Cross Border E-Commerce กับเส้นทาง R3A ยุทธศาสตร์การค้าไทย-จีน จากเชียงของสู่บ่อเต็น

Cross Border E-Commerce กับเส้นทาง R3A ยุทธศาสตร์การค้าไทย-จีน จากเชียงของสู่บ่อเต็น

ถนนทอดยาวบริเวณเชิงสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย)

เราขับรถออกจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปยังอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เพราะนัดหมายกับอาจารย์ ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ หรือ อาจารย์อิง จาก ศูนย์ china intelligence center วิทยาลัยสื่อ ศิลปะและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครั้งนี้เราวางแผนเดินทางเพื่อสำรวจเส้นทาง R3A จากเชียงของไปยังเมืองบ่อเต็น สปป.ลาว

แผนที่เส้นทาง R3A ช่วงเชียงของถึงบ่อเต็น

การค้าขายระหว่างไทยกับจีนมีมาอย่างยาวนาน เนื่องด้วยมีสินค้าที่จำเป็นสำหรับการแลกเปลี่ยนค้าขายมาหลายยุคหลายสมัย อ.อิงได้สรุปยุคของการค้าขายข้ามพรมแดนระหว่างไทยกับจีนให้เราฟังแบบกระชับและเข้าใจง่าย ดังนี้

ถ้าพูดถึงเรื่องของค้าชายแดนนะครับ สินค้าไทยไปจีนเนี่ย ผมขอแบ่งออกเป็น 3 ยุค 3 สมัยก็ละกันนะครับ อาจจะเรียกว่าเป็นคลื่นลูกที่ 1 คลื่นลูกที่ 2 และคลื่นลูกที่ 3 นะครับ

คลื่นลูกที่ 1 ก็น่าจะเริ่มต้นในช่วงของต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 ปี ค.ศ.2000 เป็นต้นมา ในยุคเริ่มต้นเนี่ยก็จะเป็นลักษณะการขนส่งผ่านแม่น้ำโขง เราจะมีท่าเรือเชียงแสน ซึ่งก็ห่างจากเชียงของไม่มากนัก เป็นท่าเรือในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีน อีกเส้นทางหนึ่งก็จะเป็นเส้นทางที่เราเรียกว่าเป็น R3B นะครับ ซึ่งเส้นทางนี้เนี่ยก็จะเข้าทางแม่สาย แล้วก็ไปเข้าไปสู่ประเทศพม่า เพื่อจะเข้าทางประเทศจีนที่ด่านเมืองลา ก็เป็นสินค้าที่เป็นอุปโภคบริโภคทั่วไป รวมไปถึงผลไม้สดของเราก็เริ่มต้นที่จะใช้เส้นทางขนส่งตรงนี้

ต่อมาพอช่วงกลางประมาณ ค.ศ.2005-2006 เราเริ่มมีในเรื่องของ FTA ระหว่างไทยกับจีนในหมวดของผักผลไม้ ตอนนั้นเนี่ย R3A ก็เริ่มมาละนะครับ แต่เป็น R3A ที่ยังไม่มีสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 ก็จะเป็นการลงท่าเรือบั๊กที่เชียงของ แล้วก็ข้ามไปฝั่งลาว ก่อนจะวิ่งในถนน R3A ตอนนั้นเนี่ยก็เริ่มมีการปรับการขนส่งผลไม้จากใช้เรือมาเป็นทางถนนมากขึ้น ผลไม้สดก็เริ่มที่จะไปจีนทางด่านนี้เพิ่มมากขึ้นนะครับ รวมไปถึงพอสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 สร้างแล้วเสร็จเนี่ย ก็สร้างอำนวยความสะดวกสบายให้กับการขนส่งผลไม้สด แล้วสิ่งที่ตามมาก็คือสินค้าที่เป็นลักษณะของ สินค้าของทั่วๆ ไปจาก จ.เชียงใหม่ จ.ทางภาคเหนือ ที่จะขนส่งไปจีนก็เริ่มหันมาใช้เส้นทางทางถนน R3A เป็นหลักนะครับ จนทำให้ที่บ้านถวายซึ่งมีสินค้าที่ได้รับความนิยมของจีนในช่วงนั้นก็คือพวกสินค้าพวกงานไม้ งานหัตถกรรม ก็เลยมีการขนส่งเหล่านั้นเนี่ยไปยังประเทศจีน บ้านถวายจึงเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ต้นทางการขนส่งจากเชียงใหม่ไปยังประเทศจีนได้นะครับ จึงทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคบางอย่างที่เป็นที่ต้องการของจีน อาศัยรูปแบบของการค้าชายแดน เข้าสู่ประเทศจีนโดยมีบ้านถวายเป็นต้นทาง ผมขอเรียกว่านี่คือคลื่นลูกที่ 2 ของการค้าระหว่างชายแดนระหว่างไทย-จีนนะครับ

ต่อมาเมื่อ E-Commerce ได้เข้ามาถึงพร้อมๆ กับนักท่องเที่ยวจีนนะครับ ทำให้สินค้าที่เป็นอุปโภคบริโภคของภาคเหนือของเราหลายตัว เป็นที่รู้จักของคนจีนมากขึ้น จึงเริ่มเกิดอาชีพในเรื่องของการพรีออเดอร์เอาสินค้าไทยเข้าไปสต๊อคไว้ในคลังสินค้าในประเทศจีน แล้วมีคำสั่งซื้อก็จะขาย รูปแบบของการขนเข้าไปตอนนั้นเนี่ยก็ยังเป็นลักษณะของการค้าชายแดน ซึ่งรัฐบาลจีนก็เริ่มมองเห็นว่า ลักษณะของการค้าชายแดนเนี่ย กำลังถูกใช้ผิดวัตถุประสงค์ เพราะว่ามีสินค้าอุปโภคบริโภคหลายอย่างที่ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบคุณภาพของทางการอย่างถูกต้องแล้วเอาไปขายในจีน รัฐบาลจีนจึงเริ่มออกกฎระเบียบที่เราเรียกว่าเป็นกฎระเบียบทางด้านของ Cross-Border E-Commerce ขึ้นมานะครับ ในขณะเดียวกันก็ไปตั้งด่านสำหรับพัสดุภัณฑ์เร่งด่วนอยู่ที่ม่อฮานนะครับ พอตั้งด่านเหล่านี้แล้วเสร็จ รัฐบาลจีนก็เริ่มเข้มงวดกับรูปแบบของการค้าชายแดนที่นำเอาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบเนี่ย แอบลักลอบเข้าไปในประเทศจีนนะครับ เส้นทาง R3A จึงถูกปรับเปลี่ยนมาสู่สิ่งที่ผมขอเรียกว่าเป็นคลื่นลูกที่ 3 ก็ละกัน ก็คือยกเอาสิ่งที่เรียกว่าค้าชายแดนแบบที่ใช้สิทธิประโยชน์ของค้าชายแดนเข้าสู่ประเทศจีน กลายมาเป็นต้องใช้สิทธิประโยชน์ของ Cross-Border E-Commerce ในการเข้าสู่ประเทศจีนแทน สินค้าทุกอย่างที่เป็นกลุ่มอุปโภค บริโภค ต้องไปผ่านที่ด่านพัสดุภัณฑ์เร่งด่วนที่ม่อฮาน ถึงจะสามารถขึ้นระบบ ขายผ่านระบบ E-Commerce ของจีนได้ ดังนั้นทุกวันนี้เนี่ยสินค้าที่เราส่งจากเชียงใหม่เพื่อจะไปยังประเทศจีน เป็นรูปแบบการผ่านเข้าสู่ประเทศจีนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย สินค้าจะถูกตรวจสอบ แล้วก็เป็นพิกัดภาษีที่รัฐบาลจีนอนุญาตให้เราเข้าสู่ประเทศจีนได้ โดยใช้เส้นทาง R3A เป็นการขนส่ง อันนี้คือ 3 ยุค 3 สมัยที่เกิดขึ้น โดยมีเส้นทาง R3A มีด่านเชียงของเป็นผู้เล่นสำคัญในการขับเคลื่อนระบบโลจิสติกส์ระหว่างไทยและจีน

เมื่อเชียงของกลายเป็นจุดผ่านแดนสำคัญในการขนส่งสินค้าจากไทยไปจีน ที่นี่จึงถูกจัดตั้งให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงของ โดยมีการลงทุนมากมายเข้ามายังที่นี่ ดร.อนุรัตน์ อินทร ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย ได้เล่ารายละเอียดให้เราฟัง

พี่จุ๊บ หรือ ดร.อนุรัตน์ อินทร เล่าถึงสถานการณ์ปัจจุบันของเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดเชียงราย

หลังจากเราประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดเชียงราย ก็มี 3 อำเภอนะครับ คืออำเภอแม่สาย เชียงแสนและก็เชียงของ ซึ่งเชียงของเองก็ได้รับการพัฒนาไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทางรถยนต์ก็เชื่อมจากเชียงแสนมาเชียงของทำเป็น 4 เลน และจากเชียงรายกำลังก่อสร้าง 4 เลน ผ่านขุนตาลและก็เข้าไปยัง อ.เชียงของนะครับ อันนี้ก็ขยายเป็น 4 เลนหมดแล้ว และก็ยังมีเรื่องของรถไฟ อันนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของ จ.เชียงรายเลยนะครับ เนื่องจากจะมีรถไฟ เด่นชัย เชียงราย เชียงของนะครับ สถานีสุดท้ายอยู่ที่ อ.เชียงของ ซึ่งเราเชียงรายเราเสียโอกาสมาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เนื่องจากตอนนั้นการก่อสร้างสะพานเชียงของแห่งที่ 4 มีรถไฟความเร็วสูงเส้นที่ลาว-จีนเนี่ยครับ จริงๆ แล้วมันต้องมาที่ บ่อแก้วแล้วก็ข้ามที่เชียงของและมาเชื่อมรถไฟเด่นชัย เชียงราย เชียงของ ซึ่งตอนนั้นเราช้าไป ตอนนี้รถไฟเรามาแล้วน การขนส่งระบบโลจิสติกส์ต่างๆ เนี่ย มันก็จะมาในพื้นที่จังหวัดเชียงรายมากขึ้น ซึ่งเรามีศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า อยู่ที่ อ.เชียงของ อยู่ตรงที่สะพานแล้ว มีพื้นที่เกือบ 300 ไร่ ก็เพียงพอต่อการขยายตัวในอนาคตที่เราจะทำเป็นศูนย์กระจายสินค้าในภูมิภาคนี้ มีโอกาสที่เชียงของเราจะโตในอีก 7 ปีข้างหน้านี้ มีโอกาสสูงมากครับ

แผนที่แนวเส้นทางรถไฟสาย เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ

เพื่อให้ระบบการขนส่งรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของมีความสมบูรณ์ จำเป็นต้องมีพื้นที่ขนาดใหญ่รองรับการขนส่งสินค้า ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย จึงเกิดขึ้น บนเนื้อที่กว่า 336 ไร่ ติดกับด่านพรมแดนเชียงของ โดยมีทางเชื่อมเข้าโครงการจากบริเวณสะพานมิตรภาพไทยลาวแห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขนส่งสินค้าทางถนนระหว่างประเทศบนเส้นทางสาย R3A เชื่อมต่อการขนส่งระหว่างไทย สปป.ลาว และจีน

ภาพมุมสูงบริเวณศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย

โครงการถูกออกแบบให้มีพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับกิจกรรมรวบรวมและกระจายสินค้า ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกแบบไม่เต็มคันและรถเที่ยวเปล่า เป็นที่ทำการของหน่วยงานตรวจปล่อยสินค้า (CIQ) สามารถให้บริการตรวจปล่อยสินค้าแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว และยังสามารถพัฒนาเป็นพื้นที่ควบคุมร่วมกัน (Common Control Are : CCA) ในอนาคต รองรับการเปลี่ยมหัวลาก-หางพ่วงระหว่างรถบรรทุกไทยกับรถบรรทุกต่างประเทศ และยังรองรับการเปลี่ยนถ่ายรูปแบการขนส่งสินค้าจากทางถนนสู่ทางราง (Modal Shift) ผ่านแนวรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการ และในภาพรวมด้านเศรษฐกิจของประเทศ

การลงทุนในโครงการจะลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐเป็นผู้ลงทุนค่าที่ดินและค่าก่อสร้างโครงการทั้งหมด ขณะที่เอกชนเป็นผู้ลงทุนค่าเครื่องมือและอุปกรณ์ และรับผิดชอบในส่วนของการตำเนินงานและบำรุงรักษา โครงการ (Operation and Maintenance: O&M) รวมทั้งเป็นผู้รับความสี่ยงทางด้านรายได้และจ่ายค่าสัมปทานให้ภาครัฐตลอดระยะเวลา 15 ปี นับจากปีที่เอกชนเข้าให้บริการ

(ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.thaitruckcenter.com)

คุณธนิสร กระฎุมพร หรือ เฮียไท้ ประธานหอการค้าอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย พาเราเข้าไปสำรวจความคืบหน้าของการก่อสร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย ซึ่งความคืบหน้าในส่วนของเฟสที่ 1 เสร็จสมบูรณ์พร้อมให้เอกชนยื่นประมูลการใช้ประโยชน์ในพื้นที่แล้ว ส่วนเฟสที่ 2 มีการอนุมัติงบประมาณแล้ว และอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง

เฮียไท้ หรือ คุณธนิสร กระฎุมพร พาทีมงานสำรวจตัวเมืองเชียงของและศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย

นี่คือสะพานมิตรภาพไทยลาว แห่งที่ 4 ข้ามมาปุ๊บเนี่ย พอมาเข้าช่องทางเลข 8 จะวิ่งขาเข้ามานี่ รถบรรทุกจะเข้าที่นี่หมด เข้ามาทางนี้ อันนี้ก็จะเป็นจุดเป็นศูนย์ตรวจปล่อยสินค้า ที่ทางศูนย์เปลี่ยนถ่ายทำให้ด่านศุลกากร ตม. ทุกหน่วยงานจะมารวมอยู่ที่อาคารหลังนี้ และตรงโล่งๆ นี้จะเป็นลานจอดรถของตู้คอนเทนเนอร์ รถที่ไปตรวจจะต้องวิ่งทางนี้เข้าไปตรวจที่นั่น ตรวจปั๊บไปทางนู้นเลย เพราะจะมีลานจอดรถอยู่ตรงที่ทางเข้า เป็นที่จอดพักของรถหัวลากที่เขาทำให้สำหรับมาจอดพักชั่วคราว มารอเอกสารถึงให้จอดได้ตรงนั้น ตรงนี้ก็เป็นศูนย์ขาเข้า ทางนี้เขาจะผลักดันเป็น CCA

ก่อนจะเดินทางข้ามไปยังฝั่ง สปป.ลาว เราได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณยู เจียรยืนยงพงศ์ อดีตประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ซึ่งเดินทางมาสำรวจพร้อมกับอาจารย์อิง และมีมุมมองที่น่าสนใจต่อเมืองเชียงของ

คุณยู เจียรยืนยงพงศ์ บอกเล่าถึงศักยภาพของพื้นที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

อาเซียนตั้งอยู่ในภูมิรัฐศาสตร์ที่ค่อนข้างที่จะดีนะครับ ขณะเดียวกันนั้นเนี่ยอาเซียนก็อยู่ติดกันกับจีน ทางอาเซียนเองเวลานี้เนี่ย ก็มีกรอบความร่วมมือต่างๆ กับประเทศจีนทำให้การค้าขายต่างๆ เนี่ยมันง่ายขึ้น ในขณะที่ผมเองเนี่ย ก็ได้เดินทางไปในบริเวณประเทศไทยเนี่ย ในด่านชายแดนต่างๆ ด่านเชียงของเนี่ย เมื่อเทียบแล้วค่อนข้างที่จะง่าย สั้นที่สุดและรวดเร็วที่สุด ก็ถือว่าเป็นด่านที่มีอนาคต ในการที่จะสร้างเส้นทางรถไฟ เด่นชัย-เชียงของ ก็คงจะเสร็จอย่างช้าน่าจะปี 2572 ก็จะทำให้การขนส่งประตูนี้มีบทบาทเพิ่มมากขึ้นอีก สามารถทำเป็น Dry Port  Dry Portความหมายก็คือเป็นท่าเรือบกนะฮะ มันก็จะเพิ่มบทบาทที่สำคัญอย่างมาก สำหรับในการที่จะขนส่งสินค้าไปเพราะ Dry Port จะทำให้เราสามารถที่จะมีตู้สินค้าจากทั้งเรือ จากทั้งรถไฟ แล้วก็เราก็สามารถที่จะใช้รถเนี่ย ข้ามไปเชื่อมกับเมืองจีน สินค้าเราก็สามารถที่จะส่งไปยุโรปได้ ถ้าเราพัฒนาให้มันเร็ว ผมคิดว่าเรื่องนี้ มันก็จะเป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่เราจะใช้ไปเมืองจีน

เห็นทิศทางการขับเคลื่อนของเชียงของกันพอสมควร ได้เวลาออกสำรวจเส้นทาง R3A กันต่อ หลังจากยื่นพาสปอร์ตเพื่อข้ามแดน เราเดินทางกันด้วยรถตู้เหมาโดยสารที่ขับโดยพี่น้อย ชาวลาวเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ซึ่งดูจะคุ้นเคยกับเส้นทางนี้เป็นอย่างดีด้วยเพราะเคยขับรถบรรทุกวิ่งเส้นนี้เป็นประจำมาก่อน จุดแรกที่เราตั้งใจจะแวะดูคือพื้นที่ลานเปลี่ยนถ่ายสินค้าบริเวณเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว จากที่เราสังเกตเห็นคือมีลานเปลี่ยนถ่ายหัวลากจากรถไทยสลับเป็นรถลาวทั้งของรัฐและเอกชนกระจายอยู่ริมทางตลอดเส้นทาง R3A บริเวณใกล้กับด่านพรมแดนไทย-ลาว เป็นกิจกรรมที่เราเคยคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นที่ฝั่งไทย แต่เมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้ อาจารย์อิงก็ตั้งข้อสังเกตและแนวทางการปรับ ขยับพื้นที่ฝั่งเชียงของให้เกิดประโยชน์ที่มากขึ้น

สินค้าเมื่อมาถึงที่เชียงของแล้วเนี่ย ก็จะต้องข้ามด่านไปที่ด่านของฝั่งลาว ซึ่งมันก็จะเกิดกิจกรรมการเปลี่ยนเอาหาง ของรถหัวลากเราเนี่ย ไปใส่บนรถหัวลากของทางประเทศลาวนะครับ นั่นหมายความว่ารถไทยก็จะหมดภารกิจตรงพื้นที่ด่านห้วยทรายละนะครับ ที่เหลือก็จะเป็นรถหัวลากของฝั่งลาวจะขับต่อในเขตพื้นที่ประเทศลาวไปจนกระทั่งถึงด่านบ่อเต็น ก็จะเป็นรถหัวลากจีนมาลากสินค้าต่อไปนะครับ ซึ่งรูปแบบตรงนี้เนี่ยผิดจากเมื่อก่อน ก่อนโควิดรถของไทยจะวิ่งผ่านเชียงของเข้าสู่ห้วยทรายแล้วก็ตรงไปถึงด่านบ่อเต็น แล้วไปเปลี่ยนกับรถหัวลากจีนเลย แต่พอหลังโควิดทางรัฐบาลประเทศลาวก็ไม่อนุญาตให้คนขับรถหรือว่ารถหัวลากไทยเข้าไปในเขตประเทศลาว จึงทำให้กิจกรรมเปลี่ยนถ่ายของรถหัวลากมาเกิดขึ้นตรงห้วยทรายนะครับ ซึ่งถามว่าในอนาคตพอพ้นช่วงโควิดแล้วจะกลับไปสู่สถานการณ์เดิมอีกหรือไม่ คำตอบก็คือคิดว่าไม่ นั่นหมายความว่ากิจกรรมการเปลี่ยนถ่ายรถหัวลากจะเกิดขึ้นตรงพื้นที่ห้วยทรายแทนทั้งหมดและกิจกรรมเหล่านี้ก็จะทำให้ห้วยทรายเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ถ้าเราเห็นในพื้นที่ห้วยทรายก็จะเกิดพื้นที่ของลานเปลี่ยนถ่ายของทางรัฐแล้วก็เอกชนขึ้น อาจจะมีบริษัท Shipping ไปตั้งอยู่ทางฝั่งของห้วยทรายเพิ่มมากขึ้น ตรงนี้จะทำให้ทางด่าน อ.เชียงของของเรา ซึ่งเรามีศูนย์เปลี่ยนถ่ายแลกเปลี่ยนการขนส่งเชียงของ แต่เดิมเราคิดว่าจะเป็นพื้นที่ที่จะมีกิจกรรมการเปลี่ยนถ่ายรถหัวลากกันที่ฝั่งประเทศไทย ก็จะไม่เกิดกิจกรรมนี้ขึ้นแล้ว ดังนั้นศูนย์เปลี่ยนถ่ายแลกเปลี่ยนการขนส่งเชียงของก็อาจจะต้องคิดถึงโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่จะทำให้เกิดกิจกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มในฝั่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการมีตู้ชาร์จไฟสำหรับทำความเย็นสำหรับสินค้าสดเพื่อเตรียมที่จะไปเปลี่ยนในฝั่งห้วยทราย รวมไปถึงกิจกรรมอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อทำให้ตรงนี้กลายเป็นกิจกรรมที่เป็นศูนย์กลางทางด้านบริหารจัดการตู้คอนเทนเนอร์แทนขึ้นมานะครับ อันนี้เราต้องคิดเผื่อตรงนั้นไป

เราเดินทางห่างจากตัวเมืองห้วยทรายออกไปตามเส้นทาง R3A ตลอดทางมีรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์วิ่งตลอดเส้นทางอย่างไม่ขาดสาย แม้ถนนจะมีความกว้างเพียงแค่รถวิ่งสวนทาง ส่งผลให้ถนนหนทางบางช่วงค่อนข้างจะทรุดโทรมจนทำให้รถตู้ที่เรานั่งมาทำเวลาได้ไม่มากเท่าที่ควร กระนั้นก็เป็นช่วงเวลาที่เราได้มีโอกาสสอดส่องมองหารถที่บรรทุกสินค้า Cross Border E-Commerce ที่เราหมายมั่นว่าจะตามดูการขนส่งประเภทนี้ แต่ก็เห็นเพียงรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ตามปกติ จนสุดท้ายอาจารย์อิงเฉลยให้เราฟังว่าไม่มีรถที่บรรทุกสินค้าแยกเฉพาะแบบนั้น

คือสินค้าที่เราจะส่งจากไทยไปยังจีนจะต้องผ่านเส้นทาง R3A ก็คือเส้นทางนี้นะครับ ซึ่งลักษณะของรถที่ขนส่งสินค้าที่เป็นพวกพัสดุภัณฑ์หรืออะไรต่างๆ เนี่ยนะครับ เบื้องต้นเราอาจจะนึกว่าเป็นรถแบบไปรษณีย์แต่ความจริงเนี่ยรถที่ใช้ขนส่งระหว่างประเทศตรงนี้ก็เป็นรถตู้คอนเทนเนอร์นี่ล่ะครับ เพราะว่าผู้ให้บริการที่เป็น Logistics Express ของประเทศจีน เขาก็จะไม่ได้วิ่งมาถึงเชียงใหม่นะฮะ แต่เขาจะอาศัยพวกรถที่เป็นรถขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ที่เป็นลักษณะตู้คอนเทนเนอร์ทำหน้าที่ในการขนส่งแทนเขา เพราะฉะนั้นสินค้าที่ออกจากเชียงใหม่จะส่งไปยังที่จีน ความจริงต้นทางของรถจะวิ่งออกมาจากตลาดไทจะเอาสินค้าจากกรุงเทพฯ ที่เป็นพัสดุภัณฑ์เช่นเดียวกัน แล้วมาแวะรับสินค้าที่จังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นก็จะวิ่งมายังที่ อ.เชียงของ เข้าสู่เส้นทางถนน R3A นะครับ รถที่เราเห็นก็คือรถคอนเทนเนอร์ที่ใช้ขนส่งสินค้าลักษณะนี้ แล้วก็จะวิ่งผ่าน R3A ไปยังปลายทางที่บ่อเต็นของลาวข้ามไปสู่บ่อฮาน

ซึ่งตรงนั้นก็จะมีด่านพัสดุภัณฑ์เร่งด่วน เมื่อรถวิ่งไปถึงด่านพัสดุภัณฑ์เร่งด่วนแล้วนะครับ เขาก็จะเอาเข้ากระบวนการในการตรวจสอบตามสายพาน เมื่อออกจากตรงนั้นแล้วถึงจะเข้าสู่ระบบของ Logistics Express ของจีนจริงๆ นะครับ ซึ่งตรงนั้นก็จะมีรถของบริษัท Express ของจีน เช่น เราใช้บริการของ YUNDA ก็จะมีรถของ YUNDA มารับไป หรืออาจจะเป็นบริษัทอื่น เช่น หยวนทง เซินทง ซุ่นเฟิง ก็จะมีรถของบริษัทแต่ละยี่ห้อนี้มารับไป แต่ในการขนส่งระหว่างประเทศเนี่ย ไม่ว่าคุณจะเป็น Express เจ้าไหน คุณใช้รถคันเดียวกันในการขนส่ง ผมคิดว่าถ้า volume ยังไม่เยอะ เขาก็อาจจะไม่คุ้มค่าที่จะลงทุนที่จะมาวิ่งระหว่างประเทศเอง ดังนั้นก็น่าจะเป็นลักษณะของ Outsource ที่เขาทำอยู่เหมือนเดิม ก็คือเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญในการวิ่ง โลจิสติกส์ เส้นนี้อยู่แล้วมาทำหน้าที่แทนเขา แต่อย่างไรก็ดีถ้า volume มากขึ้น ก็เป็นไปได้นะครับที่บริษัท Express เหล่านี้ เขาอาจจะวิ่งเพราะว่าเป็นทางด่วน มันก็แค่ 170 กว่ากิโลเมตร ก็อาจจะวิ่งระหว่างบ่อฮานไปยังด่านเชียงของของเรา ก็มีความเป็นไปได้เช่นเดียวกันครับ

ภาพบรรยากาศพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะบ่อเต็นแดนงาม (BORTEN SEZ)
ภาพบรรยากาศพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะบ่อเต็นแดนงาม (BORTEN SEZ)

ในที่สุดหลังจากเราใช้เวลาอยู่บนถนน R3A ร่วม 7 ชั่วโมง เราก็มาถึง เขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะบ่อเต็นแดนงาม (BORTEN SEZ) ชั่วเวลาเพียงแค่ 5 เดือนหลังจากเรามาเยือนรอบที่แล้ว การก่อสร้างที่นี่รุดหน้าไปอย่างรวดเร็วมาก ตึกระฟ้าและระบบอำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้นมาอย่างรวดเร็ว รวมทั้งครั้งนี้เราได้มีโอกาสพบกับผู้บริหารของพื้นที่ และอัพเดทให้เราฟังด้วยภาษาจีนผ่านอาจารย์อิงเพื่อให้เราได้เข้าใจทิศทางของพื้นที่และนำไปปรับให้เชียงของสามารถเดินหน้าในทิศทางที่ชัดเจนขึ้น คุณยู เจียรยืนยงพงศ์ ในฐานะผู้ร่วมเดินทางก็มีทรรศนะเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างน่าสนใจครับ

ผู้บริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะบ่อเต็นแดนงาม (BORTEN SEZ) เล่าความคืบหน้าของพื้นที่ให้คณะของอาจารย์อิง

เขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นเนี่ย ขณะนี้เราก็มองดูแล้วศักยภาพความเป็นไปได้สูงมาก สูงกว่าเกินกว่าที่ผมคาดคิดเอาไว้อีก เนื่องจากพอเราเข้ามาแล้วเนี่ย เราได้เห็นถึงสิทธิพิเศษ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่เขาจะให้เกิดขึ้นมา แล้วเมื่อเช้านี้ ผมก็ได้ถามถึงในเรื่องของการจดทะเบียนทำบริษัท เขาก็บอกว่าเขายินดีนะครับ เงื่อนไขการจดทะเบียนบริษัทก็ไม่ยาก เราก็ใช้เวลา 15 วัน ทุกอย่างก็อนุมัติหมด เงื่อนไขมีไม่มาก แล้วเราก็สามารถที่จะทำธุรกิจทำอะไรได้ในนี้เลย เราสามารถที่จะเชื่อมต่อระบบของการค้ากับเมืองไทยกับด่านประตูเชียงของของเราได้สบายมากครับ

คุณยู เจียรยืนยงพงศ์ ให้ความเห็นระหว่างร่วมสำรวจเขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะบ่อเต็นแดนงาม (BORTEN SEZ)

บ้านเราเองนั้น ในแต่ละด่านมีบทบาททั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นทางใต้ทางด่านสะเดาไปมาเลเซีย นครพนมหรือมุกดาหารที่จะเข้าเวียดนาม มันอยู่ที่ว่ามุมมองของนักการเมือง นโยบายของประเทศนั้นเนี่ย เราจะทำยังไง จะรุกออกมายังไง ทุกวันนี้เราทำการค้ายังไม่มีเชิงรุก แต่ถ้าเราทำในเชิงรุก ในขอบ 6 ประเทศนี้ ผมว่าสินค้าไทยทุกคนรู้จักหมด รู้จักทั้งคุณภาพ รู้จักทั้งแบรนด์ เมื่อกี๊ก็ได้คุยกันกับทางอาจารย์อิงว่าภารกิจของเราคือจะต้องพา SME มาที่นี่ให้ได้ คนไทยจะอยู่ในเมืองไทยอย่างเดียวไม่ได้แล้วล่ะครับ เพราะเราอยู่ในโซนสบายมากมานานละครับ ในเชียงของเองเนี่ย ถ้ารัฐบาลสนับสนุนแล้วก็เปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ แล้วอำนวยความสะดวกทุกอย่างให้รวดเร็วนะครับ ผมคิดว่าประตูนี้จะค้าขายเพิ่มขึ้นปีนึงเนี่ยขึ้น 300 % นี่ง่ายๆ เลยล่ะครับผมมองดูแล้ว เนื่องจากว่าทางด่วนเขาจะเสร็จ เส้นทางเสร็จ รถไฟมา การขนส่งมันง่ายขึ้น  ดังนั้นเพิ่มปีนึง 200-300 % ผมว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ ใน 10 ปีนี้ เพิ่มได้ตลอดเลยตัวเลขของการค้าครับ

ด้านอาจารย์อิงหลังจากได้หารือกับผู้บริหารพื้นที่และทดลองเปิดบัญชีธนาคารระหว่างประเทศด้วยตนเอง ซึ่งพบว่าสะดวก รวดเร็จและไม่ซับซ้อนยุ่งยาก ก็สรุปการสำรวจเส้นทาง R3A เชียงของ-บ่อเต็น ให้เราฟัง

อาจารย์อิง สรุปภาพรวมหลังจากสำรวจพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะบ่อเต็นแดนงาม (BORTEN SEZ)

R3A เนี่ยนะครับ ยังคงมีบทบาทสำคัญ ในลักษณะของการที่เป็นเส้นทางทางถนนที่ใกล้ที่สุดระหว่างไทยมายัง ประเทศจีนได้ เมื่อทางด่วนระหว่างบ่อเต็นถึงห้วยทรายตรงข้ามเชียงของแล้วเสร็จ จะทำให้ระยะเวลาในการเดินทางของการขนส่งสินค้าจะใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมงเท่านั้นเอง ถ้าหากเราสามารถเปิดเส้นทางการเดินรถในเรื่องของการขนส่ง เชื่อมโยงระหว่างบริษัทลาวกับบริษัทไทยได้ ทำให้การให้บริการตั้งแต่เชียงของ สินค้าจะไปจีนมี One Stop Service อยู่ที่ฝั่งเชียงของ เมื่อเข้ามาที่ลาวและจีนก็สามารถทะลุผ่านตรงนี้ได้อย่างรวดเร็ว ในทางกลับกันครับ สินค้าจากจีนถ้าจะมาไทย เราก็มี One Stop Service อยู่ตรงฝั่งลาว สินค้าที่จะเข้าไทยผ่าน One Stop Service ก็สามารถผ่านได้อย่างรวดเร็ว ถ้าหากเราทำระบบตรงนี้ได้ ภาพของความเป็นตัวกลางระหว่างอาเซียนกับจีนของภาคเหนือของเราผ่านเส้นทาง R3A ก็จะคมชัดมาก ยิ่งทางด่วนมาแล้วมีระบบทั้งฮาร์ดแวร์และก็ซอร์ฟแวร์ที่สมบูรณ์เนี่ย ผมคิดว่าตรงนี้คือโอกาสของภาคเหนือของเรา ของ Northern Economic Corridor จริงๆ

บทสรุปของทิศทางการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงของ จังหวัดเชียงราย ดูจะมีอนาคตที่สดใสรออยู่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น พี่จุ๊บ หรือ ดร.อนุรัตน์ อินทร ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย ก็ตั้งข้อสังเกตว่า หากมีการประสานนโยบายกับหน่วยงานรัฐในท้องถิ่นได้อย่างราบรื่นน่าจะยิ่งทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับคนในพื้นที่ยิ่งขึ้น

พี่จุ๊บ หรือ ดร.อนุรัตน์ อินทร ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย เน้นย้ำถึงบทบาทของภาครัฐในการสนับสนุนท้องถิ่น

เขตเศรษฐกิจพิเศษเนี่ย เนื่องจากเราจัดตั้งมาแล้วอำนาจเต็มไม่ได้อยู่ที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนะครับ ไม่เหมือนฝั่งตรงข้าม ซึ่งทางเจ้าแขวงเขามีอำนาจเต็มสามารถจะกำหนดได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร ของเราถ้าคนจะมาลงทุน มันมีหลายองค์กรเข้ามาเกี่ยวข้อง หลายกระทรวง หลายกรมนะครับ ซึ่งใช้กฎหมายคนละตัวกันหมด ดังนั้นการที่จะมาลงทุนในพื้นที่ต้องไปขอแต่ละอย่างมันต้องใช้เวลานาน ซึ่งจะทำให้นักลงทุนหันไปลงทุนประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น อยากจะขอทางภาครัฐ อาจจะมีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยอาจจะมีผู้ว่าการเขตเศรษฐกิจพิเศษแต่ละจังหวัดแต่ละอำเภอให้เกื้อหนุนต่อการลงทุน เช่น อำนวยความสะดวก ให้ข้อมูล ที่ทำให้นักลงทุนเขาอยากจะมาลงทุนในพื้นที่ จ.เชียงรายของเรา อันที่ 2 ก็คือเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่จะมอบให้ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือว่าต่างชาติ โดยเฉพาะคนในพื้นที่ผมคิดว่าสิทธิประโยชน์จะต้องได้มากกว่าเพราะว่าเราอยู่ในพื้นที่ อย่างเช่น ภาษีหรือว่าเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้สำหรับนักลงทุนในพื้นที่ไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 3 อำเภอ เป็นต้น

การออกไปสำรวจเส้นทางรอบนี้ เราได้เห็นโอกาสและช่องทางของผู้ประกอบการไทยทั้งรายใหญ่ รายเล็ก ผ่านระบบที่เรียกว่า Cross border E-commerce ซึ่งจะทำให้การบุกตลาดจีนไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป การเรียนรู้เขาแล้วกลับมาปรับขยับทิศทางของเรา ย่อมจะก่อให้เกิดประโยชน์กับเราได้ครับ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ