มองต่างมุมยุบรวมกรรมการสิทธิฯ ทนายมุสลิมคาดไม่กระทบละเมิดสิทธิชายแดนใต้ ชี้จุดอ่อนทำงานเชิงรับประชาชนเข้าไม่ถึง ด้านเครือข่ายผู้หญิงค้านยุบรวม หวั่นชาวบ้านเข้าไม่ถึงสิทธิ ขณะที่เครือข่ายสิทธิเสรีภาพประชาชน 30 องค์กรยื่น “บวรศักดิ์” ค้านยุบ ระบุเจตนารมณ์ต่างกัน
นายอนุกูล อาแวปูเต๊ะ ประธานศูนย์ทนายความมุสลิม จังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า บทบาทของกสม.ในพื้นที่ภาคใต้แทบจะเรียกได้ว่าไม่มีบทบาทอะไรเลย โดยเฉพาะเรื่องการร้องเรียน ขณะเดียวกันถ้ารวมสองหน่วยงานเข้าด้วยกันแล้วก็ไม่แน่ใจว่าบทบาทจะเป็นไปแบบไหน ถ้ายังเป็นบทบาทแบบผู้ตรวจการแผ่นดินจะเห็นได้ว่าในสามจังหวัดคงไม่เห็นผลของการเปลี่ยนแปลงในสามจังหวัดกับการละเมิดสิทธิในพื้นที่ แต่ในขณะเดียวกันต้องถามว่าองค์กรที่มีอยู่ทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้มากน้อยเพียงใด แม้หน้าที่จะคล้ายคนแต่การให้ความสำคัญกับปัญหาต่างกัน โดยเฉพาะปัญหาในพื้นที่สามจังหวัด ซึ่งเป็นปัญหาด้านความขัดแย้ง ถ้ารอกระบวนการยุติธรรมอาจไม่ทันสถานการณ์ ในขณะเดี่ยวกันสิ่งที่คนในพื้นที่อยากเห็นคืออยากเห็นความเท่าเทียมกันในการบังคับใช้กฎหมาย แต่ที่ผ่านมา รัฐมักจะละเมิดสิทธิเสียเองและไม่มีมาตรการหรือกลไกลใดๆในการแก้ปัญหา
“ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าการทำงานยังไม่ทำงานเชิงรุกไม่ว่าจะเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินหรือว่ากรรมการสิทธิมนุษยชนส่วนใหญ่จะทำงานแบบตั้งรับมากกว่า อีกทั้งเน้นข้อมูลทางวิชาการเป็นประโยชน์ในการเสนอแนะทางนโยบายแต่ว่า การแก้ไขปัญหาในเชิงของโครงสร้างระยะสั้นยังมีปัญหามากแต่การยุบรวมสององค์กรมาอยู่ด้วยกันถ้ายังมีระบบรูปแบบการทำงานแบบราชการก็ไม่ตอบโจทย์ปัญหาในพื้นที่เพราะปัญหาในพื้นที่ต้องการความรวดเร็วในขณะที่กสม.และผู้ตรวจการแผ่นดินดูเหมือนว่าจะไกลที่ประชาชนจะเข้าถึงเพราะว่าเน้นในส่วนกลาง”นายอนุกูล กล่าว
ด้านนางคำนึง ชำนาญกิจ เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการยุบรวมของทั้งสองหน่วยงาน เพราะชาวบ้านที่ถูกละเมิดสิทธิอาจจะไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะทุกครั้งที่เกิดเหตุ ทุกครั้งที่ถูกละเมิดสิทธิจะต้องร้องเรียนกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน แต่หากยุบรวมแบบนี้แล้วก็ไม่กล้า เพราะชาวบ้านระดับรากหญ้าที่อยู่ในชุมชนไม่เข้าใจด้วยซ้ำกับคำว่าผู้ตรวจการแผ่นดินนอกจากว่ากลุ่มที่มีความรู้จริงๆ อีกทั้งยังเข้าถึงยากและมีความล่าช้า
อาจารย์มาลี สิทธิเกรียงไกร จากศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า โดยโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของทั้งสองหน่วยงานมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ทั้งนี้หากโครงสร้างใหม่มีการยุบรวมตนไม่แน่ชัดว่า รูปแบบจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการเลือกประธาน การบริหารจะเป็นอย่างไร จะขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรีหรือไม่ อย่างไรก็ตามในมุมมองของชาวบ้านตามที่ได้ลงพื้นที่ล่าสุดที่แก่งกระจาน ชาวบ้านยังมีความกังวลว่า ถ้าไม่มีกสม. ชาวบ้านจะมีช่องทางร้องเรียนได้มากน้อยเพียงใด
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2558 ที่อาคารรัฐสภา นายจตุรงค์ บุญยรัตนสุนทร ประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน พร้อมด้วยตัวแทนสมาคม มูลนิธิ และเครือข่ายด้านสิทธิเสรีภาพของประชาชนจำนวน 30 องค์กร ยื่นหนังสือต่อนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ทบทวนกรณีที่กมธ.ยกร่างฯ ทำการควบรวมผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมาการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็น “ผู้ตรวจการแผ่นดินพิทักษ์สิทธิของประชาชน” เนื่องจากทั้ง 30 องค์กรเห็นว่า เจตนารมณ์และการก่อตั้งรวมถึงวัตถุประสงค์ ในการตรวจสอบร้องเรียนแตกต่างกัน โดยกสม.มุ่งตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามกฎหมาย รัฐธรรมนูญ หรือตามสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยมีพันธกรณีที่ปฏิบัติตาม ขณะที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีหน้าที่ตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐตามกฎหมาย ซึ่งไม่จำเป็นต้องละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ได้ จึงอยากให้กมธ.ยกร่างฯมีการทบทวน โดยให้คำนึงถึงมาตรฐานสิทธิมนุษยชนที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: แนะทางออกบทบาทกรรมการสิทธิฯ https://thecitizen.plus/node/4662