มนทนา ดวงประภา : ‘ฟิลิปปินส์’ ตัวอย่างการใช้กฎหมายหยุด ‘การแกล้งฟ้อง’

มนทนา ดวงประภา : ‘ฟิลิปปินส์’ ตัวอย่างการใช้กฎหมายหยุด ‘การแกล้งฟ้อง’

ชื่อบทความเดิม: การใช้กฎหมายเพื่อยับยั้งการฟ้องร้องคดีคุกคามนักต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชน กรณีตัวอย่าง ฟิลิปปินส์

มนทนา ดวงประภา ทนายความ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

SLAPP case และ Anti-SLAPP case ในกฎหมาย The Rule of Procedure for Environmental Case of Philippines (A.M. No. 09-6-8-SC) 

I) SLAPP case – Strategic Litigation Against Public Participation

คือ การใช้คดีความหรือการฟ้องร้องเป็นกลยุทธ์คุกคามการมีส่วนร่วมสาธารณะ (ผศ.ดร. วีระ สมบูรณ์, รัฐศาสตร์ จุฬา) ขอเรียกสั้น ๆ ว่า “การแกล้งฟ้อง”

II) ลักษณะคดีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในฟิลิปปินส์ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท 

1) X ยื่นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมคัดค้าน A ซึ่งเป็นผู้ละเมิดกฎหมายสิ่งแวดล้อม ต่อมา A จึงทำการยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก X 

2) X เป็นพยานเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมหนึ่ง ๆ เกี่ยวกับกรณีของ A ต่อมา A จึงยื่นฟ้องในความเสียหายหรือการกล่าวถึงข้อเท็จจริงนั้น ๆ 

3) X เป็นนักปกป้องสิ่งแวดล้อมผู้ที่เดินขบวนให้มีการปกป้องสิทธิทางสิ่งแวดล้อม และต่อมา A จึงยื่นฟ้อง X ในการรณรงค์นั้น 

III) ในวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมของฟิลิปปินส์ SLAPP คือ การกระทำทางคดีไม่ว่าทางแพ่ง อาญา หรือทางปกครองต่อบุคคลใดหรือสถาบันหรือรัฐ โดยมีวัตถุประสงค์ของการฟ้องคดีคือการคุกคามหรือรบกวน, กดดันอย่างหนัก หรือยับยั้งการกระทำทางกฎหมายใด ๆ ที่บุคคลนั้นเรียกร้องให้ทำหรือบังคับตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม หรือเพื่อการปกป้องสิ่งแวดล้อมหรือรับรองสิทธิทางสิ่งแวดล้อม

– SLAPP ถูกโต้แย้งในคดีแพ่งได้อย่างไร หรือเราตอบโต้การแกล้งฟ้องคดีแพ่งอย่างไร 
ในคำให้การของจำเลยต้องยก SLAPP เป็นข้อต่อสู้ในการไต่สวนจำเลยต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ของการฟ้องคดีว่าเป็นการคุกคามหรือการรบกวน, กดดันอย่างหนัก หรือยับยั้งการกระทำทางกฎหมายใด ๆ ที่บุคคลนั้นเรียกร้องให้ทำหรือบังคับตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม หรือเพื่อการปกป้องสิ่งแวดล้อมหรือรับรองสิทธิทางสิ่งแวดล้อม

– SLAPP ถูกโต้แย้งในคดีอาญาได้อย่างไร หรือเราตอบโต้การแกล้งฟ้องคดีอาญาอย่างไร 
ทันทีที่ยื่นข้อมูลในศาลและก่อนหมายเรียกให้มาให้การ จำเลยต้องยื่นคำร้องของให้ยกฟ้อง เพราะเหตุที่คดีเป็นคดีที่เกิดจากฟ้องคดีแบบ SLAPP ในการไต่สวน ผู้ถูกกล่าวหาต้องยื่นหลักฐานพิสูจน์ให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ของการฟ้องคดีว่าเป็นการคุมคามหรือการรบกวน, กดดันอย่างหนัก หรือยับยั้งการกระทำทางกฎหมายใด ๆ ที่บุคคลนั้นเรียกร้องให้ทำหรือบังคับตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม

-ระดับของหลักฐานที่กฎหมายกำหนด จำเลยพิสูจน์เพียงหลักฐานที่เป็นสาระสำคัญที่แสดงว่าการกระทำนั้นเป็น SLAPP ในขณะที่โจทก์ต้องพิสูจน์ถึงความมีมูลแห่งคดีและพิสูจน์ว่าคดีไม่ใช่การ SLAPP ด้วย

-ความเสียหายเรียกร้องได้หรือไม่ คำตอบคือได้ ถ้าศาลยกฟ้องคดีแพ่งว่าเป็นการฟ้องคดีแบบ SLAPP จำเลยอาจจะได้รับค่าเสียหาย ค่าทนายความและค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี ถ้าได้ฟ้องแย้งไว้

IV) ข้อพิจารณาถึงบริบทของการได้มาซึ่งวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมของฟิลิปปินส์ 

1) เฉพาะเจาะจงกว่าจะได้มาซึ่งกฎหมาย SLAPP case ในวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม คือการต่อสู้เรื่องเหมืองแร่ ซึ่งถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจของเขา ชาวบ้านสามารถทำเหมืองแบบพื้นบ้าน โดยไม่จำต้องใช้เครื่องมือทำลายล้าง รวมตัวกัน “เรียกร้องและทำข้อตกลงเรื่องแบ่งปันผลประโยชน์จากการได้สัมปทานเหมืองลงมาสู่ชุมชนโดยตรง” บริษัทเหมืองจึงฟ้องคดีชาวบ้านและเรียกค่าเสียหายจากการที่ชาวบ้านเสนอให้มีการตกลงเรื่องนี้ ปิดเหมือง และการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ 

2) วิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมเกิดจากอำนาจพิเศษของศาลสูงฟิลิปปินส์ ที่มีอำนาจ Rule-Making Power ซึ่งเกือบจะเท่ากับอำนาจนิติบัญญัติ ประกอบกับประธานศาลสูงในสมัยนั้นคือ Reynato S. Puno มีวิสัยทัศน์ก้าวไกล บัญญัติหลักเหล่านี้ขึ้นมาโดยไม่ต้องผ่านรัฐสภา 

V) ปิดสุดท้าย 

เห็นด้วยที่ต้องใช้หลักสุจริตในการต่อสู้คดีแพ่ง และต่อสู้คดีโดยใช้หลักการยกเว้นความผิดทั้งหลายในข้อหาต่าง ๆ ที่ถูกแกล้งฟ้อง อย่างไรก็ตาม การตอบโต้การแกล้งฟ้อง (Anti-SLAPP Case) ของฟิลิปปินส์นี้เป็นมากกว่าการพิสูจน์ในเนื้อหาของคดี โดยมีลักษณะเด่นดังนี้ 

–    เป็นมากกว่าการให้ข้อมูลศาลหรือขอร้องศาลให้เห็นใจว่าชาวบ้านกำลังใช้สิทธิปกป้องสิ่งแวดล้อมอยู่ โดยการแกล้งฟ้องนี้จะถูกพิจารณาโดยกฎหมาย 

–    การพิจารณานี้จะทำให้การพิจารณาคดีหลักนั้นถูกเลื่อนออกไปก่อน ลำดับความสำคัญของการพิจารณาคดีนั้นจะอยู่ที่การพิจารณาว่ามีการแกล้งฟ้องหรือไม่ หากประเด็นนี้ถูกยกมาในคำให้การสำหรับคดีแพ่ง หรือเขียนเป็นคำร้องมาสำหรับคดีอาญา และศาลต้องควบคุมการพิจาณาประเด็นนี้ภายใน 60 วัน ทำให้สามารถรู้ชะตาชีวิตตัวเองภายในระยะเวลานี้ 

–    ไม่จำต้องใช้สามัญสำนึกหรือความเมตตาจากระบบยุติธรรม เพราะมันเป็นระบบที่บอกว่าศาลต้องพิจารณาการแกล้งฟ้องนี้ ตามวิธีพิจารณาความ

…………………………………….

20161705014817.jpg

หมายเหตุ: บทความนี้ถูกนำเสนอเป็นประเด็นหนึ่งในการอภิปราย “กระบวนการยุติธรรมอาญาและการคุ้มครองนักต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชน” ในเวที “กระบวนการยุติธรรม สิทธิชุมชน กับนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน” เมื่อวันจันทร์ที่ 9 พ.ค. 2559 ณ ห้องประชุมบุญชู โรจนเสถียร ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: องค์กรสิทธิฯ-เครือข่ายคนในพื้นที่เหมือง ร่วมร้อง ‘หยุดใช้กฎหมายคุกคาม’ แกล้งฟ้องคดี

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ