เครือข่ายประชาชนเพื่อขับเคลื่อนระบบบำนาญแห่งชาติ / รายงาน
องค์การสหประชาชาติได้ให้นิยามว่าประเทศใดที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเกินร้อยละ10 หรืออายุ 65 ปีขึ้นไปเกินร้อยละ 7 ของประชากรทั้งประเทศ ถือว่าประเทศนั้นได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ และจะเป็นสังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ เมื่อสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มเป็นร้อยละ 20 และอายุ 65 ปีขึ้นไป เพิ่มเป็นร้อยละ 14
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติได้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้เป็นสังคมสูงอายุมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 แล้ว เนื่องจากมีประชากรสูงอายุร้อยละ 10.4 ของประชากรทั้งประเทศ ส่วนข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพบว่าเมื่อปี พ.ศ. 2557 มีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 14 และคาดว่าในปี พ.ศ. 2583 จะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็น “สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์” เริ่มจากปี 2548 ประเทศไทยยังไม่ตื่นตัวต่อความเป็นสังคมสูงวัย โดยเฉพาะแผนการสร้างหลักประกันทางรายได้เมื่อสูงวัยสำหรับทุกคน แนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุในไทยจึงเป็นเรื่องที่รัฐต้องหันมาให้ความสำคัญในการวางแผน วางระบบ และมีแนวทางสนับสนุนหลักประกันทางรายได้ให้เป็นสวัสดิการในการดูแลผู้สูงอายุอย่างจริงจัง
แม้ว่าที่ผ่านมารัฐจะได้จัดสวัสดิการให้กับประชาชนในยามชราภาพ ทั้งในระบบบำนาญข้าราชการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานรัฐวิสาหกิจ และกองทุนประกันสังคมให้กับแรงงานในระบบ แต่ก็ครอบคลุมคนเพียงไม่กี่กลุ่ม
ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่กว่า 23 ล้านคนที่เป็นแรงงานนอกระบบ แรงงานที่รับจ้างรายวัน ไม่มีระบบบำนาญใดใดรองรับ มีเพียงการจัดสรร “เบี้ยยังชีพ” ให้ผู้มีอายุ 60 ปีทุกคน ตั้งแต่เดือนละ 600 – 1,000 บาท ตามลำดับขั้นอายุ แต่จำนวนเงินยังถือว่าไม่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน
นางประไพ อมรศักดิ์ หรือป้าไพ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ต.หนองหอย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ อายุ 67 ปี ปัจจุบันได้รับเบี้ยยังชีพเดือนละ 600 บาทเล่าให้ฟังว่า เมื่อได้รับเบี้ยยังชีพมาแล้วสิ่งแรกที่ผู้สูงอายุจะทำคือซื้ออาหารพวกข้าวสาร อาหารแห้งเก็บไว้ก่อน แต่ก็ไม่พอสำหรับใช้จ่ายในด้านอื่นๆ เช่น ถ้าผู้สูงอายุเจ็บป่วยแม้ระบบบัตรทอง (ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลแต่ค่าเดินทางก็เป็นภาระที่ผู้สูงอายุต้องจ่ายเอง ฟืนที่ใช้ในการหุงต้มก็ต้องจ่าย เพราะคนที่อยู่ในเมืองไปหาไม้มาทำฟืนเองไม่ได้ อีกทั้งคนจนที่อยู่ในเขตเมืองแวดล้อมไปด้วยป่าคอนกรีตไม่มีที่ดินทำกิน เพาะปลูกอะไรก็ไม่ได้ ต้องซื้อกินเกือบทั้งหมด
“ที่สำคัญผู้สูงอายุยังนิยมทำบุญและจ่ายเงินเข้ากองทุนฌาปนกิจจึงต้องเจียดเงินมาใช้จ่ายด้านสังคม และถ้าผู้สูงอายุบ้านไหนที่มีหลานต้องเลี้ยงดูก็ต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูแลหลานเพิ่มเติมทั้งค่ากินและค่าขนมให้หลานไปโรงเรียน ซึ่งเบี้ยยังชีพเดือนละ 600 บาท หรือเฉลี่ย 20 บาทต่อวันนั้นยังเป็นจำนวนเงินที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน” ป้าไพกล่าว
จากการสำรวจข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2554 แสดงให้เห็นว่ามีผู้สูงอายุ 1 ใน 3 ที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติใช้วัดความยากจนได้ในระดับบุคคล ครัวเรือน พื้นที่ จังหวัด ภูมิภาคจนถึงระดับประเทศ โดยพิจารณาจากความต้องการพื้นฐานขั้นต่ำของปัจเจกบุคคล ทั้งด้านอาหารและสินค้าอุปโภค หากครัวเรือนมีรายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายที่คำนวณได้ถือว่าเป็นครัวเรือนยากจน
สาเหตุของความยากจนส่วนหนึ่งมาจากนโยบายของรัฐที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ เช่น การให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมมากกว่าภาคเกษตรกรรม ทำให้คนในชนบทไม่เห็นความสำคัญของการทำการเกษตร รวมถึงการพัฒนาที่มุ่งสร้างความเจริญในเมืองมากกว่าในชนบท ส่งผลให้คนในชนบทส่วนใหญ่อพยพเข้ามาหางานทำในเมือง จึงทำให้วัยแรงงานต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อให้มีรายได้พอใช้ในแต่ละเดือน แต่ไม่มีศักยภาพในการออม ทำให้เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุจึงไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ
ดังนั้น การให้รัฐจัดระบบบำนาญแบบถ้วนหน้าให้เป็นหลักประกันทางรายได้ให้กับผู้สูงอายุทุกคนจะได้มีหลักประกันขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต โดยอยู่บนหลักการทั่วถึง เท่าเทียม และถ้วนหน้านั้น จึงถูกพูดถึงมากขึ้นทั้งในวงของภาคประชาชนและในวงของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานคณะกรรมการปฏิรูประบบรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย สภาปฏิรูปแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ว่าระบบบำนาญบ้านเราทุกวันนี้มีปัญหา ทั้งเรื่องสิทธิไม่เท่ากัน จำนวนเงินไม่เท่ากัน บำนาญบางระบบไม่พอเพียงและไม่ยั่งยืน เช่น ระบบบำนาญของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เป็นการออมเงินระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐจ่ายเงินสมทบบางส่วนมาใส่ถังตรงกลางร่วมกัน พอถึงเวลาใครได้รับสิทธิจากเงินชราภาพก่อนก็เอาไปใช้ก่อน แต่พอเงินหมดก็จบกัน แล้วคนที่มาทีหลังพอเห็นว่าในถังไม่มีเงินก็ไม่รู้จะเอาเงินตัวเองไปใส่อีกทำไม เพราะไม่มั่นใจว่าเงินที่ตัวเองออมไปนั้น พอถึงเวลาจะได้ใช้จริงหรือไม่จึงไม่มีความยั่งยืน
ส่วนกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) โดยหลักการดูน่าสนใจที่เป็นการสนับสนุนให้ประชาชนรู้จักออมเงิน โดยรัฐร่วมจ่ายเงินสมทบ แต่จำนวนเงินที่ประชาชนได้ใช้และที่รัฐสมทบให้ก็จะไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับศักยภาพในการออม ซึ่งเราอาจจะไม่เรียกว่าเป็นบำนาญ เพราะจำนวนเงินไม่เพียงพอต่อการยังชีพ
“เพราะฉะนั้นระบบบำนาญจึงต้องได้รับการปฏิรูป ต้องมีระบบบำนาญพื้นฐานสำหรับทุกคนซึ่งรัฐต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ทุกคนได้รับเงินอย่างน้อยเท่ากับเส้นความยากจน แต่ทั้งนี้ต้องให้ประชาชนทำควบคู่กับการบังคับออม (Forced saving) และให้รัฐมาเติม ซึ่งเป็นแนวคิดคล้ายๆ กับ กอช. เพราะโดยส่วนตัวมองว่าการสื่อสารแนวคิดเรื่องการปฏิรูประบบบำนาญต้องทำกับคนวัยทำงานที่กำลังเตรียมตัวเป็นผู้สูงอายุ เป็นผู้สูงอายุสำรองซึ่งยังมีความสามารถในการออมไม่เหมาะกับคนที่แก่แล้ว เพราะทำเรื่องออมได้ยาก” นายเจิมศักดิ์ให้ความเห็น
ขณะที่ในมุมมองของภาคประชาชนที่มีต่อเรื่องการจัดระบบบำนาญจากรัฐนั้น นายชาญยุทธ เทพา ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ ในฐานะตัวแทนของเครือข่ายประชาชนเพื่อขับเคลื่อนระบบบำนาญแห่งชาติ กล่าวว่าการจัดสวัสดิการผู้สูงอายุโดยรัฐเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 จำนวน 200 บาทต่อเดือน แต่ต้องเป็นประชาชนที่ยากจนเท่านั้นที่จะได้ถูกรับเลือกให้รับเป็นเบี้ยยังชีพ ซึ่งสุ่มเสี่ยงมากที่นักการเมืองจะใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างฐานคะแนนเสียงให้กับตัวเอง จึงทำให้ปี พ.ศ. 2552 รัฐบาลได้ปรับเปลี่ยนการจ่ายเบี้ยยังชีพมาเป็นการให้กับผู้สูงอายุทุกคนเดือนละ 500 บาท และในปี พ.ศ.2554 รัฐบาลจ่ายเบี้ยยังชีพให้ทุกคนเป็นขั้นบันไดตามช่วงอายุจาก 600 – 1,000 บาทต่อเดือน
จำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นไม่มีหลักคิดคำนวณ ไม่มีเกณฑ์กำหนดที่ชัดเจน แต่มีความสัมพันธ์กับนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง นโยบายสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความคิดของนักการเมือง ถือเป็นประชานิยม ไม่ใช่การสร้างหลักประกันทางรายได้เมื่อสูงวัย และไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักการสิทธิขั้นพื้นฐาน ยังไม่เป็นรัฐสวัสดิการ เพราะคิดอยู่บนฐานของการสงเคราะห์ ให้เฉพาะกับคนยากจน และจำนวนเงินก็ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย และถ้ารัฐบาลชุดใดไม่ให้ความสำคัญเบี้ยยังชีพก็จะหายไปทันที จึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนยามเข้าสู่วัยสูงอายุได้เลย
จึงเห็นว่ารัฐต้องปรับทัศนคติที่เคยมองว่าผู้สูงอายุเป็น “ภาระ” ให้เปลี่ยนมาเป็นการมองเห็นคุณค่าว่าผู้สูงอายุครั้งหนึ่งก็เคยเป็นวัยแรงงานที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศ มีหน้าที่ในการเสียภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับรัฐ ดังนั้น รัฐจึงจำเป็นต้องยกระดับเรื่องเบี้ยยังชีพให้เป็น “บำนาญแห่งชาติ”
ระบบบำนาญแห่งชาติเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนต้องได้รับอย่างถ้วนหน้า จึงเป็นหน้าที่ของรัฐในการจัดสวัสดิการที่เป็นหลักประกันทางรายได้ให้กับประชาชนเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ โดยต้องมีการคำนวณค่าใช้จ่ายโดยอ้างอิงตามเส้นความยากจน และต้องเป็นเรื่องที่กฎหมายรองรับ
ส่วนความกังวลว่าระบบบำนาญแห่งชาติจะเป็นภาระทางการคลังของประเทศหรือไม่ นายชาญยุทธมองว่าถ้ารัฐต้องมีแนวทางที่ชัดเจนในการแบ่งงบประมาณเพื่อมาจัดสวัสดิการทางสังคมด้วยการปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษี เช่น การจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า ภาษีดิน ภาษีมรดก รวมถึงการจัดเก็บภาษีภาคธุรกิจที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน เพราะเข้ามาใช้ทรัพยากรในประเทศไม่ควรได้รับสิทธิพิเศษในการลดหย่อนมากจนเกินไป จึงเห็นว่ารัฐมีศักยภาพที่สามารถทำได้อยู่แล้วขึ้นอยู่กับว่ารัฐจะจริงใจในการจัดสวัสดิการที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานให้กับประชาชนมากน้อยเพียงใดมากกว่า
สิ่งสำคัญคือการเตรียมความพร้อมให้กับประชาชนทุกคนในปัจจุบัน ให้มีความรู้ความเข้าใจตระหนักว่าสังคมไทยเป็นสังคมสูงวัยอยู่แล้ว เด็ก เยาวชน คนทำงาน กับจำนวนผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้นต่างก็อยู่ร่วมกัน จำเป็นต้องมีระบบต่างๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม สภาพแวดล้อมและบริการสุขภาพที่เอื้อต่อการอยู่ในสังคมนี้ด้วยกัน และเห็นความสำคัญของการมีระบบบำนาญแห่งชาติ พร้อมกับการสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ พ.ศ. … เพื่อเป็นหลักประกันว่าสังคมไทยมีบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าสำหรับทุกคน เปลี่ยนผ่านจากประชานิยมสู่รัฐสวัสดิการ
“เพราะฉะนั้นการยกระดับเบี้ยยังชีพให้เป็นระบบบำนาญแห่งชาติ จึงเป็นการทำงานบนหลักการเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะรวยหรือจนก็สามารถเข้าถึงสวัสดิการที่เป็นหลักประกันทางรายได้จากรัฐได้อย่างเท่าเทียมกัน เงินก็จะได้กระจายไปทั่วทุกพื้นที่ไม่กระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่สำคัญยังช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”
——————————————————————-
อ้างอิงข้อมูล: รายงานสถานการความยากจนในประเทศไทย http://www.tdri.or.th/poverty/report1.htm
คู่มือบำนาญแห่งชาติ: หลักประกันด้านรายได้ เมื่อสูงวัยสำหรับทุกคน โดยเครือข่ายประชาชนเพื่อขับเคลื่อนระบบบำนาญแห่งชาติ พิมพ์เมื่อเดือนมกราคม 2558