ชาวม้ง “ม่อนแจ่ม” ยันเดินทางเข้า กทม. ถวายฎีกา ค้านรื้อโฮมสเตย์

ชาวม้ง “ม่อนแจ่ม” ยันเดินทางเข้า กทม. ถวายฎีกา ค้านรื้อโฮมสเตย์

ความคืบหน้า กรณีเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้  สนธิกำลังเตรียมดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและโฮมสเตย์ 5 แห่ง บริเวณ “ม่อนแจ่ม” อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา  แต่ชาวบ้านรวมตัวกันคัดค้านจนต้องยกเลิกปฏิบัติการนั้น

ในวันนี้ (5 ก.ย. 2565) เครือข่ายชาวไทยภูเขาชนเผ่าม้งม่อนแจ่ม อ.แม่ริม ประมาณ 1,000 คน เดินเท้าจากดอยม่อนแจ่มมายังศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย และต่อมาเดินทางมายื่นหนังสือข้อเรียกร้องที่ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่เพื่อขอพบผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่  โดยมีปลัดจังหวัดเชียงใหม่รับเรื่องไว้  และเวลาประมาณ 12.30 น. เครือข่าย ฯ ได้อ่านแถลงการณ์ถึงคนไทยทั้งประเทศ  โต้ประเด็นมายาคติ 5 ประการที่หน่วยงานใช้เป็น ความชอบธรรม ในการเข้ารื้อถอนม่อนแจ่ม ได้แก่

1. กล่าวหาว่าเป็นนายทุน นอมินี

2. พื้นที่การพิพาทมีการซื้อขายเปลี่ยนมือ

3. กล่าวหาว่าบุกรุกพื้นที่ป่าใหม่

4. กล่าวหาว่าบุกรุกพื้นที่เพิ่มเติม

5. กล่าวหาว่าใช้พื้นที่ผิดวัตถุประสงค์

นาย เอกรินทร์ นทีไพร แกนนำเครือข่ายชาวไทยภูเขาชนเผ่าม้งม่อนแจ่ม อ่านคำแถลง

โดยแถลงยืนยันว่าม่อนแจ่มมีประวัติความเป็นมาก่อนพ.ศ. 2447 ทำกินและอยู่อาศัยมาก่อนประกาศเป็นที่ดินของรัฐตามกฏหมายครั้งแรก  แต่มีการใช้กฏหมายตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ 2507 และที่แก้ไขออกบังคับใช้ย้อนหลัง   เพียงแค่หมู่บ้าน ชุมชน ประชาชน ไม่ได้ไปแจ้งการครอบครองที่ดินตามประมวลกฏหมายทีดิน พ.ศ. 2497  ต่อมาเมื่อชุมชนพัฒนาเป็นชุมชนใหญ่ ก็ได้จัดตั้งเป็นหมู่บ้านตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทย การครอบครองที่ดินเป็นลักษณะต่อเนื่องจากบรรพบุรุษ ตามลำดับผังเครือญาติ ไม่มีการซื้อขายเปลี่ยนมือและมิได้เป็นนายทุนหรือนอมินี  และที่ดินแปลงพิพาทแต่ละแปลงมีจำนวนเนื้อที่ไม่มาก ตำแหน่งที่ดินก็ตั้งอยู่ใจกลางชุมชนและมีแนวเขตติดต่อทุกด้านติดกับที่ที่มีการครอบครองของราษฎรชาวเขาเช่นกัน  ฉะนั้น  การที่จะบุกรุกพื้นที่ใหม่เพิ่มเติมไม่มีมูลความจริง 

ส่วนกรณีที่กล่าวหาว่าใช้พื้นที่ผิดวัตถุประสงค์นั้น  แถลงการณ์ของชาวบ้านระบุว่า  ดำเนินการโดยสุจริตภายใต้เจตนารมณ์และวัตถุประสงค์แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมวิชาหกิจชุมชน พ.ศ.2548 และได้รับการสนับสนุนให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวจากทางราชการทั้งสิ้น และที่ผ่านมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็ได้มีหนังสือ ขอความร่วมมือให้ชะลอการดำเนินการไล่รื้อ ตลอดจนมีคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการ แผ่นดิน ให้ จ.เชียงใหม่ จัดทำแผนแม่บท (Master Plan) การบริหารจัดการบนพื้นที่ม่อนแจ่ม อย่างมีส่วนร่วม  แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้ดำเนินการ   ดังนั้นการกล่าวหาว่าชาวม่อนแจ่มกระทำผิดทั้ง 5 ประเด็นนั้นไม่มีมูลความจริง  และการอ้างว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายนั้นเป็นคำพูดที่สร้างให้สังคมไทยเข้าใจผิดชาวม่อนแจ่ม

และขอให้นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทบทวนสิ่งที่ทำกับประชาชน   ฯ ย้ำ

นายประสงค์ หล้าอ่อน ปลัด จ.เชียงใหม่ มาเป็นผู้แทนรับเรื่องจากเครือข่ายชาวไทยภูเขาชนเผ่าม้งม่อนแจ่ม

หลังจากนี้ เครือข่ายฯ ยืนยันจะเดินทางไปกรุงเทพมหานครในเช้าวันพรุ่งนี้ (6 ก.ย. 2565) เพื่อถวายฎีกา ยืนยันข้อเรียกร้องการพิสูจน์สิทธิในที่ดิน ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 11 พ.ค. 2542 ต่อไป

ทั้งนี้ระหว่างการชุมนุม  เครือข่ายฯได้มีการปราศรัยตอบโต้ ต่อการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ผ่านเฟซบุ๊ก TOP Varawut – ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา ของนายวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ระบุว่า ม่อนแจ่มคือสมบัติส่วนรวมของประเทศชาติ การดำเนินการธุรกิจใดๆ ก็ตาม ต้องเป็นไปตามกฎหมายและไม่บุกรุกทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวธรรมชาติที่ยั่งยืนจะต้องยึดถือผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง   

โดยนายเอกรินทร์ นทีไพรวัลย์ แกนนำเครือข่ายชาวไทยภูเขาชนเผ่าม้งม่อนแจ่ม ฝากถึงนายวราวุธ ว่าประชาชนม่อนแจ่มประมาณ 3,800 คน ถือครองที่ดินอยู่ 2,500 ไร่  มีรายงานจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ยืนยันว่าการบุกรุกพื้นที่ของชาวม่อนแจ่มเป็น 0 มาแล้วตั้งแต่ปี 2545 มีหลักฐานเป็นแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ กรณีที่นายวราวุธบอกว่าเป็นสมบัติของคนทั้งประเทศนั้น นายเอกรินทร์เห็นว่า ให้มีการพิสูจน์สิทธิตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 11 พ.ค. 2542 เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์ในป่า หากมีการพิสูจน์แล้วปรากฏว่าบุกรุกจริงก็น้อมรับในนามพลเมืองไทย แต่ขอให้ความจริงได้ปรากฏ ส่วนประเด็นที่นายวราวุธกล่าวหาว่าชาวบ้านมีการใช้ทรัพยากรที่ทำให้เกิดขยะ ขอชี้แจงว่าชาวม่อนแจ่มมีมติให้ชาวบ้านยกเลิกการใช้โฟมมา 5 ปีแล้ว ยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกและถุงก๊อบแก๊บมา 3 ปี ส่วนขวดแก้วก็ยกเลิกมา 2-3 ปีแล้ว

“ผมฝากไปถึงรัฐมนตรีฯ ว่า ท่านอย่ารับฟังความข้างเดียว อยากให้มาเพื่อเจรจา ชาวม่อนแจ่มพร้อมเสมอ” นายเอกรินทร์ย้ำ

ทั้งนี้จากการประชุม เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา ในการประชุมได้มีข้อสรุปเบื้องต้น เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาร่วมกันว่า เห็นควรแต่งตั้งนายเดโช ไชยทัพ ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านสิทธิทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม ของกสม.เป็นคณะทำงานแก้ไขปัญหาการใช้ประโยชน์พื้นที่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอยและบริเวณโดยรอบ (ม่อนแจ่มและพื้นที่ใกล้เคียง) เพื่อร่วมตรวจสอบแปลงที่ดินในพื้นที่ ซึ่งมีข้อขัดแย้งระหว่างหน่วยงานของรัฐและประชาชน

นายเดโช ไชยทัพ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ)

นายเดโช ไชยทัพ ประเมินว่า ทิศทางหลักในการคลี่คลายปัญหา คือ แนวทางและข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดิน (อ้างอิง ผู้ตรวจการแผ่นดิน ติดตามการจัดระเบียบม่อนแจ่มปี63) เป็นทิศทางหลักในการคลี่คลายปัญหา หมายถึง หลายฝ่ายมุ่งเน้นในการแก้ไขปัญหาโดยการจัดแผนแม่บทตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินนำเสนอ เพราะมีวิธีการที่เรียกว่า ปรับปรุงการท่องเที่ยวให้มีความเหมาะสมมากขึ้นซึ่งเป็นการจัดระเบียบใหม่ ซึ่งในด้านของชาวบ้านเองก็พร้อมที่จะปรับตัวจากการทำการท่องเที่ยว มีลักษณะการท่องเที่ยวต่อการเสี่ยงภัย และความล่อแหลมของระบบนิเวศด้วยคล้าย ๆ กับมีทัศนะที่เป็นทัศนะที่ไม่ดี ชาวบ้านยอมรับเรื่องนี้และยินดีพร้อมจะปรับปรุงและปรับเปลี่ยน และคิดว่าการแก้ไขปัญหาจุดนี้มีทางออกตามข้อเสนอเพียงแต่ความล่าช้า แต่ในความล่าช้ามีความต่อเนื่องที่ยังไม่จบ และเป็นโซ่ปมในความเป็นจริง

“มันย้อนแย้ง ชาวบ้านเห็นว่าการมาดำเนินการมาตรการจับกุมและรื้อถอนนั้น เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการไว้เนื้อเชื่อใจ ว่าจะไปทางไหน สิ่งนี้เป็นปม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเสนอให้ชะลอการรือถอนไปก่อน และมุ่งเน้นการจัดทำแผนแม่บทให้ชัดเจนและทำระเบียบการแก้ไขปัญหาให้เป็นไปตามแผนแม่บท”

เป็นทิศทางและเป็นทางออกซึ่งขึ้นอยู่กับทั้งสองฝ่ายว่าจะตกลงกันได้เร็วแค่ไหน เพราะไม่เช่นนั้นอาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้น และขอความร่วมมือดำเนินการ เร่งรัดกระบวนการแต่งตั้ง นายเดโช เพื่อเป็นคณะทำงานแก้ปัญหา และให้ชะลอการดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งอื่นใด ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ริม เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง ระหว่างหน่วยงานของรัฐกับประชาชนในพื้นที่ และอาจส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนในพื้นที่ จนกว่าคณะทำงานแก้ไขปัญหาการใช้ประโยชน์พื้นที่ฯ จะตรวจสอบการใช้ประโยชน์ในพื้นที่พิพาทแล้วเสร็จ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ