เตรียมต่อไม่รอแล้ว อช.ปภ.อุบลราชธานี จับตาฝนตกหนักพร้อมรับน้ำท่วมริมฝั่งมูล

เตรียมต่อไม่รอแล้ว อช.ปภ.อุบลราชธานี จับตาฝนตกหนักพร้อมรับน้ำท่วมริมฝั่งมูล

19 สิงหาคม 65 เวลา 06.00 น. ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ออกประกาศเรื่อง ฝนตกหนักหนักถึงหนักมาก ในช่วงวันที่ 20 – 22 สิงหาคม 2565 เนื่องจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคอีสาน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคอีสานตอนล่าง ได้แก่ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง พร้อมเตือนให้ประชาชนในบริเวณดังกล่างระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากโดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มและทางน้ำไหลผ่าน

ซักซ้อมรับมือ เตรียมคน เตรียมเรือ และจุดอพยพ

จำนงค์ จิตรนิรัตน์  ที่ปรึกษาอาสาสมัครชุมชนป้องกันภัยพิบัติ จ.อุบลราชธานี (อช.ปภ.)  ระบุว่า ปีนี้มีการประเมินถึงปริมาณน้ำในลุ่มน้ำมูล โดยเฉพาะใน จ.อุบลราชธานี พื้นที่ปลายน้ำของภาคอีสานที่รองรับน้ำจากลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล และลุ่มน้ำสาขา ก่อนลงสู่แม่น้ำโขง ว่าภาพรวมจะมีปริมาณมาก จึงมีการเตรียมพร้อมของเครือข่ายชาวบ้านอาสาสมัครชุมชนป้องกันภัยพิบัติ จ.อุบลราชธานี  ในพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำมูล เขตเทศบาลนครอุบลราชธานี และเทศบาลเมืองวารินชำราบเพื่อเตรียมรับผลกระทบจากน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นร่วมกับหน่วยงานในท้องถิ่น

“โดยภาพรวมของน้ำที่มีการประเมิน ตอนนี้ทุกฝ่ายก็เห็นตรงกันว่าน้ำน่าจะเยอะ อาการก็จะคล้าย ๆ น้ำท่วมปี 62 มีฝนเยอะและมีพายุ ซึ่งถ้าพายุไม่เปลี่ยนสภาพหรือไม่สลาย ประกอบกับน้ำฝนที่เยอะ แม่น้ำมูล และแม่น้ำโขงก็เยอะ อันนี้เป็นองค์ประกอบคล้าย ๆ ปี 62 แต่ความเร็วและความแรงของน้ำก็ยังคาดการณ์ไม่ได้ แต่หากว่าน้ำไม่แรงแต่ถ้าน้ำสูงมันก็จะเกิดความเสียหายเยอะ

ความตื่นตัวจากปี 62 มีการสรุปบทเรียนไปแล้ว 2-3 รอบ ตอนนี้ทางกลุ่มก็มีการปรับความพร้อมขององค์กร เลือกคณะกรรมการกันใหม่ มีการเตรียมเรื่อง 1.เตรียมความพร้อมของชุมชน ทรัพยากร อุปกรณ์ที่มีการสะสมกันมาช่วงหลังปี 62 เช่น เรือ แพ ก็มีการเตรียมพร้อมอุปกรณ์พวกนี้ไว้สำหรับถ้าน้ำมาหรือท่วมเร็วก็จะได้ใช้ ซึ่งมีเรืออยู่เกือบ 30 ลำ และมีการเตรียมอาสาชุมชนที่จะทำหน้าที่กับเรือกับการอพยพ เตรียมอุปกรณ์เครื่องมือกู้ชีพกู้ภัยให้มีความพร้อมไว้กับเรือ แต่ก็มีเท่าที่จะหาได้เพราะงบประมาณของเครือข่ายก็แทบจะไม่มีเลย เพราะฉะนั้นก็ต้องไปประสานกับทางเทศบาล ถ้าจำเป็นจะต้องมีการอพยพพื้นที่อพยพอยู่ตรงไหน จัดระบบโดยมีปัจจัยเรื่องโควิด-19 เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยก็อาจจะต้องอยู่เป็นรายชุมชนเพื่อระบบการดูแลจะได้ใกล้ชิดกัน ซึ่งแต่เดิมก็จะอพยพกันไปตามสภาวะน้ำท่วมและตามความสะดวกแบบนั้นถ้าภาวะปกติทำได้ แต่ถ้ามีโควิด-19 ก็จะทำเป็นระบบชุมชนจะดีกว่าซึ่งก็จะมี อสม. ทางเทศบาลก็เห็นด้วย”

นอกจากการเตรียมรับภัยพิบัติในระดับท้องถิ่นชุมชนของหน่วยงาน ที่เป็นส่วนสำคัญในการที่จะช่วยป้องกันและลดความเสียหายจากภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น  ความร่วมมือของเครือข่ายชาวบ้าน อาสาสมัครในชุมชนที่ผ่านการพัฒนศักยภาพและมีข้อมูลสถานที่ ข้อมูลบุคคล ของสมาชิกในหมู่บ้านจะช่วยให้สามารถรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“จุดสำคัญอยู่ที่ว่า ถ้าทางหน่วยงานมีนโยบายชัดเจนว่าจะให้ชุมชนเป็นกำลังสำคัญทั้งในการดูแล แก้ปัญหาช่วยพี่น้องในชุมชนของตัวเองแล้วก็ไปช่วยคนอื่นได้ โดยทางหน่วยงานมีการสนับสนุนทรัพยากรซึ่งเขาก็ไม่ได้เรียกร้องอะไรมากนะ เช่น มีเครื่องเรือ มีน้ำมัน วัตถุดิบข้าวสารอาหารแห้ง ที่เหลือเดี๋ยวเขาจะดำเนินการเองอันนี้เขามีความพร้อม เรามีอาสาสมัครที่อยู่ในขบวนการฝึก 70-80 คน แล้วก็มีวิทยุสื่อสาร ว.แดง เพื่อจะได้สื่อสารกันด้วย เพื่อความรวดเร็วในการหมุนเวียนเรือ ซึ่งก็มีความตั้งใจเยอะมาก ถ้ามีการสนับสนุนเพิ่มเติมก็จะถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนของการระดมความร่วมมือในการแก้ไขสภถานการณ์ก็คิดว่าจะดีขึ้นนะครับถ้ามีนโยบายนี้ชัดเจน เราพยายามทำเครือข่ายระหว่างจังหวัด อย่างเสาวิทยุสื่อสาร ว.แดง ไม่สามารถที่จะทำให้มันสูงเพื่อให้สัญญาณไปได้ไกลเพราะงบประมาณไม่มี ทางรัฐมีเครื่องมือพวกนี้เยอะแต่จะทำอย่างไรให้เป็นตัวสื่อสารมาถึงชุมชนให้ได้นี่คือจุดสำคัญ การเตรียมตัวก็จะเตรียมตัวได้ดีขึ้น”

“ปีนี้ที่ได้ประชุมกันคือ ระดมความคิดในสมาชิกกลุ่มเครือข่าย อช.ปภ.ว่าเราควรต้องมีการจัดตั้งทีม แต่ละทีมเข้ามาดูแลแต่ละฝ่ายก็จะมีฝ่ายประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วม ถ้าระดับน้ำสูงตอนที่ชาวบ้านจะอพยพคือจะอยู่ระดับบันไดค่ะ ถ้าน้ำเลยบันไดขึ้นมาน้ำก็จะเข้าทางท่อระบายน้ำก็จะทำให้น้ำเข้าในชุมชน” บุญทัน เพ็งธรรม ผู้ประสานงานเครือข่าย อช.ปภ.อุบลราชธานี เล่าถึงการเตรียมรับมือของชาวบ้านในนาม อช.ปภ. ซึ่งวันที่ 21 สิงหาคมนี้ จะมีการอบรมเชิงปฏิบัติการของสมาชิกทั้งหมดอักครั้ง เพื่อทำความเข้าใจ ทบทวนขั้นตอน ให้พร้อมปฏิบัติการหากมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น

ลานีญาอิทธิพลแรง เตือนระวังฝนตกหนัก

รศ.ดร. วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรษศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร โพสต์เฟซบุ๊ก Witsanu Attavanich ระบุ ลานีญายังแรงอีก ระวังฝนหนัก!!

“ความน่าจะเป็นที่จะเกิดลานีญาปรับเพิ่มขึ้นอีกและทรงตัวในระดับสูง พร้อมกำลังที่เพิ่มขึ้น จับตาช่วง ก.ย.-พ.ย. (ฤดูฝน) ปริมาณฝนจะมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติทุกภูมิภาคและมากกว่าปีที่แล้ว กทม. กลาง ตะวันออก ตะวันตก อีสาน ใต้ตอนบน ต้องระวังเป็นพิเศษ ปีนี้ได้หนาวจับใจกันยาวๆ ทุกภูมิภาคถึงอย่างน้อย ม.ค. 66 และจะหนาวเย็นกว่าปีที่แล้ว”

(16 ส.ค. 65) ทาง International Research Institute for Climate Society (IRI) มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และ Climate Prediction Center องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) สหรัฐอเมริกา ได้พยากรณ์ว่า ความน่าจะเป็นที่จะเกิดลานีญาปรับเพิ่มเกิน 80% ช่วง ก.ค.-ก.ย.65 และแตะเกือบ 80% ลากยาวถึง ธ.ค. 66 โดยเพิ่มกำลังอีกจากเดิม มากกว่าที่คาดไว้ในเดือนที่แล้ว แม้ว่าจะอยู่ในระดับกำลังอ่อนแต่ก็ประมาทไม่ได้ ลานีญาจะอ่อนกำลังช่วง ก.พ. 66 สัญญาณเอลนีโญยังมีน้อยและน่าจะไม่เกิดภัยแล้ง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ