ร้องแก้ราคายางตกต่ำ ‘ชาวสวนยาง จ.เลย’ ขีดเส้น 1 เดือนไม่คืบเตรียมเคลื่อนร่วมชาวสวนยางใต้

ร้องแก้ราคายางตกต่ำ ‘ชาวสวนยาง จ.เลย’ ขีดเส้น 1 เดือนไม่คืบเตรียมเคลื่อนร่วมชาวสวนยางใต้

วันนี้ (15 พ.ย. 2561) เวลา 09.30 น. ชาวบ้าน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ประมาณ 60 คน เดินทางไปที่ศาลากลางจังหวัดเลย เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีผ่านรองผู้ว่าจังหวัดเลย นายโสภณ สุวรรณรัตน์ เรื่องราคายางที่ตกต่ำ

 

หนังสือดังกล่าวระบุว่า เนื่องจากสถานการณ์ราคายางพาราในประเทศในปัจจุบันมีแนวโน้มลดลงมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมา ภายใต้การบริหารประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ราคายางพาราตกต่ำจาก 20-25 บาท ลงมาอยู่ระหว่าง 15 บาท 20 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาต่ำสุดในรอบ 10 ปี และส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและรายได้ของเกษตรชาวสวนยาง และครอบครัวทั้งในจังหวัดเลย ชาวสวนยางพาราในภาคอีสาน และภาคใต้ของประเทศไทย

นับมาเป็นเวลา 5 ปี ที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล ที่มี คสช. ค้ำจุน มีอำนาจในการบริหารงานอย่างเต็มที่ ปราศจากอุปสรรคขัดขวางทางการเมืองจากฝ่ายค้านมาโดยตลอด ก็ยังไร้ความสามารถในการพยุงราคายาง ไม่สามารถทำให้ครอบครัวเกษตรชาวสวนยางทั่วประเทศมีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีจากการทำสวนยาง ทั้งที่ได้รับการส่งเสริมการปลูกจากรัฐบาล รวมถึงเป็นผู้แบกรับภาระกองทุนสวนยางแทนที่บริษัทพ่อค้าคนกลางมาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

เกษตรกรสวนยาง จ.เลย ระบุ ข้อเสนอดังต่อไปนี้ มาตรการเร่งด่วน 1.รัฐจะต้องรับซื้อยางถ้วยราคาไม่ต่ำกว่า 30 บาทต่อกิโลกรัม หรือรับประกันรายได้ของเกษตรชาวสวนยางและครอบครัวให้เพียงพอต่อการมีชีวิตที่ดี

มาตรการระยะปานกลาง 1. กำหนดมาตรการส่งเสริม สนับสนุน การปลูกพืชทดแทนสวนยางพาราตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่และความต้องการของเกษตรตลอดช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน 2.กำหนดมาตรการส่งเสริม สนับสนุน และยกระดับความสามารถของเกษตรรายย่อยให้เป็นอุตสาหกรรมระดับครัวเรือน วิสาหกิจชุมชนในการแปรรูปยางพารา

3.กำหนดมาตรการส่งเสริม สนับสนุนการลงทุนในธุรกิจแปรรูปยางพารา เพื่อสร้างความต้องการผลิตสินค้าปลายน้ำภายในประเทศทดแทนความต้องการในตลาดโลกที่ลดลง 4.กำหนดมาตรการส่งเสริม สนับสนุน งานวิจัยและการสร้างนวัตกรรมใหม่ที่จะสร้างความต้องการและยกระดับราคายางพาราอย่างต่อเนื่อง

มาตรการระยะยาวเพื่อความยั่งยืน 1.ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงานส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกยาง โดยเน้นการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของเกษตรด้วยตัวเอง ทั้งการเพื่อสัดส่วนของตัวแทนเกษตรผู้ปลูกยางและกระจายอำนาจการบริหารจัดการให้สอดคล้องเหมาะสมกับความต้องการในแต่ละพื้นที่

2.เร่งรัดให้มีการเลือกตั้ง ยกเลิกกลไกกฏหมายที่ควบคุมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ขัดขวางพัฒนาการทางสังคมการเมืองสำหรับผู้คนที่หลากหลายในประเทศ มีเพียงประเทศที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นที่ความมั่นคงของประชาชน การมีคุณภาพชีวิตที่ดี จะได้รับความสำคัญก่อนความมั่นคงของผู้มีอำนาจรัฐ และการเติบโตของระบบตลาดที่ไม่มีการกำกับควบคุม

 

ขณะที่ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.) รายงานว่า นางพรทิพย์ หงชัย ตัวแทนชาวบ้านที่เข้ายื่นหนังสือให้ข้อมูลว่า ชาวจังหวัดเลย ส่วนใหญ่มีรายได้จากการปลูกยางพารา ซึ่งทำให้มีรายได้มาจุนเจือครอบครัว เมื่อราคายางตกถึง 14 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ต้องแบกรับภาระหนี้สิน และในช่วงเวลา 5 ปีที่ คสช. มาบริหารประเทศ ราคายางไม่ดีขึ้นเลย ซึ่งเมื่อส่งผลกระทบต่อปากท้องของชาวบ้าน จึงต้องรวมกันลุกขึ้นมาใช้สิทธิ์

“เครือข่ายชาวสวนยางจังหวัดเลย จะให้เวลารัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคายาง 1 เดือน ถ้าหากไม่มีความคืบหน้าจะเคลื่อนไหวร่วมกับพี่น้องภาคใต้ ติดตามด้วยตนเองให้เกิดการแก้ไขจากรัฐบาลและการยางแห่งประเทศไทย” นางพรทิพย์กล่าว

ด้านนายโสภณ สุวรรณรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลยในฐานะตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดเลยมารับหนังสือกล่าวว่า ส่วนตัวเข้าใจและเห็นใจปัญหาของชาวสวนยางในขณะนี้ ซึ่งเมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มชาวบ้านแล้ว ทางจังหวัดจะนำข้อเรียกร้องเรียนต่อรัฐบาลเป็นลำดับต่อไป

“อยากให้เครือข่ายชาวบ้านรอติดตามเรื่อง ซึ่งทางจังหวัดจะแจ้งผลตอบกลับให้ทราบภายใน 7 วัน” รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลยกล่าว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ