เหตุการณ์ที่ชาวมุสลิมจาก 400 มัสยิด หลายอำเภอในจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นเขตรอยต่อกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาร่วมละหมาดฮายัตขอความเมตตาจากพระเจ้ากรณีจะมีการก่อสร้างรูปบูชา “เจ้าเเม่กวนอิม”ที่สูงที่สุดในโลก ชวนให้สังคมตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นในพื้นที่ และต้องยอมรับว่า เกิดความวิตกต่อเนื่องว่าเรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป
แต่ถ้อยคำสนทนา จากมุมมองคนในพื้นที่ แม้จะต่างศาสนิกใน รายการ ฉุกคิด Talk หัวข้อ “คนจีน มลายู มุสลิม พุทธชายแดนใต้ ภายใต้ : การสร้างเจ้าแม่กวนอิมที่หาดสะกอม ” น่าสนใจยิ่ง เป็นมุมของ คนที่เกิดที่นั่น ทั้งคนไทยพุทธ มลายูเชื้อสายจีน รู้จักและนับถือเจ้าแม่กวนอิม คือ นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะและเป็นประธานชมรมแพทย์ชนบท และ คุณชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ เป็นนักเขียนและนักวิชาการอิสระ
เมื่อรับรู้ถึงความเชื่อ หลักศรัทธา และสิ่งที่ลึกซึ้งอยู่ในพื้นที เราอาจมองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้อย่างพอจะหาทางออกร่วมได้
“เราอยู่ในพื้นที่ที่มีรากร่วม”
“ผมเรียกตัวเองว่า นายูจีนอ (มุสลิมเซื้อสายจีน) บ้านผมเป็นตระกูลหยาง เป็นแซ่หยาง ปู่นั่งเรือสำเภามาจากเมืองจีน ขึ้นท่าที่ปีนัง ตั้งรกรากอยู่ที่มาเลเซีย แต่งงานกับย่าซึ่งเป็นคนมาเลเซีย พ่อเกิดมาเลเซีย แม่เป็นคนเจ๊ะเห ตากใบ เราอยู่หลายที่ อ.หาดใหญ่ก็เคยอยู่ แต่สุดท้าย พ่อมาตั้งรกรากที่ดุซงญอ (ต.ดุซงญอ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส) แล้วก็เติบโตในสิ่งแวดล้อมซึ่งทำให้ผมสัมผัสวัฒนธรรมแบบจีน มลายู แบบพุทธตั้งแต่เด็ก ๆ” ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ หรือพี่หย่อง เป็นนักเขียนและนักวิชาการอิสระ ท้าวความถึงที่มาของต้นตระกูลและความเชื่อของครอบครัว และเล่าต่อว่าตั้งแต่เด็ก ๆ ตื่นมาตอนเช้าพ่อเปิดเพลงจีน เพลงจอมใจจักพรรดิ งิ้วอะไรแบบนี้ แล้วบ้านผมอยู่ตรงข้ามมัสยิด ผมได้ยินเสียงอาซานห้ารอบต่อวัน เหมือนเข้าไปในจิตวิญญาณดังนั้นเราก็จะผูกพันกัน พี่น้องผม อย่างพี่สาวจะเคารพเจ้าแม่กวนอิมมาก ส่วนผมและพี่น้องคนอื่นๆ เราก็นับถือพุทธ ขงจื๊อ เต๋า ตาม ๆ จีนทั่วไปเราก็นับถือ ผมบวชพระเกือบปี ไปอยู่ป่า อยู่ถ้ำ”
“ดังนั้นในสายพุทธ สายจีน เราก็ศรัทธาอยู่แล้ว ผสมผสานกัน ไม่ได้จะมลายูจ๋า ไม่ได้จะเชียร์มุสลิม เมื่อเกิดปัญหา เราก็อยากพูดด้วยความเข้าใจกันว่าเราอยู่ในพื้นที่ที่มีรากร่วมกัน ตั้งแต่ในอดีต คนจีน คนมลายู กลุ่มชาติพันธ์อยู่กันในพื้นที่อย่างไร แล้วทำไมเจ้าแม่กวนอิมที่จะสร้างองค์ใหญ่สุดในโลก สร้างแรงกระเพื่อม เกิดปัญหาที่จะขยายตัวไปเรื่อย ๆ ถ้าเราไม่เร่งแก้หรือพูดคุยอย่างมีเหตุผลจริง ๆ”
ส่วนหมอสุภัทร นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ เล่าว่า ตนเองเกิดและเติบโตที่หาดใหญ่ ครอบครัวก็มาจากจีนโพ้นทะเลสมัยคุณปู่ช่วงที่ประเทศจีนกำลังวุ่นวาย เปลี่ยนแปลงการปกครอง แล้วก็ย้ายฐานมาอยู่มาเลเซียแถวปีนังหลังจากนั้นก็ข้ามแดนมาหาดใหญ่ได้อย่างง่ายดาย สมัยนั้นมีถนนสายไทรบุรีเป็นเส้นหลักอยู่ มาปักหลักที่หาดใหญ่เป็นรุ่นสาม ที่บ้านก็ไหว้เจ้าแม่กวนอิมเป็นปกติ
“คุณย่า คุณแม่ไหว้ทุกวัน เราก็อยู่ในวิถีนั้น คือเจ้าแม่กวนอิมก็เป็นองค์พระโพธิสัตว์ที่ในลัทธิพุทธมหายาน ซึ่งก็เชื่อว่าทุกคนสามารถเป็นองค์พระโพธิสัตว์ได้ขอให้ทำความดีแล้วเจ้าแม่กวนอิมก็ไม่ปรารถนาที่จะบรรลุนิพพานเพราะอยากจะอยู่ช่วยเพื่อนมนุษย์ด้วยมีเมตตาบารมี กรุณาบารมี ที่จะช่วยสัตว์ให้พ้นทุกข์ เราก็มีความเชื่อเช่นนั้นตั้งแต่เด็กเพราะว่าเราก็อยู่ในวิถีและวัฒนธรรมเช่นนั้น โอเคล่ะความเชื่อรุ่นผมก็อาจจะไม่เท่ากับรุ่นปู่ รุ่นพ่อ แต่ก็ยังนับถือแล้วก็ไหว้ครับ”
“เราซื้อไก่ ซื้อปลากับคนมุสลิม เราซื้อหมูซื้อเต้าหู้ของคนจีน ตอนเด็กๆ ผมก็อยู่ในตลาดหาดใหญ่ เราก็ไปกิมหยงกับคุณแม่เป็นประจำเพราะว่าตลาดกิมหยง เป็นตลาดหลัก แล้วเราก็จะมีเจ้าประจำของเราก็ทักทายด้วยมิตร มิตรไมตรี แล้วก็ช่วยคุณแม่หิ้วของกลับบ้าน เวลาคุยกันก็ไม่ได้รู้สึกมีความแตกต่างทางวัฒนธรรม ก็เป็นมิตรภาพซึ่งกันและกัน นั่นก็เป็นความรู้สึกที่เราประทับใจตั้งแต่แรก ๆ” หมอสุภัทรเล่าอย่างออกรส
จนผมเรียนแพทย์ที่จุฬากลับมาอยู่ที่โรงพยาบาลสะบ้าย้อย ตอนนั้นพี่น้องมุสลิมแบบพูดไทยแทบไม่ได้เลย เราก็มาเรียนรู้วิถีวัฒนธรรม คือความหมายของการละหมาดของการที่เขาจะต้องถือศีลอดกับการแพทย์ เราจะดูแลเขาอย่างไร ผมก็เริ่มหัดภาษา หัดสื่อสารด้วยภาษายาวี ผมว่าสิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐาน ทำให้เรามีความเข้าใจต่อพี่น้องมุสลิมและวิถีวัฒนธรรมของเขามากขึ้น
70%ก็ยังเป็นมุสลิม วิถีพุทธกับมุสลิมที่ อ. จะนะก็เกื้อกูลกันมาก สมัยก่อนโรงเรียนมีน้อย โรงเรียนหลวงก็จะมีพี่น้องมุสลิม และพุทธเรียนด้วยกัน ก็ผูกพันกันไม่มีปัญหาอะไรกัน ห่วงเป็นใยกัน เกื้อกูลกัน มีข้าวปลาอาหารอะไรก็แบ่งกัน ในช่วงโควิดนี่ชัดเจนมาก ไม่ได้แบ่งแยกกันเลย
“ก็คล้ายกันนะ” พี่หย่อง ชุมศักดิ์ เล่าเสริมว่า ผมว่าการอยู่ร่วมกันในเชิงพหุวัฒนธรรมที่สามจังหวัดค่อนข้างเห็นชัดคือ ผมเกิดที่ดุซุงญอ (ชื่อตำบลใน อ.จะแนะ จ.นราธิวาส) ใครติดตามเรื่องข่าวสถานการณ์สามจังหวัดคงเคยได้ยินชื่อ ดุซงญอหรือกบฏดุซุงญอ คุณพ่อเป็นคนไทยเชื้อสายจีน แต่อยู่ในเหตุการณ์กับพี่น้องมุสลิม ผมเกิดและเติบโตที่นั่นร่วมกับพี่น้องทั้งหมด พี่น้องทุกคนพูดมลายูได้ชัดทุกคน เพื่อนผมแปดเก้าสิบเปอเซ็นต์เป็นมุสลิม เราก็ผูกพันกันในพื้นที่ พอโตมา ผมก็แปลกใจ เอ๊ะทำไมตอนเด็กเวลาตรุษจีน พ่อจะพาเราไปไหว้เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ไหว้วัดช้างให้ หมู่บ้านเราก็อยู่มัสยิดอยู่กับเพื่อนมุสลิม เวลาฮารีรายอ ตรุษจีนมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม แลกเปลี่ยนอาหาร อันนี้เป็นภาพชินตาปกติมากเลยของพื้นที่”
เกี่ยวอะไรกับนิคมอุตสาหกรรมจะนะ
หมอสุภัทร กล่าวว่า นิคมอุตสาหกรรมจะนะถูกผลักดันมาเป็นระยะ และเข้มข้นหนักขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2562 พื้นที่นิคมฯประมาณ 20,000 กว่าไร ริมทะเลจะนะ 3 ตำบล จะมีนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือน้ำลึก โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพื่อป้อนให้กับนิคม มีคลังน้ำมัน คลังแก๊สธรรมชาติ เต็มรูปแบบคล้าย ๆ ระยอง ซึ่งภาพเหล่านี้ ชาวบ้านก็ที่ไม่เห็นด้วยก็ประท้วงเป็นระยะ ๆ จนสุดท้ายก็มีการประท้วงใหญ่ที่กรุงเทพ ก็ได้มติครม. ธันวาคม 2564 ยืนยันมติเดิมปี 2563 ให้ศึกษา SEA ก่อน ส่งผลให้ทุกอย่างต้องหยุด
เมื่อทุกอย่างหยุด ก็มีข่าวว่า นักลงทุนชาวจีนที่จะมาลงทุนในนิคม ฯ เสียความมั่นใจ บริษัทที่เป็นเจ้าของก็แก้ปัญหาเพื่อเรียกศรัทธา ให้รู้สึกว่ามีโอกาสที่จะกลับมาลงทุน
“รูปปั้นเจ้าแม่กวนอิม จะสร้างที่ อ.เทพาไม่ได้สร้างที่ อ.จะนะ แต่ที่อ.เทพามีเนินเขาลูกนึงที่เมื่อสร้างแล้วหันหน้าทางจะนะ เพื่อหวังที่จะให้สร้างนิคมให้ได้ นี่ก็คือที่มาที่ไป เลยรู้สึกว่าไม่น่าควรเป็นเช่นนั้น ศรัทธาไม่ควรจถูกนำมาใช้เพื่อการสร้างนิคมอุตสาหกรรม” หมอสุภัทร กล่าว
ชุมศักดิ์ เล่าเสริมว่า การอยู่ร่วมกันในเชิงพหุวัฒนธรรมที่สามจังหวัดเนี่ยเราค่อนข้างเห็นชัดคือ ผมเกิดที่ดุซุงญอ ใครติดตามเรื่องข่าวสถานการณ์สามจังหวัดคงเคยได้ยินชื่อนะดุซงญอหรือกบฎดุซุงญอ คุณพ่อเป็นคนไทยเชื้อสายจีน แต่อยู่ในเหตุการณ์ก็อยู่กับพี่น้องมุสลิม ผมเกิดและเติบโตที่นั่นร่วมกับพี่น้องทั้งหมด พี่น้องทุกคนพูดมลายูได้ชัดทุกคน แต่พี่น้องทุกคนมีชื่อเป็นมลายูหมด เพื่อนผมแปดเก้าสิบเปอเซ็นต์เป็นมุสลิม เราก็ผูกพันกันในพื้นที่
พอผมโตมาผมก็แปลกใจนะเอ๊ะทำไมตอนเด็กเวลาตรุษจีน พ่อมักจะพาเราไปไหว้เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ไหว้วัดช้างให้ หมู่บ้านเราก็อยู่มัสยิดอยู่กับเพื่อนมุสลิม เวลาฮารีรายอ ตรุษจีนมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม แลกเปลี่ยนอาหาร อันนี้เป็นภาพเจนตาปกติมากเลยของพื้นที่
คุณชุมศักดิ์ กล่าวว่า ผมเลยมองว่าปรากฏการณ์ของเจ้าแม่กวนอิม เป็น 3 มุม
- 1.มองในมุมของศาสนาหรือว่าหลักศรัทธา อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องระวัง คืออย่างที่เล่าไป เราไม่เคยมีปัญหาของการอยู่ร่วมกัน ตอนเด็กอยู่กับความเป็นจีนยังไง ทุกวันนี้เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวก็ยังอยู่ ทั้งสุสาน ทั้งซากสถาน ไม่เคยถูกทำลาย แม้จะมีปัญหาในพื้นที่ เจ้าแม่โต๊ะโมะที่สุคิริน ที่สุไหงโกลก ไม่เคยมีปัญหา แล้วยิ่งไปที่สายบุรียิ่งแล้วใหญ่ อยู่ในชุมชนมุสลิมเลย ที่เบตงมีการแห่เจ้าแม่ประจำปี คนเยอะมาก จุดประทัดกันทั่วเมือง
“ก็เลยเป็นโจทย์ว่าแล้วแตกต่างกันอย่างไรกับเคสที่เราเคยอยู่ดั้งเดิมแล้วไม่มีปัญหากับเคสนี้ที่มาแล้วเริ่มมีปัญหา”
คุณชุมศักดิ์บอกว่า ผมลองเสิร์จในกูเกิ้ลคำว่า เจ้าแม่กวนอิมใหญ่ที่สุดในโลก ก็ไปเจอที่เกาะไหหลำ สูง 108 เมตร หรือในไทยที่เชียงรายสูง 79 เมตรก็เท่ากับตึก 25-26 ชั้น แต่ที่จะสร้าง เท่ากับตึก40ชั้น ร้อยกว่าเมตร มันใหญ่มากๆซึ่งก็เป็นคำถาม ทำไมต้องใหญ่ที่สุดในโลก และทำไมต้องสร้างในพื้นที่ความขัดแย้ง ?
“ผมเรียนปริญญาเอกอยู่ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน เห็นว่ารูปแบบการจัดสร้างเจ้าแม่กวนอิมที่จะนะ สวนทางโดยสิ้นเชิงกับแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน เรื่องการมีส่วนร่วม หรือการจัดทำให้มันยั่งยืน
- 2. มุมมองเรื่องของเศรษฐกิจการลงทุน การลงทุนเกิดมีคำถามเยอะมาก ทั้งความโปร่งใสในแง่การดำเนินการของรัฐ ในแง่ของผลประโยชน์ ที่อยู่เบื้องหลังและการต่อสู้ของชุมชน เราพยายามพูดคุยแลกเปลี่ยนนะว่า มันมีปัญหาตรงไหน?
- 3. การอยู่ร่วมกันแบบพหุวัฒนธรรม เราย้อนกลับไปจริงๆ ประวัติศาสตร์ในพื้นที่ตั้งแต่ยุคลังกาสุกะ จนถึงปัจจุบัน ความเป็นจีน ความเป็นพุทธ ความเป็นมุสลิม ผูกพันกันมานาน ในพื้นที่ ไม่เคยมีการระเบิดศาลเจ้า ไม่เคยมีทำร้ายคนจีนอะไรในพื้นที่เบื้องลึกเบื้องหลังของเรื่องนี้มากกว่าเรื่องความเชื่อปกติของคนพุทธหรือว่าคนจีนหรือคนที่นับถือพุทธมหายานทั่ว ๆ ไป
“พี่น้องจะนะที่ไม่เอานิคมอุตสาหกรรมก็ไม่อยากแสดงตนออกมาคัดค้านเจ้าแม่กวนอิมเพราะเขารู้สึกว่า ก็เป็น สิทธิ์ของทุกศาสนา เขาก็เคารพในสิทธิของคนพุทธที่มีความเชื่อจะสร้างเจ้าแม่กวนอิม” หมอสุภัทร กล่าวและว่า เราต้องวิเคราะห์กันหนักมาก ก่อนหน้านี้ ก่อนที่จะมีปรากฏการณ์ออกมาคัดค้าน ก็คุยกันหนักมากในส่วนของชาวบ้าน โดยเฉพาะพี่น้องมุสลิมเพราะเขาก็มีความกังวลมากว่า พี่น้องจะนะที่ไม่เอานิคมอุตสาหกรรมเขาก็ไม่อยากแสดงตนออกมาคัดค้าน เพราะเขารู้สึกว่า เป็นสิทธิ์ของทุกศาสนา ในการที่จะทำตามความคิดความเชื่อของตนเอง เขาก็เคารพเพราะเขาก็ต่อสู้ในเรื่องของสิทธิชุมชน เขาก็เคารพในสิทธิของคนพุทธที่มีความเชื่อหรือจะสร้างเจ้าแม่กวนอิม เขาก็ไม่อยากออกมาค้าน เขาก็มีความกังวลสูง คำถามใหญ่ที่สุดก็คือว่า ทำไม TPIPP ถึงเลือกสร้างเจ้าแม่กวนอิมที่นี่
หมอสุภัทร เล่าต่อว่า จากข้อมูลและวิเคราะห์ คือกรณีการต่อสู้ของพี่น้องจะนะมีความเข้มแข็งมาก คือให้ยุติทุกอย่างไปก่อน ซึ่งก็มีความหมาย การสร้างนิคมฯ ถ้าต้องหยุดไป 2-3 ปีนี่เขาจะเดือดร้อนมาก มีปรากฏการณ์ที่สำคัญก็คือว่า แม้ว่าพี่น้องจะนะสู้ พี่น้องจะนะส่วนใหญ่เป็นมุสลิมทั้งหมดเพราะว่า 3 ตำบล มีมุสลิมอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่แต่ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากคนพุทธ ในจะนะด้วย อาจารย์นักวิชาการ ในหาดใหญ่ ในภาคใต้ ที่มาช่วยกัน ศิลปินก็มาช่วยกัน เอาดนตรีมาเล่น มันมีมิติของการช่วยกันผลักดันเพื่อปกป้องแผ่นดินเกิด และการสนับสนุนจากพี่น้องกรุงเทพ มหาศาลมากและส่วนใหญ่เป็นพุทธ หิ้วอาหารมาแล้วก็บอกว่า ยืนยันนะฮาลาล เพราะว่าเขาซื้อจากร้านมุสลิมมาให้เป็นต้น พยายามซื้อของที่มีตราฮาลาลมาให้ เป็นภาพที่งดงาม
คำถามสำคัญคือ แล้วการสร้างครั้งนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญอะไรแน่ ทำไมต้องสร้างให้ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะมันไม่ใช่เรื่องของการบูชาสิ่งใหญ่ และหากปล่อยให้สร้างก็ไม่ได้เหมือนกันเพราะว่าไม่ใช่การสร้างด้วยศรัทธา แต่ด้วยเหตุผลที่จะกลายเป็นการที่สร้างความแตกแยกให้กับผู้คน
ทำอย่างไรให้การก่อสร้างนำไปสู่ความสงบสุข ของคนในพื้นที่เดียวกัน
คุณชุมศักดิ์ มองว่า ถ้าเราเน้นเฉพาะเรื่องของการสร้างหรือไม่สร้างอันตรายแน่ แต่ผมลองคิดเล่น ๆ ถ้าเจ้าแม่กวนอิมนี้ไม่มีคำว่าใหญ่สุดในโลก สร้างในสิ่งที่พอเหมาะพอควร มันไม่แปลกแยกกับชุมชน ให้ความช่วยเหลืออยู่ร่วมกับคนได้
ถ้าเกิดการพูดคุยกัน ทำไมต้องสร้างใหญ่ขนาดนี้ ผมดูที่เขาแก่นจันทร์ ราชบุรี เขามีองค์ใหญ่ 84 เมตร งบก่อสร้าง 2,500 ล้าน ดังนั้น ที่นี่มันต้องหลักหลายพันล้านอย่างต่ำสักสองเท่าก็ห้าหกพันล้าน ผมชอบแนวคิดที่อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เสนอนะ ตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์หรือเป็นหน่วยงานช่วยเหลือสาธารณะประโยชน์ ที่สำคัญตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ของพุทธมหายานในชายแดนภาคใต้ได้เลย ถ้าเราไปไล่ดูประวัติศาสตร์ตั้งแต่ศรีวิชัย ทำไมเรามี พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร อยู่ในพื้นที่ เพราะเหล่านี้เป็นต้นทุนของเชิงศรัทธาของเชิงพื้นที่ แต่ถ้าคิดว่าจะสร้างองค์ใหญ่ที่สุดเพื่อดึงนักท่องเที่ยวมา เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ อันนี้ผมว่าคิดผิด คนพุทธ คนจีนในพื้นที่ไม่เยอะ และเขาไม่โหยหาความเป็นใหญ่ที่สุดในโลก ถ้าเราจะแก้เรื่องศรัทธา ก็ลดขนาด หรือหารูปแบบอื่นได้ไหม ?
“เราจะทำอย่างไรที่จะรีบขจัดปัญหาความเห็นต่างเหล่านี้ออกไป เราต้องมาคุยกัน แต่ไม่ใช่เรื่องของการประชาพิจารณ์ ไม่ใช่เรื่องของการโหวตแน่ เป็นเรื่องของเหตุผลและต้องเสนอทางออกร่วมกัน ผมคิดว่าพี่น้องมุสลิมที่ออกมาประท้วง เขามาประท้วงความใหญ่ส่วนหนึ่งกับประท้วงสิ่งที่แฝงเร้นอยู่หลังศรัทธา การเมือง ที่ผูกติดด้วยผลประโยชน์”
หมอสุภัทร กล่าว่า ทางอบต. ถามสำนักจุฬาราชมนตรีไปว่ามีความเห็นอย่างไร ? ทางสำนักจุฬาฯตอบมาดีมาก ด้วยบทความของอาจารย์ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เป็นเรื่องที่ต้องจัดเวทีพูดคุยกันเพื่อแสวงหาทางออกที่ดีที่สุดเพราะว่าจริงๆพี่น้องมุสลิมก็พยายามระมัดระวังในการแสดงออกมาก การแสดงออกด้วยการละหมาดฮายัตละหมาดของพรจากพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งเป็นการแสดงออกที่สันติ คนในพื้นที่ก็พยายามแสดงออกอย่างระมัดระวังที่สุดเพื่อไม่ให้เป็นประเด็นความขัดแย้งทางศาสนาหรือมันบานปลายซึ่งอันนี้ต้องนับถือการตัดสินใจของของพี่น้องในพื้นที่
ทางด้านคนพุทธในพื้นที่เองก็พยายามพูดคุย อย่างใน ต.สะกอม อ.จะนะ ก็เป็นสังคมพหุวัฒนธรรมมาก่อน ในพื้นที่ก็มีวัดสะกอม มีพระสงฆ์ 7-8รูปปัจจุบันก็ยังมีพระจำพรรษาอยู่ แล้วก็มีศาลเจ้าด้วยศาลเจ้าจีนอยู่ที่นั่น มีชุมชนพุทธ ล้อมรอบด้วยคนมุสลิมจำนวนมากแต่ว่ามิติความผูกพันและความเข้าใจกันอย่างดี
คุณชุมศักดิ์เล่าเสริมว่า เราย้อนกลับมาทบทวนดูเจ้าแม่กวนอิมหรือพระโพธิสัตว์ หัวใจสำคัญหรือจุดสำคัญของพระโพธิสัตว์คือความเมตตา แล้วก็การสละตัวเองเพื่อนำพาชีวิต ข้ามสังสารวัฎเข้าสู่นิพพานคือตัวเองยอมไม่สู่นิพพาน ไม่นำตัวเองไปสู่นิพพานแต่ยอมสละตัวเองเพื่อนำคนอื่นไปสู่ความสุข
เพราะฉะนั้นผมว่าเป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจนแล้วเรื่องความเมตตา ฉะนั้นเมื่อเราต้องการนำความเมตตาสู่พื้นที่ เราก็ควรต้องคุยกันไม่ใช่เอาความเกลียดชังลงมา ในเมื่อความเมตตาเป็นสิ่งสำคัญ ลองทบทวนในสิ่งที่จะสร้างจ้าแม่กวนอิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ผลดีกับผลเสียมันจะเกิดอะไรดีกว่าถ้ายึดหลักเมตตา ถ้าเราใช้หลักเมตตา เข้าใจชุมชน เข้าใจชาวบ้าน เข้าใจทุกฝ่ายคนที่แม้จะต่างศาสนากัน เเล้วมาคุยกัน ว่าเรามีทางเลือกอื่นอีกไหม? อย่างที่อาจารย์ ชัยวัฒน์ เสนอปรับไซส์เล็กลงหรือสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์หรือทำเป็นหน่วยงานช่วยเหลือผู้คน หรือว่าจะขยับพื้นที่ออกมา ต้องมีทางเลือกดีกว่า
“ขอให้ยึดถึงความหมายขององค์เจ้าแม่กวนอิมจริงๆว่าคืออะไร ไม่จำเป็นต้องใหญ่หรือไม่จำเป็นต้องเล็ก แต่อยู่ที่หัวใจว่าจะให้ความเคารพความเป็นมนุษย์ได้ขนาดไหนแค่นั้นเอง” ชุมศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย
ขอบคุณภาพเเละเรื่องราวจาก : Nasoree Walam
สามารถชมเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/zinstudio3233/videos/729201898147503