เรียบเรียง : นาตยา สิมภา
ฟังเสียงประเทศไทย ยังคงออกเดินทางในทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อร่วมรับฟังเสียงของผู้คนด้วยหัวใจที่เปิดรับ เพื่อให้มีข้อมูลที่รอบด้านและหวังจะร่วมหาทางออกจากโจทย์ความท้าทายของผู้คนในแต่ละพื้นที่
ในพื้นที่ภาคอีสาน รายการฟังเสียงประเทศไทย Next normal เดินทางมาถึงพิกัดที่ 5 ณ จุดชมวิวแม่น้ำสองสีที่แม่น้ำสงครามบรรจบกับแม่น้ำโขง อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม เพื่อร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนถึงสถานการณ์คนลุ่มน้ำโขงและแม่น้ำสาขาที่แม้พรมแดนไม่อาจขวางกั้น ผ่านการจัดวงคุย “โสเหล่” ภายใต้แนวคิด Citizen Dialogues ประชาชนสนทนา
ทุกครั้งของการเดินทางเราอยากชวนให้ทุกคนได้ฟังกันอย่างใคร่ครวญ ไตร่ตรอง ฟังโดยไม่ตัดสิน และชวนรับฟัง แลกเปลี่ยน และต้องขอย้ำว่าการเดินทางทุกครั้งหัวใจของการมาเจอคือได้มาฟัง แลกเปลี่ยนข้อมูล ได้รู้ในสิ่งที่ยังไม่เคยรู้ หรือได้เติมข้อมูลให้กัน และนำมาคิดไปข้างหน้า เพื่อร่วมออกแบบภาพอนาคตการร่วมดูแล การอนุรักษ์ฟื้นฟู การใช้ประโยชน์สัตว์น้ำและทรัพยากรธรรมชาติ ในแม่น้ำโขงและลุ่มน้ำสาขาอย่างมีส่วนร่วมภายใต้ประเด็น อนาคต วิถีคน ปลา และลุ่มน้ำโขงนครพนม
แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีต้นกำเนิดจากภูเขาหิมะบนเทือกเขาหิมาลัย – บนที่ราบสูงทิเบตในมณฑลชิงไห่ ประเทศจีน ไหลผ่าน 6 ประเทศ ได้แก่ จีน เมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ความยาวรวม 4,909 กม. มีพื้นที่รับน้ำในลุ่มน้ำ 795,000 ตร.กม.
- ความหลาก หลายทางชีวภาพ
- แม่น้ำโขงแหล่งปลาน้ำจืดใหญ่ที่สุดในโลก
พื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงมีพันธุ์ปลาอย่างน้อย 1,100 ชนิด บางชนิดนั้นไม่สามารถพบได้ในส่วนอื่นของโลก และมี “ปลาบึก” ซึ่ง IUCN จัดให้เป็นสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งยวด ข้อมูลตามสถิติของ (FAO) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ พบว่าปริมาณการจับปลา น้ำจืดใน 4 ประเทศของแม่น้ำโขงตอนล่างมีจํานวน กว่า 750,000 ตันต่อปี
มีข้อมูลงานวิจัยการเปลี่ยนแปลงของไกและผลกระทบต่อชุมชน กรณีบ้านหัวเวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ระบุถึงสาเหตุทั่วไปที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงแม่น้ำโขง ได้แก่
1. การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่
2. การระเบิดแก่งแม่น้ำโขง เพื่อการเดินเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่
3. การเกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งต้องใช้ยาฆ่าแมลงและปุ๋ยเคมี
4. การเดินเรือพาณิชย์
5.การหาปลาแบบผิดวิธี
6.การทำที่กั้นตลิ่งริมฝั่งแม่น้ำโขง ทำให้ระบบนิเวศชายฝั่งโขงเปลี่ยนแปลง
7.การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
ความเปลี่ยนแปลงและเขื่อนบนสายน้ำโขง
รัฐบาลจีนมีแผนสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า 28 โครงการบนแม่น้ำโขงตอนบนในจีน ซึ่งข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2563 ระบุว่า แม่น้ำโขงตอนบนในจีนมีเขื่อนก่อสร้างแล้ว 11 เขื่อน อยู่ระหว่างก่อสร้าง 1 เขื่อน แม่น้ำโขงตอนล่างมีเขื่อนก่อนสร้างแล้ว 2 เขื่อน และยังมีเสนอสร้างอีก 9 โครงการ
การประเมิน “สรุปสถานการณ์แม่น้ำโขงสำหรับลูกหลานแม่น้ำโขง ฉบับธันวาคม 2563” มีข้อมูลว่าชีวมวลด้านประมงอาจจะลดลง 35–40% ภายในปี 2563 และ 40–80% ภายในปี 2583 ทำให้ประเทศต่าง ๆ สูญเสียปริมาณสัตว์น้ำเป็นสัดส่วน คือ ไทย 55% ลาว 50% กัมพูชา 35% และเวียดนาม 30% ซึ่ง‘การศึกษาของคณะมนตรีแม่น้ำโขง’ เมื่อปี 2554 ระบุแผนการพัฒนาโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำปี 2583 จะทำให้พันธุ์ปลาอพยพในพื้นที่ส่วนใหญ่ของแม่น้ำโขงสูญพันธุ์ไป
แม่น้ำโขง ณ นครพนม
จังหวัดนครพนม ห่างจากกรุงเทพฯ 740 กิโลเมตรเป็น 1 ใน 8 จังหวัดของไทยที่มีแม่น้ำโขงไหลผ่าน เป็นแนวยาวตามฝั่งแม่น้ำโขงประมาณ 174 กิโลเมตร เป็นจังหวัดชายแดนไทย-ลาว มีเขตการปกครอง 12 อำเภอ โดย 4 อำเภอ ติดแม่น้ำโขง อ.บ้านแพง /อ.ท่าอุเทน /อ.เมืองนครพนม /อ.ธาตุพนม มีจุดผ่านแดนไทย-ลาว 6 จุด
จังหวัดนครพนมมีภูมิศาสตร์ที่เอื้อให้สามารถทำการประมง และมีแหล่งน้ำธรรมชาติอื่น ๆ ทั้งขนาดเล็กและใหญ่ 1,002 แห่ง พื้นที่รวม 153,055 ไร่ โดยมีแม่น้ำสงคราม เป็น 1 ใน 37 ลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำโขง มีพื้นที่ลุ่มน้ำประมาณ 6,472 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุม 5 จังหวัด ได้แก่ สกลนคร อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ นครพนม
ในปี 2563 มีผู้ขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกับสำนักงานประมงจังหวัด จํานวน 10,888 ราย มีมูลค่า การทำประมงรวมเท่ากับ 473.95 ล้านบาท
เป้าหมายการพัฒนาจังหวัด ปี 2566 – 2570
“เมืองน่าอยู่ ประตูเศรษฐกิจสู่อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ” โดยมีวัตถุประสงค์การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดลอมอย่างยั่งยืน “นครพนมเมืองพัฒนาที่ไร้มลพิษและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต้นแบบการบริหารจัดการแห่งอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เชื่อมโยงพื้นที่ชุ่มน้ำโลก”
การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาที่มาจากหลายเหตุปัจจัยย่อมส่งผลต่อวิถีชีวิตคนลุ่มน้ำ ทั้งชาวประมง และเกษตรกรริมฝั่ง
ความท้าทายที่ต้องเผชิญนี้ทำให้เครือข่ายชาวบ้านร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่พยายามหาทางออกเพื่อหวังให้ช่วยลดผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอัตราเร่ง และฟังเสียงประเทศไทยจึงชวนล้อมวง “โสเหล่” และ “ฟัง” อย่างใส่ใจ จากบริเวณศาลาริมน้ำ ณ ปากแม่น้ำสงคราม ที่ ต.ไชยบุรี อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม จุดชมวิวแม่น้ำสองสีที่แม่น้ำสงครามบรรจบกับแม่น้ำโขง เพื่อล้อมวงคุย “โสเหล่” ฟังเสียงกันและกันถึงอนาคตของพวกเขาโดยลองประมวลฉากทัศน์ความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นในหลายลักษณะ ที่มองว่าอาจจะเป็นไปได้มา 3 แบบ เพื่อให้วงสนทนาได้โสเหล่ เว้าจาถึง “อนาคต วิถีคน วิถีปลา ลุ่มน้ำโขง และลุ่มน้ำสาขา ณ นครพนม”
ฉากทัศน์ A พายเรือปริ่มน้ำ ประคับประคองสถานการณ์
• การเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพของลุ่มน้ำโขงที่เกิดจากโครงการพัฒนาต่าง ๆ ซ้ำเติมด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของลำน้ำสายหลักทั้ง ด้านเกษตรกรรมและทำให้แม่น้ำโขงซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้รับการกล่าวขานว่า เป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของโลกกลายเป็นอดีต เนื่องจากปริมาณสัตว์น้ำที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพันธุ์ปลาอพยพส่วนใหญ่ในแม่น้ำโขงต้องสูญพันธุ์ไปภายใน 20 ปี ข้างหน้า ขณะที่ชุมชนประมงและเกษตรกรในหลายจังหวัดโดยเฉพาะ จ.นคร พนม อยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับชุมชนอื่นๆของประเทศเพื่อนบ้านคือ พยายามหาทางรับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้น แต่ทำได้เพียงประคับประคองสถานการณ์ และในวงจำกัด
ฉากทัศน์ B ขึ้นฝั่ง เผชิญการเปลี่ยนแปลงใหม่
• ชุมชนประมงและเกษตรกรรมที่พึ่งพาลำน้ำโขงสายหลักลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่ถึง 20 ปีข้างหน้า เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของลำน้ำและพันธุ์สัตว์น้ำที่ลดลง ชาวบ้านส่วนใหญ่พยายามปรับตัวหาช่องทางเพื่อความอยู่รอด แต่อาจจะมีเพียงส่วนน้อยที่เปลี่ยนผ่านไปสู่วิถีใหม่ได้ภายใต้การสนับสนุนของภาครัฐและการลงทุนของเอกชนและโอกาสที่ จ.นครพนมเป็นเมืองการค้าท่องเที่ยวชายแดนสู่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ชุมชนประมงและเกษตรกรรมในพื้นที่ต้องเปลี่ยนวิถีการทำกิน เข้าสู่ภาคแรงงานและอุตสาหกรรม ซึ่งเติบโตขึ้นจากการค้าและการท่องเที่ยว
ฉากทัศน์ C สร้างความร่วมมือใหม่ มุ่งแก้ปัญหาใจกลาง
• ภาคประชาชนชาวนครพนมและเครือข่ายในลุ่มแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา ขับเคลื่อนและผลักดันให้รัฐบาลไทยและกลไกความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมีมติให้ปัญหาลุ่มน้ำโขงเป็นวาระนานาชาติ และร่วมผลักดันให้เกิดกลไกในทุกระดับเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะการฟื้นฟูและรักษาความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์สัตว์น้ำ มีการผลักให้มีการชดเชยเยียวยาผลกระทบข้ามพรมแดน และหาฉันทามติก่อนดำเนินการเกี่ยวกับโครงการพัฒนาในแม่น้ำโขงและลุ่มน้ำสาขา แต่สถานการณ์มีความท้าทายสูงจากผลประโยชน์เฉพาะประเทศและรูปแบบการเมืองการปกครองที่ซับซ้อนแตกต่างกัน ทำให้เปอร์เซ็นต์ความสำเร็จหรือบรรลุตามเป้าประสงค์แทบเป็นไปไม่ได้
นอกจากข้อมูลพื้นฐาน สถานการณ์ และศักยภาพของลุ่มน้ำโขงและลุ่มน้ำสาขาของนครพนม ที่รวบรวมมาแบ่งปันแล้ว ยังมีข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติมจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 ฉากทัศน์มาให้ร่วมตัดสินใจ โดย คุณกมล หอมกลิ่น ผู้อำนวยการมูลนิธิสื่อสร้างสุข เป็นผู้ดำเนินวงเสวนา เพราะเราเชื่อเหลือเกินว่าหากทุกคนได้รับข้อมูลอย่างรอบด้าน ได้พูดคุยและรับฟังกันอย่างเข้าใจจะนำไปสู่การออกแบบภาพอนาคตได้เพราะเสียงของทุกคนมีความหมาย
ข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติมฉากทัศน์ A พายเรือปริ่มน้ำ ประคับประคองสถานการณ์
ดร.ชัยวุฒิ กรุดพันธ์ อาจารย์สาขาประมง คณะเกษตรศาสตร์ ม.อุบลราชธานี
“ผมว่าเวลาเรามองไปที่แม่น้ำโขง ปลาที่หลากหลายเรามีการใช้ประโยชน์ มีความเชื่อมโยงมาตั้งแต่อดีต อย่างเช่นประวัติของบ้านไชยบุรี เมืองไชยบุรีที่นี่ เราก็จะเห็นว่าจริง ๆ แล้ว สิ่งที่เราเรียกว่า โลจิสติกส์ การค้าขายข้ามพรมแดนจริง ๆ มันมีมาแล้วหลายพันปี ผมทำงานอยู่ที่อุบลราชธานี มีผาแต้มเราเห็นภาพปลาบึก เห็นกิจกรรมต่าง ๆ มีการเคลื่อนย้ายของผู้คน วัฒนธรรมหลากหลายและมีการแลกเปลี่ยน แต่ว่าการแลกเปลี่ยนสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตจนถึงปัจจุบันนี้อาจจะไม่ค่อยร้อนแรงเท่าไร เรามีการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ เรามีการปรับตัวใช้ประโยชน์กับสัตว์น้ำและโอกาสต่าง ๆ ที่น้ำพามา เรามาอยู่ตรงนี้ดีมาก ๆ เรามองเห็นแม่น้ำโขง เห็นแม่น้ำสงคราม เราเห็นความเชื่อมโยงกัน อย่างใน Fact & Figures มันมีโครงการที่เราอาจจะมองว่าเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินหรือว่าการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งทุกคนที่อยู่ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงก็กำลังเคลื่อนไปกับสิ่งที่เรียกว่าอนาคต มันก็ปริ่มน้ำจริง ๆ นะถ้าเรามองว่าการเปลี่ยนแปลงมันเร็วมากและเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด เราคงเห็นภาพเมื่อช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่าน “รถไฟลาว-จีน” มันเพิ่งเกิดขึ้นและคุยกันเมื่อ 5 ปีก่อน วันหนึ่งมันมาถึงเวียงจันทน์ เพราะฉะนั้นภาพทัศน์ของกิจกรรมที่เกิดขึ้นกับการที่เราปรับตัวเข้ากับความอุดมสมบูรณ์ของลุ่มแม่น้ำโขงโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ปลา”
ในการทำงานวิจัยร่วมกันใน 4 ประเทศ รวมทั้งลุ่มน้ำโขงตอนบนอีก 2 ประเทศ รวมเป็น 6 ประเทศ มีปลาไม่ต่ำกว่า 1,300 ชนิด ตั้งแต่เขตภูดอยเป็นภูเขาจนปลาที่อยู่ในแม่น้ำโขง บางชนิดก็มีการอพยพกันยาวไกล อย่างเช่น “ปลาซวยลิง” หรือว่า “ก๋าบองลาว” ภาษาเวียดนาม ก็เป็นปลาที่อพยพมาจากปากแม่น้ำโขงที่เวียดนามขึ้นมาถึงแถวนี้ ซึ่งมันมาเป็นช่วงเวลาเฉพาะของมัน
เมื่อมาถึงวันนี้ สายน้ำโขงมันเปลี่ยนไป ปริมาณน้ำโขงเปลี่ยนไป กิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมันเปลี่ยนไป คนก็กระทบใช่ไหมครับ อย่างที่พ่อพิชัยบอกว่า แม่น้ำโขงคือชีวิต ทั้งชีวิตคนและก็ชีวิตของสิ่งแวดล้อม สัตว์ต่าง ๆ สัตว์น้ำที่อยู่ในน้ำด้วย เมื่อทุกอย่างเปลี่ยนแต่เราจะอยู่กับสภาวะนั้นอย่างไร ในช่วง 2 ปี ที่มีสถานการณ์โควิด-19 ผมมีโอกาสแวะมาที่นี่ในช่วงโควิด-19 ตอนนั้นที่เรามีปัญหาการขายปลานิลยาก ผมเห็นคนเปลี่ยนมาเลี้ยงปลายอน ก็เห็นว่ามันมีโอกาสที่จะทำให้สิ่งที่มันเปลี่ยนแปลงบางทีมองอีกมุมหนึ่ง ถ้าเราสามารถที่จะก้าวไปกับความเปลี่ยนแปลงทำให้ความเปลี่ยนแปลงนั้นมาในมุมที่เป็นประโยชน์ของการใช้ประโยชน์ในท้องถิ่น อย่างเช่นทำยังไงเราจะทำให้ทรัพยากรประมงที่เป็นทรัพยากรประมงที่เพิ่มมูลค่า ทำยังไงให้มันเป็นสินค้าที่ถูกได้รับการยอมรับ ทั้งเรื่องของมูลค่า ทั้งเรื่องเชิงคุณภาพ ไม่ใช่แค่เหมือนเรามองปลานิล ปลาแซลมอนเราไปซื้อในห้างสรรพสินค้าทั่วไป แต่อันนี้เป็นของที่มีมูลค่าที่อยู่ในปัจจุบัน”
ข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติมฉากทัศน์ B ขึ้นฝั่ง เผชิญการเปลี่ยนแปลงใหม่
ไชยา จิตพิมพ์ ปลัด อบต.ไชยบุรี อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม
“แม่น้ำโขงมันแปรเปลี่ยนไป อย่างที่เราทราบอยู่แล้วกับสถานการณ์ของจีนก็ดี ลาวก็ดี ก็จะมีการก่อสร้างเขื่อน เราเองคงไม่มีโอกาสที่จะไปห้ามเขาได้อยู่แล้ว เพราะว่ามันเป็นดินแดนของเขาที่เขาจะมีอำนาจในส่วนของการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องของการทำเขื่อน ในเมื่อเราไม่มีอำนาจต่อรองกับเขาเราเองก็ต้องปรับตัว ซึ่งผมเองมองว่าคงจะไม่ถึง 20 ปี พี่น้องที่อยู่ในส่วนของแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาก็อาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะตำบลไชยบุรีเองที่มีวิถีชีวิตที่เกี่ยวเนื่องกับภาคประมงและเกษตรกรรม เดิมทีเราใช้แหล่งน้ำทั้ง 2 แหล่งทำมาหากิน แต่เนื่องจากทุกวันนี้มันมีความเปลี่ยนแปลงไป น้ำขึ้น-ลงไม่ตรงธรรมชาติ อยากจะขึ้นก็ขึ้น อยากจะลงก็ลง ทำให้วิถีชีวิตก็แปรเปลี่ยน
ผมเองคิดว่าพี่น้องประชาชนส่วนหนึ่งเราต้องมีการปรับเปลี่ยน อย่างเช่น 1.) เรามีสิ่งที่มันแปรเปลี่ยนเข้ามาในจังหวัดนครพนมเราก็คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเฉพาะนโยบายของทางจังหวัดในเรื่องของการส่งเสริมการท่องเที่ยว ผมมองว่าผมพร้อมจะขึ้นฝั่งเพราะว่าไม่สามารถที่จะกำหนดทิศทางของแม่น้ำโขงได้แล้ว ทั้งจะทำเรื่องประมงก็คงจะลำบาก แล้วทำไปก็คงจะได้ไม่นาน เลือกที่จะปรับตัวเปลี่ยนแปลง แล้วก็ขึ้นฝั่งนำเอาในส่วนของวิถีเดิมมาปรับเปลี่ยน ซึ่งแน่นอนมันเป็นเรื่องของวิถีการท่องเที่ยว วิถีที่เกี่ยวกับเรื่องของ OTOP โดยเฉพาะตำบลไชยบุรีเองก็จะเป็นเมืองท่องเที่ยว แล้วก็มีภูมิประเทศติดกับถนน 212 ซึ่งสามารถที่จะผลักดันให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวได้ ก็จะทำให้พี่น้องส่วนหนึ่งนำเอาวิถีประมง วิถีพื้นบ้านทางเกษตรกรรม ขึ้นมาสู่สายตาเป็นโฮมสเตย์ เป็นการท่องเที่ยวแล้วก็ทำให้เกิดอาชีพใหม่ ๆ”
ข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติมฉากทัศน์ C สร้างความร่วมมือใหม่ มุ่งแก้ปัญหาใจกลาง
อำนาจ ไตรจักร ประธานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน
“หลังจากที่เราประสบปัญหา เราเดินทางมาตั้งแต่เราตั้งสภาเครือข่ายลุ่มน้ำโขงมา 13 ปี จริงอย่างที่หลาย ๆ ท่านพูดนะครับว่าเราต่อต้านเรื่องการสร้างเขื่อนกั้นลำแม่น้ำโขงหรือว่าโครงการใหญ่ ๆ ที่กั้นลำแม่น้ำโขง ที่ทำให้แม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงไป เมื่อก่อนเราเคยใช้แต่มวลชน ใช้แต่กำลังไปปิดสถานทูตจีน ไปปิดสถานทูตลาว ไปไฮด์ปาร์คที่ บริษัท ช.การช่าง ที่สร้างเขื่อน แต่เขื่อนก็สร้างไปเรื่อย ๆ เขาไม่ได้ฟังเรา เราก็เลยหันกลับมามองตัวเองใหม่ ถ้าเราไปแบบนี้แม่น้ำโขงเราก็คงจะเหลือแต่ชื่อ เราจึงหันมาเก็บข้อมูลสู้ด้วยข้อมูลดีกว่า เอาข้อมูลต่าง ๆ ที่มีความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง จากแม่น้ำโขงในอดีตเป็นยังไง มีความอุดมสมบูรณ์อย่างไร แล้วปัจจุบันเป็นอย่างไร แล้วถ้าปล่อยให้มันเป็นแบบนี้อนาคตจะเป็นอย่างไร เรามีนักวิชาการเข้ามาช่วยในการเก็บข้อมูล ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนักวิชาการอีกหลายพื้นที่มาช่วยกัน ลำพังพี่น้องจะทำงานวิจัยแบบไทบ้าน เก็บข้อมูลแบบไทบ้านไม่มีอะไรมาการันตี
เมื่อ 11 มีนาคน 2564 เราก็ “เดินทางเท้าเว้าแทนปลา” เพราะไม่ไหวแล้วแบบนี้ ต้องไปประกาศให้ทางรัฐบาลได้รับทราบบ้าง เราไปกระทรวงเกษตร ไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อเอาปัญหาข้อมูลที่เราเก็บได้ เราก็นัดพี่น้องทั้ง 7 จังหวัด แม้ในสถานการณ์โควิด-19 แต่เราไม่หวิดแล้วตอนนี้ถ้าปล่อยไว้แบบนี้ พอไปแล้วภาคราชการก็เห็นความสำคัญของเราขึ้น ได้รับการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อจะได้มาฟื้นฟูระบบนิเวศแม่น้ำโขงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง 7 จังหวัด แล้ว สทนช.ก็มารับฟังปัญหาเรา
ตอนนี้เราเริ่มทำเขตอนุรักษ์ เราคุยกันว่าทุกจังหวัดให้ทำเขตอนุรักษ์ให้เป็นตัวอย่าง ของจังหวัดนครพนมในฐานะที่ผมเป็นประธาน 4 อำเภอที่อยู่ติดริมแม่น้ำโขงผมปักหมุดไว้เลย อ.บ้านแพง อยู่ที่บ้านนาเขต 5 ,อ.ท่าอุเทน ที่บ้านพนอม ประมงจังหวัดเริ่มเป็นต้นแบบแล้ว ,อ.เมือง ที่บ้านสำราญ และ อ.ธาตุพนม ปักหมุดไว้ที่ ต.พระกลางทุ่ง เราอาศัยวัดเป็นที่จุดรวมใจของพี่น้องเรา ตอนนี้เราเริ่มแล้วที่เป็นต้นแบบแม่น้ำสาขาเราที่วัดศรีเวินชัย ต.สามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม เราพยายามทำอย่างน้อย ๆ ลูกหลานเราจะได้เห็นว่าปลาแม่น้ำโขงเป็นอย่างไรบ้าง ไม่อยากจะให้มันเป็นเหมือนทุกวันนี้ครับ”
ฟังด้วยหัวใจที่เปิดรับ ส่งเสียงด้วยข้อมูลที่รอบด้าน
นี่เป็นเพียง 3 ฉากทัศน์ท่ามกลางฉากทัศน์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้มากมาย บางครั้งก็อาจจะเกินกว่าจินตนาการได้ แต่อย่างไรก็ตามโจทย์เรื่องของแม่น้ำโขงที่ไหล 6 ประเทศตลอดลำน้ำ และอีก 8 จังหวัดของไทย เชียงราย เลย บึงกาฬ หนองคาย มุกดาหาร นครพนม อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
ทำให้วันนี้ คนลุ่มน้ำโขงและแม่น้ำสาขา ต้องลุกขึ้นมาส่งเสียง แสดงพลัง และร่วมมองไปข้างหน้าถึงการออกแบบอนาคตของวิถีคน ปลา และลุ่มน้ำโขงนครพนม ที่ยังแสดงถึง ความรัก ความหวงแหน และอยากจะดูแลทรัพยากรในแม่น้ำโขงในขณะที่แนวคิดการพัฒนาลุ่มน้ำโขงยังเกิดขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ชาวนครพนมยังต้องหารือเพื่อออกแบบอนาคตร่วมกัน ซึ่งนอกจากเสียงของคนลุ่มน้ำโขงในนครพนมแล้ว
เสียงจากคนทางบ้านและคนที่สนใจติดตามประเด็นแม่น้ำโขง ก็สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบอนาคต วิถีคน ปลา และลุ่มน้ำโขงนครพนมได้ คุณผู้ชมสามารถติดตาม รายการเพิ่มเติมและร่วมโหวตเลือกฉากทัศน์ที่น่าจะเป็นหรือแสดงความเห็นเพิ่มเติมได้ที่ www.thecitizen.plus หรือร่วมเสนอประเด็นเพื่อให้เกิดเวทีฟังเสียงประเทศไทยกับไทยพีบีเอส และเรื่องราวในอีสานกับแฟนเพจอยู่ดีมีแฮง
ร่วมโหวตฉากทัศน์ อนาคต วิถีคน ปลา แม่น้ำโขงและลุ่มน้ำสาขา ณ นครพนม ที่อาจจะเกิดขึ้น
เราหวังว่านี่จะเป็นอีกพื้นที่ ที่ “เสียง”ของประชาชนจะไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่จะออกแบบและจัดการตามข้อเสนอที่ผ่านการร่วมกันคิด ร่วมกันตัดสินใจ แบบ “ปัญญารวมหมู่”