ชีวิตนอกกรุง : ลำไย จากรุ่ง สู่ ร่วง

ชีวิตนอกกรุง : ลำไย จากรุ่ง สู่ ร่วง

ในช่วงเดือนนี้สำหรับข่าวคราวในแวดวงการเกษตร คงไม่มีข่าวไหนจะดังติดกระแสไปได้นอกจากลำไยอีกแล้ว ทำไมผลไม้ชนิดถึงอยู่ในวังวนแห่งความตกต่ำได้ถึงเพียงนี้ ด้วยการลงพื้นที่ของชาวโลคอลิสต์ ชีวิตนอกกรุง ที่ได้ไปสอบถามข้อมูลและถ่ายทอดออกมาเป็นสารคดีชุด “กระบวนยุทธ์การค้าฝ่าแดนมังกร” ตอน Longan ลอง Plan – ลำไยดีต้องมีแผน ที่ได้ออกอากาศไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (31 กรกฏาคม 2565) ได้รับผลตอบรับและคำถามอย่างมากมาย เช่น ทำไมลำไยถึงตกต่ำ? ลองมาปลูกกับเกษตรกรชาวสวนลำไยดูไหม? พูดง่ายแต่ทำยาก จีนรวบตลาดไปหมดแล้วกดราคาใช่ไหม?

ลำไยอบแห้งที่พร้อมส่งออก

คำถามข้างต้น ถูกคลี่คลายด้วยคำตอบจาก อาจารย์ ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ หรือเราเรียกว่า “อาจารย์อิง” ซึ่งเป็นรองคณบดีฝ่ายบริการสังคมและวิจัย และหัวหน้าศูนย์ China Intelligence Center (CIC) วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ทรรศนะไว้ได้อย่างน่าสนใจจากจุดเริ่มต้น ไปจนถึงสถานการณ์ปัจจุบัน รวมไปถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยสาขาวิชาของอาจารย์ไว้ได้อย่างน่าสนใจ

อาจารย์ ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ หรือเราเรียกว่า “อาจารย์อิง” ซึ่งเป็นรองคณบดีฝ่ายบริการสังคมและวิจัย และหัวหน้าศูนย์ China Intelligence Center (CIC) วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“เมื่อจีนแผ่นดินใหญ่เปิด ก็เกิดภาพว่าอยากจะหาลำไยอบแห้ง ที่ผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการในประเทศจีนจากต่างประเทศ ก็เลยเบนมาที่ภาคเหนือของประเทศไทย

จุดเริ่มต้นของการนำเข้าลำไยอาจจะต้องย้อนกลับไปช่วงระหว่างการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศจีนกันเลยทีเดียว ในช่วงประมาณปี ค.ศ.1949 จากที่เราทราบกันดีว่าการเคลือนพลของพรรคก๊กมินตั๋งจากแผ่นดินใหญ่ลงไปสู่เกาะไต้หวันในปัจจุบันนั้น มีกำลังพลบางส่วนก็ได้แยกตัวออกมาตามตะเข็บชายแดนเรื่อยมาจนถึงภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งยังคงติดต่อช่วยเหลือกันอยู่กับประชากรหลักที่อยู่บนเกาะไต้หวันอยู่อย่างแน่นแฟ้น และจากการช่วยเหลือคนจีนเหล่านี้ให้สามารถประกอบสัมมาอาชีพสุจริตได้ในผืนแผ่นดินไทย จึงมีการส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรมาช่วยและอาชีพที่ได้รับการส่งเสริมจากไต้หวันก็คึออาชีพเลี้ยงผึ้งนั่นเอง

วัตถุดิบในการเลี้ยงผึ้งก็มักจะเป็นลำไย จึงกลายเป็นลูกโซ่ ให้เกิดการส่งเสริมการปลูกลำไยในภาคเหนือให้มากขึ้นอีกด้วย เมื่อดอกลำไยก็ต้องมีผลลำไยมากขึ้นตามลำดับและการผสมเกสรดอกลำไยจากผึ้ง ก็ช่วยให้ลำไยของไทยมีผลผลิตค่อนข้างดีและมีปริมาณน่าพอใจนั่นเอง

เมื่อสาธารณรัฐประชาชนจีนเริ่มเปิดประเทศหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็เริ่มนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ สินค้าเกษตรยอดนิยมในเวลานั้นก็ได้แก่ ลำไยอบแห้ง ซึ่งหายากและเป็นที่ต้องการสูง เนื่องมาจากพื้นที่เพาะปลูกลำไยถูกจำกัดไว้บริเวณเขตร้อนหรือมณฑลตอนใต้ของประเทศไม่กี่แห่ง เช่น เมืองฝูเจี้ยน (หรือฮกเกี้ยนที่คนไทยรู้จัก) ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับเกาะไต้หวันหรือสาธารณรัฐจีนนั่นเอง เมื่อครั้งกองทัพของพรรคก๊กมินตั๋งได้ข้ามทะเลไปยังเกาะไต้หวันก็ได้พาประชากรบางส่วนของมณฑลฝูเจี้ยนไปด้วย จึงเกิดเครือข่ายการค้าระหว่าง ประเทศไทย มณฑลฝูเจี้ยน และเกาะไต้หวันเกิดขึ้น

ตอนนั้นลำไยของประเทศไทยซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกมากพอสมควรยังเป็นเพียงผลพลอยได้จากการเลี้ยงผึ้งเท่านั้น แต่เมื่อเกิดเครือข่ายลำไยอบแห้งขึ้น ปริมาณการบริโภคสูงขึ้น ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนจึงต้องการนำเข้าจำนวนมากเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ ลำไยที่ปลูกในประเทศไทยจึงเปลี่ยนสถานะจากปลูกเพื่อเลี้ยงผึ้ง ไปเป็นปลูกเพื่อนำไปอบแห้งนั่นเอง ในช่วงแรกการขนส่งลำไยอบแห้งจะผ่านเส้นทางแม่น้ำโขงไปพักสินค้าที่เมืองคุนหมิง และส่งไปยังตลาดกระจายสินค้าที่เมืองอี้อู ทำให้เมืองอี้อูกลายเป็นตลาดกระจายลำไยอบแห้งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศนับตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นมา ด้วยสายสัมพันธ์ฝูเจี้ยนดังที่กล่าวไปตอนต้น

เมื่อลำไยอบแห้งไปได้สวย ลำไยสดจากประเทศไทยจึงเป็นสินค้าอีกชนิดที่คนจีนมีความนิยมสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามมา โดยในระยะแรกที่มีการค้าขายผลไม้สดจากไทย ลำไยสดยึดอันดับหนึ่งของปริมาณและมูลค่าการส่งออกไปยังจีนเลยก็ว่าได้ ต่อมาเมื่อมีพิธีสารส่งผลไม้สดจากไทยไปยังจีน ลำไยก็ยังคงยึดตำแหน่งต้นๆ ไว้ได้ เป็นรองแค่เพียง ทุเรียน และมังคุดเท่านั้น

และในเวลาต่อมาก็เกิด Early Harvest Programme ของ FTA ระหว่างจีนกับอาเซียนขึ้น ไทยเราก็เปิดในหมวดของผลไม้สด ทำให้ผลไม้สดของไทยโดยเฉพาะลำไยสดทะลักเข้าประเทศจีนเป็นจำนวนมากขึ้นตามกรอบของ FTA ที่ภาษีนำเข้าเป็น 0 ทำให้ลำไยสดจากไทยเป็นที่นิยมมากขึ้นในประเทศจีน

ทีนี้จุดตกต่ำของลำไยมาถึงได้อย่างไรกัน? เนื่องมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจภายในของประเทศจีน ผู้คนต่างมีรายได้เพิ่มขึ้น สินค้าอย่างลำไยอบแห้งไม่ได้หายากอีกต่อไป รวมถึงความต้องการสินค้าของฝากในรูปแบบใหม่ แปลกและแตกต่างออกไป ทำให้วันนี้ ลำไยอบแห้งมีสถานะเพียงสินค้าบริโภคทั่วไปเท่านั้น หาใช่ของฝากชั้นดีจากประเทศไทยอีกต่อไป สรุปให้เห็นภาพอย่างง่ายว่า เพราะกระแสและความนิยมบริโภคลดลง แต่ปริมาณการผลิตกลับเพิ่มขึ้นสวนทาง ทำให้เกิดสินค้าล้นตลาดเกินความต้องการไปมากนั่นเอง

“อาจารย์อิง” ก็ได้ให้ข้อคิดไว้อย่างน่าสนใจว่า หากเราเปลี่ยนตลาดจากการขายส่งในปริมาณมาก เป็นการขายปลีกโดยยกระดับสินค้าให้มีคุณภาพสูงขึ้น เน้นขายแบบ ผู้บริโภคต่อผู้บริโภคด้วยกันเองแล้ว จะทำให้สินค้าที่เคยกลายเป็น”ดาวร่วง” อาจจะกลายมาเป็นสินค้า “ดาวรุ่งอีกครั้ง” ก็เป็นได้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ