กาเเฟโรบัสต้ากับโอกาสของเกษตกร จ.ชุมพร

กาเเฟโรบัสต้ากับโอกาสของเกษตกร จ.ชุมพร

หากพูดถึง “กาแฟ” ใครหลายคนที่หลงใหลในรสชาติของกาแฟ กลายเป็นเครื่องดื่มเข้าไปเติมเต็มให้ชีวิตกลายเป็นวันดีๆ กระชุ่มกระชวย กระฉับกระเฉง ไม่ง่วง อีกทั้งในปัจจุบันกาแฟก็ได้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจของไทยที่นิยมปลูกกันทั้งในภาคเหนือและภาคใต้ มีทั้งสายพันธุ์อราบิก้า นิยมปลูกทางภาคเหนือและสายพันธุ์โรบัสต้า นิยมปลูกในภาคใต้โดยเฉพาะในจังหวัดชุมพรที่เป็นพื้นที่หลักในการเพาะปลูกและให้ผลผลิตกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้า ที่ผู้คนทั่วโลกเริ่มให้ความสนใจ เราชวนออกเดินทางไปทําความรู้จัก กับรายการฟังเสียงประเทศไทย

ทีมงานฟังเสียงประเทศไทย ได้มีโอกาสออกเดินทาง จากหาดใหญ่มุ่งหน้าไปสู่ จ.ชุมพร ระยะทางเกือบ 500 กิโลเมตร เพื่อๆไปพูดคุยกับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟโรบัสต้าและผู้ประกอบการแฟที่รวมกลุ่มกันช่วยกันพัฒนาสินค้าพิถีพิถันในการ ปลูก การคั่ว การชงราวกับงานศิลปะที่มีทั้งศาสตร์และศิลป์ เราเดินทางถึง จ.ชุมพร ราวๆสี่โมงเย็น ท้องฟ้าหลัว แดดอ่อนๆ โชคดีฝนไม่ตก คุณบำรุง นิลเขียว หรือพี่เล็ก เกษตรกรจ.ชุมพร ชวนทีมงานไปดูสวนกาแฟโรบัสต้า

พี่เล็กบอกว่า ต้นกาแฟที่นี่จะไม่เห็นลูกเลย พวกเราก็งง ทำไมไม่เห็นลูกกาแฟ ? แกเล่าพร้อมแกวกใบกาแฟให้ดู พบว่าเมล็ดกาแฟดกเต็มต้น ประคบประหงมดูแลต้นกาแฟอย่างดี เปรียบเหมือนคนสวยถูกห่อหุ่มปกปิดหมด

การปลูกกาเเฟที่ดีได้ต้องเริ่มจาก “ดิน” กาเเฟจะดีได้ต้องปลูกในดินที่ดี

โดยปกติแล้วโรบัสต้าสามารถรับแสงได้ร้อยเปอร์เซ็น ไม่เหมือนกาแฟอราบิก้าที่ปลูกกันในภาคเหนือ แต่ในสวนของพี่เล็ก จะปลูกกาเเฟใต้ร่มเงา เพิ่มคุณภาพของผลผลิต จะเห็นว่ามีต้นกล้วยเล็บมือนางมาปลูกแซมไว้ เพื่อคุมปริมาณแสงและหาพืชที่มันเกื้อกูลกับกาแฟ จะทำให้กาแฟสามารถดูดรสชาติจากผลผลิตตรงนั้นเพื่อเสริมรสชาติกาแฟให้มีรสชาติที่ดีขึ้น

การที่จะได้กาแฟโรบัสต้าที่ดี ต้องใช้ทุนสูงตั้งแต่การเลือกพันธุ์ การดูแล การเทรนนิ่ง การใส่ปุ๋ย การตัดเเต่งต้นกาเเฟ การให้น้ำ การเก็บ การจัดการแสงและนิเวศ เราจัดสวนที่คำนึงถึงสภาพเเวดล้อม การขึ้นเเละตกของดวงอาทิตย์

มันคือต้นทุนทั้งหมดที่จะทำให้ได้กาแฟที่มีคุณภาพที่ดี แต่เกษตรกรส่วนน้อยมากที่จะทำเเบบนี้ได้ เพราะทำแล้วใช้ต้นทุนสูง ถ้าไม่มีตลาด ถ้ายังขายในระบบอุตสาหกรรม ก็จะขาดทุนอมองว่า ถ้าเรายังขายในประเทศไทย คงไม่คุ้มแน่นอน

ผมฝันให้มันดังไปไกลในต่างประเทศ เพราะพันธุ์ที่เราปลูกเราไปเก็บพันธุ์ดีๆของเกษตรกรในท้องถิ่นมาเสียบยอด อนาคตการแข่งขัน คนที่จะชนะเลิศมันต้องมาจากต้นน้ำที่ดี  การ Processที่ดี คนคั่วดี คนชงดี จะตอบโจทย์ลูกค้าได้  พี่เล็กกล่าวทิ้งท้าย

เกษตกรปลูกกาเเฟ จ.ชุมพร เล่าให้ฟังว่า เป็นคนหนึ่งที่เป็นเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ มุมมองแรกเราปลุกกาแฟเชิงอุตสาหกรรม เราเน้นปริมาณมากแต่ขายได้ราคาถูกหมายถึงการทำให้กาแฟมีปริมาณมาก เกิดการลงทุน เพิ่มปุ๋ย เพิ่มน้ำ มีการจัดการ ต้นทุนที่สูง ราคากาแฟปัจจุบันในประเทศไทยทีรัฐบาลประกันราคาอยู่ที่ 60 บาท ต่อกิโลกรัม เกษตรกรขายให้กับอุตสาหกรรม ราคากิโลกรัมละ 80-90 บาท เกษตรกรอยู่ไม่ได้ เปรียบเทียบกับต่างประเทศ เพื่อนเบ้านของเรากิโลกรัมละ 40 บาท อยู่ได้ เพราะว่าปริมาณให้ผลผลิตของประเทศไทยกับปริมาณให้ผลผลิต ยกตัวอย่างเวียดนาม ให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าไทย10เท่า เพราะฉะนั้นเกษตรกรผู้ปลุกกาแฟของไทยอยู่ไม่ได้ เพราะว่าขาดทุนและไม่คุ้มค่ากับการลงทุน

ผมเป็นเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟมาตรฐานออแกนิกไทยแลนด์ ในสวนของผมไม่มีต้นทุน นอกจากแรงงาน ตัดหญ้า ปุ๋ยอินทรีย์ ต่อปี ผมลงทุนในแปลงไม่เกิน 5,000 บาท แต่ผมสามารถสร้างมูลค่าจากกาแฟเพิ่มจาก 100 กิโลกรัม ที่แปรรูปแล้วหลายเท่าตัวพื้น ๆ คือ 5,000 ที่บ้านไม่ได้ขายกาแฟเป็นแก้ว ผมให้หยอดกล่องกำลังใจ เเละที่สำคัญทุกคนอยากกินกาแฟออแกนิก

ผมคิดว่า อนาคตของกาแฟชุมพร ทำน้อย ลงทุนน้อย เเต่ได้กาแฟมีคุณภาพ ปลอดภัยต่อผู้บริโภคต่อสิ่งแวดล้อม ผมคิดว่าชุมพรจะเป็นเมืองกาแฟที่มั่นคงและยั่งยืน มีนักท่องเที่ยวที่หลากหลายเข้ามาชิมกาแฟ เกิดการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น เราไม่ได้ขายเฉพาะกาแฟ เมื่อกินกาแฟเสร็จไปลงทะเล ดำน้ำดูปะการัง นี่คือผมมองระยะไกล มั่นคง และยั่งยืน

” เราชวนคุยไปคุยมา ตะวันเริ่มจะตกดิน เลยโปกมือลาพี่ๆถ้ามีโอกาสจะกลับไปเยี่ยมเยียนอีกแน่นอน’’

การมาเยือนของรายการฟังเสียงประเทศไทยในเช้าวันรุ่งขึ้น เราชวนตัวแทนของพี่น้องเกษตกร ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนากาแฟโรบัสต้า มาพูดคุยกันถึงฉากทัศน์ที่ถูกประมวลจากข้อมูลจากหลายแหล่งที่มา เพื่อมองภาพ 3 ฉากทัศน์ ที่อาจจะเกิดขึ้น ร่วมกันล้อมวงคุย ถึงอนาคตกาแฟโรบัสต้ากับโอกาสของเกษตกร จ.ชุมพร

ธีระศักดิ์ ยมสวัสดิ์ เกษตรจังหวัดชุมพร กล่าวว่า ตั้งแต่ผมจำความได้ กาแฟชุมพรรุ่งเรืองมาก สมัยนั้นขึ้นกิโลกรัมละ 100 บาท เดิมเป็นกาแฟก่อนที่จะมาเป็นทุเรียน ถือว่ากาแฟสร้างทุเรียนชุมพร หลังจากนั้นกาแฟตก มีพืชอื่นทดแทน และสุดท้ายกาแฟอยู่ในสวนไร่นาสวนผสม เกษตรผสมผสาน ที่มีกาแฟแซมอยู่ในไม้ผล พืชสวน

เราเข้ามาสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจ กาแฟถ้ำสิงห์ ให้โรงบรรจุภัณฑ์ โรงคั่วที่ทันสมัยขึ้น หลังจากนั้นให้การสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนที่มีการทำกาแฟจากคั่วมือ เพราะเดิมที่กาแฟชุมพร ส่งให้โรงงานอุตสาหกรรมเป็นกาแฟทูอินวัน  

และหลังจากนั้นได้สนับสนุน 5 กลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยใช้งบกลางเป็นเรื่องของการเพิ่มมูลค่ากาแฟชุมพร จากที่เกษตรกรขายผลผลิต สารกาแฟให้กับโรงงานอุตสาหกรรม  ซึ่งราคาไม่สูงมาก หลังจากนั้นสนับนสนุน 5 กลุ่มวิสาหกิจเพิ่มมูลค่าของเรื่องการคั่ว เน้นความสะอาดของกระบวนการผลผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำ ตาก สี คัดล้าง สนับสนุนเครื่องคั่วกาแฟ จากคั่วมือ ปัจจุบันใช้เวลา 5 นาที ได้ 5 กิโลกรัม ในเรื่องของบรรจุภัณฑ์ เครื่องซีลต่าง ๆ

ตอนนี้สามารถเพิ่มมูลค่าได้มหาศาลสำหรับชุมพรและสร้างเครือข่าย ซึ่งเป็นบทบาทและส่วนขอสำนักงานเกษตรจังหวัด ที่ช่วยเพิ่มมูลค่ากาแฟชุมพร เพราะเราอยากผลักดันกาแฟชุมพรไปสู่ตลาดโลกในอนาคต

เรากำลังทำน้อยแต่ได้มาก จากเดิมที่เราทำมากแต่ได้น้อย จากที่เคยขายกาแฟดิบให้กับโรงงาน ตอนนี้จะเป็นการเพิ่มมูลค่า ที่เพิ่มขึ้นและคาดว่าในส่วนของความเข้มแข็งของพี่น้องเกษตรกรที่มาทำกาแฟก็จะมีความมั่นคงยิ่งขึ้น สร้างรายได้ที่ดีขึ้นให้กับชุมชน

กระบวนการไฟน์โรบัสต้า ต้นน้ำสำคัญแล้ว เริ่มมากลางน้ำ ต้องไปเรียนเรื่องการคั่ว ยากขึ้น และเจาะลึกขึ้น แล้วมาวิจัยเอง คั่วเอง ชิมเอง ผมทำไฟน์โรบัสต้าจะได้กำไรมากกว่า การขายสารหรือเชอร์รี่ ” เป็นคำพูดของ ธนกร นิลเขียว เกษตรกรรุ่นใหม่ จ.ชุมพร เล่าให้ฟังว่า ตอนแรกเราหาความรู้ก่อน ว่า ไฟน์โรบัสต้า จะต้องทำกระบวนการแบบไหน เพราะว่าเราไม่มีความรู้ และไปถามอาจารย์หลายท่านว่า ตากแบบไหน สีแบบไหน คั่วแบบไหน บังเอิญคุณพ่อผมปลูกกาแฟไว้ แล้วผมเรียนจบพอดี เลยหาวิธีการในการพัฒนา แต่ผมไม่เก่งเรื่องสายพันธุ์ พ่อจะตามไปเก็บสายพันธุ์มาปลูก มาเสียบยอดเอง ต้นน้ำ อาจารย์บอกว่าไปเก็บเม็ดสีแดงก่อน ซึ่งมีหลายสี แดงฉ่ำ แดงชมพู แดงอ่อน เราเสิร์ทดูในอินเทอร์เน็ตแล้วปริ้นสีมาให้คนงาน เพราะเราเก็บหมดไม่ไหว ประมาณ 10 ไร่ เลยปริ้นสีให้คนงานแปะที่ข้อมมือเข้าไปเก็บ และมาทำกระบวนการหนัก ๆ คือการล้างน้ำ เม็ดที่ลอยเม็ดที่เสียออก เอาไปล้างแล้วขึ้นตาก ตอนนั้นยังไม่มีแคร่ก็ตากพื้นก่อน แต่หลัก ๆ คือ ห้ามโดนฝน ห้ามโดนความร้อนที่แรงเกินไป นั่นคือครั้งแรกที่เกิดการทำ ผมคิดว่ากระบวนการไฟน์ ต้นน้ำสำคัญแล้ว เริ่มมากลางน้ำ ต้องไปเรียนเรื่องการคั่ว ต้องยากขึ้น และเจาะลึกขึ้นไปอีก แล้วมาวิจัยเอง คั่วเอง ชิมเอง และเรารู้ว่าพฤติกรรมผู้ดื่มเป็นแบบไหน พอมาปลายน้ำ เรามาส่งเสริมผลิตภัณฑ์ ผมไม่ได้จบออกแบบ ก็ต้องไปดูจากอินเทอร์เน็ตแล้วมาออกแบบเอง แล้วมาขายออนไลน์ และวางขายหน้าร้าน

ผมทำไฟน์โรบัสต้าขายต่อถุงจะได้กำไรมากกว่า การขายสารหรือเชอร์รี่  ใครที่ทำตั้งแต่ต้นนำ กลางน้ำ ปลายน้ำได้ โอกาสเยอะกว่า

ตอนนี้ผมเลยสร้างร้านขึ้นสองแบบ สองสไตล์ในการเลือกดื่มเพราะ องค์ความรู้มันต้องกินแล้วคุยกัน ลูกค้าที่เข้ามาต้องได้รับความรู้

ผมคิดว่าไปได้ไกล ตอนนี้คนสนใจปลูกมากขึ้น ทุกที่สามารถปลูกได้หมด เพียงแค่มีองค์ความรู้ จะพัฒนาไปได้ มีตลาดรับรอง ว่าเป็นเกรดไฟน์  ตรงนี้สำคัญมาก แนวโน้มไปได้ไกลเพราะโรบัสต้าปลูกง่าย ทน และต่างประเทศก็ต้องการถ้าเรามีของมากพอส่งให้เขา

ผมอยู่ชมพร ผมเห็นกาแฟที่ถูกทิ้งขวางระหว่างทาง ก่อนเข้าสวนยาง ผมก็ถามว่าต้นอะไร ทำไมมีลูกแดง ๆ พ่อก็บอกว่า ต้นกาแฟ ผมลองเด็ดลูกสีแดงมาชิม มีรสชาติหวาน แล้วผมคิดว่า เรามีต้นกาแฟ เราทำกาแฟกินเองก็ได้ แค่นั้นเป็นตัวจุดประกายให้ผมทำมาถึงทุกวันนี้

ธนวัฒน์ แซ่หลิน  Q Robusta Grader เล่าต่อว่า  ผมมีแนวคิดตั้งกลุ่มปักษ์ใต้ คาเนโฟรา ก็คือ โรบัสต้า แต่เป็นชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเวลาเราไปต่างประเทศ เมื่อเราพูดถึงโรบัสต้าเขาไม่ค่อยเข้าใจ เขาจะรู้แค่ คาเนโฟรา เพราะฉะนั้นการที่จะสื่อกับคนต่างชาติเราต้องสื่อว่า คาเนโฟรา

การมีกลุ่มปักษ์ใต้ คาเนโฟราขึ้นมา เราเอาข้อมูลโรบัสต้าที่เรามีมาแชร์กัน ตั้งแต่การปลูก การแปรรูป เอามาชิม แล้วมาแชร์กัน ใครทำแบบไหน ออกมาแบบไหน ผมจะมีหน้าที่ชิมว่า อันนี้ยังขาด อันนี้มีดีเฟค อันนี้ดีเลย และเราก็จะแชร์ข้อมูลกันไป เสร็จแล้วมาถึงขั้นตอนปลายน้ำ การชง จะไม่เหมือนกันอาราบิก้า ต่างกันทุกอย่าง แม้กระทั่งน้ำในการชง ก็เลยตั้งกลุ่มนี้ขึ้นมาเพื่อแชร์ประสบการณ์กัน และผมได้มีโอกาสส่งกาแฟประกวดปี 2021 ได้อันดับที่ 6 ผุ้ประเมินจากสถาบันเอสเพรสโซอาคาเดมี่ ได้ประเมินกาแฟของผม และเอากาแฟชุดนี้ไปโชว์ที่เวิร์ล เอ็กซ์โปร ที่อิตาลี ซึ่งคนที่อิตาลีชอบมาก

คุณธนวัฒน์อธิบายต่อว่าสำหรับคำว่า  Q Grader ย่อมาจาก Quality grader Quality คือคุณภาพ  grader คือ คนคัด จะถูกกำหนดโดยสถาบัน CQI Coffee Quality Institute ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นสถาบันกาแฟโลก เมื่อก่อน CQI มีแต่ อาราบิก้า จนวันหนึ่ง UCBA คือ Uganda Coffee Development Authority ซึ่งอูกันด้าเป็นต้นกำเนิดของกาแฟนโรบัสต้า ที่แรกของโลก ได้กำหนดแพลตฟอร์มของเขาออกมา ร่วมมือกับ CQI เพื่อให้เกิดคลาสในการพัฒนาโรบัสต้า  ผมมีโอกาสได้เรียนที่สถาบัน scigs ที่กรุงเทพ โดยใช้ intrucker ของ CQI มาสอนที่ไทย เป็นชาวต่างชาติ ระหว่างที่เรียน ผมได้ชิมโรบัสต้า 3 ทวีป แรก คือ อเมริกา สอง แอฟริกา สาม เอเชีย ในการชิมจะมีข้อกำหนดว่า กาแฟตัวนี้จะอยู่ระดับเท่าไหร่

สำหับแนวโน้มอนาคตโรบัสต้าบ้านเรา ในมุมกาแฟพิเศษ ดีแน่นอน เพราะมีน้อยมาก เริ่มจากร้านกาแฟในกรุงเทพต้องการกาแฟจากเรามาก แต่ผมไม่มีให้  

ถ้ามองในระดับโลก เอาแค่เอเชีย ปริมาณเรายังแพ้เวียดนาม แต่เราสามารถชนะเวียดนามได้ด้วยคุณภาพ เพราะว่ากาแฟเวียดนามที่ใช้ส่งออก หรือที่เรียกว่าคอมเมอร์เชียลเกรด รสชาติยังไม่มี เอกลักษณ์เท่าของไทย

ผมว่ากาแฟไทยยังดีกว่าเวียดนาม ส่วนตลาดไฟน์โรบัสต้าไม่ได้ยาก ถ้าเรามีตลาด สมมุติเรามี 100 กิโลกรัม แล้วส่งเข้าประกวดแล้วมีคะแนนมากกว่า 80 ขึ้นไป กาแฟเราจะมีชื่อเสียง ทีนี้สื่อออนไลน์ทำให้เราไปได้ทั่ว ไปเร็วมากขึ้น ในเรื่องของไฟน์โรบัสต้า

.

ตรัยคุณ โชประการ นักวิชาการพาณิชย์ ชำนาญการ จ.ชุมพรกล่าวว่า ถึงแม้สำนักงานพานิชย์ จะอยู่ในช่วงปลายน้ำ แต่เรามีการติดตามสถานการณ์ราคาอยู่ต่อเนื่อง ทางสำนักงานได้มีการเก็บข้อมูล ผลเชอร์รี่ หรือกาแฟสาร และราคาในท้องตลาด ซึ่งพฤติกรรมของเกษตรกร จะสังเกตุว่า น้อง ๆ พี่ ๆ เล่ากันมา จะเป็นลักษณะการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งเราได้เห็นมุมมองใหม่ ๆ ของเกษตกร ไม่ว่าจะเป็น กาแฟ ผลไม้ ทุเรียน มังคุด นับเป็นทิศทางที่ดีของผลผลิตไทย ในส่วนของผู้บริโภคปัจจุบันให้ความสำคัญกับสตอรี่ หรือเรื่องราวเป็นอย่างมาก ซึ่งจะสอดคล้องกับเกษตรกรยุคใหม่ รุ่นใหม่ของเรา ในการเพิ่มมูลค่า ในส่วนราชการ ต้องการปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และในส่วนของกระทรวงพานิชย์ ได้เล็งการเพิ่มมูลค่า ไฟน์โรบัสต้า ทางเรามองถึงตลาดโลกเหมือนกัน

และมีแผนส่งเสริมเรื่องกาแฟ ในช่วงเดือน กันยายน – ตุลาคม มีกิจกรรมการเจรจาการค้า ทั้งภายใน และต่างประเทศ ซึ่งผมมองว่า จะเป็นอีกมิติที่จะเปิดกว้างให้กาแฟ ไม่ถูกจำกัดในจังหวัดชุมพร หรือในประเทศ คุณตรัยคุณกล่าว

 

เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เพิ่มขึ้นเราชวนอ่านข้อมูลนี้ หากจะนับจากจุดเริ่มต้น  เมื่อ พ.ศ.2447  ที่นายตีหมุน ชาวมุสลิม นำต้นกาแฟโรบัสตามาปลูกครั้งแรกที่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา แล้วได้ผลผลิตดีจึงขยายพันธุ์ปลูกกว้างขวางทั่วภาคใต้ โดยเฉพาะในจังหวัดชุมพร ที่ปัจจุบันได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงโรบัสต้า ที่ปลูกมากรองจากผลไม้ และยางพารา

ชุมพรเป็นแหล่งปลูกกาแฟโรบัสต้าแหล่งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย  ปลูกมากในอำเภอท่าแซะ สวี พะโต๊ะ และ เมืองชุมพรด้วยลักษณะพื้นที่เป็นเมืองแห่งหุบเขา มีอากาศร้อนชื้น ทำให้ได้เมล็ดกาแฟคุณภาพได้ผลผลิตมาก รสชาติแน่นเต็มรสกาแฟ แต่ผลผลิตส่วนใหญ่จะขายเมล็ดส่งโรงงาน เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูป จนกลายเป็นภาพจำของโรบัสต้า

ที่ผ่านมากาแฟ  “โรบัสต้า” จ.ชุมพร ผ่านช่วงเวลาที่สำคัญ

ยุคแรก ราคากาแฟขึ้นสูงสุด ทำให้พื้นที่ปลูกกาแฟของชุมพร ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  แต่เกษตรกรยังขาดความรู้ในการเก็บเกี่ยวผลผลิต  เน้นขายส่งอุตสาหกรรมกาแฟสำเร็จรูป

ยุคกลาง เกษตรกรเริ่มหันมาปลูกกันมากขึ้น แต่ราคากาแฟเริ่มตกต่ำ ผลผลิตต่อไร่เริ่มลดลง ราคาไม่จูงใจ  รัฐบาลมีนโยบายลดพื้นที่การปลูกกาแฟ ทำให้เกษตรกรหันไปปลูกทุเรียน ยางพารา ที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า

ยุคล่าสุด เกษตรกรเริ่มหาความรู้ ลักษณะพิเศษของกาแฟโรบัสต้า  ศึกษากระบวนการปลูก และทำอย่างครบวงจร (ตั้งแต่การปลูก เก็บเกี่ยว และขาย)  เพื่อเพิ่มมูลค่า  ไม่ได้ขายเพียงเมล็ดส่งโรงงานเท่านั้น

  • ขั้นตอนการทำกาแฟโรบัสต้าให้ครบวงจร จุดเริ่มต้นสำคัญอยู่ที่เกษตกร ตั้งแต่การปลูก ซึ่งส่วนใหญ่นิยมปลูกแซมหรือผสมผสานในสวนผลไม้ และจะเก็บเกี่ยวเพียงปีละครั้ง มีช่วงเวลาเก็บเกี่ยวสั้นๆ เพียง 2-3 เดือน และจะเลือกเก็บเฉพาะผลเชอรี่สุกสีแดงเต็มที่ จากนั้นจะนำมาล้าง ตากให้แห้ง แยกเมล็ดและเข้าสู่กระบวนการคั่ว ช่วงสุดท้ายของกระบวนการผลิต คือการชิม  Cupping แยกรสชาติของกาแฟ และตรวจสอบคุณภาพก่อนวางขาย
  • ในช่วงที่ผ่านมาตลาดกาแฟขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากความนิยมดื่มกาแฟที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น โอกาสของเกษตรกรและผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ ที่เข้าช่วยพัฒนากาแฟคุณภาพ ทำตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ มีมากขึ้นประกอบกับคาเรคเตอร์ ของกาเเฟโรบัสต้า ได้รับการยอมรับว่ามีคุณภาพทั้งในประเทศและต่างประเทศ และปัจจุบันมีความต้องการกาแฟ Fine Robusta หรือกาแฟโรบัสต้าคุณภาพสูงเพิ่มมากขึ้น มีตลาดและกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน
  • แต่ก็มีข้อท้าทายของสำหรับ กาแฟโรบัสต้า ราคาที่ไม่จูงใจ ต้นทุนแรงงานเก็บผลผลิตสูง ทำให้เกษตรกรจะโค่นต้นกาแฟปลูกพืชเศรษฐกิจที่มีราคาสูงกว่า ทำให้พื้นที่ปลูกกาแฟลดลง กลุ่มพัฒนากาแฟในพื้นที่ยังจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่
  • ตลาด Fine Robusta  ในประเทศยังเป็นที่รู้จักเฉพาะกลุ่ม ยังต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจเปลี่ยนภาพจำมาตรการนโยบายการสนับสนุนภาครัฐ ความรู้ เทคโนโลยี ยังไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลกที่มีการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว 

ดูข้อมูลข้อเท็จจริง 

หลังจากเราอ่านข้อมูลนี้แล้ว เชื่อว่าหลายคนคงได้ข้อมูลเพิ่มเติมมากขึ้น  คุณคิดอย่างไร ทีมงานมีการสังเคราะห์ ภาพความน่าจะเป็นหรือฉากทัศน์ เพื่อจำลองว่าแบบไหนที่ อยากจะเห็นหรืออยากจะให้เป็น ซึ่งคุณผู้ชมสามารถร่วมเเสดงความคิดเห็น ด้วยการเลือกจากภาพตั้งต้น 3 ภาพ

3 ฉากทัศน์ ร่วมมองอนาคตกาแฟโรบัสต้ากับโอกาสของเกษตกร จ.ชุมพร

ฉากทัศน์แรก คลาสสิคโรบัสต้า (Classic Robusta)

เกษตรกรเลือกปลูกกาแฟโรบัสต้าแซมในสวนผลไม้ และยังมีตัวเลือกในการเก็บกาแฟขายในระบบอุตสาหกรรม รวมกลุ่มเพื่อยกระดับเป็นผู้ประกอบการท้องถิ่น บริหารจัดการผลผลิตกาแฟอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ  ถ่ายทอดความรู้และยกระดับการปลูกกาแฟโรบัสต้าให้เป็นศูนย์เรียนรู้ และขยายตลาดออนไลน์

  • ซึ่งภาครัฐต้องเข้ามาประกันราคาเมล็ดกาแฟ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับเกษตรกรในการรักษาพื้นที่การปลูกกาแฟ รวมถึงส่งเสริมความรู้กาแฟโรบัสต้าชุมพร ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น พร้อมเพิ่มเกษตรกรรุ่นใหม่เพื่อมาขยายเครือข่าย
  • แต่ฉากทัศน์นี้ เกษตรกรต้องใช้เวลาปรับตัว เรียนรู้ระบบตลาดกาแฟ ให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง

ฉากทัศน์ 2 โรบัสต้าคุณภาพพิเศษ (Fine Robusta Single Origin)

เน้นทำกาแฟเกรดคุณภาพและปริมาณ พัฒนาโรบัสต้าชุมพรให้เป็นกาแฟพิเศษคุณภาพสูงหรือไฟน์โรบัสต้า ดึงคาเรคเตอร์เด่นของกาแฟให้ออกมามากที่สุดยกระดับองค์ความรู้บริหารจัดการทั้งระบบ ทั้งปลูก คั่ว และชงอย่างพิถีพิถันและเอาใจใส่  มีการประเมินคะแนน และการจัดอันดับกาแฟในแต่ละปี เพื่อสร้างการรับรู้ในกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่และพัฒนาคุณภาพ

  • ทั้งนี้ภาครัฐและเอกชน ต้องเข้ามาส่งเสริมและสร้างความเข้าใจให้กับเกษตรกรให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงตลาดกาแฟโลกทั้งระบบให้สามารถรักษาทั้งปริมาณและคุณภาพได้   ขยายตลาดกาแฟและเพิ่มบุคลากรของ Fine Robusta ในประเทศให้มากขึ้น 
  • แต่ฉากทัศน์นี้ เกษตรกรต้องใช้ต้นทุนและเวลาในการทำความเข้าใจอย่างประกอบต่างๆ อย่างเข้มข้น ทั้งการชิม การประเมินคุณภาพกาแฟ

ฉากทัศน์ 3 เมืองหลวงโรบัสต้าแห่งเอเชีย (Robusta of Asia)

พัฒนากาแฟโรบัสต้า ให้เป็นกาแฟพิเศษคุณภาพสูงเทียบเท่ามาตรฐานสากล ดูแลคุณภาพตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำอย่างมืออาชีพ  คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในแนวทางเกษตรอินทรีย์ และบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยี เพื่อลดการใช้ทรัพยากร มีสถาบันรับรองและเพิ่มจำนวนและทักษะ Q Grader ในการประเมินและพัฒนาคุณภาพกาแฟในระดับนานาชาติ

  • ทั้งนี้ หน่วยงานรัฐและเอกชนมาสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรในเชิงนโยบาย และมาตรฐานการผลิตอินทรีย์  รวมถึงสร้างภาพลักษณ์ หนุนเสริมการตลาดการค้ากาแฟให้มีมาตรฐานแข่งขันได้ในตลาดโลก
  •  แต่ฉากทัศน์นี้ รัฐต้องลงทุนทั้งระบบ และเปิดโอกาสให้มีบุคลากรไปแลกเปลี่ยนและเรียนรู้พัฒนาฝีมือในระดับนานาชาติ ซึ่งทั้งหมดต้องใช้เวลาและงบประมาณ

คุณผู้อ่านสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นและเลือกภาพอนาคตนี้ได้ ที่ลิงก์ด้านล่างนี้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ