การยื่นขออนุญาตก่อสร้างประติมากรรม “องค์เจ้าแม่กวนอิม” ความสูง 136 เมตร ต.สะกอม อ.เทพา จ.สงขลาของ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ทำให้หลายคนติดตามสถานการณ์นี้ในหลายแง่มุม ทั้งความเหมาะสม ความจำเป็น และเหตุผล
ขณะที่สถานะของโครงการฯ ยังไม่ชัดเจน แต่มุมมองต่อเรื่องนี้มีความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย
ทีม The Citizen Plus สนทนากับนักวิชาการมุสลิมและผู้เชี่ยวชาญด้านความขัดแย้ง สันติภาพและความรุนแรง แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ มองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงข้อเสนอที่จะร่วมกันหาทางออกทางออกที่สร้างสรรค์ โดยเคารพความเชื่อของทุกฝ่าย
พร้อมตอบคำถามสำคัญ…ครั้งนี้สังคมไทยเรียนรู้อะไร จากกรณีที่เกิดขึ้น
วิภาพร : อาจารย์เห็นอะไรจากปรากฏการณ์ที่มีการยื่นขออนุญาตก่อสร้างรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิม ความสูง 136 เมตรองค์ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ ต.สะกอม อ.เทพา จ.สงขลา คะ
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ : มีคนถามผมตั้งแต่เดือนมิถุนายนแล้ว ว่ามีเหตุแบบนี้เกิดขึ้น ผมคิดอย่างไร เขาอยากจะหาทางออกอะไรบางอย่าง ผมก็เขียนจดหมายอธิบายไป ผมตอบใน 2 ฐานะ อย่างแรกในฐานะที่ผมเป็นมุสลิม อีกฐานะคือผมเป็นนักวิจัยและนักวิชาการศึกษาเรื่องความขัดแย้ง หรือความรุนแรง เรื่องสันติวิธี สันติภาพ
ผมคิดว่าเวลาเราเห็นปรากฏการณ์พวกนี้ ก็ต้องดูบริบทของเรื่องราวด้วย บริบทของเรื่องนี้ เป็นบริบทของพื้นที่ ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนมุสลิม เป็นบริบทที่สำคัญที่สุดประการหนึ่ง คือคนมุสลิมเป็นคนส่วนใหญ่ ชาวพุทธเป็นคนส่วนน้อยในที่นั่น สำหรับความรู้สึกชาวมุสลิมต่อรูปเคารพไม่เหมือนกับความรู้สึกของชาวพุทธต่อรูปเคารพ อันนี้เป็นเงื่อนไขเบื้องต้น
นอกจากนั้น ต.สะกอม จะอยู่ในเขต จ.สงขลาก็จริง แต่สงขลาก็ใกล้กับปัตตานี ยะลา นราธิวาส เป็นอาณาบริเวณซึ่งตอนนี้มีปัญหาพอสมควร ความรุนแรงในภาคใต้ที่ยังไม่จบ (กองบรรณาธิการ : วันที่สัมภาษณ์คือ 17 ส.ค. 2565 ตรงกับวันที่มีรายงานเหตุระเบิดหลายพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนใต้) อีกอย่างที่ผมคิดว่าสำคัญมากในแง่บริบทก็คือ ในประเทศของเราก็ติดโรคชนิดหนึ่งคือ โรคกลัวแขก (Islamophobia) มีอาการของสิ่งเหล่านี้อยู่ในประเทศของเราเอง ซึ่งมีที่มาที่ไป ของทุกอย่างมีเหตุปัจจัย แต่ผมจะไม่เข้าไปในรายละเอียด
สิ่งเหล่านี้เป็นบริบทของถาวรวัตถุ สมมติเราจะสร้างอะไรบางอย่าง เราต้องดูบริบทพวกนี้ถูกไหม แต่บริบทของเรื่องนี้ไม่ใช่บริบทที่ว่าตั้งอยู่ริมน้ำ อยู่ริมภูเขา แต่คือบริบททางสังคม วัฒนธรรม การเมือง ซึ่งสำคัญกว่า อันนี้ก็คือเรื่องแรกที่จะต้องมีคำถาม
อันที่สอง ที่ถามต่อไปก็คือว่า สมมติว่าสร้างขึ้นแล้ว จะได้อะไร สังคมจะได้อะไร ผู้คนรอบ ๆ จะได้อะไร ประเทศชาติจะได้อะไร จากสิ่งเหล่านี้ เพราะแผนการก่อสร้างจะเป็นรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก สูง 136 เมตร โตเท่ากับตึก 40 ชั้น ซึ่งผมก็เชื่อในศรัทธาของผู้อยากจะสร้าง แต่ขณะเดียวกันต้องดูเงื่อนไขเหล่านี้
ดังนั้น เวลาเราตอบ จะให้คำตอบทางศาสนาเฉย ๆ ไม่ได้ ต้องดูคำตอบอย่างอื่นด้วย คำตอบทางศาสนาสำคัญแน่ สมมติว่า ทางพุทธเป็นความคิดความเชื่อที่สัมพันธ์กับรูปเคารพแบบหนึ่ง กับมุสลิมซึ่งสัมพันธ์กับรูปเคารพอีกแบบนึง คำตอบไปคนละทาง ใช่ไหมครับ
ฉะนั้นถ้าสมมุติมีคนเสนอทำประชามติ ประชามติมีปัญหาของมันเอง คือว่าเวลาอยู่ในบริบทของประชากรที่ผมว่าเมื่อครู่ ถ้าทำประชามติแบบนี้ มุสลิมชนะทุกที ซึ่งเห็นคำตอบอยู่แล้วคือเป็นเสียงส่วนใหญ่ แต่ประเด็นปัญหาของระบอบประชาธิปไตยเอง คือหลักการเสียงข้างมาก (Majority Rule) แต่เคารพในสิทธิของเสียงข้างน้อย (Minority Rights) ว่าเสียงของคนส่วนใหญ่ปกครอง แต่ต้องคิดถึงสิทธิของคนส่วนน้อยด้วยนั้น ผมไม่คิดว่าสิทธิของคนส่วนน้อยสำคัญในความเห็นแบบที่จอห์น ล็อก พูด (John Locke นักปราชญ์ชาวอังกฤษ)
ผมคิดอีกอย่างหนึ่งว่า คนส่วนใหญ่จะปกครองอย่างไรต้องนึกถึงใจคนส่วนน้อย มันคนละเรื่องกัน ไม่ใช่ “สิทธิ์” แต่ “ใจ” เพราะฉะนั้น ใจเขารู้สึกอย่างไร
ต่อให้ถือว่าประชาพิจารณ์เป็นกลวิธีในทางประชาธิปไตย แต่ในทางทฤษฎีหรือในทางประชาธิปไตย ปัญหาคืออะไร คือถ้าทำแบบนี้ ฝ่ายที่ชนะก็จะชนะทุกครั้งไป การเลือกตั้งก็เช่นเดียวกัน นึกออกใช่ไหม คือความลับของประชาธิปไตยไม่ได้อยู่ที่แค่เสียงส่วนใหญ่หรือส่วนน้อย แต่อยู่ที่เอาปัญหามาให้คนตัดสิน และการตัดสินมีโอกาสเป็นไปได้ทั้ง 2 ทาง
เกมแบบนี้คนอยากจะเล่น คราวนี้คุณชนะ คราวหน้าผมอาจจะชนะบ้าง แล้วเกมอะไรผมชนะตลอดเวลา ใครกันอยากจะเล่นด้วย เพราะฉะนั้นประชาธิปไตยที่ควรจะเป็นในความเห็นผม ก็คือประชาธิปไตยที่มีโอกาสฝ่ายชนะเปลี่ยนเป็นฝ่ายแพ้ ฝ่ายแพ้เปลี่ยนเป็นฝ่ายชนะได้ แต่เงื่อนไขทางประชากรซึ่งกำหนดอยู่แล้วในพื้นที่ ทำให้เงื่อนไขนั้นหายไป
ผลของมันเลยไม่ใช่จะดี และชัยชนะก็ไม่ใช่จะดีอีก เพราะมันอยู่ของฝ่ายคนส่วนใหญ่และอยู่ในบริบทที่ผมพูดมาตั้งแต่ต้น บางทีความพ่ายแพ้ก็ดีกว่าชัยชนะก็มีนะ สรุปแล้วจะออกรูปไหนก็มีปัญหาทั้งนั้น
จริง ๆ ผมอยากจะสื่อสารกับฝ่ายใดก็ได้ที่อยากฟังผม ที่สำคัญคือผู้ที่ประสงค์จะสร้างรูปเคารพนี้ เจ้าแม่กวนอิมสูง 136 เมตรนะครับ ผมอยากคุยกับคุณประชัย เลี่ยวไพรัตน์ เจ้าของบริษัททีพีไอ ผมอยากคุยกับผู้ถือหุ้นของบริษัททีพีไอและบริษัทในเครือ มีบริษัทปุ๋ย บริษัทประกันก็มีตลาดหลักทรัพย์ และผมก็อยากจะคุยกับลูกค้าของเขาด้วยในสิ่งเหล่านี้ แล้วก็ถามตัวเองว่าในการทำสิ่งนี้ ว่าเหมาะสมแค่ไหนในบริบทแบบนี้
และถ้าผมตอบในฐานะที่เป็นนักวิชาการด้านความขัดแย้งเรื่องสันติวิธี บทเรียนที่ผมได้จากวิจัยงานนับไม่ถ้วนจากหลาย ๆ ที่ รวมทั้งงานที่ตัวเองทำด้วยก็คือว่า รูปเคารพทางศาสนาก็ดี เรื่องเล่าทางศาสนาก็ดี และอื่น ๆ ที่มีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ในตัว สมมติเราสร้างขึ้น ควรจะอยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสมกับโครงสร้างประชากร แปลว่า ถ้าคุณเป็นคนส่วนน้อย คุณก็สร้างองค์น้อย ๆ คุณก็พูดเล่าเรื่องความสำเร็จของความเชื่อของคุณในบริบทที่เล็กหน่อย ที่ได้สัดส่วนกับประชากร
ถ้าคุณเป็นคนส่วนใหญ่ คุณอาจจะพอทำสิ่งเหล่านี้ได้นะครับ แต่ขณะเดียวกันต้องกลับไปประเด็นแรก คือต้องนึกถึงใจเขา แต่ว่าพอคุณทำกลับกัน จะเพิ่มสิ่งที่ผมเรียกว่า ปัจจัยเสี่ยง (Risk factors) ให้กับพลวัตทางความขัดแย้งซึ่งมีอยู่แล้วในพื้นที่ มันจะมีปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาเรื่องการลงทุน ปัญหาอะไรอีกหลายอย่างในพื้นที่ นี่เราโฟกัสแค่เรื่องเดียว ทั้งหมดคือปัจจัยเสี่ยง (Risk factors) ที่สูง
คำถามของผมคือ ทำทำไมทำเพราะว่าอยากทำเจ้าแม่กวนอิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก คำถามที่น่าสนใจคือมีวิธีอื่นไหมนะครับ
ตั้งแต่ท่านเป็นเจ้าหญิงและมีแต่ความเมตตากับสรรพสัตว์ และท่านก็เป็นพระโพธิสัตว์หลังจาก ที่จากโลกนี้ไปแล้ว ท่านก็โปรดมนุษย์ เมตตาต่อสรรพสิ่ง ถ้าใครคิดถึงความเมตตา คิดถึงเจ้าแม่กวนอิม เพราะท่านเป็นศาสนแห่งความเมตตา ดังนั้น โจทย์ของเราที่น่าสนใจกว่าคือจะทำอะไรที่จะสื่อสาร คิดถึงจันทร์กระจ่างฟ้านั้นได้ดีกว่าโฟกัสที่นิ้วมือ
ผมกำลังถามคนที่อยากจะสร้าง ผมเชื่อว่า ถ้าเราโฟกัสที่จันทร์กระจ่างฟ้า อาจจะมีผลดีกับทุกฝ่าย เพราะว่าเรื่องความเมตตา ซึ่งเป็นคำสอนทางศาสนาพุทธแน่นอน ในศาสนาอิสลาม พูดในฐานะมุสลิม ถ้าถามว่าเป็นของศาสนาของอะไร ผมก็อาจจะบอกว่าศาสนาแต่ละศาสนาไม่เหมือนกัน
สำหรับผมนะ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาของปัญญา พระพุทธเจ้าสอนเรื่องเหตุเรื่องผล เหตุปัจจัย ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาเรื่องความรัก ศาสนาอิสลามในพระคัมภีร์อัลกุรอานพูดถึงคำว่าเมตตาอยู่ 300-400 ครั้งนะครับ ในชีวิตของท่านศาสดามุฮัมมัดซึ่งเป็นศาสดาของศาสนาอิสลาม ถามว่าอะไรนิยามตัวท่าน ผมคิดคือความเมตตา ตั้งแต่ผมเล็ก ๆ พ่อก็เล่าว่า เมตตาไม่ใช่แต่กับคน กับสัตว์ท่านก็ทำ ท่านศาสดานอนหลับเสร็จแล้วแมวมานอนบนแขนเสื้อ ท่านได้เวลาตื่นต้องไปละหมาด รู้มั้ยว่าท่านทำอย่างไร ท่านตัดแขนเสื้อของท่านให้แมวนอนเพื่อไม่รบกวนแมว ความเมตตาเป็นแบบนี้
ความเมตตา นิยามศาสนาอิสลามในความเข้าใจของผม และหลักฐานก็มี ไม่ได้อยู่แต่ในอัลกุรอ่าน 300 กว่าแห่ง เลยต้องไปเรื่องราวของชีวประวัติของท่านศาสดา คือทุกครั้งที่เราอ่านพระคัมภีร์ ทุกครั้งที่ผมจะทำอะไร ก่อนจะมานั่งคุย “บิสมิลลาฮิรเราะห์มานิรเราะฮีม” ก็แปลว่าผมทำทั้งหมดนี้ในนามของผู้เป็นเจ้าผู้เป็นมหาเมตตากรุณา มีคำอยู่ในนั้น คือ ทุกซูเราะฮ์ ทุกบทตอน เริ่มจาก “บิสมิลลาฮิรเราะห์มานิรเราะฮีม” ในนามของพระองค์ผู้ทรงเมตตากรุณา ดังนั้น ความเมตตาเป็นเนื้อ เป็นจันทร์กระจ่างฟ้าของอิสลาม
ถ้าพูดแบบนี้จันทร์กระจ่างฟ้าดวงนี้ก็ดวงเดียวกันในแง่ของความเมตตาถูกไหม ถ้าพูดเรื่องความเมตตา ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรถูกไหม ถ้างั้นเราโฟกัสที่จันทร์กระจ่างฟ้าดีไหม แทนที่จะโฟกัสนิ้วมือ
คำถามผมคือว่า MESSAGE ของเจ้าแม่กวนอิมสำคัญไหม สำหรับผมสำคัญเป็นบ้าเลย สำหรับโลกที่กำลังจะเป็นบ้าไปแล้วในขณะนี้ ด้วยความเกลียดชัง ด้วยสงคราม คุณนั่งดูข่าวแต่ละช่อง คนโกรธกันทั้งเมืองทำอะไรนิดอะไรหน่อยก็จะเอาปืนมายิง เป็นอะไรกันไปหมด เพราะฉะนั้นความเมตตาต่อกันสำคัญแน่นอน ถูกไหมครับ
ดังนั้นผมก็เสนอว่ามีทางออกนะ ถ้าจะโฟกัสที่ความหมายของสิ่งที่เจ้าแม่กวนอิมเสนอแนะ รวมทั้งเอาเข้าจริง ถ้าเราบอกว่า เราอยากมีรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมองค์ใหญ่ที่สุด จริง ๆ มันมีรูปเคารพขนาดใหญ่ในประเทศต่าง ๆ เหมือนคนอื่นเขา ปีนังก็มี ที่ไหนเขาก็ทำ ทำไมไม่ทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ให้ก้องโลกไปเลยคู่ควรกับทีพีไอ ให้คู่ควรวิสัยทัศน์ โลกทัศน์ ที่จะเผยแผ่ความเมตตาให้ไปทั่วโลกเลย เป็นสถานที่ท่องเที่ยวด้วย ผมเสนอว่าสิ่งที่ผมไม่เคยเห็นว่ามีเลยนะ เวลาที่ผมไปที่ต่าง ๆ ในโลก ผมก็เห็น มีพิพิธภัณฑ์ที่พูดถึงความเกลียดชัง พูดถึงความรุนแรง ผมไม่เห็นพิพิธภัณฑ์แห่งความเมตตาเลย
ผมอยากเสนอจริง ๆ นะ ให้เขาคิดทำเรื่องพิพิธภัณฑ์กวนอิมเมตตาสากล ทำหน้าที่เก็บ บรรจุเรื่องราวของความเมตตาที่มนุษย์มีต่อกันจากที่ต่าง ๆ ในโลก ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย อาจเป็นที่แรกในโลกที่ทำแบบนี้ เอาที่สวยเลย คุณมีทุนใช่ไหม คุณจะสร้างตึกรูปปั้นสูง 40 ชั้นได้ คุณก็ใช้ตรงนั้นมาทำพิพิธภัณฑ์แห่งความเมตตา แล้วก็เก็บสะสมเรื่องราวของความเมตตาทั่วโลก ให้คนอื่นดูนะครับ เช่น ในค่ายกักกันนาซี มีการ์ดของหน่วย SS นาซีเยอรมันคอยช่วยคนอื่น ไม่เคยได้ยินใช่ไหม แล้วไปหยิบของพวกนี้มาดูใช่ไหมเอาของ เอาภาพอะไรต่อพวกเขามาดู เราก็จะเห็น
เราอาจจะเคยได้ยินเรื่องราวของ อ็อสคาร์ ชินด์เลอร์ (นักอุตสาหกรรมและนักจารกรรมชาวเยอรมัน ผู้ได้รับการกล่าวขานว่าช่วยชีวิตชาวยิวกว่า 1,200 คน ในช่วงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว) ไม่ใช่แค่ ชินด์เลอร์ มี ราอูล วัลเลนเบิร์ก ซึ่งเป็นนักการทูตสวิตเซอร์แลนด์ที่ช่วยคนยิว มี ไอรีนแชนด์เลอร์ เก็บชีวิต เด็ก ๆ และชื่อพ่อแม่ใส่ไหฝังไว้ เด็กจะได้รู้ว่าพ่อแม่เขาเป็นใคร
ในอินเดีย ปากีสถาน ตอนแยกประเทศคนตายเป็นล้าน ๆ คน แต่มันมีเรื่องราวของคนครอบครัวมุสลิม ซึ่งช่วยครอบครัวชาวซิกซ์ 21 คนให้รอด จากภัยของฝ่ายมุสลิมอีกพวกที่จะมาฆ่าเขา เพราะตอนนั้นแตกเป็นฮินดู มุสลิมโกรธมากเลย ฆ่ากันตายเยอะแยะไปหมด เป็นรอยแผลอยู่ในสังคมอินเดียมาถึงปัจจุบัน ปี 1947 เดือนสิงหาคม มีเรื่องแบบนี้มีใครเคยได้ยินไหมว่า ครอบครัวที่คนมุสลิมกลุ่มนั้นที่เคยช่วยครอบครัวคนซิกซ์ 21 คนให้รอด ในที่สุดมีคนตายนะครับแต่มันมีการทำแบบนี้อยู่ในเอเชีย
ในประเทศไทย ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อวานวันเป็นวันสันติภาพไทย (16 สิงหาคม) อาจารย์ปรีดีท่านก็ประกาศว่าสงครามเป็นสงครามโมฆะ คุณเคยสงสัยไหมว่าทำไมอังกฤษ อเมริกายอมรับว่ามันเป็นโมฆะสงคราม ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าคนไทยดูแลเชลยศึกอเมริกัน อังกฤษ ที่ถูกญี่ปุ่นจับ ความเมตตาของคนไทยเลื่องลือไปทั่วเลย เขาเชื่ออะไรกับคนไทยที่ช่วยพวกนี้ พ่อแม่ก็เป็นใครเขา ทำอะไร ไม่มีใครรู้เลย
คุณเข้าใจที่พูดไหม คือทั้งหมดนี้เราสามารถใส่เข้ามาในพิพิธภัณฑ์แห่งความเมตตาสากลกวนอิมได้ คนก็อาจจะอยากมาจากทั่วโลก ในทางกลับกันกำลังจะพูดว่าวิสัยทัศน์ (Vision) ที่ผู้ประสงค์จะสร้าง รูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมยังเล็กเกินไป ถูกไหมครับเพราะก็โฟกัสไปที่คนซึ่งเข้าใจเรื่องราวของเจ้าแม่กวนอิม แต่ผมกำลังบอกว่าเอาจันทร์กระจ่างฟ้าของเจ้าแม่กวนอิมมาแปลแล้วให้พลังของความเย็นแห่งความเมตตาคลุมไปทั่วโลกเลย ในความหมายนี้ เอามาเก็บไว้และผู้คนจากทั่วโลกได้มาเรียนรู้
เมืองไทยก็จะเป็นศูนย์กลาง สะกอมริมทะเลสวยด้วย คนมาดูไม่ใช่มาเลเซียอย่างเดียว จากยุโรปก็จะมี เพราะมีเรื่องเล่าของเขาไง จะเป็นแบบที่แรกในโลกเท่าที่ผมรู้นะ ยังไม่มีใครทำแบบนี้นะครับ
ผมคิดว่าทำอย่างนี้จะซื่อสัตย์กับคำสอนของเจ้าแม่กวนอิม ตรงกับสิ่งที่ท่านต้องการ ตรงกับศาสนาอิสลามในฐานะที่เป็นศาสนาความเมตตา เริ่มจะมีเรื่องเล่าของคนนู้นคนนี้ และเหมาะในสังคมซึ่งความเกลียดชังทวีขึ้นเรื่อย ๆ เราก็ลดมันด้วยความรู้ ด้วยความทรงจำเก่า ๆ ด้วยความเป็นจริงที่เคยเกิดขึ้น คนก็จะอัศจรรย์ใจว่าเกิดขึ้นได้อย่างไรนะ ของแบบนี้มีด้วยหรือ มีด้วยหรือที่การ์ดนาซีมาช่วย มีด้วยเหรอคนยอมเสียสละชีวิตของตัวเองเพื่อคนอื่นซึ่งอยู่ตรงข้ามกับตัวเอง เป็นคนซึ่งในเวลานั้นเกลียดชังกัน ทั้งหมดนี้เรื่องราวมันทรงพลังมากเลยนะ
แล้วเป็นคำสอนที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างคนในพื้นที่ ทั้งคนส่วนใหญ่และคนส่วนน้อย ไม่ใช่เป็นกำแพงที่กันคนส่วนน้อยออกจากคนส่วนใหญ่ แล้วทำให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่พอใจ
สมมติคุณบอกว่าทั้งหมดที่ผมพูดเป็นการลงทุนมหาศาล แต่บริษัททีพีไอเขามีเงิน ถ้าอยากจะทำแบบนั้นก็ลองไอเดียนี้ และถ้าอยากจะใช้วิชั่นนี้ก็ลองดู แต่ถ้าไม่อยากรู้สึกว่ามันใหญ่เกินไป ก็ทำอย่างอื่นก็ได้ มีของที่เบาลงมาในแง่ของการลงทุนของการจัดการนะครับยกตัวอย่าง
อันแรก ศูนย์สุขภาพกวนอิม ก็เก็บประมวลศิลปะการดูแลสุขภาพแบบฉบับพื้นบ้านไว้นะครับ มีมวยจีน สีละ แม่ไม้มวยไทยภาคใต้ เป็นต้น อันนี้ก็เป็นศูนย์สุขภาพได้ใช่ไหมครับ ทำให้สวย หรือไม่ก็ทำเป็นโรงพยาบาลก็ได้ ถ้าเป็นโรงพยาบาลชั้นหนึ่งใน ต.สะกอม ที่จะโฟกัสไปที่โรคภัยอะไรบางอย่างก็ได้ อาจเป็นโรงพยาบาลด้านสุขภาพจิต ตอนนี้คนมีเป็นซึมเศร้า (Depression) เยอะแยะเลย ต่อไปข้างหน้าถ้าโรงพยาบาลนี้ยิ่งใหญ่เพียงพอก็จะกลายเป็นศูนย์ที่จะดูแลคนป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าหรือสุขภาพจิตในโลกในนามของกวนอิม ลงทุนโดยบริษัททีพีไอ โอ้โหถ้าผมเป็นผู้ถือหุ้นนะ ไม่ต้องโฆษณาเลยมันเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กร
อีกอัน สถานที่จะดูแลผู้ป่วยวาระสุดท้าย (Palliative Care) ตอนนี้เรามีคนแก่มากขึ้น เป็นสังคมผู้สูงอายุจริงแล้วนะครับ คือจะจัดสัดส่วนประชากรเกิน 60 ขึ้นไป 25% มีแต่คนที่จะใกล้ตายอย่างผมนะ ถึงจุดหนึ่งจะเป็นผู้ป่วยวาระสุดท้าย จะดูแลกันอย่างไร ไม่ใช่ด้านกฎหมาย ไม่ใช่หมอพยาบาล แต่เป็นเรื่องจิตใจ เรื่องอะไรทั้งหลายทั้งปวง เราก็นึกถึงตัวแบบอย่างเช่น ศูนย์ธรรมรักษ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำเรื่องนี้นะครับ แล้วก็ใช้การดูแลทั้งในด้านจิตใจ ทั้งในด้านศาสนา ทั้งในด้านจิตวิทยา ทั้งในด้านของการรักษาพยาบาล ให้คนป่วยหรือคนเหล่านั้นจากโลกนี้ไปด้วยรอยยิ้ม ด้วยเมตตา
ดังนั้น ปัญหาของเราก็คือว่า มองให้เห็นจันทร์กระจ่างฟ้าได้ไหมนะครับ เพราะจันทร์กระจ่างฟ้าให้ความเยือกเย็น ให้ความนุ่มนวล ให้ความสว่างกับทุกคน ในความหมายที่เราเขียนในบริบทแบบนี้ เราอยากจะให้คนโดยเฉพาะคนที่คิดจะสร้าง ทั้งชาวพุทธก็ดี ทั้งชาวมุสลิมในพื้นที่ที่รับผลที่จะสร้าง จะสร้างอะไรก็ได้ จะสร้างโรงงาน จะสร้างบริษัท จะสร้างหน่วยงาน จะสร้างรูปเคารพ หรืออะไรก็แล้วแต่ วัด สุเหร่าเหมือนกัน ในกรณีนี้ คิดถึงเรื่องพวกนี้ สามารถทำอะไรได้อีกหลายอย่าง
เราต้องการวิสัยทัศน์ ความเข้าใจ ที่สำคัญคือเข้าใจธรรมะสักหน่อยมั้ย ว่าที่เขากำลังชี้ เขาบอกให้ดูจันทร์กระจ่างฟ้าไม่ได้ดูนิ้ว
วิภาพร : ทั้งหมดนี้อาจารย์ได้พูดไปแล้ว แต่ถ้าเผื่อว่ายังโฟกัสที่นิ้วมืออยู่ จะเกิดความเสี่ยงอะไรขึ้น
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ : ความเสี่ยงที่เกิด ก็คือว่าจะทำให้เป็นเชื้อของความไม่พอใจในพื้นที่นะครับ ความไม่พอใจระหว่างกัน ชาวพุทธกับชาวมุสลิมในพื้นที่ คุณนึกภาพนะ ถ้าสมมติว่ามีรูปเคารพอะไรขึ้นมา แล้วมีอะไรเกิดขึ้นกับรูปเคารพ จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ชาวพุทธก็คงไม่พอใจถูกมั้ย ก็จะเสียใจ อาจจะโกรธ
เราไม่ได้อยู่ในยุคที่สายสัมพันธ์เข้มแข็ง แต่เราอยู่ในยุคของสายสัมพันธ์ที่มันเปราะบาง คำถามก็คือว่าจะเป็นบริษัท จะเป็นบุคคล จะเป็นสื่อมวลชน ไม่มีหน้าที่หรอกหรือที่จะทำอะไรก็ตามที่จะช่วยให้สายสัมพันธ์เข้มแข็งขึ้น ไม่ใช่ทำอะไรก็ได้ที่จะไม่คำนึงถึงสายสัมพันธ์นี้ จะเปราะก็เปราะไปก็จะทำแบบนี้ ทำแล้วคิดไหมว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถูกไหมทางโลก ถูกไหมทางธรรม และส่งผลอะไรนะครับ
ผมถามจริง ๆ ถ้าสมมุติผมเป็นผู้ถือหุ้นผม ผมรู้ว่าบริษัทกำลังทำอะไรบางอย่างที่ไม่น่าพอใจแบบนี้ ผมจะรู้สึกยังไง สมมติผมเป็นคนซื้อของเขา ซื้อคอนกรีต ซื้อปุ๋ย จะคิดอย่างไร เดี๋ยวเดือดร้อน ถ้าเราทำธุรกิจเราก็ไม่ต้องการความเดือดร้อนอยู่แล้วใช่ไหม
วิภาพร: จากกรณีนี้ อาจารย์มองว่าทำอะไรได้บ้าง รวมถึงเราเอง
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ : ก็นี่ไง มีหน้าที่บอก เตือนกัน คุยกันใช่ไหมครับ ให้เห็นว่าเรายังสามารถทำสิ่งที่เราอยากจะทำได้ โดยทำอย่างอื่นได้ด้วยในเวลาเดียวกัน แล้วเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย เราเฉยไม่ได้ เราต้องส่งเสียงออกมา ตกลงที่เราเสนอมันสมเหตุสมผลไหม มันฟังขึ้นไหมนะครับ เราอยากจะทำสิ่งซึ่งไม่มีใครเคยทำมาในโลก ผมเห็นด้วย ผมเห็นด้วยแต่เลือกหน่อยนะครับ ทำของที่ไม่เคยทำมาในโลกได้นะครับ คุณทำระเบิดปรมาณูขึ้นมาอันหนึ่งก็ได้ ระเบิดเชื้อโรคอะไรที่ไม่เคยมีใครเห็นมาก่อนในโลกคุณก็ทำได้ แต่ทำแล้วโลกมันบาดเจ็บ
ในโลกนี้ คุณรู้ไหมสิ่งที่ค้ำจุนโลกอยู่คืออะไร ไม่ใช่ความจริง ไม่ใช่ความยุติธรรมนะครับ ความจริงเหมือนมีด มันคมมันบาดเจ็บ ส่วนความยุติธรรมก็ทำแล้วเนี่ยโลกก็ลุกไหม้ก็ได้นะครับ มีสิ่งเดียวเท่านั้นที่คุ้มครองค้ำจุนโลกอยู่คือสิ่งที่กวนอิมเป็นตัวแทน คือสิ่งที่ศาสนาอิสลามสอน คือเมตตาธรรมเป็นเครื่องค้ำจุนโลก คำนี้ผมไม่ได้พูดนะ เขาพูดมาตั้งนานแล้ว
วิภาพร : อย่างวันนี้ก็เกิดสถานการณ์ในพื้นที่เปราะบาง ยิ่งอยู่ในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง แล้วอยู่ในระหว่างการพยายามพูดคุยกัน สำหรับคนที่ต้องทำอะไรในพื้นที่แบบนี้ ต้องคิดอะไรบ้าง
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ : คิดหาทางเลือกมองโลกในแง่ดี มองเห็นคนอื่นนึกถึงใจของคนอื่น ในขณะเดียวกันก็พยายามคิดถึง อย่างที่ผมใช้คำแทนว่ามองเห็น มองให้เห็นจันทร์กระจ่างฟ้า อันนั้นมันมีประโยชน์กว่ามองที่นิ้วไง
ดีแล้วที่มีเรื่องตอนนี้ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะยังไม่ได้สร้าง ฉะนั้นทั้งหมดอยู่ในโหมดของบางคนเรียกว่า violence prevention การป้องกันไม่ให้เกิดปัจจัยเสี่ยง ที่จะทำให้พลวัตรทางความขัดแย้งมันคลี่ไปสู่สถานะที่อันตราย คุณนึกภาพนะ สมมติว่าสร้างเสร็จแล้ว จะรื้อหรือ โอ้โห ทำไม่ได้ เพราะมันทำลายจิตใจคนอีกจำนวนหนึ่งไง ถึงแม้เป็นคนส่วนน้อยในพื้นที่ เขาเป็นคนส่วนใหญ่ในประเทศ คือจะยุ่งไปหมดเลยถูกไหมครับ
ดีแล้วที่ตอนนี้จะต้องมานั่งเอาหัวมาสุมหัวคุยกัน แล้วเสนอทางออกที่อาจจะดีที่สุด สำหรับสะกอม สำหรับบริษัท สำหรับผู้คนนะครับ สำหรับประเทศไทย และไม่ใช่สำหรับตอนนี้แต่สำหรับอนาคต
วิภาพร : พอพูดว่ามานั่งคุยกัน แน่นอนว่า การสร้างในพื้นที่ของเขาเอง ผู้ต้องการสร้างก็มีทุนในการสร้าง อาจารย์คิดว่าแล้วควรจะเป็นพื้นที่แบบไหน ควรจะต้องมีไหม หรือควรจะต้องเข้าใจเรื่องนี้อย่างไร
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ : สมมติเขาสร้างศาลเจ้าแม่กวนอิมเล็ก ๆ อยู่ในพื้นที่จะมีอะไรเกิดขึ้น กลับไปเรื่องแรกที่ผมพูดก็คือว่า อยู่ในบริบทของสัดส่วนประชากรไง แต่พอทำแบบนี้ (ขนาดใหญ่) มันเป็นอีกอย่าง ดังนั้นการสร้างอะไรสักอย่างเราก็ต้องนึกถึงบริบทพวกนี้ถูกไหมครับ ผมยินดีจะเชื่อว่าเขามีเจตนาดีนะ ผมยินดีจะเชื่อว่าเขาประสงค์ที่จะเผยแผ่คำสอนของเจ้าแม่กวนอิม
ตอนนี้เรากำลังเสนอว่า เราสามารถจะทำทั้ง 2 อย่าง และทำแลนด์มาร์คของโลกได้โดยวิธีอื่นโดยไม่ต้องทำร้ายความสัมพันธ์ในชุมชน เพราะว่าสำหรับบริษัท ความสัมพันธ์ในชุมชน ความสัมพันธ์ในผู้คน ก็เป็นเรื่องใหญ่ของประเทศ แล้วบริษัทเองก็มีความรับผิดชอบของบริษัทในทางสาธารณะเหมือนกันที่จะไม่ก่อเรื่องให้เกิดความขัดแย้งโดยไม่จำเป็น และโดยสถานการณ์ รู้แล้วว่ามันจะเกิดมีปัญหาขึ้นมาได้ แล้วจะทำทำไม
วิภาพร : สังคมไทยเรียนรู้อะไรจากกรณีนี้ ถ้าเรามองถอยออกมาจากจะนะ เผื่อมันเกิดกรณีแบบนี้ในที่อื่น ๆ ในบริบทความพหุวัฒนธรรมที่เราอยู่ร่วมกับความหลากหลาย
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ : ผมคิดว่าอย่างที่ 1 ถ้ามองจากมุมศาสนา ผมก็กำลังชวนทุกศาสนาให้มองไปที่จันทร์กระจ่างฟ้า ไม่ใช่ให้มองไปที่นิ้วที่ชี้ไปอย่างเดียวนะครับ บางคนติดกับอยู่ที่นิ้ว ยังไม่เห็น แต่ศาสนาก็เตือนเราบอกว่าเขาชี้ไปที่จันทร์กระจ่างไม่ใช่นิ้ว แต่คนจำนวนหนึ่งก็เกาะอยู่ เพราะนิ้วมันเห็นชัด แต่จันทร์ไม่เห็น ถ้าคุณผ่านนิ้วไปได้คุณจะเห็นว่าแสงจันทร์ครอบคลุมไพศาลเยือกเย็นอ่อนโยนนะครับ แล้วก็โอบอุ้มคนทั้งหมดทั้งปวงไว้ นิ้วอาจจะทำไม่ได้แต่จำได้ ถูกไหมครับ แล้วก็ไม่ใช่ดวงอาทิตย์ซึ่งจะทำให้คนแสบตาด้วย
อย่างที่ 2 ที่เราจะเรียนรู้ได้ก็คือว่า ในความขัดแย้งทั้งหลาย จริง ๆ มันมีทางเลือก มีทางออกนะครับ แต่บางครั้งเราอาจจะต้องครีเอทีฟ เราต้องมีความคิดสร้างสรรค์สักหน่อย ซึ่งผมก็เชื่อว่าภาคธุรกิจมีความคิดสร้างสรรค์อยู่ แต่บางทีเขาไม่ได้อ่อนไหวกับเหตุปัจจัยนี้เท่าไหร่ ในแง่ของสื่อมวลชน ในแง่ของวิชาการ เราก็มีหน้าที่สื่อสารให้เห็นว่า เออ… มันอย่างนี้ได้นะ
ชมเพิ่มเติมในรายการคุณเล่าเราขยาย เสนอทางออก กรณีก่อสร้างรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิม
ลิ้งค์เอกสารข้อเสนอเเนะ กรณีการก่อสร้างรูปปั้นเจ้าเเม่กวนอิม ของศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ https://drive.google.com/file/d/1a_0LjFSyt1WuQany6ecrj3P3LCVrkMzW/view?usp=sharing