อีกครั้ง (บ้าน) ที่ต้องโยกย้าย : ชุมชนบุญร่มไทร คนจนเมืองริมทางรถไฟ

อีกครั้ง (บ้าน) ที่ต้องโยกย้าย : ชุมชนบุญร่มไทร คนจนเมืองริมทางรถไฟ

ชุมชนบุญร่มไทร สร้างบ้านพักชั่วคราวใกล้เสร็จ แต่ยังขาดวัสดุต่อเติมตัวบ้านอีกหลายส่วน ผู้นำชุมชนเผยเตรียมคุย รฟท. ขอเลื่อนเวลาสร้างบ้านให้เสร็จ คาดหากมีงบมาช่วย ชาวบ้านพร้อมย้ายภายใน 15 ก.ย. นี้     

ป้ายสัญลักษณ์แสดงถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มชุมชนริมทางรถไฟ
ชุมชนริมทางรถไฟเขตพญาไท ที่มีคนอยู่อาศัยกว่า 300 ครัวเรือน

ความคืบหน้า “บ้านชั่วคราว” ชุมชนบุญร่มไทร

ชุมชนบุญร่มไทร 1 ใน 3 ชุมชนริมทางรถไฟเขตพญาไท ที่มีคนอยู่อาศัยกว่า 300 ครัวเรือน (ชุมชนแดงบุหงา 120 ครัวเรือน ชุมชนบุญร่มไทร 150 ครัวเรือน และชุมชนหลังทางหลวง 30 ครัวเรือน) ที่กำลังต้องออกจากพื้นที่ เนื่องจากเป็นพื้นที่เป้าหมายแรกในการสร้างแนวเดินรถไฟส่วนต่อขยาย เส้นสถานีพญาไทไปยังสนามบินดอนเมือง ในโครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน 

วันนี้ ชาวชุมชนอยู่ระหว่าการก่อสร้างบ้านพักชั่วคราว เพื่อรองรับสมาชิกของชุมชน 16 ราย ที่ถูกฟ้องคดีให้ต้องออกจากพื้นที่ โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แต่ในวันนี้ทางชุมชนยังขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ในการสร้างบ้านอีกเป็นจำนวนมาก ต้องการความช่วยเหลือสนับสนุนจากคนภายนอก เพื่อมาสร้างบ้านชั่วคราวนี้ให้เสร็จโดยเร็ว ให้ทันตามกำหนดเวลา

เชาว์ เกิดอารีย์ ประธานชุมชนบุญร่มไทร เล่าว่า ก่อนหน้านี้การรถไฟฯ ออกหมายศาลบังคับคดีแพ่งสมาชิกชุมชนบุญร่มไทร 16 ราย เมื่อ 25 ก.ค. 2565 ในกรณีบุกรุกที่ดินกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ พร้อมกล่าวว่าชาวบ้านกลุ่มนี้ ต้องออกจากพื้นที่ ภายในวันที่ 22 ส.ค. 2565 ทำให้ชาวบ้านริมทางรถไฟรวมตัวกันไปที่หน้าการรถไฟฯ เพื่อขอเจรจา และหารือเรื่องการแก้ไขปัญหาคดีดังกล่าว 

ประธานชุมชนบุญร่มไทร กล่าวว่า ผลการเจรจา ชาวบ้านชุมชนบุญร่มไทรทั้ง 16 ราย ตกลงที่จะย้ายออกจากพื้นที่ ก่อน 1 ต.ค. 2565 ขณะที่ทางการรถไฟฯ ยินดีสนับสนุนพื้นที่ให้อยู่อาศัยชั่วคราวไปก่อนระหว่างรอบ้านมั่นคงแล้วเสร็จ โดยพื้นที่จะให้สร้างบ้านชั่วคราวเป็นพื้นที่โล่ง ติดริมทางรถไฟเช่นกัน ห่างจากพื้นที่ไล่รื้อเพียง 500 เมตรเท่านั้น

สำหรับการก่อสร้างที่พักชั่วคราวนี้ แบ่งเป็นพื้นที่จากทั้งหมด 27 x16 ตารางเมตร สอยออกเป็นห้อง ๆ ขนาด 3.2 x 6 ต่อ 1 หลังคาเรือน อาศัยหลังคาเรือนละ 3-5 คน

นอกจากนั้น มีการมอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เป็นหน่วยงานทำสัญญาเช่าพื้นที่ชั่วคราวให้กับชุมชน ระหว่างรอที่อยู่อาศัยใหม่ของโครงการเคหะสงเคราะห์ที่จะสร้างแล้วเสร็จในปี 2568 ซึ่งอยู่ในซอยหมอเหล็ง แขวงมักกะสัน ลักษณะเป็นตึกอาคาร 8 ชั้น 3 โดยอาคารจะเริ่มสร้างในต้นปี 2567 ห่างจากบ้านพักชั่วคราวที่ก่อสร้างอยู่ในตอนนี้ราว 2 กิโลเมตร

“บ้าน” ความหวังที่ประชาชนต้องร่วมจ่าย

ประธานชุมชนบุญร่มไทร กล่าวว่า การจัดสรรค่าใช้จ่ายในการสร้างบ้าน เป็นภาระที่ชุมชนต้องรับผิดชอบเองเป็นส่วนใหญ่ แต่ได้รับเงินช่วยเหลือจาก พอช. 270,000 บาท (ตกรายละ 16,875 บาท) ยืมจากเครือข่ายสลัมสี่ภาคอีก 100,000 บาท รวมเป็น 370,000 บาท งบประมาณส่วนนี้ ได้ขึ้นเสาเข็ม โครงเหล็กของบ้านพื้นบ้าน หลังคา และห้องน้ำแล้ว

แต่ยังเหลือพนังกั้นรอบนอกอาคารและในอาคาร ระบบไฟ ระบบประปา ซึ่งขณะนี้ยังต้องการงบประมาณเพื่อต่อเติมรายการดังกล่าวอีกประมาณ 3 แสนบาท และหากมีงบประมาณเข้ามาช่วยเหลือโดยไว คาดว่าจะแล้วเสร็จ 15 ก.ย.นี้ 

“ตอนนี้เรากำลังทำบ้านพักชั่วคราวอยู่ แต่ท่าทีของการรถไฟฯ ต้องการให้เราสร้างบ้านอยู่ในกรอบเวลาเพียง 1 เดือนเท่านั้น ซึ่งเราไม่สามารถเสร็จทันได้ตามระยะเวลาที่กำหนด ประกอบกับงบประมาณยังไม่เพียงพอ แต่เราก็ต้องสร้างไปก่อน” เชาว์ กล่าว 

ส่วนรายละเอียดสัญญาค่าเช่าบ้านพักชั่วคราว ประธานชุมชนบุญร่มไทร ระบุว่า พอช. แจ้งชาวบ้านว่าต้องใช้เวลาพิจารณาอย่างน้อย 3 เดือน (นับจาก 1 ส.ค.) โดยทางชุมเสนอค่าเช่า 23 บาท/เมตร/ปี แต่การรถไฟฟ้าฯ ระบุว่า ควรเป็น 513 บาท/เมตร/ปี ให้เป็นไปตามมาตรฐาน


“ถ้าให้พูดตรง ๆ  สำหรับพวกเรา การให้เงินทั้ง 16 หลังคาเรือนมันไม่เพียงพอ เราไม่ต้องการเงินเเต่ต้องการที่อยู่อาศัย ” เชาว์ กล่าว

หมายบังคับคดียังติดตัวชาวบ้าน

สำหรับความความคืบหน้าทางคดี ประธานชุมชนบุญร่มไทร ให้ข้อมูลว่า ตอนนี้หมายบังคับคดียังติดตัวชาวบ้านทั้ง 16 ราย การรถไฟฯ จะทำการถอนฟ้องก็ต่อเมื่อบ้านพักชั่วคราวแล้วเสร็จ และชาวบ้านย้ายออกจากพื้นที่เก่าแล้วเท่านั้น

นอกเหนือจาก 16 รายที่โดนหมายบังคับคดี ในอนาคตอาจมีชาวบ้านคนอื่น ๆ ที่โดนคดีอีก เพราะไม่สามารถหาที่อยู่อาศัยใหม่ได้ทัน

“ที่เคยคุยกันกับ รฟท. เขายืนยันจะไม่มีการรื้อบ้านเรา แต่อยากให้เราทำกรอบเวลาของการสร้างบ้านพักชั่วคราว 1 เดือน ซึ่งเราเป็นชาวบ้าน เราไม่ได้มีทักษะในการสร้างบ้าน ไม่มีทีมช่าง และไม่มีงบประมาณที่เพียงพอ จำเป็นต้องมีหน่วยงานของการรถไฟยื่นมือมาช่วยเรา” เชาว์กล่าว

การที่ชาวบ้านโดนคดี มีหมายศาลส่งถึงหน้าบ้าน ทำให้วิตกกังวล แต่หลังการพูดคุยกันเมื่อวันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา ชาวบ้านรู้สึกผ่อนคลายลง แต่จะเป็นการผ่อนคลายได้จริง ๆ ชาวบ้านต้องการ “สัญญาเช่า” เพื่อเป็นหลักประกัน

เอกสารหมายบังคับคดีสมาชิก 16 ราย ชุมชนบุญร่มไทร

บ้าน – ความมั่นคง

ปัญหา “บ้าน” ของชุมชนบุญร่มไทร สะท้อนถึงความไม่มั่นคงของคนอีกหลายหมื่นคน ภายใต้โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐอย่างโครงการ รถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน ที่จะกระจายตัวไปในหลาย ๆ พื้นที่

สุภาพร รอดอินทร์ ชาวบ้านขุมชนบุญร่มไทร

“ลำบากใจนะ เพราะมันเป็นพื้นที่ของเขา เราก็ต้องคืนเขา ไม่คืนเขาก็ต้องฟ้องร้องเราจะทำไง สู้เขาได้เหรอ ที่ของการรถไฟฯ แต่ยังโชคดีที่ พอช. เช่าที่ตรงนี้ให้เราทำที่อยู่อาศัย เราอายุเยอะแล้วด้วย 60 ปี แล้ว อยากหาที่อยู่ที่มันที่มันถูก ปลอดภัย และกลางเมือง” สุภาพร รอดอินทร์ ชาวบ้านขุมชนบุญร่มไทร


เขาให้เวลาเราแค่เดือนครึ่งเอง เงินสร้างบ้านตอนนี้ของเราก็เบาบาง ถ้าสร้างไม่เสร็จจริง ๆ คงต้องปล่อยไว้แบบนั้น หากไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาช่วย อาจจะต้องหยุดชะงักการก่อสร้างไปก่อน แต่พวกเราคุยกันแล้วว่า ถ้าบ้านไม่เสร็จ เราจะไม่รื้อย้ายที่เก่า คิดว่าถ้าย้ายเข้าบ้านมั่นคงแล้วก็คงไม่ลำบากแล้วนะ เพราะว่ามันเป็นที่สุดท้ายของเราที่จะต้องย้ายแล้ว” สมศักดิ์ จันเจือ ชาวบ้านชุมชนบุญร่มไทร

สมศักดิ์ จันเจือ ชาวบ้านชุมชนบุญร่มไทร

อ้างอิง

https://www.csitereport.com/newsdetail?id=0000026533

https://www.csitereport.com/newsdetail?id=0000025763

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ