมืองต้องเห็นพื้นที่ร่วมกัน

ศานนท์ หวังสร้างบุญ ให้ความเห็นต่อกรณีไล่รื้อพื้นที่ทางรถไฟว่า โทษรถไฟเขาไม่ได้ เขาเห็นเฉพาะที่ที่เขาดูแล สิ่งที่เมืองต้องทำคือทำให้คนเห็นพื้นที่ทั้งหมด และเห็นว่ารถไฟเป็นส่วนใดในเมือง คือบางที่ที่ต้องรื้อก็ต้องรื้อจริง ๆ แต่บางที่รถไฟก็ต้องยอมเพื่อให้เกิดพื้นที่ในเมืองได้ ผมว่ามันจะแก้ไม่ได้เลยถ้าต่างคนต่างมองเฉพาะที่ดินตัวเอง แต่ถ้ากลับมาที่ว่ากรุงเทพฯ กำลังทำอะไร พื้นที่ทั้งหมดต้องจัดสรรแบบไหนจะรู้เรื่องมากขึ้น

ฉะนั้นการไล่รื้อตรงนี้จะมองแค่มิติที่อยู่อาศัยอย่างเดียวคงลำบาก แต่ถ้าจะมองเรื่องเศรษฐกิจแรงงาน อาจจะต้องมองเนื้อเมืองทั้งหมดด้วย จะเห็นว่าหลาย ๆ การจัดการเรื่องชุมชนจำเป็นต้องหาที่ดินใหม่ อย่างล่าสุด ชุมชนคลองลำไผ่ อันนี้ก็ต่อสู้มาหลายปี สุดท้ายเขาก็ยอมไปอยู่ไกลหน่อย ผมว่าจริง ๆ แล้ว อยู่ที่การพูดคุยกันอาจจะต้องลดความมั่นใจของทั้งคู่มามองความเป็นจริงว่าเราจัดสรรอย่างไรได้บ้าง

ผมเชื่อว่าสุดท้ายแล้วคนจนไปไหนไม่ได้ไกล เขาต้องอยู่ใกล้งาน ถ้าจะย้ายเขาแล้วคุณไม่พูดมิติเรื่องงานมันไม่มีทางเป็นไปได้ ฉะนั้นการย้ายออกไปต้องพูดระบบนิเวศที่ทำให้เขาต้องอยู่อาศัยได้ด้วย

คนเมืองโหยหาชุมชน

ศานนท์ หวังสร้างบุญ บอกเพิ่มเติมอีกว่า เมืองมีเรื่องสนุกเยอะ ถ้าเรามองชุมชนเป็นเรื่องไล่รื้อเรื่องพวกที่อยู่อาศัยก็เครียด แต่ถ้าเราไปมองเรื่องอาหาร วัฒนธรรม วิถีชีวิต การกินความสัมพันธ์ กีฬา การศึกษามีให้เล่นสนุกมากมาย อย่างวันนี้มีย่านสร้างสรรค์ ชุมชนเขาจัดถนนคนเดิน และเขตมีนโยบายที่ต้องสนับสนุนถนนคนเดิน จากเดิมที่เราทำถนนคนเดินได้สำนักงานเขตต้องไปจ้างออแกไนซ์มาทำตลาด กลายเป็นว่าเขตต้องวิ่งไปหาว่าชุมชนเขาจัดตลาด และที่ไหนมีประสิทธิภาพบ้าง วันนี้เราได้ 11 ย่านที่เกิดจากชุมชน อย่างมัสยิดเจริญกรุง 103 หรือตลาดน้อยที่จะมีงาน งานสนุกเยอะกว่างานไม่สนุก งานสนุกมันจะไปกระตุ้นให้คุณค่าต่าง ๆ ไม่ใช่เฉพาะประวัติศาสตร์ 

ผมว่าทุกคนโหยหาชุมชน คนชนชั้นกลาง คนนอนคอนโด คนที่น่าสงสารไม่ใช่คนในชุมชน คือคนไม่มีสังคมเครือข่ายแบบชุมชน เพราะเวลาชุมชนเขาทำอะไรร่วมกันแล้วมันสนุกมาก เวลาเราไปดูเมืองที่เจริญสิ่งที่เขาโหยหาคือ เขาไม่มีราก ไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างกัน ซึ่งในชุมชนมีอย่างเต็มเปี่ยม แต่ส่วนหนึ่งผมว่าการจะแก้ปัญหาของชุมชน ต้องอาศัยแรงพลังจากคนนอกด้วย ตราบใดที่คนในชุมชนพูดแต่เสียงเขาเพียงอย่างเดียวเอง สุดท้ายเสียงมันจะเบา แต่ถ้าคนข้างนอกมาเห็นจะช่วยให้สังคมมองเห็นและภาครัฐตอบสนองไปได้มีนโยบายที่ดีอยู่แล้วผมว่ามันจะขับเคลื่อนไปได้

หัวใจสำคัญทำให้บ้านเมืองเป็นของเรา 

ศานนท์ หวังสร้างบุญ บอกว่า “บ้านเมืองก็ของเรา” การจะทำกรุงเทพฯ ให้ดีขึ้นก็อาจจะต้องมีความเป็นเจ้าของร่วมกันในเมืองนี้ จริงก็ต้องให้ทุกคนได้ยินเสียง คือคนที่ดูแลเมืองก็ต้องได้ยินเสียงของทุกคนเหมือนมันต้องได้ยินเสียงกันและกัน

วันนี้อาจจะไม่เป็นเมืองของบางคนเพราะว่าอาจจะลืมเขาไป คนพิการมีประเด็นนี้เยอะ ทำให้ยังคงมีบางคนที่หลุดไป หน้าที่ของเราทำอย่างไรให้เชื่อมโยงกันมากขึ้น ซึ่งกทม.เองก็มีกลไกที่ดูทุก ๆ กลุ่มให้มากขึ้นด้วย สำนักที่ตัวเองดู เช่น สำนักพัฒนาสังคม สำนักการศึกษา จริง ๆ งานของเราอาจจะไม่ได้มีอะไรไปกว่าการเจอและพูดคุยกับคนทุกคนแล้วก็ชวนมาช่วยกันเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้มันดีขึ้น และทำให้เขารู้สึกว่าเมืองยังเห็นเขาและเขายังเห็นเมือง เขามีสิทธิในการสร้างเมืองที่ดีขึ้น

ดูสารคดีย้อนหลังจากวงเสวนา

ตอน ชุมชนพับกระดาษ

ตอน บ้านของคนสร้างบ้าน

ตอน ขอนแก่นโมเดล

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ