เครือข่ายชุมชนริมทางรถไฟทั่วประเทศเตรียมบุกกระทรวงคมนาคมและยื่นหนังสือผ่าน ผวจ. 11 จังหวัดวันพรุงนี้ (19 เม.ย.) เพื่อเร่งรัดให้บอร์ดการรถไฟอนุมัติเช่าที่ดินให้ชาวชุมชนที่อาศัยอยู่ในที่ดิน รฟท.สร้างที่อยู่อาศัยตามมติครม. เมื่อ 1 ก.พ.2565 และ 14 มี.ค.2566 ซึ่ง ครม.เห็นชอบการแก้ไขปัญหาชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางทั่วประเทศ รวม 300 ชุมชน 35 จังหวัด 20,084 ครัวเรือน งบประมาณกว่า 7,700 ล้านบาท แต่บอร์ดการรถไฟยังเงียบ
รายงานข่าวจากขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) แจ้งว่า ในวันพรุ่งนี้ (19 เมษายน) ชาวชุมชนริมทางรถไฟทั่วประเทศซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มขปส. ประมาณ 300 คน จะเดินทางมาที่กระทรวงคมนาคมเพื่อยื่นหนังสือถึงรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อติดตามความคืบหน้าตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการจากการรถไฟแห่งประเทศไทยแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม นอกจากชาวชุมชนริมทางรถไฟจะเดินทางมาที่กระทรวงคมนาคมแล้ว ในวันเดียวกันนั้น ชาวชุมชนริมทางรถไฟทั่วภูมิภาค เช่น เชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี ศรีสะเกษ ราชบุรี ฉะเชิงเทรา สุราษฎร์ธานี ตรัง และสงขลา รวม 11 จังหวัด จะเดินทางมายื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อส่งต่อไปยังผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยให้เร่งรัดดำเนินการตามมติ ครม. โดยขอให้นำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการการรถไฟฯ ภายในเดือนพฤษภาคมนี้
ขปส. เผยสัญญาเช่าที่ดิน รฟท.ที่ขอนแก่น-ตรัง-ไม่คืบหน้า
ก่อนหน้านี้ในวันที่ 10 เมษายน ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ได้ทำหนังสือถึงรักษาการ รมว.คมนาคม เพื่อติดตามการดำเนินงานตามมติการประชุมอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม โดยหนังสือฉบับดังกล่าวได้อ้างถึงมติการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคมเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2565 ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ) เป็นประธาน ซึ่งในที่ประชุม มีมติสำคัญที่ยังรอดำเนินการดังนี้
1.การนำรายชื่อ และจำนวนของชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่อาศัยอยู่ในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทยเข้าสู่ คณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย (บอร์ด รฟท.)พิจารณาหลักเกณฑ์ตามแนวทางการแก้ปัญหามติบอร์ด รฟท. เมื่อ 13 กันยายน 2543 ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 โดยในที่ประชุมอนุกรรมการฯ รฟท.แจ้งจะดำเนินการภายในเดือนมีนาคม แต่จนถึงวันนี้ยังไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด
2. การทำสัญญาเช่าที่ดินเพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยจำนวน 2 แปลง ในจังหวัดขอนแก่น ในที่ประชุมอนุกรรมการฯ มีมติรับทราบว่า รฟท.จะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2566 แต่จนถึงวันนี้ยังไม่มีการลงนามเพื่อนัดหมายทำสัญญาเช่าแต่อย่างใด
3. การทำสัญญาเช่าที่ดินเพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยจำนวน 3 แปลง ในจังหวัดตรัง ในที่ประชุมอนุกรรมการฯมีมติรับทราบว่า รฟท.จะดำเนินการลงพื้นที่เพื่อดำเนินการจัดเช่าที่ดินให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2566 และในการประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟฯ ทาง รฟท. ได้แจ้งว่าจะมีการลงนามสัญญาเช่าภายในเดือนมีนาคม 2566 นี้
4. การดำเนินการทำสัญญาเช่าที่ดินย่านริมบึงมักกะสัน เพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟเชื่อมสามสนามบิน ที่ผู้ว่ารถไฟฯ จะดำเนินการพิจารณารูปแบบการเช่า และสร้างที่อยู่อาศัยให้แล้วเสร็จโดยเร็ว กระทั่งวันนี้ยังไม่มีข้อสรุปแต่อย่างใด
“เนื่องจากมีกรณีปัญหาที่ได้ข้อยุติ แต่ไม่มีการดำเนินการจากหน่วยงาน รฟท. ในวันที่ 19 เมษายนนี้ ทางผู้แทนชุมชน และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม จำนวน 300 คน จะขอมาติดตามความคืบหน้าดังกล่าวที่กระทรวงคมนาคม ทาง ขปส. จึงขอให้ท่านได้ประสานผู้ว่าการรถไฟฯ และฝ่ายต่างๆ ใน รฟท. ที่เกี่ยวข้องกับกรณีปัญหาข้างต้นมาชี้แจง และกำหนดกรอบเวลาที่จะดำเนินงานให้แล้วเสร็จตามมติในที่ประชุม ตั้งแต่เวลา 9 นาฬิกาเป็นต้นไป จึงเรียนมาเพื่อพิจารณาดำเนินการ” หนังสือของ ขปส.ถึงรักษาการ รมว.คมนาคมระบุถึงเหตุผลที่จะเดินทางมาที่กระทรวงคมนาคมในวันที่ 19 เมษายนนี้
ย้อนรอยการแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดิน รฟท.
ในปี 2541 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีนโยบายจะนำที่ดิน รฟท.ทั่วประเทศมาให้เอกชนเช่าทำธุรกิจ ชาวชุมชนในที่ดิน รฟท.ทั่วประเทศได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค เพื่อขอเช่าที่ดินอยู่อาศัยอย่างถูกต้องจาก รฟท. เนื่องจากกลัวถูกไล่รื้อชุมชน
การเรียกร้องของชุมชนในที่ดิน รฟท.ยังดำเนินต่อเนื่องนับจากปี 2541 จนถึงกันยายน 2543 มีการชุมนุมที่หน้ากระทรวงคมนาคม มีชาวชุมชนทั่วประเทศมาแสดงพลังกว่า 2,000 คน ใช้เวลา 3 วัน ในที่สุดคณะกรรมการบริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ ‘บอร์ด รฟท.’ ได้มีมติเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2543 เห็นชอบข้อตกลงตามที่กระทรวงคมนาคมเจรจากับผู้แทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค คือ
1.ชุมชนที่อยู่นอกเขตทางรถไฟ 40 เมตร หรือที่ดิน รฟท.ที่เลิกใช้ หรือยังไม่มีแผนใช้ประโยชน์ ให้ชุมชนเช่าอยู่อาศัยระยะยาว 30 ปี
2.ที่ดินที่อยู่ในเขตทางรถไฟรัศมี 40 เมตรจากกึ่งกลางรางรถไฟ ชุมชนสามารถเช่าได้ครั้งละ 3 ปี และต่อสัญญาเช่าได้ครั้งละ 3 ปี หาก รฟท.จะใช้ประโยชน์จะต้องหาที่ดินรองรับในรัศมี 5 กิโลเมตร
3.กรณีชุมชนอยู่ในที่ดิน รฟท.รัศมี 20 เมตร หาก รฟท.เห็นว่าไม่เหมาะสมในการให้เช่าเป็นที่อยู่อาศัยระยะยาว ให้ รฟท.จัดหาที่ดินรองรับในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตรจากชุมชนเดิม ฯลฯ
หลังจากมติบอร์ด รฟท.มีผล ชุมชนในที่ดิน รฟท. ทั่วประเทศ เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ สงขลา ฯลฯ รวม 61 ชุมชนได้ทยอยทำสัญญาเช่าที่ดินกับการรถไฟฯ และพัฒนาที่อยู่อาศัยตั้งแต่ปี 2547 (อัตราค่าเช่าตารางเมตรละ 20 บาทต่อปี) โดย พอช.สนับสนุนสินเชื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยและงบประมาณบางส่วน
จนเมื่อ รฟท.มีโครงการพัฒนาระบบรางทั่วประเทศในปัจจุบัน ทำให้มีชุมชนที่จะได้รับผลกระทบเพิ่มมากขึ้น ผลการสำรวจข้อมูลพบว่า มีชุมชนที่จะได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางทั่วประเทศ ในพื้นที่ 35 จังหวัด 300 ชุมชน จำนวน 27,084 ครัวเรือน ขณะนี้หลายชุมชนโดนไล่รื้อแล้ว
เครือข่ายริมรางรถไฟและสลัม 4 ภาคจึงเคลื่อนไหวผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาจนประสบความสำเร็จ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมาเห็นชอบแผนการแก้ไขปัญหาชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางดังกล่าว
เปิดแผน 5 ปีแก้ไขปัญหาชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง
ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 มีนาคม ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางรถไฟ ในพื้นที่ 35 จังหวัด 300 ชุมชน จำนวน 27,084 ครัวเรือน ใช้งบประมาณรวม 7,718 ล้านบาทเศษ โดยรัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. จัดทำแผนงานรองรับ
โดยในปี 2566 พอช. มี 6 พื้นที่เร่งด่วนที่จะดำเนินการ คือ 1.ชุมชนริมทางรถไฟย่านราชเทวีที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ขณะนี้มีที่ดินรองรับย่านบึงมักกะสัน เขตราชเทวี จำนวน 306 ครอบครัว โดย พอช. อยู่ระหว่างการออกแบบที่อยู่อาศัย
2.ชุมชนริมทางรถไฟในจังหวัดฉะเชิงเทรา 43 ครอบครัว 3.ชุมชนริมทางรถไฟในจังหวัดพิษณุโลก 30 ครอบครัว 4.ชุมชนริมทางรถไฟในเขต อ.เมือง จ.นครราชสีมา 166 ครอบครัว 5.ชุมชนริมทางรถไฟในเขต อ.เมือง จ.ขอนแก่น 169 ครอบครัว และชุมชนริมทางรถใน จ.ตรัง 225 ครอบครัว รวมทั้งหมด 939 ครอบครัวที่จะดำเนินการในปีนี้
ส่วนรูปแบบการดำเนินการนั้น จะมีทั้งการปรับปรุง ก่อสร้างบ้านในที่ดินเดิม (กรณีอาศัยในที่ดินเดิมได้) การก่อสร้างบ้านในที่ดินใหม่ หรือจัดซื้อ-เช่าในโครงการที่มีอยู่แล้ว เช่น โครงการที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติ ฯลฯ