พื้นที่แสดงความคิดเห็น ท่ามกลางความเหมือน – ต่าง

พื้นที่แสดงความคิดเห็น ท่ามกลางความเหมือน – ต่าง

การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่หลากหลายในขณะนี้  มีพื้นที่และรูปแบบแตกต่างกันไป สื่อสังคมออนไลน์ก็เป็นอีกช่องทางที่ถูกเลือกใช้เพื่อให้ข้อมูลและเป็นพื้นที่แสดงความคิดเห็นของกลุ่มคนที่หลากหลาย  รวมถึงสร้างทางเลือกให้หลายฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการอธิบายเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกัน 

“มันแสดงให้เห็นว่าสังคมมันมีการกระจาย ไม่ได้มีแค่คู่ขัดแย้งเพียงสองกลุ่ม ยังมีคนอื่นอีกด้วย ซึ่งอยู่ในสังคมเดียวกันกับเราที่เราก็ต้องยอมรับในความแตกต่างกันมากขึ้น”  

ณพัทธ์ นรังศิยา นิสิตกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ บอกถึงการสร้างพื้นที่แสดงความคิดเห็นทางการเมือง บน”สื่อใหม่” อย่าง Facebook Fan pace ของกลุ่ม ว่าเป็นอีกช่องทางที่สามารถใช้แสดงความคิดเห็นได้ และมองว่าการเปิดพื้นที่ในสังคมประชาธิปไตย ให้คนที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ได้มีพื้นที่พูดคุยนั้นเป็นสิ่งจำเป็น

Facebook Fan pace ของกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ แม้จะมีจำนวนผู้ติดตาม หรือ ยอดกด Like ไม่มากนัก แต่นี่ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เขาสามารถใช้ติดต่อสื่อสารกับเพื่อนในสังคมออนไลน์ที่มีความคิดเห็นคล้ายกัน     

“พื้นที่แสดงความคิดเห็นทางการเมือง” จึงเป็นหัวข้อในการพูดคุยในวันนี้

เนื้อหาส่วนใหญ่ในช่วงนี้ที่มีสถานการณ์ทางการเมืองผ่าน Face book fan page ของกลุ่ม

ถ้าในช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองรุนแรง เราก็จะเน้นไปที่ว่า พยายามสื่อสารไปถึงคนที่เราสามารถสื่อสารได้ ว่าให้ลดอารมณ์ลง ลดความรุนแรงลงให้เหตุผลให้มากขึ้น มองคนที่แตกต่างจากเรา ให้อยู่ในลักษณะที่เป็นมิตรมากขึ้น  โดยเฉพาะในช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองรุนแรง

มองว่า ในสถานการณ์ตอนนี้ พื้นที่สื่อใหม่สามารถสร้างกลุ่มที่มีความหลากหลายได้จริง  ?

 คือ มันมีความหลากหลายมาก ใครๆก็สามารถเป็นเจ้าของสื่อได้ เช่น ถ้าเป็น face book ก็สามารถกด Share ออกไปได้ เราสามารถเป็นต้นทางของข่าวก็ได้ เมื่อคนแต่ละคนคิดไม่เหมือนกัน ก็แสดงออกมาไม่เหมือนกัน  ซึ่งเป็นข้อดีของสื่อใหม่ แต่สังคมออนไลน์ แต่ก็มีข้อเสียนิดหน่อย คือ มันมีการตรวจเช็คได้ยาก ซึ่งเราต้องใช้วิจารญาณในการรับชม รับฟังเหมือนกัน

ในฐานะของคนใช้และคนรับสื่อใหม่ คิดว่ามีข้อควรระวังอย่างไร

ข้อควรระวังสำคัญที่สุด คือต้องใช้วิจารณญาณจริงๆ และสิ่งหนึ่งที่ผมเห็นคือ คนใช้อารมณ์มากไป ถ้าเรารับฟังมา เราใช้อารมณ์นำมาก เราก็จะไม่ใช้เหตุผล เราจะเชื่อง่ายๆถ้าเป็นฝ่ายเรา เราจะต่อต้านรุนแรงทันทีที่เป็นฝ่ายตรงข้าม แล้วการที่เราจะเป็นสื่อเองในการแสดงท่าทีสื่อสารออกไป ถ้าเรามีอารมณ์มากเกินไป ก็เป็นผลมาจากสิ่งที่เรารับมา เราก็จะสื่อต่อในมุมของเราอย่างเดียว  เราไม่คิดถึงอย่างอื่น

บางที ถ้าเราเห็นภาพความรุนแรงที่ตัดต่อมา แต่บอกว่าเป็นภาพที่ฝ่ายเราถูกทำร้าย เรารู้สึกว่าเราไม่ได้รับความเป็นธรรมเราก็จะแชร์ออกไปทันทีด้วย Caption ที่มันรุนแรงมากเกินไป ซึ่งมันอาจจะไม่เกิดขึ้นจริงๆก็ได้ แต่พอคนมีอารมณ์ร่วมมากๆก็จะแชร์ออกไปทันทีโดยที่ไม่ทันตรวจสอบข้อมูล  ซึ่งตรงนี้เป็นข้อเสียที่คิดว่าต้องใช้วิจารณญาณมากๆในการสื่อสาร

การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็นจำเป็น ?

มองว่ามันเป็นสิ่งที่จำเป็นมากๆในสังคมไทย สังคมทั่วโลก ที่มันต้องเป็นแบบนี้ แค่คนคิดไม่เหมือนกัน  เช่น ในตอนนี้ แค่เราประกาศตัวว่าเราเห็นต่างจากคนอื่น เราสามารถถูกทำร้ายร่างกายได้  คือ ไม่ได้หมายความว่าคนเราจะเลวร้ายอะไรมากมาย  แต่ว่าบางทีมีการปลุกระดม ไม่ว่าฝ่ายไหนก็แล้วแต่ จนมองว่าฝ่ายตรงข้ามคือศัตรู ผมว่าการมองว่ามีแค่สองฝ่ายแค่ดีกับเลว มันไม่ใช่ความจริงที่เกิดขึ้นในสังคม

สังคมประชาธิปไตยมันไม่ได้มีแค่แดง เหลือง น้ำเงิน ฟ้า แต่มันมีเต็มไปหมด เป็นร้อย เป็นพันสี  มีความคิดแตกต่างกันเป็นล้านๆคน ไม่สามารถจะคิดเหมือนกันได้ ไม่สามารถจะแบ่งได้ว่าเป็นฝ่ายนี้ ฝ่ายนั้น  

การที่เราจะออกมาพูดในสิ่งที่เราเชื่อได้ ก็ควรมีพื้นที่ปลอดภัยให้เราพูดได้ โดยที่เราไม่ต้องกลัวว่าเราจะโดนทำร้าย หรือโดนใครเขม่นได้ ผมคิดว่ามันเป็นหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยแล้วก็สังคมที่ควรจะเป็น

การที่มีเสียงหลากหลายจะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ทางสังคม?

คือ ถ้ามีเสียงหลากหลายมันก็จะเป็นการแสดงออกว่า มันไม่ได้มีแค่คู่ขัดแย้งเพียงสองคู่ เพราะในปัจจุบันเรามีการผลักคนที่อยู่ตรงกลาง คนที่ไม่ได้เป็นซ้ายหรือขวา ไม่ได้เป็นแดง ไม่ได้เป็น  กปปส. อยู่  แต่เราก็ถูกอีกฝ่ายผลักไปมาตลอดเวลามันก็จะกลายเป็นว่ามีแค่คู่ขัดแย้งสองอันใหญ่ๆที่จะมาชนกัน

ซึ่งเอาจริงๆมันไม่ใช่  มันจะมีกลุ่มคนเสื้อขาว กลุ่มต่างๆที่เขาเคยออกมาล่าสุด ก็เป็นกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ข้างไหนอย่างชัดเจน แต่อาจจะปฏิเสธไม่ได้ว่ามีการเข้ามาผสมกันบ้าง แต่ผมก็เห็นนะครับว่าในกลุ่มคนเสื้อขาวนั้น ก็มีทั้งฝ่ายที่เป็นพี่น้องเสื้อแดง  ฝ่ายที่เป็นมวลชนพี่น้อง กปปส. แต่มีจุดร่วมกันอย่างหนึ่ง คือไม่เอาความรุนแรง

ผมคิดว่ามันก็ไม่สามารถแบ่งแยกได้ มันยังมีเสียงที่บอกว่า เราไม่ได้เห็นด้วยกับฝ่ายนี้นะ แต่เราก็ไม่ได้เห็นด้วยกับฝ่ายนี้  และเราก็เห็นด้วยกับฝ่ายนี้ แต่เราก็เห็นด้วยกับฝ่ายนี้เหมือนกัน  

มันแสดงให้เห็นว่าสังคมมันกระจาย ไม่ได้มีแค่คู่ขัดแย้งเพียงสองกลุ่มยังมีคนอื่นอีกด้วย ซึ่งอยู่ในสังคมเดียวกันกับเรา ซึ่งเราก็ต้องยอมรับในความแตกต่างกันมากขึ้น

สิ่งหนึ่งที่มองเห็นหลังการพูดคุยกับนิสิตกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ คือ การหาทางออกร่วมกันในครั้งนี้ แม้จะยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน แต่ความพยายามในการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกกลุ่มผ่านการแสดงความคิดเห็นในฐานะส่วนหนึ่งของสังคมประชาธิปไตย ก็ยังเป็นอีกความคาดหวังที่จะสร้างความเข้าใจระหว่างกันท่ามกลางสถานการณ์ที่เป็นอยู่

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ