ภาสกร จำลองราช: หาเหตุผลในการใช้ ‘ม.44’ ยุบ-ตั้ง ‘บอร์ดสปส.’

ภาสกร จำลองราช: หาเหตุผลในการใช้ ‘ม.44’ ยุบ-ตั้ง ‘บอร์ดสปส.’

20151011134115.jpg

ภาสกร จำลองราช
ที่มา: Paskorn Jumlongrach

การที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติใช้มาตรา 44 ยุบคณะกรรมการ (บอร์ด) ประกันสังคม คณะกรรมการ (บอร์ด) แพทย์ และคณะกรรมการ (บอร์ด) กองทุนเงินทดแทน (คลิกอ่าน: คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 40/2558 เรื่อง การได้มาซึ่งคณะกรรมการประกันสังคม ที่ปรึกษาของคณะกรรมการประกันสังคมคณะกรรมการการแพทย์ และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน เป็นการชั่วคราว) พร้อมระงับกระบวนการสรรหาและคัดเลือกบอร์ดชุดใหม่ รวมทั้งแต่งตั้งชุดบอร์ดชุดใหม่ สร้างความงงงวยให้กับคนในขบวนการแรงงานและประชาชนทั่วไปกันพอสมควร เพราะยังไม่ทราบเหตุผลที่แท้จริง

ในคำสั่งของหัวหน้าคสช.ระบุว่า สภาพปัญหาและข้อขัดข้องในการดำเนินการของระบบประกันสังคมและสปส. ทำให้มีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ประกันตน อันส่งผลไปถึงความเสียหายต่อรัฐด้วย จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องปฎิรูประบบประกันสังคม ให้เกิดความโปร่งใส มีธรรมาภิบาลและเกิดประโยชน์สูงสุด

เหตุผลที่แท้จริงเป็นเช่นนั้นหรือ

บอร์ดต่างๆ ของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ในปัจจุบันเป็นการรักษาการ เนื่องจากในกฎหมายประกันสังคมฉบับใหม่ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2558 เป็นต้นมา ได้กำหนดไว้ว่าให้บอร์ดชุดเดิมรักษาการจนกว่าจะได้บอ์ดชุดใหม่ภายใน 180 วัน

การได้มาของบอร์ดชุดใหม่ ในกฎหมายฉบับล่าสุดเขียนไว้ดูดีมากคือ นอกจากกรรมการโดยตำแหน่งแล้ว กรรมการในส่วนของนายจ้างและลูกจ้างฝ่ายละ 7 คน ระบุว่าให้มาจากการเลือกตั้งโดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง สัดส่วนระหว่างหญิงและชาย รวมทั้งการมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิผลของคนพิการและผู้ด้อยโอกาส

ขณะนี้กำลังมีการร่างกฎหมายลูกเพื่อลงในรายละเอียด แต่ปัญหาคือการให้ผู้ประกันตนที่มีสิทธิเลือกตั้งราว 13 ล้านคนทั่วประเทศมาใช้สิทธิลงคะแนนนั้น ต้องใช้งบประมาณสูงนับร้อยๆ ล้านบาท ทำให้หลายฝ่ายรู้สึกกังวล โดยเฉพาะหากผลการเลือกตั้งออกมา ยังคงได้คนหน้าเดิมๆ ผู้นำแรงงานกลุ่มเดิมๆที่ทำมาหากินและหาผลประโยชน์อยู่กับสปส.แล้วจะเป็นอย่างไร

ในทางตรงกันข้าม หากได้กรรมการฝ่ายลูกจ้างที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ของผู้ประกันตนและรัฐบาลควบคุมไม่ได้ ก็จะเป็นอีกสถานการณ์หนึ่งที่ผู้มีอำนาจคงไม่ชอบนัก

ไม่รู้ว่าความกังวลนี้จะล่วงรู้ไปถึงหูผู้นำคสช.หรือไม่ถึงมีการชิงตัดหน้าตั้งบอร์ดชุดใหม่เข้ามาทำงานก่อน ทำให้องค์กรลูกจ้างและนายจ้างที่กำลังตั้งท่าเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งต่างชะงักงัน

อย่างไรก็ตามเมื่อดูจากรายชื่อกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งครั้งนี้ ในส่วนของลูกจ้างทั้ง 5 คนแล้ว ก็ถือว่าใช้ได้ เพราะอยู่คนละฟากกับผู้นำแรงงานประเภทเหลือบริ้นไร แต่เมื่อเข้าไปทำงานจริง จะทำอะไรได้แค่ไหนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ขณะเดียวกันที่ปรึกษาบอร์ดชุดใหม่ก็มีชื่อพลเอกอภิชาต แสงรุ่งเรือง จากสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และพลโทนายแพทย์กฤษฎา ดวงอุไร จากโรงพยาบาลพระมงกุฎ รวมอยู่ด้วย ซึ่งตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจาก “สายตรง”

แต่ที่ผมคิดว่าเป็นโจทย์ใหญ่ของกองทุนระกันสังคมจริงๆ มีด้วยกัน 2 ประเด็นคือ 

1.ความมั่นคงระยะยาวของกองทุน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าในอีก 20-30 ปีข้างหน้า เงินกองทุนจะไหลออกมากกว่าไหลเข้าเพื่อกรณีชราภาพ หากไม่มีการแก้ปัญหาแต่เนิ่นๆถึงกับทำให้กองทุนขนาดใหญ่นี้เจ๊งได้ ดังนั้นจำเป็นต้องเอาผู้รู้และมีความสามารถจริงๆ เข้ามาดูแล หากจำเป็นต้อง “เพิ่ม” หรือ “ลด” อะไรบ้าง ก็ต้องกล้าทำ

2.โครงสร้างของสปส.ควรแยกออกจากระบบราชการได้แล้ว เพราะการบริหารเม็ดเงินนับล้านล้านบาท ควรได้มืออาชีพจริงๆ มิใช่ใครก็ได้ที่เป็นเด็กของนักการเมืองหรือผู้มีอำนาจเข้ามาดำรงตำแหน่งเลขาธิการซึ่งมีอำนาจสูงสุดในสปส. โดยเรื่องนี้จะไปพัวพันกับเรื่องความโปร่งใสด้วย เพราะที่ผ่านมาเมื่อผู้บริหารหลังพิงอยู่กับการเมืองและขั้วอำนาจ ทำให้ต้องเล่นเกมอำนาจอยู่ตลอดเวลา และการจัดสรรผลประโยชน์ให้กับฝ่ายต่างๆ จึงเป็นเรื่องจำเป็น

ปัจจุบันกองทุนประกันสังคมมีเม็ดเงินมากกว่า 1.4 ล้านล้านบาทถือว่ามหาศาลมาก แค่นำดอกผลไม่กี่เปอร์เซ็นไปใช้ตามที่กฎหมายเปิดช่องไว้ก็อื้อซ่าแล้ว การขยับตัวด้านการลงทุนแต่ละครั้งก็ส่งผลกระทบต่อตลาดทุนพอสมควร ซึ่งที่ผ่านมาในทุกยุคทุกสมัย มักจะมีมือที่มองไม่เห็นพยายามล้วงลูกเข้ามาขอเอี่ยวในการนำเงินไปใช้ จนต้องช่วยกันตีมือมาแล้วหลายรอบ

หวังใจว่าการปรับเปลี่ยนครั้งนี้จะนำไปสู่การปฎิรูประบบประกันสังคมและแก้ปัญหาครั้งใหญ่ มิใช่เป็นเทศกาลตีมือหรือระรัวมือขับไล่มือที่มองไม่เห็นอีกระลอก
 

20151011134829.jpg

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ