ท่องเที่ยว Low Carbon มิติใหม่ของการท่องเที่ยวยุคโลกรวน ที่เกาะลันตา

ท่องเที่ยว Low Carbon มิติใหม่ของการท่องเที่ยวยุคโลกรวน ที่เกาะลันตา

ภาพเรือแจว ทุ่งหยีเพ็ง โดย : กีรติ โชติรัตน์

กิจกรรมการท่องเที่ยวมีส่วนให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 8% ซึ่งนี่จะเป็นโจทย์ของคนทำท่องเที่ยวว่าจะมีส่วนในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อย่างไรบ้าง?

ธีรพจน์ กษิรวัฒน์

หลังจากโควิด-19 การท่องเที่ยววิถีชุมชน ถือว่าเป็นที่นิยมทั้งชาวไทยและต่างประเทศ อย่างที่เกาะลันตา จ.กระบี่ มีการท่องเที่ยวแบบอนุรักษ์ธรรมชาติ ที่ทำกันมาเป็นเวลานาน และผลักดันเป็นต้นแบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีผู้ประกอบการ ชาวบ้านชุมชนต่าง ๆ ได้ร่วมมือกันเป็นอย่างดี

เกาะลันตาเองยังคงเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่เน้นแหล่งธรรมชาติภายใต้แนวคิด GO Green ประหยัดพลังงาน เพื่อผลักดันเกาะลันตา ให้เป็นพื้นที่นำร่องเรื่องการประหยัดพลังงานและการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

ธีรพจน์ กษิรวัฒน์ ที่ปรึกษาสมาคมท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดกระบี่ ภายโดย อัครวุฒิ สุขยะฤกษ์

“มีงานวิจัยรายงานว่ากิจกรรมการท่องเที่ยวมีส่วนให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 8% ซึ่งนี่จะเป็นโจทย์ของคนทำท่องเที่ยวว่าจะมีส่วนในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อย่างไรบ้าง”

ธีรพจน์ กษิรวัฒน์ ที่ปรึกษาสมาคมท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดกระบี่ ให้สัมภาษณ์กับเพจ C-South Thai PBS ในรายการแหลงให้ดัง ควังให้ชัด ถึงสาเหตุที่ทางเกาะลันตา ต้องเริ่มจัดการท่องเที่ยวแบบ Low Carbon

“อย่างกิจกรรมเรือแจว ของทุ่งหยีเพ็ง หรือการใช้อาหารท้องถิ่นเสิร์ฟให้กับนักท่องเที่ยวอย่างเมนูข้าวเหนียวปลาแดดเดียว ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ในชุมชน ลดการนำเข้า มีวิธีการแปลรูปโดยใช้พลังงานธรรมชาติอย่างแสงแดด นี่เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการท่องเที่ยวแบบ Low Carbon”

ภาพเรือแจว ทุ่งหยีเพ็ง โดย : กีรติ โชติรัตน์

ปัจจุบันทุ่งหยีเพ็ง มีการจัดทำเรือหางยาวโซลาร์เซลล์ สำหรับนำเที่ยว เป็นอีกความก้าวหน้าในเรื่องการจัดการท่องเที่ยวแบบ Low Carbon ของพื้นที่ ถือว่าเป็นต้นแบบการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติพร้อมการประหยัดพลังงาน

“ในอนาคตสักวันหนึ่งการท่องเที่ยวเข้ามาถึงชุมชนของเรา ทำให้เราคิดถึงการเดินทางของหมู่บ้านพวกเราในอนาคตทั้ง 3 เรื่อง คือสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และเรื่องสังคม”

นราธร หงส์ทอง ประธานชุมชนท่องเที่ยวทุ่งหยีเพ็ง อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ ภายโดย อัครวุฒิ สุขยะฤกษ์

นราธร หงส์ทอง ประธานชุมชนท่องเที่ยวทุ่งหยีเพ็ง อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ พูดถึงการวางแนวทางของชุมชนเพื่อรับมือการท่องเที่ยว พร้อมเล่าถึงวิธีการสร้างชุมชนท่องเที่ยวจากฐานทรัพยากรชุมชน ที่ลดการสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศ

“เราใช้การท่องเที่ยวชุมชน มาปรับสมดุลชุมชน ทุกสิ่งที่เรามีอยู่ในหมู่บ้าน เรานำมาจัดการท่องเที่ยวทั้งหมด ไม่ว่าจะทะเล ป่า ความเป็นอยู่ของผู้คน บ้านเรือน อาหารการกิน แสงพระอาทิตย์ ห้วงเวลาของธรรมชาติ เช้า เที่ยง เย็น กลางคืน ดึก สามารถนำมาจัดการท่องเที่ยวได้ทั้งหมด”

ปัจจุบันไฮไลท์การท่องเทียวชุมชนทุ่งหยีเพ็ง คือ การนั่งเรือแจว ชมแสงเช้า ทานมื้อเช้าฝีมือชุมชน ซึ่งนี่เป็นทริปท่องเที่ยวอีกทริปที่ขายดีของชุมชน และสามารถกระจายรายได้ให้คนในชุมชน จนเกิดเป็นโมเดลการท่องเที่ยวชุมชนแบบยั่งยืน

เนื้อหาโดย : อัครวุฒิ สุขยะฤกษ์, เพจ C-South
ภาพโดย : อัครวุฒิ สุขยะฤกษ์, กีรติ โชติรัตน์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ