“สังคมสูงอายุ” เป็นปรากฏการณ์ ที่เกิดขึ้นในหลายภูมิภาคของโลก รวมทั้งในประเทศไทยด้วย สื่อมวลชนต่างเสนอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเข้าสู่สังคมสูงอายุและภาพความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้ง ให้อยู่เดียวดายในชนบท นักวิชาการออกมาเตือนเรื่อง ผลกระทบของสังคมสูงอายุต่อเศรษฐกิจและสังคมของ ประเทศ รัฐบาลออกนโยบายทางสังคมหลายอย่างที่มีเป้าหมายเพื่อรองรับสังคมสูงอายุ หลายองค์กรทั้งภาครัฐ และบริษัทธุรกิจเอกชนต่างประกาศกลยุทธ์เพื่อปรับตัว รองรับการที่ประชากรในสังคมแก่ตัวลง
อยู่ดีมีแฮงออนไลน์จะนำพาคุณผู้อ่านมาเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย และเพื่อให้เห็นภาพในการออกแบบกิจกรรมดูแลผู้สูงอายุในรูปแบบของถ้องถิ่นกับการเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงวัย เราจึงเดินทางมาที่ ต.ข้าวปุ้น อ.กุดข้าวปุ้น จ.อุบลราชธานี เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีการจัดกิจกรรมและออกแบบกิจกรรมเพื่อรองรับสังคมสูงวัยมาอย่าต่อเนื่อง เช่น โรงเรียนผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพฃีวิต และการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้สูงอายุ เสริมสร้างสุขภาพที่ดีของผู้สูงอายุทั้งด้านร่างกายและจิตใจเพื่อเสริมสร้างศักยภาพ คุณค่า ภูมิปัญญาผู้สูงอายุให้เป็นที่ประจักษ์และยอมรับ เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสร้างสรรค์ประโยชน์แก่ชุมชนและสังคม
อีกทั้งเพิ่มทักษะและการจัดหางานให้เหมาะสมกับแรงงาน จะช่วยเพิ่มความสามารถในการหารายได้ และยกระดับประสิทธิภาพของผู้สูงอายุในระยะยาว โดยจัดอบรมฝึกทักษะทางด้านอาชีพ เช่น การทำน้ำพริกปลากรอบ การทำหมูฝอย ไส้กรอก และทำปลาส้ม
ภาคอีสานมีผู้สูงอายุมากกว่า 3,532,115 คน และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นทุกปีเมื่อเทียบกับอัตราการเกิดที่น้อยลง หลายพื้นที่มีการปรับตัวเพื่อรองรับประชากรที่แก่ตัวลง รวมถึงพื้นที่ ต.ข้าวปุ้น อ.กุดข้าวปุ้น จ.อุบลราชธานี ที่มีตัวเลขผู้สูงอายุสูงถึง 662 คน
“ในจำนวน 662 คน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม มีกลุ่มติดสังคมคือไม่ชอบอยู่บ้าน ไปหาเพื่อน กลุ่มติดบ้านจะไม่ไปไหนลูกหลานจะอยู่หรือไม่อยู่บ้านก็จะไม่ไปไหน จะติดบ้าน เป็นห่วงบ้าน กลุ่มสุดท้ายเป็นผู้ป่วยติดเตียง”
พี่น้อย สมชัย แท่นคำ นักพัฒนาชุมชนชำนาญการ และเป็นผู้ที่ผลักดันกิจกรรมผู้สูงอายุต่าง ๆ ในพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานเทศบาลตำบลกุดข้าวปุ้น เล่าให้กับทีมงานอยู่ดีมีแฮงฟังถึงสถาณการณ์ของผู้สูงอายุในปัจจุบันรวมถึงการออกแบบกิจกรรมที่เหมาะสมกับผู้สูงวัย
“โรงเรียนผู้สูงอายุเทศบาลตำบลกุดข้าวปุ้นจะไม่มีหลักสูตรที่ตายตัว แต่จะเน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิตซึ่งมองว่าการเรียนของผู้สูงอายุ จริง ๆ การเรียนไมใช่เรียนเพื่อเอาความรู้ แต่เป็นการทบทวนความรู้มากกว่า”
“ผู้สูงอายุจะมีต้นทุนทางสังคม มีต้นทุนทางภูมิปัญญา จะทำอย่างไรที่จะถ่ายทอดสื่อสารสร้างปฎิสัมพันธ์กับกลุ่มเยาวชน กลุ่มสตรีมีรูปแบบกิจกรรมที่ชัดเจนเข้มแข็ง บางกิจกรรมก็คล้าย ๆ กับผู้สูงอายุ ต่อไปอาจจะให้ทั้ง 3 กลุ่ม มาทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น เรื่องของอาชีพ กลุ่มสตรีทำไส้กรอกเหมือนกัน ถ้าทำไม่ทัน ให้กลุ่มผู้สูงอายุเข้ามาช่วยวางรูปแบบการขาย ดึงกลุ่มเยาวชนเข้ามาช่วยในการขายออนไลน์ ทั้งผ่านมามีกิจกรรมให้ทั้ง 3 กลุ่ม มาทำกิจกรรมร่วมกัน”
นอกจากการออกแบบกิจกรรมโดยให้กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มสตี กลุ่มเยาวชนได้เข้ามาทำกิจกรรมร่วมกันแล้ว เทศบาลตำบลกุดข้าวปุ้น โดยการนำของนายพิณ เจริญวง นายกเทศมนตรี ได้มีการจัดตั้งศูนย์ให้บริการให้คำปรึกษาในด้านต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงวัยในพื้นที่ และเป็นพื้นที่นำร่องให้กับพื้นที่อื่น ๆ อีกด้วย
จัดตั้งศูนย์บริการสังคมสูงวัยประจำตำบล
การวางแผนรองรับสังคมสูงวัยในพื้นที่ จัดตั้งศูนย์ให้บริการเพื่อรองรับสังคมสูงวัยรวมถึงคนพิการ ทางหน่วยงานเทศบาลได้มีแผนระยะยาวจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาในเรื่องต่าง ๆ เช่น เงินทุนสำรอง มีบุคลากรให้ความรู้ ให้คำปรึกษาด้านแรงงาน ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ และช่วยให้คำแนะนำให้คำปรึกษาในด้านอื่น ๆ จัดเป็นศูนย์คอยให้บริการในเทศบาลตำบลกุดข้าวปุ้นสำหรับรองรับสังคมสูงวัย
ทั้งหมดนี้เป็นนี้เป็นการเตรียมความพร้อมในรูปแบบของถิ่น ที่เห็นความสำคัญออกแบบกิจกรรมขึ้นมาเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ให้ผู้สูงอายุได้ออกมาใช้ศักยภาพที่มีเพื่อถ่ายทอดให้กับคนรุ่นหลัง
การเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงวัยเป็นสิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กับการเตรียมความพร้อมในด้านอื่น ๆ เพราะถ้าหากไม่มีการเตรียมความพร้อมแล้ว อาจส่งผลกระทบต่อปัจจัยในหลาย ๆ ด้าน เช่น ผลกระทบของสังคมสูงอายุต่อเศรษฐกิจและสังคม ผลกระทบด้านแรงงาน การมีแผนรองรับจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกพื้นที่ต้องมีการเตรียมความพร้อมอยู่ตลอด