เลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมครั้งแรกหลังจากที่มีประกันสังคมมาตั้งแต่ ปี 2533
วันที่ 24 ธันวาคม 2566 เป็นวันเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม หรือ บอร์ดประกันสังคม ครั้งแรกในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่มีประกันสังคมเกิดขึ้นปี 2533 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมครั้งนี้เป็นการจุดประกายความหวังของผู้ประกันตนที่จะเกิดขึ้นเพื่อหาผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนฝ่ายละ 7 คน ที่จะเข้ามาทำหน้าที่เสนอความคิดเห็น รวมไปถึงนโยบายในการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคม ซึ่งถือเป็นกองทุนขนาดใหญ่ที่มีงบประมาณสิ้นปี 65 อยู่ราว ๆ 2.361 ล้านล้านบาท แต่ยังคงมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องกองทุนประกันสังคมเสี่ยงล้มละลายอยู่เรื่อย ๆ
สัดส่วนผู้ประกันตนในประเทศ
มาตรา 33 มีผู้ประกันตน 11,833,086 คน
มาตรา 39 มีผู้ประกันตน 1,805,655 คน
มาตรา 40 มีผู้ประกันตน 10,955,096 คน
มีผู้ประกันตนทั้ง 3 มาตรารวมทั้งสิ้น 24,593,837 คน แต่ปัจจุบันมีจำนวนผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมเพียง 949,818 คน เท่านั้น
ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา มีเวทีพูดคุยเรื่องเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม ปฏิรูปอะไร? อย่างไร? ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ร่วมกับวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกับ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย สถาบันปรีดี พนมยงค์ สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส สำนักข่าวชายขอบ สำนักข่าว The Reporters และ The Isaan Record โดยภายในเวทีช่วงแรกมีการพูดถึงข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปและพัฒนาระบบประกันสังคม จากผู้แทนผู้ประกันตน มาตรา 33 มาตรา 39 มาตรา 40 และเครือข่ายแรงงานข้ามชาติ
คุณสุธิลา กล่าวว่า เราพยายามผลักดัน เรื่องของการเรียร้องประกันสังคม ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 33, 39, 40 หรือพี่น้องแรงงานต่างชาติ หรือคนทำงาน เราพยายามใช้คำว่าคนทำงานประกัน ไม่อยากแบ่งแยก นิยามเหล่านี้มันเป็นนิยามของรัฐที่พยายามแบ่งแยกพวกเรา ทั้งที่เป็นคนทำงานเหมือนกัน
ตอนนี้มาตรา 33 มี 7 กรณีสิทธิประโยชน์ ต้องมีการปรับปรุงหลาย ๆ อย่าง หลายๆ กรณี ไม่สอดคล้องกัน เรื่องของบริการคุ้มครอง บริการการรักษาที่ต้องมีมาตรฐาน กองทุนประกันสังคม กองทุนเงินทดแทนที่ควรปรับฐานเพิ่มขึ้น
ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เราได้รับเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ได้คนของเราเข้าไปจริงๆ ถึงแม้ว่าการไปลงทะเบียนในครั้งนี้ มีข้อจำกัดมาก แต่อย่างน้อยๆ ประชาธิปไตยเกิดขึ้น
สุธิลา ลืนคำ ตัวแทนผู้ประกันตนตามมาตรา 33
ตัวแทนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เสนอว่า ประกันสังคมต้องมีอิสระและถ้วนหน้า โดยเฉพาะคนทำงานกลุ่มไรเดอร์ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มนวด คนเหล่านี้เป็นคนทำงานมีกำลังจ่ายประกันสังคม และประกันสังคมควรที่จะย้อนกลับมาคุ้มครองคนทำงาน โดยการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน
คุณวิภา กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าการประชาสัมพันธ์ของประกันสังคม ทำให้ผู้ที่จะไปใช้สิทธิ์ไม่รู้ว่ามีการเลือกตั้ง จนต้องไปขอให้ขยายสิทธิ์ จากจำนวนผู้ประกันตน 12 ล้านคน มีผู้ไปลงทะเบียนแค่ 900,000 คน ซึ่งน้อยมากกับเงินงบประมาณที่มาใช้ในครั้งนี้
พอคำนวณเรื่องบำนาญ ได้น้อยมาก แทบจะมันใช้ไม่ได้จริงในการดำรงชีวิต เพราะว่าเราเกษียณอายุ 55 แต่ชีวิตเราไม่ได้จบแค่ 55 ชีวิต ประเทศนี้ รัฐสวัสดิการก็ไม่ได้ครอบคลุมกับคนทำงานหรือคน 99% เท่าไหร่ ดังนั้นในส่วนของเราที่เป็นมาตรา 39 หรือเป็นผู้จัดการตนอย่างนี้ ยังไม่มีอะไรที่จะมั่นคงหลังจากเกษียณเลย
วิภา มัจฉาชาติ ตัวแทนผู้ประกันตนตามมาตรา 39
คุณวิภา เสนองบของประกันสังคมที่มี 2.3 ล้านบาทให้มีการกระจายให้กับผู้ประกันตนทุกกลุ่ม และปฏิรูประบบประกันสังคม แก้ระเบียบการเลือกตั้งต่าง ๆ
คุณสุจินเล่าว่า ประกันสังคมมาตรา 40 มี 3 ช่องทางด้วยกัน ได้แก่
ช่องทางที่ 1 คนจนส่ง 70 บาท รัฐช่วย 30 บาท
ช่องทางที่ 2 คนปานกลางส่ง 150 บาท แรงงานนอกระบบ 100 บาท รัฐช่วย 50 บาท
ช่องทางที่ 3 คนรวยส่ง 300 บาท รัฐช่วย 150 บาท
มองว่าควรมีแค่ 1 ช่องทางเท่านั้น และสิทธิประโยชน์เท่ากัน ผู้ที่จะเข้าไปเป็นตัวแทน มีแนวคิดอย่างไรกับระบบของประกันสังคมที่กำลังแบ่งพวกพี่น้องเราอยู่
สุจิน รุ่งสว่าง ตัวแทนผู้ประกันตนมาตรา 40
ปิดท้ายด้วยข้อเสนอ เรื่องบริหารจัดการกองทุนประกันสังคมเราอยากเห็นกองทุนประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระซึ่งไม่มีนักการเมืองและราชการเข้ามาแบบมีอำนาจ คณะกรรมการกองทุนประกันสังคมไม่ควรมีอายุแค่ 2 ปี แต่ควรจะเป็น 4 ปี
คุณอดิศร กล่าวว่า ควรคิดเรื่องของสิทธิประโยชน์เรื่องการรักษาพยาบาล เพราะโรคไม่ใช่แค่เรื่องการรักษาอย่างเดียว เช่น แรงงานข้ามชาติในกรณีชราภาพ ถ้าเกิดต้องกลับบ้าน ไม่สามารถไปขอรับสิทธิได้เลย สำนักงานประกันสังคมบอกว่าถ้าจะใช้สิทธิ์นี้ให้ทำข้อตกลงระหว่างไทยกับประเทศนั้น ก่อนมันจึงจะทำได้ ซึ่งไม่มีประเทศไหนที่ทำข้อตกลงกับใครตอนนี้
อีกทั้งการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คาดการณ์ว่าในปี 2583 ตัวเลขของกำลังแรงงานไทยจะลดลงอย่างน้อย 6 ล้านคน ต้องคิดต่อว่าจะเอาเงินส่วนไหนมามาดูแลจุดนี้ และหมายความว่าต้องรับแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้น เพราะระบบการผลิตเปลี่ยน กลุ่มคนที่เป็นผู้ประกันตนที่เป็นต่างชาติ ก็จะกลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ จะออกแบบประกันสังคมที่ตอบโจทย์ควรจะเป็นอย่างไร และคิดถึงกรอบของความหลากหลายด้วย
ข้อเสนอ ความหวังที่เหล่าผู้แทนผู้ประกันถือเป็นการปูทางสู่การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมที่มุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงและปฏิรูปกองทุนเพื่อให้สอดรับกับผู้ประกันตนซึ่งเป็นคนธรรมดาทั่วไปที่ควรได้รับสิทธิ์รัฐสวัสดิการที่คุ้มค่าและครอบคลุมอย่างที่ควรจะเป็น
ออกไปเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมผู้ที่จะเข้าไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้คุณภาพชีวิตพี่น้องแรงงานผู้ประกันตนทั้งหลายได้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
เช็คข้อมูลและนโยบายผู้สมัคร รวมถึงสามารถเสนอนโยบายและมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อ ได้ที่นี่
รวมนโยบายผู้สมัครบอร์ดประกันสังคม
เขียนและเรียบเรียง : กัณญาพัชร ลิ้มประเสริฐ
บทสัมภาษณ์ : อรกช สุขสวัสดิ์
ภาพกราฟิก : ปาลิตา พันธ์สุข