พ่อเฒ่า-แม่เฒ่าอาข่า สุดซาบซึ้งจะได้บัตรประชาชน หลังอยู่ไทย 40-50 ปี ร่วมพิธีปฎิญาณตนแปลงสัญชาติไทย “ครูแดง” เผยเป็นโครงการนำร่องขยายผลได้อีกนับหมื่นราย
เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 ที่ศูนย์เรียนรู้บนดอยของมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา หรือ พชภ. อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ได้มีพิธีปฏิญาณตนของผู้เฒ่าชาวอาข่าบ้านป่าคาสุขใจ ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการขอแปลงสัญชาติเป็นไทย จำนวน 15 คนภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้แปลงสัญชาติเป็นไทยของคนต่างด้าวทั่วไป โดยมีว่าที่ร้อยโทพงค์ กูลนรา นายอำเภอแม่ฟ้าหลวง นางเตือนใจ ดีเทศน์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ พชภ. ตัวแทนตำรวจ-ทหาร ตัวแทนกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมเป็นสักขีพยาน
นางเตือนใจ ดีเทศน์ หรือ “ครูแดง” ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ พชภ.และอดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า พชภ.ทำงานในพื้นที่ชายแดน โดยเฉพาะบนดอยแม่สลองตั้งแต่ปี 2528 ซึ่งพบว่ามีผู้เฒ่าไม่มีสถานะทางกฎหมายจำนวนมาก ต่อมาได้ตั้งศูนย์ประสานขึ้นเมื่อปี 2530 โดยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ทหาร จังหวัดเชียงราย และเราได้เสนอว่าผู้เฒ่าที่อพยพเข้ามีภูมิลำเนาบนแผ่นดินไทยควรมีใบสำคัญประจำตัวและใบสำคัญถิ่นที่อยู่ และแปลงสัญชาติให้ในเวลาต่อมา โดยในส่วนของชาวบ้านในหมู่บ้านป่าคาสุขใจที่ประสบปัญหา ปี 2546 ได้ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวและใบสำคัญถิ่นที่อยู่ ซึ่งชาวบ้านดีใจมาก แต่ยังไม่ได้บัตรประชาชนเพราะติดขัดหลักเกณฑ์แนวทางประกอบการใช้ดุลพินิจในการอนุมัติแปลงสัญชาติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรายได้ 2 หมื่นต่อเดือนขึ้นไป เรื่องการพูดภาษาไทยกลางและร้องเพลงชาติไทย และเรื่องการตรวจสอบความประพฤติโดย 5 หน่วยงาน รวมถึงมีเอกสารจ้างงานของนายจ้างและหลักฐานการเสียภาษี ซึ่งเกณฑ์ต่างๆเหล่านี้เป็นอุปสรรคอย่างยิ่ง ต่อมา พชภ.ได้รับการสนับทุนจากกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการทำโครงการแก้ปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ขณะที่สื่อมวลชนจำนวนมากได้นำข้อมูลข้อเท็จจริงไปเผยแพร่ ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้เรียกทีมงานมาหารือเพื่อแก้ปัญหาปัญหาการใช้ดุลพินิจ และในที่สุดเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ปลัดกระทรวงมหาดไทยทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศในการขจัดปัญหาและอุปสรรคโดยอนุญาตให้ใช้ภาษาถิ่นในการสอบได้ และไม่มีเกณฑ์รายได้ ให้นายอำเภอรับรองว่าทำงานจริง ส่วนเรื่องการสอบประวัติจาก 5 หน่วยงานเช่นเดียวกันคือให้นายอำเภอรับรอง
อดีตสมาชิกวุฒิสภากล่าวว่า หลังจากปี 2563 พชภ.ได้ยื่นคำร้องเป็นกลุ่มให้นายอำเภอแม่ฟ้าหลวงซึ่งนายอำเภอได้ทำการตรวจสอบและอนุมัติส่งเรื่องให้จังหวัดๆ ซึ่งนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะทำงานและผ่านความเห็นชอบ หลังจากนั้นส่งไปที่กรมการปกครอง โดย พชภ.ได้ประสานไปที่กรมการปกครองด้วยว่าควรดำเนินการโดยเร็วที่สุดเพราะคนเฒ่าเหล่านี้เป็นกลุ่มเปราะบาง บางรายก็เสียชีวิตไปแล้วระหว่างการดำเนินเรื่อง ในที่สุดคณะอนุกรรมการกรมการปกครองได้เห็นชอบและส่งเรื่องให้คณะกรรมการสัญชาติผ่านความเห็นชอบส่งเรื่องสู่คณะรัฐมนตรี(ครม.) และครม.ได้ส่งเรื่องกราบบังคมทูลฯแล้วพระราชทานพระบรมราชานุญาตจำนวน 177 ราย ซึ่ง 15 รายเป็นผู้เฒ่าบ้านป่าคาสุขใจ
นางเตือนใจกล่าวว่า ในวันนี้ชาวบ้านที่ขอแปลงสัญชาติได้ร่วมกันกล่าวคำปฎิญาณ ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่ง และหลังจากนี้ทางจังเชียงรายจะส่งเรื่องให้กระทรวงมหาดไทยนำเข้าครม.เพื่อประกาศรายชื่อในราชกิจจาณุเบกษา หลังจากนั้นถึงจะดำเนินการทำบัตรประชาชน ซึ่งคาดว่าน่าจะให้เวลาอีกราว 2 เดือน
“ถือว่าเป็นครั้งแรกที่กระบวนการแปลงสัญชาติสำเร็จได้ภายใน 2 ปี เนื่องจากการประสานงานกันต่อเนื่องและความร่วมมือกัน ซึ่งจะเป็นตัวอย่างทำให้ผู้เฒ่าที่ถือใบต่างด้าวอีกนับหมื่นได้เข้าสู่กระบวนการรวดเร็ว ซึ่งปัจจุบันมีผู้เฒ่าขอสัญชาติจำนวน 111,239 ราย โดยเป็นผู้ที่ถือใบต่างด้าว 12,219 ราย นอกจากนี้ พชภ.ยังได้ทำหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้ขยายไปยังกลุ่มผู้ถือบัตรเลข 6 ที่มีอยู่ 5,962 ซึ่งอยู่ในประเทศไทยมานาน 30-60 ปี เพื่อให้ได้สัญชาติด้วย ขณะนี้บางคนอายุ 90 ปี อยู่มา 60 ปีแล้ว แต่ยังไม่ได้บัตรประชาชน จึงจำเป็นต้องปรับเกณฑ์การใช้ดุลพินิจด้วยเช่นกัน” นางเตือนใจ กล่าว
นายอาเมีย แซ่แบว อายุ 71 ปี ผู้เฒ่าชาวอาข่า หมู่บ้านป่าคาสุขใจ ซึ่งเข้าร่วมปฎิญาณตนในครั้งนี้กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากเมื่อรู้ว่าใกล้จะได้บัตรประชาชนแล้ว ต่อไปหาตายไปก็จะภูมิใจ หรือเดินทางไปที่ใดก็จะพูดได้ว่าได้บัตรประชาชนแล้ว ทั้งนี้ตนมาอยู่ที่บ้านป่าคาสุขใจเมื่อ 44 ปีก่อน ตอนแรกมีแต่คนแนะนำให้ทำบัตรต่างด้าวและบอกว่าไม่ได้สัญชาติไทย จนกระทั่งครูแดงแนะนำว่าสามารถแปลงสัญชาติได้ จึงได้ทำเรื่อง เพราะการไม่มีบัตรประชาชนรู้สึกหนักใจเพราะไปใหนใครๆ ก็ถามว่าอยู่ประเทศไทยมานานทำไมถึงไม่ได้บัตรประชาชนสักที พอเดินทางไปไหนก็กลัวถูกตำรวจจับ
“เราทำงานเป็นช่างตีเงินมาตั้งแต่หนุ่มๆ ย้ายมาอยู่บ้านป่าคาสุขใจก็ยังทำอาชีพนี้อยู่ ชาวอาข่า ในย่านนี้ต่างก็มาใช้บริการ จนเดี๋ยวนี้แทบไม่เหลือช่างตีเงินแล้ว แต่เราก็ยังทำอาชีพนี้อยู่ จนมีลูก 7 คน มีหลาน 18 คน ทุกคนได้บัตรประชาชนหมดยกเว้นเราและเมีย วันนี้จึงดีใจที่สุดที่กำลังจะได้บัตรประชาชน” ผู้เฒ่าชาวอาข่า กล่าว
ขณะที่นางพิซุง เปียงแลกู่ แม่เฒ่าอาข่า วัย 73 ปี กล่าวว่ารู้สึกซาบซึ้งใจและโล่งอกที่จะได้บัตรประชาชน ตอนแรกเข้าใจผิดคิดว่าจะได้บัตรประชาชนในวันนี้เลย จึงไปบอกญาติๆ แต่ทราบภายหลังว่าเป็นการปฎิญาณตนก่อน หากได้บัตรประชาชนแล้วก็อยากบอกให้ทุกๆ คนรู้เพราะรู้สึกภูมิใจ
ว่าที่ร้อยโทพงค์ กูลนรา นายอำเภอแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่ารู้สึกที่ดีใจมากถือว่าชาวบ้านโชคดีมากที่กำลังจะได้สัญชาติไทย ถือว่าเป็นโครงการนำร่องจาก 78 หมู่บ้าน และได้เห็นทุกคนได้มีความสุขและทำประโยชน์เพื่อตัวเองและสังคมถือว่าเป็นวันประวัติศาสตร์ของประเทศที่มี 117 คนทั่วประเทศที่ได้รับพระราชทานฯ ให้แปลงสัญชาติ ในส่วนของอำเภอแม่ฟ้าหลวงนั้นได้ส่งรายชื่อผู้เฒ่ารุ่นที่ 2 ให้ทางจังหวัดพิจารณาแล้ว ทั้งนี้ตั้งแต่ตนย้ายมาอยู่ยังไม่มีปัญหาเรื่องทุจริตเพราะระบบสมัยใหม่สามารถตรวจสอบกันได้
ขอบคุณที่มาของเนื้อหาจาก : transbordernews สำนักข่าวชายขอบ