ในช่วงปลายเดือนเมษายน ไปจนกระทั่งถึงปลายเดือนกรกฏาคม เป็นช่วงเวลาที่ชาวสวนทุเรียนได้ออกแรงกายเพื่อตัดทุเรียนที่ออกผลได้ตามขนาดที่วางแผนไว้ นับเป็นช่วงเวลาที่รอคอยมายาวนานทั้งปี หลังจากที่ต้องประคบประหงมเลี้ยงดูราวกับลูกหลานในครอบครัว เนื่องด้วยโรครา วัชพืชต่างๆ ก็หมายปองราชาผลไม้นี้เช่นกัน
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทุเรียนมีหลายด้าน อย่างที่เราทราบกันดีว่า ราคาทุเรียนที่ขายในประเทศไทยนั้นสูงมากจนกลายเป็นผลไม้ที่มีไว้เพื่อโอกาสพิเศษเท่านั้นจริง ๆ อย่างผมเอง คงต้องถูกสลากกินแบ่งรัฐบาล อย่างน้อยต้องเลขท้าย 3 ตัว ขึ้นไปเท่านั้น ถึงจะรู้สึกว่ากินทุเรียนได้ไม่ลำบากจนเกินไปนัก
ทำไมราคาทุเรียนถึงได้สูงปานนั้นเล่า? เป็นคำถามที่ทุกคนน่าจะตอบได้ง่าย ๆ เลยว่า เป็นเพราะความต้องการในตลาดสูงกว่าผลผลิตที่ออกวางขายในช่วงเวลานั้น พอลองสังเกตให้เข้าใจ เรายิ่งพบว่า ความต้องการบริโภคทุเรียนส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ ซึ่งนั่นก็คือประเทศจีนนั่นเอง
เพื่อไขข้อสงสัยต่าง ๆ เกี่ยวกับปรากฏการณ์ทุเรียนในประเทศไทย พวกเราจึงเดินทางไปหาคำตอบถึงภาคตะวันออกของประเทศไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกทุเรียนมายาวนานและให้ผลผลิตเป็นล็อตแรกของไทย
“ผลไม้ที่เป็นทุเรียนเนี่ย เป็นตัวเดียวที่คนจีนรู้สึกว่า กินแล้วเหมือนได้อรรถรสได้เทรน ทันสมัย เป็นผลไม้ที่ค่อนข้างอยู่ในเกรดสูง ผู้บริโภคที่จีนส่วนมากจะต้องเป็นผู้บริโภคที่มีรายได้พอสมควร เหมือนการได้กินทุเรียนแล้ว โอ้โหเด่นกว่าเพื่อน ตลาดของทุเรียนนั้นมันก็ยังเปิดกว้างอยู่ครับ”
ซึ่งคนแรกที่เราเข้าไปพูดคุย ก็คือ อาหาว ทินกฤต ชีวินวรกุล ซึ่งทำการค้าขายผลไม้และส่งออกไปยังต่างประเทศมานาน พื้นเพเป็นคนเชียงใหม่ บ้านใกล้เรือนเคียงกับพวกเรามาก แต่ต้องออกเดินทางไปร่ำเรียนวิชาภาษาจีนถึงประเทศไต้หวันอยู่หลายปี ทำให้มีเครือข่ายการค้าและเพื่อนฝูงเป็นชาวจีนไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่จำนวนหนึ่ง เมื่อกลับประเทศไทยจึงหันมาค้าขายผลไม้ส่งออกไปยังต่างประเทศโดยเฉพาะจีนมาหลายปี ผ่านร้อนผ่านหนาว พบเจอเรื่องราวที่ทั้งขาดทุนและกำไร รวมถึงเรื่องราวติดขัดต่าง ๆ ทั้งในประเทศไทยเองหรือระหว่างประเทศมากมาย
อาหาวเล่าว่า ทุเรียนจากไทย โดยเฉพาะพันธุ์หมอนทอง ได้รับความนิยมสูงมากในประเทศจีน ทั้งการกินเพราะรสชาติเอกลักษณ์กลิ่นเฉพาะตัว และการกินตามกระแสสังคมจีน ใครที่ได้กินทุเรียนแล้วได้ถ่ายภาพเพื่อส่งขึ้นสื่อสังคมออนไลน์บอกเพื่อน ๆ ว่าได้กินทุเรียนนั้นเป็นความภาคภูมิใจมากของชาวจีน ด้วยเหตุนี้กระแสการบริโภคทุเรียนจึงโด่งดังไปทั่วแผ่นดินใหญ่ ซึ่งอย่างที่เราทราบกันดี ประชากรจีนตอนนี้มีหลักพันล้านคน แต่ที่มีกำลังจ่ายเพื่อซื้อทุเรียนได้ก็มีราวๆ 200 ล้านคน
ด้วยปริมาณความต้องการสูงระดับนี้ แต่ผลผลิตที่ไทยเราส่งทุเรียนไปขายก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้ราคาขายเฉลี่ยต่อลูก ในบางช่วงเวลาอาจไปถึงลูกละ 200 หยวน ตีเป็นเงินบาทไทย ก็สูงถึง 1,000 บาทเลยทีเดียว และบางช่วงเวลาก็ราคาสูงขึ้นไปอีก
ข้อเท็จจริงอีกข้อที่สำคัญคือ ทุเรียนที่ส่งไปต้องตรงกับความต้องการของแต่ละพื้นที่ในประเทศจีน คำว่าตรงตามความต้องการนั้นก็เกิดมีมาตรฐานขึ้น นั่นคือขนาดของลูกต้องมีน้ำหนักประมาณ 3-5 กิโลกรัม ลักษณะกลมสวย มีพูขึ้นครบทุกด้าน จึงจะขายไปยังจีนได้ มาตรฐานนี้เราจึงเรียกเป็นลำดับลดหลั่นลงไป A, B และ C และที่ส่งไปจีนได้เลยคือเกรด A เท่านั้น
เรื่องนี้ได้รับการยืนยันจากปากของ พี่เรือง หรือ เรือง ศรีนาราง เกษตรกรชาวสวนทุเรียนที่มีชื่อเสียงในจังหวัดจันทบุรี-ตราด เนื่องด้วยพี่เรืองเองต้องการยกระดับเกษตรกรไทยในการผลิตทุเรียนให้มีคุณภาพสูงขึ้น การเดินสายไปอบรมทั่วประเทศและทำสวนของตัวเองอย่างมีคุณภาพ ลดต้นทุน จึงทำให้พี่เรืองได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย และพร้อมที่จะแบ่งปันความรู้และข้อมูลให้กับทุก ๆ คน รวมถึงพวกเราด้วยครับ
“ลักษณะการขายในสมัยก่อนก็คือราคาที่ไม่สูงนัก และก็แทบจะไม่มีการคัดเกรดกันเท่าไหร่ ขายเหมากันไปเลย แต่ในช่วงหลังก็คือจะมีการคัดเกรดคัดคุณภาพ เป็นไซส์ AB ก็ดี เป็นไซส์ C หรือเป็นตกไซส์ ราคามันก็แตกต่างกันไป ทำให้มีผลดีนะ ผมว่าลักษณะอย่างนี้ ทำให้เกษตรกรปรับปรุงตัวเพื่อทำผลผลิตให้มีคุณภาพ”
นอกจากพี่เรืองแล้วเรายังได้เจอกับเป๊ก อิสระ ศรีนาราง ลูกชายของพี่เรือง ที่เรียนจบแล้วกลับมาช่วยครอบครัวอย่างเต็มตัว ได้นำความรู้และวิชาที่ร่ำเรียนมา ประยุกต์ใช้กับกิจการนี้ของพ่อด้วย เป็กเล่าว่าที่ผ่านมาราคาทุเรียนมีขึ้นมีลงเป็นปกติ แต่เมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ.2564) ราคาทุเรียนก็ตกต่ำลงเนื่องจากล้งจีนในพื้นที่ โดยบอกกับชาวสวนว่า เกิดการปิดด่านชายแดนของจีนเนื่องจากมาตรการป้องกันโรค หรือ นโยบาย “Zero Covid” ของรัฐบาลจีนอย่างกะทันหัน ทำให้เป๊กกับพี่เรืองได้กลับมาคิดทบทวนแล้วว่า อนาคตทุเรียนนั้นเริ่มไม่แน่นอนจริง ๆ
“การต่อยอดของผมคือการลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด ในอนาคตถ้าวันหนึ่ง ราคาทุเรียนมันไปถึงรุ่นที่พ่อแม่ผมขายมาเมื่อ 30 ปีที่แล้วขึ้นมา ราคา 50 บาท 30 บาทหรือ 40 บาทเรา เราก็สามารถยืนได้โดยที่ไม่ลำบากอะไร”
และเมื่อพวกเรามาถึงแหล่งปลูกทุเรียนคุณภาพสูงแล้ว ขอชิมสักหน่อยเพื่อที่จะได้รู้ถึงรสชาติในระดับเกรด A ว่าจะเป็นอย่างไร เราขับรถวนตามหาในตลาดก็ดี แผงผลไม้ค้าปลีกก็ดี พบว่า ไม่มีเกรด AB เลย พี่เรืองก็ได้บอกกับเราว่า ทุเรียนเกรด A, B จากในสวนของเขานั้น ส่งจีน ทั้งหมด จะเหลือก็เพียงตกไซส์ หรือ จัมโบ้ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งทุเรียนเหล่านี้ก็มักจะส่งไปขายในประเทศ หรือหากแก่จัด ก็นำไปแปรรูปต่อไป ทำให้การลิ้มลองทุเรียนครั้งแรกในรอบหลายสิบปีของผมต้องเป็นหมันไป นอกจากจะต้องมีเงินแล้วต้องมีอะไรอีกถึงจะได้กินครับ สงสัยจริงๆ
และแล้วสวรรค์ก็มาโปรด พวกเราได้ลองกินทุเรียนหมอนทองเกรดส่งออก โดยได้รับความอนุเคราะห์จากล้งของคนไทยในจังหวัดจันทบุรี ที่ซื้อโดยตรงจากชาวสวนรายเล็กเพื่อรวบรวมส่งออก แต่มีบางส่วน “สุกเกินไป” จึงเก็บไว้กินเอง เมื่อพวกเราและอาหาวเดินทางไปที่ล้งเพื่อสอบถามข้อมูล ทางเจ้าของล้งได้นำออกมารับรองพวกเราเป็นอย่างดี
ในขณะที่เรากำลังคุยกัน อาหาว ได้ย้ำถึงประเด็นที่เป๊กได้พูดไว้ว่าล้งจีนเป็นผู้กำหนดราคารับซื้อทุเรียนเอาไว้อย่างน่าสนใจหลายประเด็น
“เมื่อการผลิตสินค้าอย่างทุเรียน ราคามันดี เกษตรกรตอนนี้ปลูกกันเกือบทั่วประเทศแล้วนะครับ คาดการณ์ว่าอีก ประมาณ 3-5 ปี เมืองไทยน่าจะมีการผลิตทุเรียนได้ปีนึงทะลุ 3 ล้านตัน วิกฤตที่จะตามมา ก็เช่น Supply Chain เรื่องของโลจิสติกส์ เรื่องเอกสารลำเลียง เจ้าหน้าที่ในการดูแลการส่งออกต่างๆ และกติกาใหม่ที่เพิ่มเข้ามาสำหรับผู้ประกอบการที่จะต้องไปทำมากขึ้น”
อาหาว เล่าว่า จากการประเมินโดยทางหน่วยงานวิชาการของประเทศจีน ได้คาดการณ์ว่า ในอีกราว 3-5 ปี ประเทศจีนจะนำเข้าทุเรียนจากประเทศไทยในปริมาณถึง 3 ล้านตัน ต่อปี และในปีนั้น ทั่วทั้งอาเซียนจะสามารถส่งทุเรียนเข้าไปได้อีกกว่า 5 ล้านตันต่อปี ด้วยปริมาณมหาศาลระดับนี้ ปัญหาที่หลายฝ่ายกังวลเช่น สินค้าล้นตลาด ก็จะเริ่มส่งผลต่อเกษตรกรชาวสวนอย่างแน่นอนและรุนแรงไม่ต่างจาก ลำไยในภาคเหนือของไทย
ปัญหาอีกด้านคือเรื่องของการเข้ามาของล้งจีนในพื้นที่ภาคตะวันออก แม้อาหาวจะพยายามทุกวิถีทางที่จะรวมกลุ่มผู้ประกอบการและชาวสวนให้แข็งแรง เพื่อสามารถต่อรองทั้งราคาและรูปแบบการขายให้กับทุเรียนไทยเพียงใด แต่ก็ยังต้องการแรงสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อให้เกิดกฏกติกา ที่สามารถทำให้ผู้ประกอบการและชาวสวนคนไทยสามารถแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม เพื่อให้ทุเรียนคุณภาพยังคงได้ชื่อว่า ผลิตจากมือของคนไทยไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้
นอกจากนั้นอาหาวยังเป็นตัวแทนสะท้อนความต้องการของผู้ประกอบการและชาวสวนทุเรียนว่า การมีนวัตกรรมใหม่ ๆ หรืองานวิจัยที่ช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบการส่งออก จะสามารถช่วยให้พวกเขาสามารถที่จะพลิกแพลงและเอาตัวรอดในสถานการณ์สินค้าล้นตลาด ที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้า ภาครัฐต้องเร่งมือและจริงใจในการช่วยเหลือ ก่อนที่ทุเรียนที่อยู่ในตลาดประเทศจีน จะแปะป้ายว่า “ทุเรียนจากไทย ผลิตและจำหน่ายโดยคนจีน”