อยู่ดีมีแฮง : เบิ่งวิถีอีสาน ผ่านลุ่มน้ำ โขง ชี มูล สงคราม

อยู่ดีมีแฮง : เบิ่งวิถีอีสาน ผ่านลุ่มน้ำ โขง ชี มูล สงคราม

วิถีชีวิตคนผู้คน ต่างผูกพันกับสายน้ำ ไม่ว่าจะมากหรือน้อย เมื่อสายน้ำทอดตัวผ่านชุมชน ผ่านเมือง จะยุคใดสมัยใดแม่น้ำจึงเปรียบเสมือนเส้นเลือดสำคัญที่ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนตลอดมา อีสานเป็นอีกพื้นที่ที่มีแม่น้ำสายสำคัญหลายสายคอยทำหน้าที่ดำเนินเรื่องราววิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำอีสาน อย่าง แม่น้ำโขง แม่น้ำชี แม่น้ำมูล เป็นต้น หน้าที่ของสายน้ำเปลี่ยนไปตามยุคสมัยจากที่เคยถูกใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค ใช้เป็นเส้นทางสัญจรไปมาหาสู่กัน เป็นแหล่งทำมาหากิน แต่การเปลี่ยนผ่านของสังคมและผู้คนกลายเป็นตัวกำหนดบทบาทใหม่ให้แก่แม่น้ำไปโดยปริยาย

แม่น้ำโขง คือหนึ่งตัวอย่างที่บทบาหน้าที่ของแม่น้ำเปลี่ยนไป รวมถึงคุณภาพและความมีชีวิตชีวาของสายน้ำก็หายไปเช่นกัน ในอดีตแม่น้ำที่มีความยาวเกือบ 4,900 กิโลเมตรสายนี้ ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนหลายเชื้อชาติ ก่อกำเนิดวัฒนธรรมและอารยธรรมมากมาย จากแม่น้ำที่เคยไหลอย่างอิสระ ปัจจุบันถูกขวางกั้นด้วยเขื่อนเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า คือหนึ่งในบทบาทใหม่ที่มนุษย์กำหนดให้แม่น้ำโขง

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงเริ่มชัดเจน ทั้ง ปริมาณปลาที่ลดน้อยลง ระดับน้ำขึ้น-ลง ผันผวน น้ำโขงใส และต้นปีที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์ “ไก” เกลื่อนโขง “ไก” หรือที่ชาวบ้าน เรียก สาหร่ายแม่น้ำโขง อาจมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในหลายพื้นที่ และมีลักษณะคล้าย “เทา” ในอีสาน แม้ “ไก” จะเป็นอาหารที่นิยมของพี่น้องทางภาคเหนือและอาหารของปลา แต่ “ไก น้ำโขง” คนอีสานบ้านกลับไม่นิยมบริโภค นั่นทำให้ไกกลายเป็นปัญหาสำหรับหลายพื้นที่ โดยเฉพาะเมื่อมีมากจนเกินไป ทั้ง ต่อระบบนิเวศ และอุปกรณ์หาปลาของพี่น้องชาวบ้าน ติตตามเรื่องราว ไก กับ แม่น้ำโขง เกี่ยวโยงกันอย่างไร และทำไมเรื่องนี้จึงเปฌนโจทย์ของคนลุ่มน้ำโขง

ไก แม่น้ำโขง

นอกจากวิถีของคนลุ่มน้ำโขงที่ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของสายน้ำ คนอีสานในแถบลุ่มน้ำชีก็เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน “แม่น้ำชี บ่คือเก่า” ความเปลี่ยนแปลงที่ค่อย ๆ เป็นไปและเร่งรีบไม่ลดละ นั่นทำให้ลูกหลานลุ่มแม่น้ำชี ซึ่งเป็นสายน้ำที่มีความสำคัญของพี่น้องอีสาน ด้วยระยะทางกว่า 800 กิโลเมตร และมีพื้นที่ลุ่มน้ำเกือบ 50,000 ตารางกิโลเมตร เป็นทั้งแหล่งอาศัยพึ่งพาหาอยู่หากิน หล่อเลี้ยงชีวิตคนลุ่มน้ำมายาวนาน แต่วันนี้แม่น้ำชีไม่เหมือนเดิม ทำให้คนลุ่มน้ำชีต้องปรับตัวมากขึ้นเพื่อให้ทุกคนรอดไปด้วยกัน

แม่น้ำชีกับวิถีคนลุ่มน้ำ

สายน้ำชีกว่า 800 กิโลเมตร ไหลหล่อเลี้ยงชีวิตคนอีสานในหลายจังหวัด มาบรรจบกับกับ แม่น้ำมูล แม่น้ำสำคัญอีกสายของคนอีสาน ที่มีระยะทางกว่า 640 กิโลเมตรจาก นครราชสีมา ถึง ท้ายน้ำที่ อุบลราชธานี ก่อนไหลลงสู่น้ำโขง เป็นแหล่งหาอยู่หากินของผู้คนตลอดลุ่มน้ำเป็น “มูนมัง” ของพี่น้องไทอีสานมายาวนาน แต่ปัจจุบันชะตากรรมของแม่น้ำหลาย ๆ สาย กลับเป็นไปไม่ต่างกันจากการถูกขวางกั้นด้วยเขื่อน ลำน้ำมูลที่ถูกขวางกั้นการไหลของน้ำต้องรอช่วงเวลา ซึ่งนั่นทำให้ลูกหลานแม่น้ำมูลกังวลไม่น้อยกับความเปลี่ยนแปลงที่กระทบกับชีวิต

อย่างชาวประมงที่บ้านท่าแพ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ที่อาศัยหาปลาในปากแม่น้ำมูล เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิต แต่เขื่อนปากมูล เขื่อนกันลำน้ำมูลก่อนไหลลงแม่น้ำโขง เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ที่เปิด-ปิด เป็นเวลาทำให้สายน้ำไหลอย่างอิสระเหมือนคราก่อนไม่ได้ เป็นหนึ่งปัจจัยที่สร้างความปั่นป่วนต่อชะตากรรมของสายน้ำและคนใต้เขื่อนปากมูล

เปิด ปิด ป่วน วิถีคนลุ่มน้ำมูล

อีกหนึ่งลำน้ำที่สำคัญไม่แพ้กัน เพราะว่ากันว่าเป็นมดลูกแห่งลำน้ำโขง นั่นก็คือ แม่น้ำสงคราม ด้วยความยาวกว่า 420 กิโลเมตร ไหลผ่าน 5 จังหวัดในภาคอีสานตอนบน กับพื้นที่ชุ่มน้ำกว่า 4,045,000 ไร่ คือปัจจัยหนึ่งที่ทำให้แม่น้ำสงครามมีความหลากหลายของพันธุ์ปลาและพันธุ์พื้น ทำให้แม่น้ำสงครามถูกขนานนามว่าเป็นมดลูกของแม่น้ำโขง เพราะเป็นเหมือนแหล่งเพาะพันธุ์สัตวน้ำน้อยใหญ่ และปลาแม่น้ำโขงที่จะเข้ามาวางไข่จากทางปากแม่น้ำที่ ต.ไชยบุรี อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำโขง โดยแม่น้ำสงครามเป็น 1 ใน 37 ลุ่มน้ำสาขาของน้ำโขง  ซึ่ง สุริยา โคตะมี ชาวบ้านสามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม หนึ่งในคนที่อาศัยแม่น้ำสงครามหล่อเลี้ยงชีวิตมาตั้งแต่เกิดบอกว่า

” แม่น้ำสงคราม นอกจากจะเป็นสายเลือดของพี่น้องชาวบ้านแล้ว อีกชื่อหนึ่งที่ชาวบ้านเรียกคือ “มดลูกแม่น้ำโขง”

ลุ่มน้ำสงคราม มดลูกแห่งแม่น้ำโขง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ